EA เป็นหุ้นที่น่าพิจารณาตัวนึงในภาวะนี้ ราคาหุ้นหลายๆตัวดิ่งลง เห็นบทความนี้น่าสนใจ ยังไงก็ลองเอาไปพิจารณาดูนะ
EA หรือ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หุ้นแห่งอนาคตในดวงใจของใครหลายคน ที่บอกว่าหุ้นแห่งอนาคตเพราะธุรกิจใหม่แทบจะทุกธุรกิจนั้น EA บริษัทเป็นรายแรกในไทยที่บุกเบิก ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า โรงงานแบตเตอรี่ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งผลิตสารเปลี่ยนสถานะจากน้ำมันปาล์ม (PCM) และยังทำแอปซื้อขายปาล์มผ่านบล็อกเชนอีกด้วย
ด้วยความที่เป็นธุรกิจอนาคต ทำให้ตลาดประเมินมูลค่าหุ้นของ EA คนละขั้วมีทั้งหลักสิบและหลักร้อย ขึ้นอยู่กับภาพความสำเร็จในอนาคตที่ตลาดให้มูลค่ากับ New S-Curve
New S-Curve บางธุรกิจจะทยอยสร้างรายได้เชิงพาณิชย์อย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ โอกาสและอุปสรรคของธุรกิจตอนนี้มีอะไร อนาคตปีนี้และปีหน้า EA จะโตไปอีกเท่าไหร่ “สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย” จะพาไปอัปเดตกับ คุณอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA
***โครงการ แบตเตอรี่ลิเทียม ไอออน เริ่มผลิตปลาย Q3/63
คุณอมร เล่าว่า ขณะนี้กำลังเร่งวางโครงสร้างพื้นฐาน สร้างโรงงาน และทยอยนำเครื่องจักรมาติดตั้ง น่าจะเริ่มผลิตประมาณปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 สำหรับแบตชุดแรก ซึ่งจะนำมาเพื่อป้อนรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
“อยากเห็นตัวธุรกิจแบตเตอรี่เริ่มสร้างรายได้ปีนี้ เพราะว่าปีหน้าจะได้เข้ามาเต็มปี แล้วก็จะได้วางแผนเฟสต่อไปว่าจะขยายทันทีไหม หรือว่าจะซอยให้มันเล็กลงไปอีก ซึ่งเรื่องนี้คงต้องไปประเมินตลาด EV ที่มันจะเกิดด้วย”
เรื่องการขยายกำลังการผลิตของโรงแบต ต้องดูกันเป็นปีต่อปีเพราะตลาดรถ EV ยังเป็นตลาดที่ยังเพิ่งจะ “ตั้งไข่” วันนี้นโยบายภาครัฐก็ยังไม่ได้ชัดเจน แต่ก็เห็นเริ่มมีการขยับแล้ว เช่น มีการกำหนดค่าไฟสำหรับเครื่อง Charger ซึ่งนับว่าเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจถูกว่าจะเข้ามาหรือไม่เข้ามาในธุรกิจนี้ เมื่อความชัดเจนมันเกิด จะมีผู้เล่นรายที่ 2-3-4 เข้ามาในตลาด สถานีชาร์จแบตเตอรี่จะยิ่งครอบคลุมทั่วประเทศได้เร็วขึ้น แทนที่จะมี EA ทำอยู่รายเดียว ซึ่งมันทำให้ตลาดในภาพรวมโตช้า
เรื่องของแบตเตอรี่ สำหรับโรงไฟฟ้ายังต้องสำรวจต่อ เพราะยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ ในขณะที่หลายๆ ประเทศเริ่มให้ความสนใจ เพราะมองว่าเป็นทางเลือกสำหรับประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานไม่แข็งแรงเหมือนประเทศไทย เช่น ประเทศที่ยังไม่ค่อยมีสายส่ง ซึ่งเรื่องนี้จะตอบโจทย์แต่ด้วยความที่ยังเป็นเรื่องใหม่ คนยังไม่มั่นใจ จึงต้องหาวิธีพิสูจน์ต่อไป
***ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเริ่มขยับ เพียงแต่ยังไม่ขยายวงกว้าง
สะท้อนจากช่วงนี้มีผู้ที่สนใจติดต่อเข้ามาหา EA ทั้งผู้ประกอบการที่มีรถใช้งานในเชิงพาณิชย์ เช่น รถประจำทางตามหัวเมืองใหญ่ๆ หรือรถที่เกี่ยวกับเรื่องของภาคโลจิสติกส์ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยลดต้นทุนโดยตรง จึงช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเวลาเสนอราคาประมูลงาน
องค์กรขนาดใหญ่ในไทยทั้งหน่วยงานราชการ สถาบันการเงิน หรือภาคเอกชน ก็มีหลายแห่งเข้ามาเจรจากับ EA เนื่องจากมีความคิดที่จะเปลี่ยนรถทั้งหมดไปเป็น EV แม้จะไม่ได้หมายความว่าทาง EA จะได้งานทั้งหมด แต่อาจจะมีพื้นที่บางส่วนที่ EA สามารถเข้าไปตอบสนองความต้องการได้
“ตรงนี้จึงบ่งชี้ให้เห็นว่าวันนี้ตลาดรถ EV เริ่มขยับ คนเริ่มตระหนักมากขึ้นเพียงแต่ว่ามันอาจจะยังไม่ได้เป็นข่าวไปในวงกว้าง เพราะแต่ละองค์กรต่างก็คิดกันในมุมขององค์กรตนเอง ที่จะเตรียมความพร้อมปรับเปลี่ยนสู่เทรนด์อนาคต เปลี่ยนจากรถที่ใช้น้ำมันไปเป็นรถ EV”
***คาดการณ์ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า “MINE SPA1” ปีนี้ 5,000 คัน
ปีนี้คาดว่าจะขายได้ประมาณ 5,000 - 10,000 คัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะสนับสนุนเรื่องนี้มากแค่ไหน อย่างเช่น ในประเทศที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันตลาดรถยนต์ไฟฟ้า จะให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กระตุ้นให้คนเกิดความสนใจอยากเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
แต่หากภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนเรื่องนโยบาย ทางบริษัทก็จะต้องเดินหน้าสร้างดีมานด์ด้วยตัวเอง ซึ่งขนาดของตลาดก็จะเท่ากับเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ ลูกค้ากลุ่มแรกที่มองตอนนี้คือ กลุ่มแท็กซี่อาจจะได้ประมาณสัก 5,000 คัน แต่ถ้ามีภาครัฐเข้ามาส่งเสริมก็มีโอกาสที่จะไปได้ถึง 10,000 คันในปีนี้ แล้วปีหน้า (2564) น่าจะโตขึ้นอีก
ตอนนี้ EA มีรถยนต์ไฟฟ้าที่สหกรณ์แท็กซี่จองเอาไว้ประมาณสัก 3,000 คัน เมื่อโรงประกอบเสร็จแล้วก็จะเริ่มส่งมอบได้ทันที คาดว่าจะทยอยส่งมอบได้ตั้งแต่ช่วงปลาย Q2/63 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ Covid-19 อาจจะต้องประเมินใหม่อีกครั้ง
“แต่ตอนนี้มันอาจจะต้องประเมินใหม่นิดนึง เพราะมันมีปัจจัยเรื่องโควิด-19 เข้ามาเกี่ยว ก็ต้องยอมรับก่อนว่า หลายๆ อัน เครื่องจักรเอย หรืออะไรของเราหลายๆ เรื่องมันมาจากจีน เพราะฉะนั้นถ้าจีนเอง สมมมุติว่าตัวโรงงานยังไม่เปิด เราเองก็ต้องรอเขา”
แต่สถานการณ์ “โควิด-19” ไม่ใช่กระทบแค่ EA แต่มันกระทบไปทั่วโลก และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกอย่างอยู่ที่จีน ดังนั้น หากโรงงานที่จีนปิด ซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป หรืออเมริกา ย่อมกระทบเหมือนกันหมด
***ตั้งเป้าสถานีชาร์จ EA Anywhere ปีนี้ 1,000 จุด
ปีนี้ตั้งเป้าจะขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ “EA Anywhere” ครบ 1,000 สถานี ครอบคลุมกรุงเทพฯ กับหัวเมืองใหญ่ เช่น เขาใหญ่ พัทยา หัวหิน เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช ขอนแก่น ส่วนช้าเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับพาร์ทเนอร์ที่จะติดตั้งสถานีชาร์จ แม้จะมีหลายจุดที่พร้อมติดตั้งแต่จะต้องดูองค์ประกอบอื่นด้านสภาพแวดล้อมด้วย เช่น พื้นที่จอดรถ หรือหากเป็นมันสถานีบริการน้ำมัน ต้องมีระยะเว้นจากหัวจ่ายน้ำมันแบบปกติกับตัว charger เป็นต้น โดยกระบวนการในการติดตั้งมีตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึงเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่ ที่จะส่งมอบให้ EA เข้าไปดำเนินการ
***เรือโดยสารไฟฟ้า ที่คนไทยรอคอยพร้อมแล้ว เหลือแค่รอกฎหมาย
ปลายเดือนมีนาคมนี้ เรือของ EA มีความพร้อมที่จะลงไปทดสอบวิ่งในแม่น้ำ โดยได้สร้างเรือไว้เพื่อทดสอบ 2 ลำและขณะที่ทดสอบนี้ก็จะมีการสร้างเรือลำใหม่ เชื่อว่าภายในสิ้นปี63 จะมีเรือพร้อมให้บริการได้ประมาณ 25-30 ลำ และต้นปี64 ก็จะมีเพิ่มเป็น 40 ลำตามเป้าหมาย
แต่ประเด็นสำคัญขณะนี้คือ การที่เรือจะสามารถนำลงไปวิ่งทดสอบได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายอนุญาตให้ทำได้หรือไม่ เพราะเดิมประเทศไทยมีแค่กฎหมายที่กำกับดูแลเรือที่ใช้น้ำมัน ไม่มีกฎหมายสำหรับเรือไฟฟ้าซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ โดยขณะนี้ EA ร่วมทำงานกับกรมเจ้าท่า เพื่อผลักดันให้กฎหมายนี้เกิดขึ้น
“ตอนนี้ทางกรมเจ้าท่าก็กรุณา ช่วยเร่งกระบวนการ เพื่ออยากจะให้เรา สามารถเอาเรือลงไปทดสอบในน้ำได้จริงๆ ซึ่งถ้ากฎหมายตรงนี้ยังไม่ออกเรือก็ยังลงน้ำไม่ได้ ตอนนี้ก็ทำงานกันค่อนข้างใกล้ชิดพยายามจะผลักดันให้มันเกิด กรมเจ้าท่าเองก็อยากให้มันเกิด เพราะก็มองว่ามันเป็นเรื่องของการส่งเสริมการคมนาคมทางน้ำ เป็นเรื่องของภาพลักษณ์ และแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรม”
***ปีนี้จะเริ่มรับรู้รายได้ จากการส่งออก สารเปลี่ยนสถานะ(PCM)
EA ได้ต่อยอดจากน้ำมันปาล์มดิบ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงขึ้นจากไบโอดีเซล ซึ่งทำอยู่แล้ว นั่นคือการผลิตสารเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material : PCM) จากน้ำมันปาล์มซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในโลก
PCM คือ วัสดุที่มีความสามารถในการกักเก็บพลังงานสูง ช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ที่ค่าใดค่าหนึ่ง ด้วยการดูดซับและปลดปล่อยพลังงานความร้อน และเปลี่ยนสถานะสารจากของแข็งเป็นของเหลวและของเหลวเป็นของแข็งได้จากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป มีประโยชน์ในเรื่องของการอนุรักษ์พลังงาน ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อาคารและการก่อสร้าง, การขนส่ง, เสื้อผ้า, บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ ที่ต้องการการรักษาอุณหภูมิ
นอกจากนี้ EA ยังนำนวัตกรรม "บล็อกเชน" มาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม เพื่อใช้บันทึกข้อมูล และตรวจสอบการซื้อขายปาล์ม ตลอดจนปันผลประโยชน์ตอบแทนให้กับเกษตรกรอีกด้วย
“การก่อสร้างโรงงานน่าจะ 90% กว่าแล้ว น่าจะผลิตและมีสินค้าออกออกมาขายจริงๆ ช่วงหลังสงกรานต์ โดยจะส่งออกเป็นหลัก ปลายทางที่ประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา เพราะฉะนั้นก็จะเริ่มรับรู้รายได้ ก็อาจจะไม่เต็มปี อาจจะประมาณ 3 ไตรมาส แล้วเราก็ดู Feedback ถ้ามันออกมาดี เราก็คงมีแผนที่ขยายต่อ”
***EA คาดว่า New S-Curve จะผลักดันให้รายได้รวมปีนี้โตราว 30-40% ส่วนกำไรโตประมาณ 10-20%
ปีนี้ตัวที่จะเริ่มมีบทบาท และเห็นผลกระทบที่จะเกิดแบบมีนัยยะ คือรถยนต์ไฟฟ้า หากคำนวณจากราคาขายคันละ 1 ล้านบาทโดยประมาณ ถ้าขายได้ 5,000 คันก็เท่ากับรายได้ 5,000 ล้านบาทที่จะเข้ามาในปีนี้ เฉพาะจากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า
ส่วนเรื่องของโรงงานแบตเตอรี่รายได้ไม่ได้เกิดทางตรง เพราะไม่ได้ขายออกไปข้างนอกบริษัท แต่แบตเตอรี่ที่ผลิตออกมานั้นจะใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่อยู่ในตัวรถยนต์ไฟฟ้าของ EA
“เพราะฉะนั้น รายได้โดยตรงโดนบุ๊คเข้ามาเป็นรายได้จาก EV แต่ว่าแบตมันก็พ่วงอยู่ในนั้นแต่ถ้าในทางบัญชี คนข้างนอกก็จะเห็นว่ารายได้มันเกิดจากรถ EV แล้วก็ปี64 ก็น่าจะโตมากขึ้น แล้วน่าจะมีส่วนสำคัญกับการสร้างรายได้และกำไร เพื่อให้บริษัทมีอัตราเติบโตอย่างที่เราอยากให้มันเป็นคือ เรายังอยากเป็น Growth Stock อยู่”
“แต่จะไปคาดหวังว่า EV มันจะมีกำไรดีเหมือนโรงไฟฟ้าที่ EA เคยทำได้มันคงไม่ใช่ เพราะมันคนละธุรกิจ แต่ผมว่ารถ EV เองยังไงกำไรก็คงต้อง มีอย่างน้อยๆ สองหลักขึ้นไปอยู่แล้วล่ะ สำหรับอัตรากำไรสุทธิ”
สำหรับรายได้รวมปีนี้ ประมาณการของบริษัทคาดว่าจะทำได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท หรือเติบโตราว 30-40% จากปีก่อน ส่วนกำไรอาจจะไม่ได้เติบโตในอัตราเดียวกับรายได้ เนื่องจากอัตรากำไรสุทธิ จากธุรกิจหลักโรงไฟฟ้าค่อนข้างสูง ขณะที่ธุรกิจใหม่มีอัตรากำไรน้อยกว่า ดังนั้น ในภาพรวมของกำไรสุทธิปีนี้อาจจะเติบโตประมาณ 10-20%
***ประมาณการงบลงทุนที่จะใช้ในปีนี้ 7-8 พันล้านบาท
ปีนี้อาจจะลงทุนน้อยกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง เพราะบริษัทจะต้องลงทุนในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ โรงงานประกอบรถยนต์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ใช้เงินรลงทุนรวมกันน่าจะประมาณ 7-8 พันล้านบาท แบ่งเป็นโรงงานแบตเตอรี่ 5 พันล้านบาท ที่เหลือประมาณ 1-2 พันล้านบาทเป็นโรงประกอบรถยนต์ไฟฟ้า
ขณะนี้กำลังประเมินโรงงานแบตเตอรี่ว่า จะขยายจาก 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh)เป็น 2 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เลยหรือไม่ เพราะตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เริ่มเห็นการขยับที่ค่อนข้างเป็นบวก ดังนั้นหากทำแค่ 1 GWh อาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งหากจะขยายก็ทำได้ทันที เนื่องจากได้ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเผื่อไว้อยู่แล้ว ตัวอาคารรองรับได้ถึง 4 GWh
***ที่มาของเงินลงทุน จากเงินของบริษัทเอง และกู้บางส่วน
“เงินจาก Project ที่มัน Generate รายได้ ปกติ EA มี Ebitda ปีหนึ่งๆ ประมาณสัก 1 หมื่นล้านบาท หลังจ่ายคืนหนี้ จ่ายเงินปันผลแล้ว ก็น่าจะมีเงินเหลือลงทุนปีหนึ่งๆ ประมาณสัก 5-6 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือก็อาจจะเป็นการไปกู้จากสถาบันข้างนอก ซึ่งทุก Project ที่ว่ามาก็คุยกับแบงก์ไว้หมดแล้ว แบงก์พร้อม support”
***Analyst Consensus ให้ราคาเป้าหมาย EA แตกต่างกันมาก มองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะขึ้นอยู่กับมุมมองต่อ New S-Curve
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่นักวิเคราะห์ประเมินราคาเป้าหมายต่างกันมาก เนื่องจากว่าธุรกิจของ EA ถ้ามองธุรกิจเก่าที่มี โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ พลังงานลม เชื่อว่าทุกคนวิเคราะห์ได้ค่อนข้างใกล้เคียง และไม่แตกต่างกันมาก แต่ส่วนที่เป็น New S-Curve เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้มันมีความแตกต่างของราคาที่ค่อนข้างกว้าง ในมุมของความเห็นของนักวิเคราะห์
บางคนก็อาจจะคอนเซอร์เวทีฟก็อาจจะใส่ Discount สูงเพราะมันยังไม่เห็นความชัดเจน บางคนที่อาจจะมีมุมมองที่เป็นบวกกับธุรกิจประเภทนี้อยู่แล้วก็อาจจะ Discount น้อย เพราะฉะนั้น Discount ที่ให้มีผลโดยตรงกลับมาที่ราคาหุ้นว่ามันจะออกมาอย่างที่บอกว่าจะเป็น 47 บาทหรือจะเป็น 110 บาท มันขึ้นอยู่กับมุมมองและขึ้นกับความเชื่อมั่นที่นักวิเคราะห์มองตัวบริษัทด้วย
“มันเหมือนสมัย สมัย EA เข้าตลาดใหม่ๆ วันนั้นผมมีแค่ธุรกิจ Bio แล้วผมก็บอกว่า ผมจะทำ Solar มันจะกำไรแบบนี้ๆ ก็ยังมีทั้งคนเชื่อ กับคนไม่เชื่อ ก็จะให้ราคาค่อนข้างกว้างเหมือนกัน จนกระทั่งผมสร้างเสร็จไปโรงหนึ่ง เริ่มเห็น Performance ออกมา เขาก็เริ่มไปปรับโมเดลกัน Gap มันจะเริ่มแคบลง เพราะทุกคนเริ่มเห็น จนท้ายๆ ก็จะเริ่ม ใกล้เคียงกัน”
“เราเดินมาถึงจุดนี้ ผมต้องบอกว่า เราก้าวข้ามจุดที่เราคิดว่าเราทำไม่ได้มาแล้ว เราผ่านช่วงการศึกษา ช่วงเริ่มลงมือพัฒนามาแล้วซึ่งเฟสพวกนี้ มันจะเป็นช่วงเวลาที่จะบอกว่า เราจะไปต่อหรือไม่ไปต่อ แต่วันนี้อย่างเรื่องของโรงแบต หรือเรื่องของ EV มันเดินมาจนถึงจุดที่มันจะเข้าไลน์การผลิตแล้ว เหลือเพียงแค่ว่าออกมาแล้วจะถูกใจตลาดมากน้อยแค่ไหน”
***ยืนยันทีมบริหารมีปณิธาน อยากให้ EA คงภาพของ Growth Stock
เชื่อว่าผู้ถือหุ้นก็น่าจะรอมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว ที่จะเห็นพัฒนาการใหม่ จากภาพในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาคือ บริษัททยอยขายไฟฟ้าทุกๆ ปี ปีละ 1 โครงการ แต่ตอนนี้บริษัทจะเริ่มผันตัวเองไปทำธุรกิจใหม่ที่มีรูปแบบของรายได้ไม่เหมือนกับธุรกิจเดิม ซึ่งปีนี้ผู้ถือหุ้นน่าจะเริ่มเห็นสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นเรือไฟฟ้า รถไฟฟ้า หรือแบตเตอรี่ และปีหน้าจะเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นสำหรับตัว New S-Curve
“ถ้าดูราคาหุ้นเรา ก็นิ่งมาประมาณสักปีสองปีแล้ว เพราะนักลงทุนเห็นธุรกิจเก่าไปหมดแล้วและก็ Price ราคาให้เราไปหมดแล้ว ส่วนของใหม่มันต้องใช้เวลา วันนี้เราก็เริ่มเดลิเวอร์ได้ ปีนี้ผมว่าน่าจะเริ่มเห็นพัฒนาการที่มันเป็นบวก ก็อาจจะรออีกนิดนึง”
“ผมเอง หรือแม้กระทั่งผู้บริหารทุกคน กรรมการทุกท่าน ก็ยังมีปณิธานที่อยากจะให้ EA ยังเป็น Growth Stock อยู่นั่นคือ ที่ผ่านมา ทำไมเราถึงต้องไปวิ่งหาการแตกไลน์ธุรกิจ จากโรงไฟฟ้าแล้วก็กระโดดไปทำอีกหลายๆ อย่าง เรารู้ว่ามันเสี่ยง แต่แน่นอนเราก็เชื่อว่ามันจะสร้าง Growth ให้กับตัวบริษัท ในตัวเลขที่ผมเชื่อว่า ทุกคนน่าจะพอใจ ผมว่ามันก็น่าจะสะท้อนไปที่ราคาหุ้นนะ”
ที่มา: https://www.efinancethai.com/Spinterview/SpInterviewMain.aspx?release=y&name=i_EA