บอร์ด
กระทู้: เก็บประเด็นดราม่า EA จากช่อง ถามอีกกับอิก “เป็นโอกาสหรือความเสี่ยง”

     สำหรับวิกฤตข่าวลือที่ EA กำลังเจอก็ต้องบอกให้ทุกท่านทราบว่าไม่ใช่ครั้งแรกนะครับแต่เจอมาแล้วรวมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ผ่านมาก็เจอข่าวลือแต่ก็เป็นเรื่องที่แตกต่างกันไป สำหรับประเด็นในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

·    การลดหุ้นของคุณสมโภชน์ ที่ไม่ได้มีการลดหุ้น แต่เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนไปอยู่ในทรัสต์ เพื่อผลประโยชน์ของลูก

·    การซื้อที่ดินบลูเทคซิตี้ ที่คุณสมโภชน์ซื้อที่ดินเองเพื่อแบกรับความเสี่ยงและขายให้กับ EA ในราคาที่เหมาะสมแล้ว

·    ความโปร่งใสการสร้างโซล่าฟาร์ม ที่ EA เป็นเทิร์นคีย์ และสามารถทำกำไรจากการสร้างโซลาฟาร์มได้มากกว่าคนอื่น

·    และสุดท้ายคือประเด็น BYD ที่อาจจะมีการทุจริตจากผู้บริหารชุดเก่า แต่ก็ได้เปลี่ยนคณะกรรมการและผู้บริหารใหม่ พร้อมกับลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจรถบัส EV

    ในส่วนรายละเอียดต่างๆ ก็ได้นำมาจากช่อง ถามอีก กับอิก TAM-EIG ที่มีการ Live สัมภาษณ์คุณหมู สุวัฒน์ สินสาฎก CFA, FRM, ERP กรรมการผู้จัดการ บล.ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟ เอส เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดย อิก บรรพต ธนาเพิ่มสุข, AFPT ที่ปรึกษาการเงิน สัมภาษณ์วันที่ 9 เม.ย. 2565 ซึ่งมีเนื้อหาพูดคุยกันค่อนข้างยาว https://www.youtube.com/watch?v=XrtlNMqgWkM&t=2634s

     ผมเลยจับประเด็นสำคัญๆ ที่คุณหมูได้อธิบายไว้ เพื่อให้นักลงทุนหรือคนที่สนใจประเด็นนี้อยู่ ได้รับฟังข้อมูลในเชิงข้อเท็จจริงกันครับ โดยผมจะขอแบ่งประเด็นต่างๆ แตกลงไปในแต่ละคอมเมนต์แล้วกันนะครับ กระทู้จะได้ไม่ยาวจนเกินไป ใครสนใจประเด็นไหนก็ข้ามไปอ่านประเด็นนั้นได้เลย

โดยผมจะแบ่งเป็น

ความเห็นที่ 1 การซื้อขายหุ้นของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ความเห็นที่ 2 การซื้อที่ดินบลูเทคซิตี้

ความเห็นที่ 3 การก่อสร้างทำโซล่าฟาร์ม โครงการโรงไฟฟ้าที่จังหวัดนครสวรรค์ และ ลำปาง

ความเห็นที่ 4 BYD กับความเกี่ยวข้องกับ EA

    อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ครั้งนี้ที่ EA เจอข่าวลือจนทำให้หุ้นตกลงมาจาก 100 กว่าบาท ลงมาที่ 86 บาท เป็นครั้งที่ 3 แล้ว คุณหมูบอกว่าครั้งแรกลงมา 60% ครั้งที่ 2 ลงมา 40%  โดยลักษณะของหุ้นจะมีคาแรกเตอร์ที่คล้ายกันคือมีการขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่คราวนี้เป็นครั้งที่มีประเด็นชัดเจนมากที่สุด

    โดยเริ่มที่ประเด็นแรก การซื้อขายหุ้นของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

การลดหุ้นและการถือหุ้นของคุณสมโภชน์และครอบครัวรวมทั้งหมด 43% โดยตัวคุณสมโภชน์ถือประมาณ 40% อีก 3% เป็นของครอบครัว

การถือหุ้นเป็นข้อมูลที่เปิดในเว็บไซต์ของ SET และรายงาน 56-1

ถ้าไปดูรายชื่อใน SET จะไม่มีการแยกรายชื่อให้ดู แต่จะเห็นเป็นชื่อกองทุน เช่น กองทุน UBS เขาเป็นนอมินีที่ถูกต้องในลักษณะคัสโตเดียน

หมายถึงการถือหุ้นแทนเจ้าของที่แท้จริง โดยจะเปิดเผยชัดเจน ตลาดหลักทรัพย์รับรู้ทุกคนรับรู้ว่าอันนี้ถือแทนใคร แต่เวลาโชว์ชื่อมันไม่ได้โชว์ชื่อเจ้าของ ถ้าถือในลักษณะคัสโตเดียน จะโชว์อยู่ในชื่อกองทุน แต่ถ้าท่านเข้าไปดูรายงาน 56-1 จะเป็นว่ามีการเขียนแยกให้แบบชัดเจน ว่าคุณสมโภชน์ถือ 40%  

การถือหุ้นของคุณสมโภชน์ที่เป็นชื่อตัวเองประมาณ 8 ร้อยกว่าล้านหุ้น ลดลงมาเหลือ 4 ร้อยกว่าล้านหุ้น ถ้าดูผิวเผินอาจจะเป็นแบบนั้น ถึงเป็นที่มาของการมองว่า คุณสมโภชน์ลดหุ้น แต่ความจริงไม่ใช่ คุณสมโภชน์ลดหุ้นในชื่อตัวเองตรง 400 กว่าล้านหุ้น เอาส่วนตรงนี้โอนเข้าไปในคัสโตเดียน คือการถือแทนในรูปของทรัสต์ คือกองทุนที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรับทรัพย์สินผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดจากทรัพย์สินนี้ แล้วนำทรัพย์สินผลประโยชน์ต่างๆ ไปให้กับบุคคลที่เราระบุไว้

https://www.set.or.th/th/products/listing/files/Know_trusts.pdf

เวลาเขาตั้งทรัสต์ ส่วนใหญ่ตั้งเพื่อลูกหลาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือกองทุนที่ถือแทนทั้งหมด 3 ชื่อ

1.     UBS AG SINGAPORE BRANCH 1,000 ล้านหุ้น

2.     Morgan Stanley ถือ 60 กว่าล้านหุ้น

3.     UBS AG

รวมทั้งหมดรวมกันราวๆ 1100 ล้านหุ้น

คุณสมโภชน์ตั้งกองทุนมาในปี 2016 คนที่ทำธุรกรรมทรัสต์ทั้งหมดให้คือ UBS และมีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดว่า การเปลี่ยนหุ้น จากคุณสมโภชน์ไปสู่กองทุนต่างประเทศ ทำไมต้องต่างประเทศ เพราะประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายที่เอื้อ จึงต้องไปตั้งต่างประเทศไม่งั้นจะโดนภาษีประเทศไทยมหาศาล มันเป็นสิ่งที่ปกติสำหรับคนที่อยู่เมืองนอก เศรษฐีเมืองนอกก็ทำกันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

คุณสมโภชน์ตั้งมาเพื่อให้ลูกทั้ง 3 คน ในที่สุดกองทุนนี้ผลประโยชน์จะเข้าไปสู่ลูกเมื่อบรรลุนิติภาวะ

มีการตั้งคำถามว่าลดหุ้นหรือป่าว? ถ้าในชื่อตัวเองจริงๆ ก็ลด จาก 8 ร้อย สู่ 4 ร้อย แต่ถ้ารวมในส่วนของกองทุนทรัสต์ ตรงนั้นตลาดหลักทรัพย์ก็ยังนับเป็นการถือหุ้นของคุณสมโภชน์ เพราะมีอำนาจควบคุมทรัสต์อยู่ พอเป็นแบบนั้น กลต. จึงถือว่ายังเป็นของคุณสมโภชน์อยู่ แต่คนละรูปแบบเท่านั้น

ตามปกติดังนั้นถ้าผู้ถือหุ้นใหญ่มีการลดหรือซื้อหุ้นจะต้องมีการรายงานตลาดหลักทรัพย์ให้ทราบ แต่กรณีนี้ไม่มีการรายงานเพราะตลาดหลักทรัพย์ไม่ถือว่าเป็นการลดหรือเพิ่ม เขาถือว่าเป็นการเปลี่ยนเฉยๆ แต่ภาพรวมก็ยังเป็นคุณสมโภชน์

ทุกอย่างที่เขาเปลี่ยน UBS เป็นคนทำให้ ตลาดหลักทรัพย์ก็รับรู้ ถ้ามีคนบอกว่าแบบนี้ตลาดหลักทรัพย์ก็จะต้องมาตรวจสอบ ก็ไม่รู้ว่าจะตรวจสอบอะไร เพราะตลาดหลักทรัพย์รู้อยู่แล้ว และการกระทำดังกล่าวก็ถือเป็นธุรกรรมที่ปกติ สามารถที่จะทำแบบนี้ได้ ใครๆ ก็ทำได้ แต่ต้องแจ้งตลาดว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อจุดประสงค์อะไร

     สรุปว่า ข้อที่หนึ่งคุณสมโภชน์ไม่ได้ลดหุ้น ปัจจุบันนี้ยังถือหุ้นเท่าเดิม 40.3% ใน EA เพียงแต่ว่าไปอยู่ในกองทุนทรัสต์มากขึ้น

การทำแบบนี้ก็หมายความว่าคุณสมโภชน์กำลังจะถ่ายทรัพย์สินให้ลูกมากขึ้น ยังมีอำนาจควบคุมแต่ไม่ได้รับผลประโยชน์

ถ้ายังไม่เข้าใจก็เปรียบเหมือนกับการเป็นผู้จัดการมรดกแต่ไม่มีอำนาจการใช้เงิน ต้องเอาเงินต่างๆ ไปให้คนที่ได้รับมรดกจริงๆ ซึ่งก็เป็นหลักการเดียวกันกับการตั้งกองทุนทรัสต์ขึ้นมา

ประเด็นนี้สรุปว่า 1.ไม่ได้เป็นการลดหุ้น  2.ไม่ได้ทำธุรกรรมอำพราง  3.กลต.รับรู้เนื่องจาก UBS เป็นคนตั้งทรัสต์ขึ้นมา

ตั้งแต่ EA เข้าตลาดเคยสักครั้งไหมที่ทำให้รู้สึกว่าเขาโกง ถ้ามองในมุมกลับว่าธุรกิจที่เขาทำแล้วรู้สึกว่าไม่ได้ดีกว่าคนอื่น เช่นโซล่าร์ฟาร์มได้กำไรมากกว่าคนอื่นไหม วินฟาร์มทำกำไรได้สูงกว่าคนอื่นไหม หรือแม้แต่ EA ก็เช่นเดียวกัน แต่พอมาแยกในเชิงธุรกิจถ้าเราจะตัดสินคนคนนึงด้วยธุรกิจ ก็ลองนึกดูว่าที่ผ่านมา 10 กว่าปีมันเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะมองเขาด้วยมุมอื่นก็ขอละไว้ 

2 การซื้อที่ดินบลูเทคซิตี้

EA ตั้งใจสร้างโรงงานแบตใหญ่โตในอนาคต ที่ตั้งใจขยายไปถึง 50 กิกกะวัตต์ จาก 1 กิกกะวัตต์ ใหญ่ขนาดโรงงานเทสล่าที่สร้างแบตเตอรี่ให้กับรถตัวเองยัง 30 กิกกะวัตต์ แปลว่าเขามีความคิดที่ยิ่งใหญ่แล้ววันนี้ก็ค่อยๆ สร้างไปตามดีมาน อาจจะใช้เวลา 5 ปี 10 ปี อีกอันนึงที่สร้างและใช้งานแล้ว คือโรงงานสร้างรถ E bus และ E truck ก็มีการส่งมอบรถ และปีนี้น่าจะส่งมอบรถ 2000 กว่าคัน ในตามที่เป็นข่าว

เขาจะทำแบบนี้เนื่องจากว่า เขามองว่าถ้าจะสร้างธุรกิจ EV กับแบตเตอรี่ มันคือ 1 ใน 12 อินดัสตรี ที่รัฐบาลไทยตั้งใจที่จะส่งเสริมใน EEC เรื่องเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นหนึ่งในนั้น พอ EA อยู่ในอุตสาหกรรม 1 ใน 12 ก็ควรที่จะไปตั้งนิคมที่อยู่ใน EEC ที่อยู่ที่ ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี แต่ระยองที่ดินแพงพอขยับมาชลบุรีก็แพงอีก แต่ถ้าขยับมาฉะเชิงเทราไม่แพงเท่าระยอง ชลบุรี เพราะเป็น พท. ที่ยังไม่ค่อยได้รับการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม ฉะเชิงเทราก็ติดกับกรุงเทพ ใกล้กว่าชลบุรี แต่การที่ใกล้ว่ากลับกลายเป็นพื้นที่สีเขียว ที่ไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมได้ แต่ชลบุรี ระยองทำได้ ถ้าอธิบายให้ฟังแบบนี้ คิดว่าอยากจะตั้งโรงงานที่ไหน ที่ต้องการพื้นที่เยอะๆ EEC ครอบคลุม พท. 3 จังหวัด EA เขาเลยเลือกไปฉะเชิงเทรา

ต้องบอกว่า ถ้าท่านซื้อที่ตอนนี้ ท่านว่าแพงไหม? แต่ถ้าซื้อที่ดินตั้งแต่ 5-7 ปีที่แล้วราคาจะไม่เท่าปัจจุบัน แต่การซื้อ 5-7 ปีที่แล้ว มันเป็นพื้นที่สีเขียว แปลว่ายังทำนิคมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนกฎหมาย ต้องเปลี่ยนสีที่ดิน จากสีเขียวเป็นสีม่วง ซึ่งหมายถึงว่าจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้ ทำไมถึงทำได้ครับ เพราะกฎหมายพิเศษ EEC ที่เป็นตัวครอบ 3 จังหวัดและมีอำนาจที่จะเปลี่ยนสีเขียวให้เป็นสีม่วงได้ แต่ชลบุรีจำเป็นต้องทำตรงนั้นไหม ไม่จำเป็นเพราะเขามีพื้นที่สีม่วงแล้วเยอะแยะ

หลายๆ คนเข้าใจว่าคุณสมโภชน์และกลุ่มเอาเปรียบบริษัท EA ด้วยการเข้าซื้อที่ดินราคาถูก แล้วทำธุรกรรมอำพรางแล้วนำมาขายที่ดินแพง ให้ EA มูลค่า 3000 กว่าล้านบาท

พอคุณหมูรู้ข่าวก็เป็นคนที่โทรไปถาม EA ว่าทำไมต้องเป็นราคานี้ มีการโกงเกิดขึ้นหรือป่าว เพราะมีความกลัวเรื่องการโกง ไม่โปร่งใส มากกว่าการโตน้อย 

และในปี 2016 คุณสมโภชน์รู้แล้วว่าในอนาคตจะต้องเปลี่ยนเป็นสีม่วงแน่ๆ แต่ว่าต้องใช้เวลา ถ้าเขาไปซื้อหลังๆ จะแพงมาก แต่ถ้าเขาซื้อก่อนแล้วมันเป็นสีเขียว ก็มีความเสี่ยงเกิดอีก 5 ปี ถ้าพื้นที่ตรงนี้ไม่เปลี่ยนสีเป็นสีม่วงจะทำอย่างไร ตอนนั้นบอร์ด EA ก็ไม่อนุมัติให้ซื้อ ถ้าซื้อแล้วไม่เปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีม่วง บอร์ดก็จะถูกฟ้องย้อนกลับ

คุณสมโภชน์ก็เลยไปกู้เงินตั้งบริษัทซื้อเอง พร้อมกับรับความเสี่ยงเอง เพราะเขาเคยมีประสบการณ์การซื้อที่สร้างโซล่าฟาร์ม พอซื้อไปจำนวนหนึ่ง ก็มีการขึ้นราคาเพราะทุกคนรู้ว่าจะซื้อไปทำอะไร ราคาเลยแพงขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งคือการขายที่ดินให้กับ EA แพง ตอนที่คุณสมโภชน์ขายคือ 5-6 ปีหลังจากนั้น ตอนนั้นก็มีการคุยกับบอร์ดว่าค่อนข้างแน่ใจว่าเหลืออีกไม่เกิน 1 ปี เพราะสีพื้นที่จะเปลี่ยนแน่นอน เพราะตอนนี้กระบวนการที่จะสร้าง EEC ใกล้จะเสร็จแล้ว แต่คำถามคือทำไมต้องโอนตอนนั้น เพราะถ้ารอให้ผ่านเป็นสีม่วงเลย ก็จะต้องขายแพงขึ้นมากๆ แต่ถ้ามันก้ำกึ่งมันจะยังถูกกว่า แล้วราคาที่ต้องขายรู้ได้อย่างไรว่าไม่แพง

1เนื่องจากว่ามันเป็น รีเรทเต็ดปาร์ตี้ (คนที่มีความเกี่ยวโยงกัน) คือคุณสมโภชน์ถือบริษัททั้ง 2 บริษัท มันเป็นกฎหมายอยู่แล้วที่จะต้องจ้างเติร์ดปาร์ตี้ที่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินที่ดินมาประเมินว่าตรงนี้ราคาเท่าไหร่ แล้วถึงจะซื้อ 2 แถวนั้นมันก็มีนิคมอื่นๆ เป็นของ TFD ซึ่งราคาแพงกว่า คุณหมูเลยนำมาเป็นราคากลางเปรียบเทียบกัน ก็เลยเห็นว่ามันมีความสมเหตุสมผลอยู่

กรณีบูลเทค ราคาที่ซื้อขายกันมันไม่ได้แพงกว่าตลาดเท่าไหร่ แต่ถูกเสนอด้านเดียวซื้อถูกขายแพง เป็นการซื้อในราคาตลาด มีการประเมิน

เรื่องที่ 3 การก่อสร้างทำโซล่าฟาร์ม โครงการโรงไฟฟ้าที่จังหวัดนครสวรรค์ และ ลำปาง

ข้อเท็จจริงตอนนั้นโซล่าฟาร์มสร้างกันเมกฯ ละเป็นร้อยล้าน แล้วปี 2013 ตอนที่สร้างราคามันเริ่มลดลงมาเหลือประมาณ 70 ล้าน คนอื่นตอนที่สร้างปีเดียวกับเขาก็ใช้เงินประมาณนี้ เพราะฉะนั้นราคาก็ไม่ได้แพงกว่าคนอื่น

2 คือ มีการคดโกงกันรึป่าวในเรื่องของขบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่สิ่งที่ไม่ได้พูดถึงคือ เทิร์นคีย์ (Turnkey Project คือ การจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ  งานที่เจ้าของโครงการ ต้องการให้ผู้รับเหมา ไปดำเนินการออกแบบ และก่อสร้างแล้วเสร็จแต่เพียงผู้เดียว แปลให้เข้าใจง่ายกว่านั้น คือ โครงการที่ผู้ผลิตทำการผลิตหรือพัฒนาตามที่ตกลงว่าจ้างกันไว้)

หน้าที่ของบริษัทเมื่อมีการจ้างเทิร์นคีย์ก็แค่ไปตรวจสอบว่าเป็นไปตามสเป็กหรือป่าว ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบการซื้อของ ว่าถูกหรือแพง เพราะผู้รับเหมาอาจจะซื้อถูกได้ ถ้าบังเอิญว่าโปรเจกต์ที่เราไปจ้าง ไปมีโปรเจคต์เหมือนเจ้าอื่นที่ใช้วัสดุอุปกรณ์เหมือนกันแล้วเขาไปซื้อมากๆ ก็อาจจะได้ราคาถูก หรืออะไรก็แล้วแต่มันเป็นเรื่องของเขา ตราบใดที่เป็นเทิร์นคีย์หมายความว่าเราที่จ้างให้เค้าสร้าง ไม่ได้อยากจะรับความเสี่ยงเยอะแยะ ก็เป็นการเหมาไปเลย

พอเทิร์นคีย์จบแปลว่าที่เหลือผู้รับเหมาซึ่งเป็นบริษัทจีน เขาจะไปซับคอนแทรคใคร ซื้อแผงเท่าไหร่ ก็เป็นหน้าที่ของเขา ตราบใดที่เขายังซื้อและใช้สิ่งที่เรากำหนด โดยปกติการสร้างโซล่าร์ฟาร์มและวินฟาร์มจะมียี่ห้อและสเป็คกำหนดไว้แล้ว คือแบงค์นั่นเองเพราะแบงค์ก็จะกลัวว่าเป็นการออฟสเป็ค ประสิทธิภาพเหมือนกับที่นำเสนอหรือป่าว นั่นคือสิ่งที่แบงค์กลัว ดังนั้นแบงค์จะกำหนดไว้แล้ว ต้องเป็น 1 ใน 5 ยี่ห้อนี้ จะมาแบบซื้อยี่ห้ออื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุไม่ได้ เพราะแบงค์จะไม่รับ แบงค์ไม่รับคือแบงค์ไม่ปล่อยเงินกู้ ดังนั้นการันตีได้เลยว่า เป็นการทำตามเงื่อนไข ถ้าทำออกมาแล้วมันถูกกว่าที่คิดไว้ ถ้าเราจ่ายเขาแพง แต่ตกลงกันไว้แล้วก็คือจบ

ของ EA เมื่อสร้างเสร็จแล้วกำไรต่อเมกกะวัตต์สูงสุดในประเทศไทย เลยส่งผลให้ IRR สูงมากถึง 30-40%

ที่ EA เติบโตมาได้ ก็มาจากผลงานในอดีตระยะยาว และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี เพราะทุกๆ โปรเจคที่เขาทำมันตอบตัวมันเองว่าเขาไม่ได้สร้างแพง แต่เขาสร้างดี บริหารจัดการทำให้กำไรมันดีกว่าคนอื่น และเขาก็เอาเงินพวกนี้ไปต่อยอดจากโซล่าไปวิน จากวินไปรถ EV นี่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนควรทำไม่ใช่แค่ EA ผู้ประกอบการบางคนโตเสร็จแล้วจบเลยไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไรต่อ เพราะไม่สามารถจะหาการเติบโตที่ยิ่งใหญ่หรือชัดเจนได้ ซึ่งมีให้เห็นเยอะแยะในตลาดหลักทรัพย์ บางคนทำไปแล้วเน้นเมกกะวัตต์ ไม่เน้นกำไร วินฟาร์มและโซล่าของ EA ทำผลประกอบการได้ดีที่สุดในประเทศไทย แต่ EV จะต้องรอต่อไป

ในส่วนของการทำรถบัสรถเมล์ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า สุดท้ายตอนนี้ก็ทำได้แล้ว มีทั้งเรือ รถเมล์ EA ก็ต้องลงมือทำเองวิ่งเอง เพราะมันยากที่จะขายสินค้าโดยที่ไม่พิสูจน์สินค้าให้ลูกค้าเห็น จึงต้องวิ่งเอง เพราะต้องการพิสูจน์แบตเตอรรี่ ชาร์จเจอร์ ในส่วนของการทำเรือแล้ววิ่งอยู่เรือวิ่งได้จริงแต่ขาดทุน แต่ว่าบนกลยุทธ์ถือว่าเขาได้กำไร

รัฐบาลเองก็สนับสนุนรถยนต์ EV มียอดจองรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นกว่าปีก่อนๆ ส่วน EA ก็มาทำรถบัส รถเมล์ เรือไฟฟ้า และในประเทศไทยก็มี EA ที่ผลิตรถบัสรถเมล์ได้อย่างจริงจังและมากกว่าเจ้าอื่น ถ้าดูในรูปแบบธุรกิจยังไปได้อีกไกล 

แถมประเด็นสุดท้ายคือ 4 BYD

ที่มีข่าวว่าผู้ตรวจสอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบปีที่แล้ว BYD จึงส่งเอกสารต่อตลาดหลักทรัพย์ ขอเลื่อนส่งการรายงานตรวจสอบ สาเหตุก็ด้วยเรื่องที่อาจจะมีการทุจริต 

ซึ่งในอดีต BYD ทำธุรกิจโบรกเกอร์ ต้องมีการปล่อยกู้หรือซื้อทรัพย์สิน ภายใต้ผู้บริหารชุดเดิมที่ไม่ใช่ปัจจุบันมีธุรกรรมที่ถูกกล่าวหาจริง ทำให้บริษัทเสียหายไม่ต่ำกว่า 200 กว่าล้านบาท บริษัทในเชิงโบรกเกอร์ถือว่าเจ๊งแล้ว อยู่อันดับท้ายๆ เลยมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เปลี่ยนธุรกิจ หนี้ที่เสียหายไปจากชุดเดิมก็ต้องมีการตั้งสำรอง 100 % แล้วเรียกกลับมาได้ 100 กว่าล้าน เหลืออีก 100 กว่าล้านที่ยังไม่ได้ ก็มีการฟ้องร้องไป

ความเกี่ยวข้องระหว่าง BYD กับ EA ก็อาจจะยังมีคนงงว่า อยู่ดีดี BYD จะไปทำรถบัสได้ยังไง คุณหมูก็ไปถาม BYD อีกเช่นกัน ได้ข้อมูลมาว่าเจ้าของเดิมที่มีประเด็นส่วนใหญ่ออกไปหมดแล้ว เจ้าของที่เหลืออยู่เข้าใจว่าเป็นเพื่อนกับคุณสมโภชน์อาจจะต้องสร้างโมเดลว่าวิ่งเอง ถ้าตั้งบริษัทมาเองก็ได้ แต่ทำแบบนั้นเดี๋ยวก็โดนข้อกล่าวหาอีก ก็เลยมีการเสนอปรับโมเดลธุรกิจ แล้วรักษาไลเซนส์ (License) เดิมไว้ ถ้ามีเงินจากรถเมล์เข้ามาแล้วประสบความสำเร็จจากรถเมล์ มีทั้งหมด 2-3 พันคัน ก็สามารถเอาเงินไปพัฒนาธุรกิจโบรกเกอร์ให้กลับมาได้อีกถ้าไม่มีเงินตรงนี้ธุรกิจโบรกเกอร์ที่สร้างมาก็ไม่สามารถกลับมาได้

สุดท้ายคุณหมูได้พูดถึง EA ว่ายังคงเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดี และมีอนาคตไปได้ต่อได้ จากสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา EA ก็กลับมาปิดบวกแล้ว ราคาหุ้นอยู่ที่ 90 บาทแล้ว ส่วนตัวผมเองนั้นก็ได้ตกรถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฮ่า ๆ ๆ อยากเข้าเหมือนกันแต่ว่ากระสุนไม่พอ แต่จากการนั่งฟังรายการนี้มันก็ทำให้เห็นความอิมแพคของข่าวที่ไม่ผ่านการกรองเอามากๆ ทำเอานักลงทุนต้องอกสั่นขวัญแขวน ดังนั้นก็คงเป็นอีกบทเรียนหนึ่งสำหรับพวกเราชาวเม่าที่นอกจากจะต้องมีสติในการเสพข่าวแล้ว ก็ต้องใช้จิตใจที่เข้มแข็งมากเลยนะครับ 

ที่มา:https://pantip.com/topic/41379714

24 เม.ย. 65 เวลา 20:57 364
โพสต์โดย

rose flower


คนดู