บอร์ด
กระทู้: MINE Mobility ความฝันของรถไฟฟ้าฝีมือคนไทย กับอนาคตท้องถนนพลังงานสะอาด

แม้ประเทศไทยจะเป็นฮับการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่หากพูดถึงการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป สู่รถยนต์พลังงานสะอาด แม้จะเร็วกว่าเพื่อนบ้านในแง่นโยบาย แต่อาจบอกได้ว่ายังช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งก็เป็นหนึ่งเรื่องที่หลายฝ่ายทุ่มเถียงกันว่า อนาคตประเทศไทยควรไปทางไหน และควรเดินหน้าด้วยความเร็วเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า การปรับเปลี่ยนระบบนิเวศทั้งการผลิตและการใช้งานจากรถยนต์ใช้น้ำมัน สู่รถยนต์ไฟฟ้า ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ทั้งยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชนผู้ผลิต บริษัทผู้ทำวิจัยนวัตกรรม และผู้บริโภค จึงไม่แปลกที่ปัจจุบัน ในประเทศไทย เราจะมีโอกาสเห็นรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนเพียง 0.004 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือคิดเป็นจำนวนไม่ถึง 1,500 คัน

แต่ภายใต้ตัวเลขที่น้อยนิดนั้น ก็ยังมีหนึ่งกลุ่มผู้ผลิตที่ขอพนันกับโอกาส Energy Absolute (EA) หรือบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ของซีอีโอสมโภชน์ อาหุนัย ซึ่งดำเนิน 2 ธุรกิจหลักอย่างธุรกิจไบโอดีเซล และธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ประกาศตัวเป็นเจ้าแรกที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ไทยนับตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา พร้อมเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน ขนาด 1 กิกะวัตต์ อันเป็นชิ้นส่วนหัวใจของรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยทุน 2,000 ล้านบาท

คุณสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA)

สมโภชน์ย้ำวิสัยทัศน์ชัดเจนไว้ว่า ไทยต้องเลิกย่ำอยู่กับที่ แล้วไปต่อ โดยฉวยโอกาสจากเทคโนโลยีระดับสูงมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น “เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าเปิดโอกาสความสำเร็จให้ผู้เล่นหน้าใหม่ทุกราย”

โมเดล Mine SPA1 รถยนต์ไฟฟ้าจาก EA จึงได้ปรากฏเปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์รอบล่าสุดที่ผ่านมา ด้วยรถยนต์สำหรับครอบครัว 5 ที่นั่ง ความเร็วสูงสุด 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้แบตเตอรีลิเธียม-ไอออน 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง วิ่งได้ด้วยระยะทางราว 200 กิโลเมตรต่อ 1 ชาร์ต และปัจจุบันมีแท่นชาร์ตทั่วกรุงเทพฯ 400 จุด และเตรียมสร้างเพิ่มอีก 300 จุดในปีนี้ สนนราคารถ 1,200,000 ล้านบาท ด้วยสมรรถนะที่แม้ไม่สุด แต่ก็ไม่ขี้เหร่นัก ทำให้มียอดจองในงานมากถึง 4,500 คัน

EA เล็งส่งมอบรถให้ผู้จองในปีหน้า ขณะเดียวกัน Mine SPA1 ก็ได้รับสนใจจากกลุ่มสหกรณ์แท็กซี่ ในนามสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสุวรรณภูมิพัฒนา จำกัด จองรถไปเพิ่งอีก 3,500 คัน ร่วมโครงการแท็กซี่ไฟฟ้า EV Taxi Thai โดยตัวแทนจากกลุ่มสหกรณ์บอกว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะลดภาระค่าใช้จ่ายของคนขับแท็กซี่ไปมากกว่าครึ่ง โดยปัจจุบันคนขับแท็กซี่จะต้องเติมแก๊ซ 500-600 บาทต่อวัน หากรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาแทนที่ คำนวณค่าไฟตกเฉลี่ยน่าจะลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงไปกันครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว

ทาง EA เองก็มองว่า กลุ่มแท็กซี่และรถเช่าเป็นกลุ่มเริ่มต้นที่เหมาะสมในการเริ่มต้นใช้รถยนต์ไฟฟ้า Mine เพราะการทดลองใช้เทคโนโลยี ต้องได้รับการพิสูจน์จริงจากผู้ที่ใช้ทุกวัน และใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะทางยาว ซึ่งนั่นจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคได้ในอนาคตอันใกล้

EA ยังแพลนผลิตอีก 2 โมเดลรถไฟฟ้าในอนาคตอีกด้วย นอกจากตัว Mine SPA1 ซึ่งเป็นรถยนต์ขนาดกลาง ยังเล็งขยายโมเดลสู่รถยนต์เล็กที่ราคาย่อมลงกว่า และสปอร์ตคาร์ที่ราคาสูงขึ้น น่าจับตาว่า ทางบริษัทจะผลิตแบตเตอรีได้ดีขึ้นหรือไม่ เพราะปัจจุบันค่ายผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอื่น ต่างพัฒนาแบตเตอรีลิเธียม-ไอออน ให้สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 300 เมตรเป็นมาตรฐาน เพื่อให้การใช้งานเทียบเคียงกับรถยนต์ใช้น้ำมัน ดังนั้นหากสามารถพัฒนาแบตฯให้วิ่งได้ไกลขึ้น ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันได้มากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ทางบริษัทยังบอกว่ามองหาโอกาสในการขยายสู่ตลาดรถมอเตอร์ไซค์และสกูตเตอร์อีกด้วย เพราะรถมอเตอร์ไซค์ในไทยเป็นตลาดที่ใหญ่มาก มียอดขายถึง 2 ล้านคันต่อปีในทั่วประเทศ

ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมพอสมควรสำหรับการขยับตลาดของ EA เพราะภายในปีสองปีนี้ ก็จะเริ่มมีโมเดลรถไฟฟ้าจากต่างประเทศ เข้ามาวางขายในประเทศไทยแข่งขันมากขึ้นแล้ว เช่น BYD จากจีน ที่มีวอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นหนึ่งในผู้หนุนเงินทุน เตรียมส่งรถยนต์ไฟฟ้า 1,100 คันมาไทยในปีหน้า ตามข้อตกลงของรัฐบาล ขณะที่บลูมเบิร์ก รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า บีเอ็มดับเบิลยู นิสสันมอเตอร์ส และเมอร์ซีเดส เบนซ์ จะตั้งโรงงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

อย่างที่บอกไป นโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยแม้อยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็เร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ปัจจุบันอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้าในไทยสำหรับจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่ารถยนต์เครื่องสันดาป ทั้งสำหรับผู้ผลิตยังมีการงดเว้นการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ตลอดจนภาษีอากรการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งผู้ผลิตต้องยื่นเข้ารับการส่งเสริมจากรัฐบาล โดยประเทศไทยตั้งหมุดหมายไว้ว่า ในปี พ.ศ.2579 ไทยจะต้องมียานยนต์ไฟฟ้าบนถนนมากถึง 1.2 ล้านคัน โดยคณะกรรมการส่งเสริงการลงทุน (BOI) ออกประกาศเมื่อ 27 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า ผู้ผลิตเมื่อได้รับการส่งเสริมแล้ว จะต้องผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดภายใน 3 ปีนับแต่วันออกบัตรส่งเสริม และต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี ภายใน 3 ปีถัดไป

ก่อนหน้านี้ หลายเจ้าผู้ผลิตรถยนต์ยังมีท่าทียึกยักถึงแผนลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพราะยังต้องการความชัดเจน ซึ่งปัจจุบันแม้จะมองเห็นภาพมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นประเด็นที่ว่า จะทำอย่างไร ให้ระบบนิเวศของรถยนต์พลังงานสะอาดเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของโรงงานผลิตแบตเตอรี โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถ โรงงานประกอบ สถานีชาร์ตไฟฟ้าที่มีรับรองทั่วถึง เพื่อให้เกิดความต้องการในการใช้งานจริงจากผู้บริโภค และพวกเขาตัดสินใจจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

ดังนั้น โจทย์ของรัฐบาลตอนนี้ คงอาจจะเป็นเรื่องที่ว่า ต้องกล้าตัดสินใจมากขึ้น และออกมาตรการสำหรับอุดหนุนผู้ใช้งานมากขึ้น ให้ราคารถไฟฟ้าถูกลงแบบจับต้องได้ เพื่อให้ไทยยังคงรักษาตำแหน่งฮับการผลิตรถยนต์แห่งภูมิภาคไว้ได้

 

ที่มา: https://workpointnews.com/2019/07/03/minemobility-ea/

 

5 ม.ค. 63 เวลา 20:07 389