EA เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรในไทย เซ็นต์ MOU กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เตรียมความพร้อมภาคแรงงาน การผลิตและซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า วิจัยพัฒนาแบตเตอรี่และสถานีอัดประจุไฟฟ้า ส่งเสริม Green University ของ มทร.อีสาน
ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มทร. อีสาน กับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) โดยรองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ร่วมลงนาม
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า “นับเป็นนิมิตหมายที่ดีและขอแสดงความยินดีกับ มทร.อีสานและ EA สำหรับพิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ที่มุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งจะเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศไทยและของโลกในอนาคตอันใกล้นี้”
รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เปิดเผยว่า “ก่อนหน้านี้ราวเดือนมกราคม 2564 มทร. อีสาน ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับ EA ในการศึกษาวิจัยนวัตกรรมการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์พืชสมุนไพร รวมไปถึงกัญชง กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยและการสาธารณสุข และในครั้งนี้เป็นการต่อยอดความร่วมมือกับ EA ในการพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทุกประเภท ตามนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวและการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน และการนำเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อจัดการระบบการขนส่งภายใน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของบุคลากรและนักศึกษาในการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างรู้คุณค่า และสังคมตระหนักถึงการพัฒนาควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) กล่าวปิดท้ายว่า “บริษัทฯ มั่นใจว่าความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากร สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า New S-Curve ที่จำเป็นต้องใช้ทักษะแรงงานฝีมือ รองรับการเติบโตในอนาคต เรากำลังเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยเตรียมพร้อม Up-skill / Re-skill บุคลากรไทย สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อให้ประเทศไทยดำรงความเป็น Detroit of Asia ที่เราภาคภูมิใจและรักษาอุตสาหกรรมหลักนี้ไว้ได้ ผมคิดว่ายานยนต์ไฟฟ้าเหมาะกับประเทศไทย เพราะประสิทธิภาพที่ดีกว่า ช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานและแก้ปัญหา PM 2.5 เสริมจุดแข็งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการแพทย์ของไทย นอกจากความร่วมมือด้านวิศวกรรม การพัฒนากัญชง CBD สูงร่วมกับ มทร. อีสาน จะเป็นประโยชน์ต่อการแพทย์และเพิ่มมูลค่าภาคเกษตรกรรม ช่วยยกระดับรายได้ของคนไทยให้ก้าวข้าม Middle Income Trap หากเราเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยและร่วมกันส่งเสริมคนไทย”