สวัสดีครับ วันนี้เรามีเนื้อหาที่เหมาะจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ กำลังทดลองออกแบบกราฟฟิกดีไซน์ด้วยตัวเอง ไม่ว่าเป็น โลโก้(Logo) สัญลักษณ์(Symbol) โปสเตอร์ หรืองานโฆษณาต่าง ๆ สำหรับผู้เริ่มต้น เคยสงสัยและถามตัวเองกันไหมครับว่า “เอ้! ทำไมโลโก้ของคนอื่น ๆ แต่ละอันมันดูออกมาเรียบง่าย สบายตาจังเลยนะ แล้วดูของฉันสิ มันอะไรกันเนี่ย ดูยุ่งเหยิง รกรุงรังพันกันเต็มไปหมด แถมยังสื่อความหมายออกไปไม่ได้อีกต่างหาก เห้อ” ที่เป็นแบบนั้นผมอยากกระซิบบอกเบาๆว่า เพราะพวกเขามีองค์ประกอบพื้นฐานในการออกแบบกราฟฟิกดีไซน์อยู่ในใจตั้งแต่ก่อนเริ่มจรดปลายดินสอสเก็ตช์แล้วหนะสิ ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้จะบอกว่าโลโก้ หรืองานกราฟฟิกดีไซน์ที่ดูเยอะ ดูรก เป็นงานที่ผิดนะครับ ทั้งนี้ก็ต้องแล้วแต่โจทย์ และลูกค้าด้วยจ้า มาครับเรามาดูกันเลยว่า องค์ประกอบพื้นฐานสำหรับการออกแบบและงานศิลปะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
1.จุด (Dot) หมายถึง สิ่งที่มีตัวตน มองเห็นได้ ในทางคณิตศาสตร์ใช้ระบุตำแหน่ง เป็นสิ่งที่ไม่มีมิติ ไม่มีความกว้าง ความยาว หรือแม้กระทั่งความลึกในตัวของมัน เป็นเพียงจุด แต่ในทางด้านการกราฟฟิกดีไซน์แล้ว จะบอกว่ามันไม่มีมิติเลยก็คงไม่ได้เพราะเราก็มองเห็นมันอยู่เนี่ย จึงกลายเป็นว่าจริง ๆ แล้ว จุดคือ สิ่งที่คนไม่ได้อยากจะทราบถึงขนาดว่ามันกว้างยาวเท่าไหร่ต่างหาก
ยกตัวอย่าง เราลองนำเหรียญบาทมาแปะลงที่มุมล่างขวาของกระดาษขนาด A4 แล้วลองมอง เราจะเห็นเหรียญบาทเป็นจุดกลมๆอยู่บนกระดาษสี่เหลี่ยม ต่อมาลองพับกระดาษทีละครึ่ง เข้าไปหาเหรียญบาทนั้นเรื่อย ๆ จนขอบกระดาษเข้าไกล้ขอบของเหรียญบาทนั้นมาก ๆ เราก็จะมองเหรียญบาทเปลี่ยนไป ไม่เป็นจุดแล้ว เป็นสิ่งที่เราพอจะระบุขนาดของมันคร่าวๆได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีผลกับจุด คือ ที่ว่าง(Space) ที่จะเป็นตัวบอกว่า สิ่งที่เราเห็นนั้นเป็นจุดหรือไม่
2.เส้น (Line) คือ การที่นำจุดมาเรียงต่อ ๆ กันเป็นแนวยาว เพราะมันเป็นจุดนิยามมันจึงเหมือนเดิม คือไม่มีใครสนใจขนาดของมัน แต่เมื่อมันต่อกันเป็นเส้น ผู้คนจะสนใจแค่ว่า ความยาวของมันมีขนาดต่างกันกับความสูงของมันมาก ๆ
ยกตัวอย่าง กระดาษ A4 แผ่นเดิมนั้นแหละ เราลองหาเหรียญบาทวางเพิ่มต่อจากมุมล่างขวา วางไล่ไปจนถึงมุมบนซ้าย เราก็จะได้บางอย่างที่เรียกว่า เส้นทแยงมุมแล้ว ต่อมา เราลองหาเหรียญ5บาท มาวางทับเหรียญบาทที่อยู่ตรงกลางสุดของเส้นนั้น เราจะเห็นความหนาของเส้นที่เปลี่ยนไป เราเรียกมันว่า น้ำหนัก(Weight)
เส้นมี 2 ลักษณะ 1.เส้นตรง ให้ความรู้แข็งแรง มั่นคง รวดเร็ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวางตัวและการนำเส้นมาประกอบกันด้วย เช่นเราวางเส้นตรงเฉียง 60องศา กลางหน้ากระดาษ ยิ่งเส้นยาวจะยิ่งให้ความรู้สึกพุ่งพรวดรวดเร็ว แต่ถ้าเราวางเส้นเดิมให้ปลายเส้นด้านล่างจรดกับขอบกระดาษด้านล่างพอดี จะให้ความรู้สึกโงนเงน เอนเอียง ไม่มั่นคงทันที 2.เส้นโค้ง ให้ความรู้สึกอ่อนโยน มีชีวิตชีวา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการดัดเส้นโค้งให้เกิดความรู้สึกไหน
3. ระนาบ (Plane) คือ เส้นที่เรียงตัวปิดล้อมกัน ไม่มีช่องโหว่ เกิดเป็น รูปร่าง (Shape) สัมผัสได้ถึงความยาวและความสูง เป็นภาพ2มิติ ไม่มีมิติของความลึก
ย้อนกลับไปที่เรื่อง จุด ที่กล่าวว่า เมื่อเราพับกระดาษ A4 เข้ามาหาเหรียญบาทเรื่อย ๆ จนขอบกระดาษชิดกับขอบเหรียญมากแล้ว เราจะมองเหรียญเปลี่ยนไป พื้นที่ว่างของกระดาษที่แคบลง จะทำให้เรามองเห็นรายละเอียดของเหรียญมาขึ้น จนเราเห็นเป็นเส้นวงกลมมีปลายจรดกันสมบูรณ์ เกิดเป็นระนาบวงกลมขึ้นมาแทนการเป็นจุดนั่นเอง
ระนาบหรือรูปร่าง มี3ลักษณะ 1.รูปร่างเรขาคณิต (Geometrical Shape) เกิดจากการประกอบกันของเส้นตรง หรือการสร้างรูปร่างขึ้นจากการคำนวนทางคณิตศาสตร์ 2.รูปร่างอินทรีย์รูป(Organic Shape) คือรูปทรงที่เลียนแบบธรรมชาติ 3.รูปร่างอิสระ(Free Shape) คือรูปร่างที่เกิดจากการสรรสร้าง ดัดแปลงจากตัวผู้สร้างเอง
บนระนาบ เราสามารถแต่งเติม พื้นผิว(Surface) ของมันได้ ยกตัวอย่าง กระดาษที่มีเหรียญบาทแผ่นเดิมนั่นแหละครับ คว่ำกระดาษลงให้เหรียญอยู่ใต่กระดาษ แล้วเราลองเอานิ้วโป้งกดลงไปบนเหรียญแรงๆ จะทำให้พื้นผิวของเหรียญเกิดเป็นรอยรูปวัดแจ้งขึ้น เรียกว่า ผิวสัมผัส(Texture) ผิวสัมผัสนั้น เกิดขึ้นได้บนแส้นได้เช่นกัน ถ้าเส้นมีความหนาหรือน้ำหนักที่มากพอ และน้ำหนักก็เกิดกับระนาบได้เช่นกันและแสดงออกชัดเจนกว่าเส้นมาก เนื่องจากระนาบมีขนาดความกว้างยาวชัดเจน ระนาบยิ่งใหญ่ก็ทำให้มีค่าน้ำหนักมากขึ้นโดยปริยาย
โอ้โห เพียงแค่3เรื่อง ยังเกิดคำศัพท์ใหม่ออกมาอีกมากมายเลย เนื่องจากเวลาหมด วันนี้พักไว้แค่นี้ก่อนครับ วันหลังจะมาเล่าเรื่ององค์ประกอบอื่น ๆ ให้ฟังต่อ และไม่ต้องตกใจไป ครั้งถัดไปจะมีการพูดถึงเรื่องตัวอย่างและการนำองค์ประกอบเหล่านี้ไปใช้ในงานกราฟฟิกดีไซน์แน่นอนครับ ต้องคอยติดตามนะครับ
สำหรับวันนี้ขอบคุณ ที่สนใจในการออกแบบครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.upmedio.com/th/graphic-design-agency/
#Graphic #Design #Logo #GraphicDesign #ออกแบบ #กราฟฟิค