ช่วงนี้กระแสรถไฟฟ้ามาแรง เพราะมีส่วนช่วยลดโลกร้อน และช่วยลดมลพิษทางอากาศ ตอนนี้รถไฟก็มี EV แล้วเหมือนกันนะ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการทดสอบใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นรถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ว่า จากการที่กระทรวงคมนาคม มีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ไปศึกษาการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ กรณีรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า โดยประกอบหัวรถจักรที่ติดตั้งระบบแบตเตอรี่ และสามารถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าได้เอง ซึ่งได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและบริษัท พลังงานบริสุทธ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ตามนโยบาย Thai First จนเกิดเป็นหัวรถจักร EV ต้นแบบคันแรกของไทย โดยได้มอบให้ดำเนินการจดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว
สำหรับหัวรถจักร EV ต้นแบบคันดังกล่าว ใช้ความเร็วสูงสุดได้ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยหากใช้ลากตู้สินค้า จะใช้ความเร็วที่ประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถลากตู้สินค้าได้ประมาณ 2,500 ตัน และหากใช้ลากตู้ขบวนโดยสาร จะใช้ความเร็วที่ประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถลากตู้ขบวนโดยสารได้ประมาณ 650 ตัน หรือประมาณ 36 ตู้ ทั้งนี้การชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร โดยจากการทดสอบเสียงเบา ไม่มีควัน โดยมีค่าเสียงอยู่ที่ 75-76 เดซิเบล ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ขณะที่คุณภาพอากาศอยู่ที่ประมาณ 11 ไมครอน
สำหรับความพร้อมในการเปิดให้บริการรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ ที่สถานีกลางฯ ซึ่งจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.66 ว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย มีความพร้อมที่จะให้บริการแล้ว โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม ได้จัดเตรียมชัตเติ้ลบัสเพื่อรับส่งผู้โดยสาร รวมถึงขนถ่ายสัมภาระ จากสถานีกลางฯ ไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจำนวนผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วโดยสารแต่ละขบวน เพื่อที่จะจัดเตรียมรถชัตเติ้ลบัสรองรับได้อย่างเพียงพอ และเหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้คาดว่า การสั่งหัวรถจักร EV จำนวน 50 คัน EA จะได้รับอานิสงส์ในความร่วมมือครั้งนี้ เนื่องจากได้มีส่วนในการจัดหา รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra Fast Charge ในเวลา 1 ช.ม. ในระยะแรก และ Battery Swapping Station เพื่อการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเวลาไม่เกิน 10 นาที เพื่อลดเวลาการรอชาร์จ และนำมาขยายผลใช้งานในระบบขนส่งได้จริง สามารถขยายผลยกระดับการขนส่งโดยสารเมืองรอง สามารถรองรับการใช้งานทุกระดับ และนำไปพัฒนาระบบ Light Rail Transit (LRT) สำหรับขนส่งตัวเมือง
ที่มา : https://www.kaohoon.com/news/581676?fbclid=IwAR35TnyvxPTD1TqtmKq-aQdAzlNA00wS2soCOp1zsCn2FzCDAKumG6SPjMA