สาระดีดีมีประโยชน์ ที่อยากเอามาบอกต่อกันจ้า
จากหลุมถึงรถ เดอะซีรี่ส์ : เคยสงสัยกันมั้ยว่า "น้ำมัน" ที่เราเอามาเติมรถเนี่ย มาจากไหน??
ในชีวิตประจำวันของเรามีโอกาสได้โดยสารรถกันเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถเมล์ จักรยานยนต์ หรือแม้แต่รถบรรทุก การที่ยานพาหนะเหล่านี้จะวิ่งได้เราต้องเติมน้ำมันก่อน น้ำมันที่นำมาใช้ในการให้พลังงานกับเครื่องยนต์เป็นน้ำมันสำเร็จรูปที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ เติมสารเติมแต่งให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการ ทราบกันมั้ยคะว่ากว่าจะมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูปต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง??
ก่อนที่จะไปหาคำตอบว่า น้ำมัน มาจากไหน เรามาทำความรู้จักกับ ปิโตรเลียม กันก่อนดีกว่า
ตอนที่ 1 : ปิโตรเลียมคืออะไร??
เชื่อว่าไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำว่า "ปิโตรเลียม" (Petroleum) ก่อนอื่นมาดูรากศัพท์กันก่อน คำว่า ปิโตรเลียม มาจากภาษาละติน คือ petra ที่แปลว่า หิน และ oleum ที่แปลว่า น้ำมัน เมื่อรวมกันจึงหมายถึง น้ำมันที่ได้จากหิน
ปิโตรเลียมเป็นของผสมระหว่างสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีสถานะเป็นได้ทั้งก๊าซ ของเหลว และของแข็ง มีความเหนียวข้น ติดไฟได้ มีสีเหลือง-ดำ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในชั้นหินใต้พื้นผิวโลก สามารถนำมาแยกองค์ประกอบได้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซโซลีน แนฟทา น้ำมันก๊าด น้ำมันหล่อลื่น พาราฟิน และอื่นๆ นอกจากนั้น ยังใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น พลาสติก รวมไปถึงเวชภัณฑ์ต่างๆ ด้วย
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ปิโตรเลียมที่เรารู้จักแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ น้ำมันดิบ (ยังเอาไปเติมรถไม่ได้นะ) และ ก๊าซธรรมชาติ สำหรับน้ำมันดิบนั้นจะนำมาผ่านกระบวนการกลั่นได้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งน้ำมันที่เราใช้เติมรถ (ที่เรากำลังพูดถึงนี่แหล่ะ) ด้วย ส่วนก๊าซธรรมชาติ จะนำมาผ่านโรงแยกก๊าซ ในบ้านเรามีการนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งใช้เป็นก๊าซหุงต้ม และให้ความร้อนในยานพาหนะ
แล้วปิโตรเลียมเกิดขึ้นมาได้ยังไง??
เราน่าจะเคยท่องจำกันมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้วว่า ปิโตรเลียมเกิดจากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์ได้รับความร้อนและความดันที่เหมาะสมจึงกลายสภาพเป็นปิโตรเลียมอยู่ใต้ผิวโลก ซึ่งจริงๆ แล้วกระบวนการเกิดปิโตรเลียมนั้นมีความซับซ้อน จะขออธิบายขั้นตอนการเกิดปิโตรเลียมอย่างละเอียดในตอนที่ 2
เราพบปิโตรเลียมที่ไหนบ้าง??
เราสามารถพบปิโตรเลียมได้ในหลายๆ ส่วนของโลก ในสมัยอดีตที่ยังมีความต้องการใช้ปิโตรเลียมต่ำ การค้นหาแหล่งปิโตรเลียมทำได้ง่าย โดยในยุคแรกๆ ปิโตรเลียมที่นำมาใช้เป็นน้ำมันดิบที่ซึมขึ้นมาบนผิวโลก ต่อมาเมื่อความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น การค้นหาทำได้ยากขึ้น ต้องค้นหาลึกขึ้น จากเดิมพบได้ที่ระดับผิวดิน ทุกวันนี้ การสำรวจปิโตรเลียมเกิดขึ้นในบริเวณที่ค่อนข้างท้าทาย เรากำลังมองหาแหล่งปิโตรเลียมที่ความลึกถึง 1,000 ฟุตใต้ทะเล รวมทั้งในบริเวณที่มีสภาพอากาศรุนแรง
ปิโตรเลียมจะหมดจากโลกมั้ย??
ที่จริงเราไม่จำเป็นต้องกังวลว่าปิโตรเลียมจะหมดจากโลกในระยะเวลาอันสั้น เพราะด้วยอัตราการใช้ในปัจจุบัน เราจะมีปิโตรเลียมสำรองให้ใช้ได้ถึง 60-90 ปี และในขณะที่ปริมาณปิโตรเลียมทั้งหมดไม่ได้เพิ่มขึ้น มนุษย์ก็มีความสามารถที่จะค้นหาจากแหล่งใหม่ๆ ตลอดเวลา
ในปัจจุบันเราสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากชั้นถ่านหินที่ทับถมกันได้ เราสามารถผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากสสารที่ทับถมกันที่อยู่ใต้ผิวโลกลึกลงไปหลายไมล์ รวมทั้งในทะเลลึก ที่อยู่ห่างจากฝั่งเป็นระยะ 100 ไมล์ และในน้ำลึกกว่า 1,000 ฟุตได้ นอกจากนั้น ยังหาวิธีการสกัดน้ำมันจากน้ำมันดิน (Tar) และออยเชลล์ (Oil shale) ที่จะสามารถผลิตน้ำมันได้เป็นเวลานับร้อยปีอีกด้วย
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมยังทำให้เกิดการลงทุนในพลังงานทางเลือก เช่น ลม แสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ และชีวมวล เพื่อเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรด้านพลังงานให้เป็นรูปธรรม และจับต้องได้เพื่อให้ตอบสนองความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น
ถึงแม้ว่าเราจะไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีปิโตรเลียมหรือพลังงานใช้ในอนาคต แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะสามารถใช้พลังงานกันอย่างฟุ่มเฟือย สิ่งที่ควรทำคือการใช้อย่างรู้คุณค่าต่างหากค่ะ
-------------------------------
กระทู้เริ่มยาว ติดตามต่อตอนหน้าค่ะ