10 ที่เที่ยวทะเลหน้าฝน เสพความสงบที่ใคร ๆ ก็แสวงหา

ถ้าจะไปเที่ยวทะเล ใคร ๆ ก็คงอยากไปเที่ยวทะเลในหน้าร้อน ที่ท้องฟ้าสีคราม น้ำทะเลใสแจ๋ว แสงแดดส่องสว่างทำให้ซัมเมอร์นี้ฟินซะเหลือเกิน อ๊ะ ๆ หยุดความคิดนี้สักนิดค่ะ เพราะจริง ๆ แล้วเราสามารถไปเที่ยวทะเลหน้าฝนได้เหมือนกันนะ ถึงแม้จะต้องเจอกับสายฝนโปรยปราย ความชื้นแฉะ หรือท้องฟ้าที่อึมครึม แต่อย่าลืมว่า “ฟ้าหลังฝนมักสวยงามเสมอ” ที่สำคัญยังเงียบสงบน่าหลงใหลอีกด้วย ดังนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวม 10 สถานที่เที่ยวทะเลหน้าฝนตามเกาะต่าง ๆ จากทั่วไทยมาฝากกันค่ะ ลองไปสัมผัสวิถีชีวิตผู้คนบนเกาะที่มีเสน่ห์น่าสนใจไม่แพ้ทะเลกันดูค่ะ โดยเริ่มที่...

1. เกาะลิบง จังหวัดตรัง

 

เกาะลิบง เกาะที่ใหญ่ที่สุดในทะเลตรัง บนเกาะมีชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แบ่งเป็นหลายหมู่บ้าน โดยที่ชาวบ้านยังดำเนินวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ทำอาชีพประมง สวนยางพารา และส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ตามอีกสิ่งที่เป็นไฮไลท์ของเกาะลิบงก็คือ "พะยูน" สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กำลังจะสูญพันธุ์แต่จะพบได้มากที่เกาะลิบง เพราะบริเวณรอบ ๆ เกาะจะเต็มไปด้วยหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูนนั่นเอง ดังนั้นเกาะลิบงจึงได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง สำหรับสถานที่น่าเที่ยว เช่น แหลมจุโหย ซึ่งเป็นหาดทราย เวลาน้ำลดสามารถเดินทางไปถึงหาดตูบ ที่มีนกทะเลและนกชายเลนจำนวนมากที่อพยพหนีหนาวมาอาศัยที่นี่เพียงแห่งเดียว โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม เช่น นกกินเปี้ยว นกกวัก นกยางเขียว นกนางนวลแกลบเคราขาว นกหัวโตขาดำ เป็นต้น การเดินทาง : มีเรือโดยสารจากท่าเรือเจ้าไหม ถึงท่าเรือบ้านพร้าวบนเกาะลิบง หรือเช่าเรือเหมาลำ ใช้เวลาเดินทาง 20 นาที บนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว (เป็นของเอกชน) สอบถามข้อมูลติดต่อ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง โทรศัพท์ 075-251932

2. เกาะปันหยี จังหวัดพังงา

เกาะปันหยี ตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา คำว่า "ปันหยี" แปลว่า "ธง" มาจากภาษาอินโดนีเซีย ในอดีตมีครอบครัวชาวชวาหรือชาวอินโดนีเซีย 3 ครอบครัว หนึ่งในนั้นมี "โต๊ะนาบู" เป็นผู้นำการอพยพออกมาหาที่ทำกินใหม่ ตกลงกันว่าหากใครพบที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ ให้ปักธงไว้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะปันหยีตั้งอยู่ในทะเลอ่าวพังงาและบริเวณป่าชายเลนอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีหมู่บ้านจำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านท่าด่าน ตั้งอยู่บริเวณน้ำตื้นในอ่าวพังงา, หมู่ที่ 2 เกาะปันหยี ตั้งอยู่บริเวณน้ำตื้นในอ่าวพังงา, หมู่ที่ 3 เกาะไม้ไผ่ ตั้งอยู่บนเกาะและป่าชายเลนอ่าวพังงา และหมู่ที่ 4 เกาะหมากน้อย ตั้งอยู่บนเกาะในอ่าวพังงา ซึ่งหมู่บ้านจะปลูกสร้างอยู่กลางทะเลโดยไม่มีพื้นดินเลย อีกทั้งบนเกาะยังมีชุมชนชาวประมงโบราณที่อาศัยพื้นที่ราบหลังเกาะปันหยีเป็นที่หลบฝนและตั้งหมู่บ้านเล็ก ๆ ขึ้นมา โดยแต่ละบ้านจะยกพื้นสูงเหนือน้ำ และด้วยชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจึงได้อุทิศที่ราบเล็ก ๆ ของเกาะปันหยีให้เป็นมัสยิด ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คน นอกจากนี้หากมาเยือนเกาะแห่งนี้จะได้ชมวิถีชีวิตพื้นบ้านแบบชาวเลแท้ ๆ ที่มีศาสนาอิสลามหลอมรวมจิตใจผู้คน นอกจากนี้บนเกาะที่มีพื้นที่ราบเพียง 1 ไร่ ยังมีสนามฟุตบอลที่เล่นได้จริงอยู่ด้วย ซึ่งก็มาจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวเกาะนั่นเอง ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Kohpanyee.go.th

3. เกาะพยาม จังหวัดระนอง

 

ถ้าจะไปเที่ยวเกาะเงียบสงบจะไม่ไป "เกาะพยาม" ได้อย่างไร...จริงไหม เพราะเกาะพยามเป็นเกาะใหญ่หนึ่งในสองเกาะของทะเลระนอง ซึ่งบนเกาะมีชุมชนดั้งเดิมที่ทุกวันนี้ยังคงมีอาชีพประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำในละแวกใกล้เคียงเกาะ โดยสถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะพยาม เช่น ใกล้ ๆ กับสะพานท่าเรือขึ้นไปทางเหนือเป็นที่ตั้งของ "วัดเกาะพยาม" ที่มีโบสถ์กลางทะเล บนหลังคาประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางลีลาหันหน้าออกสู่ทะเล มีสะพานปูนทอดยาวสู่ตัวโบสถ์ นับเป็นวัดที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น และเป็นจุดสังเกตเห็นแต่ไกลยามนั่งเรือมาสู่เกาะ เหนือจากวัดขึ้นไปไม่ไกลจะเป็น "อ่าวหินขาว" ที่มีก้อนหินสีขาวก้อนใหญ่ตั้งเด่นอยู่ริมทะเล และเป็นที่ตั้งของ "ศาลพ่อตาหินขาว" สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านที่นี่ให้ความเคารพนับถือกันอย่างมาก โดยมีตำนานเรื่องเล่าว่าพ่อตาหินขาวได้มาเข้าฝันบรรพบุรุษของพวกเขา พร้อมชี้บอกทิศทางให้มาตั้งรกรากที่นี่ เมื่อขึ้นเหนือไปจนสุดเกาะจะเป็น "อ่าวไม้ไผ่" จากนั้นหากข้ามฝั่งไปโซนตะวันตกจะเป็น "อ่าวกวางปีบ" อ่าวที่มีความร่มรื่น สงบเป็นส่วนตัว มีหาดทรายสวยงาม หากลงไปทางใต้ของท่าเรือจะเป็น "แหลมหิน" แล้วต่อด้วย "อ่าวมุก" ที่มีบรรยากาศสงบเป็นส่วนตัว โดยห่างจากฝั่งอ่าวมุกไปไม่ไกลจะเป็นที่ตั้งของ "เกาะขาม" ที่เมื่อยามน้ำลดจะเกิดสันทรายเชื่อม 2 เกาะ เข้าด้วยกัน ซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกเกาะขามว่า "เกาะปลาวาฬ" ตามรูปร่างลักษณะของมัน บนเกาะพยามมี "อ่าวใหญ่" ที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ไฮไลท์ ซึ่งเป็นอ่าวที่มีขนาดและพื้นที่ใหญ่สมชื่อ มีลักษณะเป็นเวิ้งโค้งอ่าวยาวราว 4 กิโลเมตร ยามน้ำลดจะมองเห็นหาดทรายอันกว้าง ใหญ่ ยาว ค่อย ๆ ลาดเทลงสู่ทะเล มีทรายที่ละเอียดแน่น เดินสบายเท้าหาดทรายที่อ่าวใหญ่เป็นทราย 2 สี ผสมกัน คือสีเหลืองกับสีเทา ยามน้ำลงจะมองเห็นเป็นริ้ว ๆ ตามคลื่นซัดสาด และ "อ่าวเขาควาย" ที่มีลักษณะเป็นอ่าวโค้งยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มุมทั้ง 2 โค้งโง้งเข้ามาคล้ายเขาควาย ซึ่งยังเป็นอ่าวที่มีความสงบ แม้จะมีที่พักขึ้นอยู่มากพอตัว แต่ก็ไม่ถึงกับพลุกพล่าน ยามน้ำลงจะเห็นหาดทรายเป็นแนวทอดยาวกว้างไกล และบริเวณอ่าวเขาควายในช่วงปลาย ๆ ยังมี "เขาทะลุ" เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของอ่าว (ใกล้ ๆ กับเกาะพยามยังมีเกาะทะลุ ที่ปลายเกาะด้านหนึ่งเป็นโพรงช่องหินมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้านบน)

4. เกาะจิก จังหวัดจันทบุรี

 

เกาะจิก ตั้งอยู่ที่ตำบลบางชัน เป็นเกาะซึ่งมีการนำร่องโครงการใช้พลังงานทดแทนแบบผสมผสาน โดยมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และเครื่องปั่นไฟสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าไฟฟ้าให้แก่บ้านเรือนบนเกาะ ที่มีอยู่ประมาณ 100 หลังคาเรือน โดยใช้การเก็บค่าไฟแบบเติมเงิน ประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง เลี้ยงปลา กุ้งแห้งการเดินทาง เสน่ห์ที่น่าดึงดูดใจของเกาะจิกก็คือการไปเที่ยวแบบโฮมสเตย์ กินอาหารทะเลสด ๆ ในราคาที่ย่อมเยา และชาวบ้านรู้จักกันเดินวันเดียวก็ทั่วแล้ว เหมาะสำหรับไปพักผ่อนสบาย ๆ สไตล์คนริมเล โดยแต่เดิมนั้นเกาะจิกเป็นหมู่บ้านชาวประมงที่อยู่กันมากว่าร้อยปีเป็นชุมชนที่สงบ พวกผู้ชายออกไปหาปลากันหมดเหลือแต่ผู้หญิงกับเด็ก ๆ ที่อาศัยบนเกาะ เกาะจิกยังเป็นเกาะที่น่าชื่นชม โดยเกาะจิกนี้มีคณะกรรมการของเกาะดูแลบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าและสิ่งแวดล้อมอย่างดี อีกทั้งมีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบที่สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่เกาะอื่น ๆ ใกล้เคียงได้ นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์นั้นไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตที่ง่าย ๆ กลางวันที่เงียบสงบในเปลวแดด นอกจากนี้หากเดินไปยังอีกด้านของเกา คือด้านตะวันออก โดยเดินผ่านวัด ผ่านโรงเรียน ผ่านถังน้ำประปาไปพอเหงื่อซึม ก็จะพบกับชายหาดด้านตะวันออกที่เงียบสงบถึงจะไม่สวยนักแต่ก็พอจะเล่นน้ำทะเลได้เช่นกัน การเดินทางไปเกาะจิก : ใช้ถนนสุขุมวิทจนถึงสามแยกไปท่าเรือเกาะช้างเฟอร์รี่ ให้เลี้ยวขวาไปทางเดียวกับท่าเรือเกาะช้างเฟอร์รี่ จากนั้นเลี้ยวขวาไปทางอ่างกระป่อง โดยสามารถจอดรถได้ที่ท่าเรือ จากนั้นลงเรือข้ามไปเกาะจิก

5. เกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร

 

เกาะพิทักษ์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 14 ตำบลบางน้ำจืด เป็นเกาะขนาดเล็ก ๆ ห่างจากที่ว่าการอำเภอหลังสวนประมาณ 25 กิโลเมตร มีเรือหางยาวของชาวบ้านบริการจากท่าเรืออ่าวครกไปยังเกาะพิทักษ์ ซึ่งในอดีตชาวบ้านเรียกว่า "เกาะผีทัก" โดยมีเรื่องเล่าว่ามีเรือประมงลอยเรือหาปลามายังเกาะพิทักษ์ และมองเห็นมีชาวบ้านบนเกาะกวักมือเรียก แต่พอเข้าไปยังเกาะกลับไม่มีชาวบ้านอาศัยอยู่บนเกาะเลยแม้แต่คนเดียว ปัจจุบันบริเวณเกาะมีโขดหินสวยงาม น้ำทะเลใสสามารถเล่นน้ำได้ และมีหมู่บ้านชาวประมงกระจายอยู่รอบเกาะ ทางทิศตะวันออกมีหาดทรายขนาดเล็ก ๆ ด้านหลังเกาะมีจุดชมวิวสูงประมาณ 200 เมตร หากวันที่น้ำทะเลลดระดับสามารถเดินเท้าจากท่าเรืออ่าวครกข้ามมายังเกาะได้ ทั้งนี้ชาวบ้านบนเกาะพิทักษ์ได้จัดกิจกรรมท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Kohpitakthai.com

6. เกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต

 

เป็นอีกหนึ่งเกาะที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะภูเก็ต มีคลองท่าจีนคั่นระหว่างเกาะทั้งสอง โดยมีสะพานเชื่อมติดต่อกันโดยสะดวก ถ้าหากชื่นชอบในการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติไปพร้อมกับศึกษาการดำเนินวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ แล้ว เกาะสิเหร่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย บริเวณแหลมตุ๊กแกเป็นที่ตั้งของ หมู่บ้านชาวเล หรือชาวน้ำ หรือชาวไทยใหม่ ที่มาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย แต่โดยส่วนใหญ่อยู่ตามเกาะในมหาสมุทรอินเดียซึ่งชาวเลนั้นประกอบอาชีพประมงหาปลาเป็นหลัก และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของที่นี่ก็คือเสาไฟส่องสว่างบ้านสิเหร่ โดยปกติแล้วเรามักจะเห็นเสาไฟธรรมดาทั่วไป แต่ที่เกาะสิเหร่เสาไฟทุกต้นจะมีกิ่งไม้มาผูกติดไว้กับเสาไฟฟ้าซึ่งอาจไม่เคยพบมาก่อน นอกจากนี้บนเกาะยังมีธรรมชาติและวิวทิวทัศน์ที่สวยงามที่อยู่ควบคู่ไปกับวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่แบบมีเอกลักษณ์ของชาวบ้าน อีกทั้งยังมีวัดสิเหร่ที่เป็นวัดที่อยู่บนยอดเขาของเกาะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ไกลสุดลูกหูลูกตา และที่ยอดเขาก็มีวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีขนาดใหญ่มาก ทั้งนี้บนเกาะนี้มีโรงแรมตั้งอยู่บนแหลมไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักบนเกาะแห่งนี้ด้วย

7. เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี

 

เกาะสีชัง อยู่ห่างจากฝั่งศรีราชาประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นอีกหนึ่งเกาะที่น่าท่องเที่ยวในบรรยากาศแบบท้องถิ่น ซึ่งสามารถแวะท่องเที่ยวในวันเดียวหรือพักค้างคืนก็ได้ โดยชุมชนเกาะสีชังอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะ เป็นที่ตั้งของท่าเรือเทววงศ์ (ท่าล่าง) และเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางด้วยรถสามล้อเครื่องหรือสกายแล็ปไปยังจุดอื่น ๆ บนเกาะสีชังจุดท่องเที่ยวบนเกาะสีชัง เช่น ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเกาะสีชังให้ความเคารพนับถือ, มณฑปรอยพระพุทธบาท อยู่สูงขึ้นไปบนยอดเขาเดียวกับศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ รัชกาลที่ 5 ทรงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ บนยอดเขาเป็นจุดชมทิวทัศน์ทะเลได้โดยรอบ ช่องเขาขาด ตั้งอยู่ด้านหลังของเกาะ หากนั่งเรือผ่านจะเห็นเป็นช่องเขา ในบริเวณมีสะพานสำหรับเดินชมทิวทัศน์ สามารถชมพระอาทิตย์ตกได้สวยงาม มีหาดหินกลม ซึ่งเต็มไปด้วยหินกลม ๆ ขนาดต่าง ๆ มากมาย ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับชมทิวทัศน์ของรัชกาลที่ 5 และหาดถ้ำเขาพัง ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของเกาะ เป็นชายหาดกว้าง สะอาดและสวยงาม มีทรายละเอียด น้ำใสสะอาดเหมาะแก่การเล่นน้ำ การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเกาะสีชัง ขึ้นรถจากสถานีขนส่งเอกมัยไปศรีราชา โดยลงรถที่หน้าห้างโรบินสันศรีราชา แล้วต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือสามล้อเครื่องมายังท่าเรือ โดยมีเรือโดยสารจากศรีราชาไปเกาะสีชังทุกวัน ใช้ระยะเวลาประมาณ 45 นาที

8. เกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล

 

หมู่เกาะสาหร่าย อยู่ห่างจากท่าเรือเจ๊ะบิลัง อำเภอเมืองสตูล เพียง 12 กิโลเมตร จะมีเรือโดยสารไปที่เกาะตลอดวัน ใช้เวลาเดินทางเพียง 15 นาที บนเกาะมี หมู่บ้านบากันใหญ่ ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นไทยมุสลิมทำอาชีพประมง เป็นเกาะที่อุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ใกล้ ๆ ยังมีอีก 2 เกาะ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เกาะยะระโตดและเกาะยะระโตดนุ้ย มีชายหาดอยู่โดยรอบเกาะ บนเกาะมีหมู่บ้านชาวประมง ทำอาชีพสวนมะพร้าวและสวนยางพารา สิ่งมหัศจรรย์ตั้งอยู่ใกล้กัน คือจากเกาะสาหร่ายใหญ่เพียง 5 นาที จะเห็นเกาะแบน ๆ กลม ๆ ความกว้างประมาณแค่ 1 กิโลเมตร เป็นเกาะที่เต็มไปด้วยซากเปลือกหอยกาบแบน ๆ กองทับถมกันมานานหลายร้อยล้านปี เปลือกหอยหลายหมื่นล้านชิ้นถูกคลื่นซัดพัดมากองสะสมกันเป็นเกาะใหญ่ให้เราขึ้นไปเดินบนเกาะได้ ชาวบ้านเลยเรียกกันว่าสุสานเปลือกหอยกาบ บนเกาะสาหร่ายนี้จะไม่เห็นแม้แต่เม็ดทรายสักเม็ด แต่ที่สำคัญมีกฎของการอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ว่า "ห้ามนักท่องเที่ยวทุกท่านเก็บซากเปลือกหอยกลับไป" อ๊ะ ๆ นอกจากกิจกรรมท่องเที่ยวยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติมากมาย เช่น ชุมชนบ้านบากันใหญ่จะเปิดให้บริการเที่ยวแบบเช้า-เย็นกลับ หรือจะพักที่โฮมสเตย์สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านก็ได้ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติแท้จริง ออกเรือจับหาปู ปลา หอย เรียนรู้ค้นหาวิธีถนอมอาหารแบบพื้นบ้านด้วยการทำปลาเค็ม หอยตากแห้ง หรือถ้าอยากทานอาหารทะเลสด ๆ รับรองไม่ผิดหวังแน่ อีกทั้งที่นี่ยังเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่มากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยหญ้าทะเลเป็นอาหารของพะยูน ทำให้ชาวประมงจะเห็นพะยูนแหวกว่ายออกมาหาอาหารกันบ่อย ๆ

9. เกาะลันตา จังหวัดกระบี่

เกาะลันตา เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีผู้คนอาศัยต่อเนื่องมายาวนานกว่าร้อยปี ประกอบด้วยเกาะลันตาใหญ่และเกาะลันตาน้อย แหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยู่บนเกาะลันตาใหญ่ ขณะที่เกาะลันตาน้อยเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา ด้วยระยะทางที่ห่างไกลจากแผ่นดินเกาะลันตาจึงยังคงความสวยงามของหาดทรายและน้ำทะเลสะอาด อีกทั้งยังมีวิถีชีวิตของชาวเกาะดั้งเดิม ที่มีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยจีน ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยใหม่ (ชาวเล) อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ผสานกับความเจริญทางด้านหัวเกาะแถบท่าเรือและชายหาดฝั่งตะวันตก เกาะลันตาใหญ่และเกาะลันตาน้อยมีเกาะกลางคั่นอยู่ระหว่าง 2 เกาะนี้ ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมดอยู่บนเกาะลันตาใหญ่ โดดเด่นด้วยชายหาดยาวเรียงรายต่อเนื่องกันถึง 13 หาด ทางฝั่งตะวันตก มีทั้งหาดหินและหาดทราย เพียบพร้อมด้วยที่พักหลากสไตล์ หลายราคา ส่วนทางฝั่งตะวันออกคือชุมชนโบราณ ชื่อบ้านศรีรายา ซึ่งตั้งมากว่าร้อยปี มีเสน่ห์ด้วยเรือนแถวไม้หน้าแคบที่ยื่นยาวลึกออกไปในทะเล และวิถีชีวิตสงบงามของชาวไทย-จีน ชาวไทย-มุสลิม ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข นอกจากนี้บนเกาะลันตาใหญ่ยังเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ซึ่งตั้งอยู่ที่แหลมโตนดตรงปลายเกาะ เป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์ด้วยผืนป่าดงดิบ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ และที่โดดเด่นที่สุดคือประภาคารสีขาวซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเกาะลันตา ทิปส์ท่องเที่ยว : แนะนำให้ซื้อทริปไปเที่ยวเกาะรอกหรือไปดำสน็อกเกิลที่ 4 เกาะเด่นของตรัง คือ เกาะไหง เกาะเชือก เกาะกระดาน และเกาะมุก ปกติแล้วเป็นทริปแบบไปเช้า-เย็นกลับ แต่ถ้าไปเกาะรอกควรค้างสักคืน โดยนัดเรือให้มารับกลับในวันรุ่งขึ้น ติดต่อได้ที่บริษัททัวร์ในละแวกศาลาด่าน หรือคนที่ชอบดำน้ำอย่าพลาดการไปดำสกูบาที่หินม่วง หินแดง เกาะรอก เกาะห้าใหญ่ ติดต่อซื้อทริปได้ที่ร้านดำน้ำในย่านศาลาด่าน

10. เกาะช้าง จังหวัดตราด

 

 

ปิดท้ายกันที่ เกาะช้าง เกาะที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ อีกแห่งหนึ่งของประเทศ เพราะมีธรรมชาติอันงดงามทั้งบนบกและในทะเล มีหาดทรายขาวละเอียดที่สะอาดบริสุทธิ์ อีกทั้งยังเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งที่พักหลากหลายรูปแบบจำนวนมาก มีกิจกรรมหลากหลายให้นักท่องเที่ยวได้เลือกทำ มีการคมนาคมที่สะดวก ซึ่งนอกจากทะเลสวย ๆ ไม่ว่าจะเป็น "หาดคลองพร้าว-แหลมไชยเชษฐ์" เป็นหาดทรายที่มีความยาวต่อเนื่องไปจนถึงหาดไก่แบ้ หาดทรายบริเวณนี้มีความลาดมาก สามารถเล่นน้ำได้, "หาดไก่แบ้" เป็นหาดทรายที่มีความลาดพอสมควร สามารถเล่นน้ำได้โดยไม่เป็นอันตราย หรือ "อ่าวใบลาน" ที่มีลักษณะเป็นหาดทรายยาวเงียบสงบ เหมาะแก่การเล่นน้ำและพักผ่อน ฯลฯ แล้ว เกาะช้างยังมีวิถีชีวิตของผู้คนบนเกาะแบบดั้งเดิมให้ได้สัมผัส เช่น ที่ "หมู่บ้านประมงบางเบ้า" บ้านแต่ละหลังปักเสาลงในทะเล มีสะพานเชื่อมต่อถึงกัน บรรพบุรุษของคนที่นี่ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากชาวสลักเพชร ดำรงชีวิตเรียบง่ายด้วยการทำประมงขนาดเล็กชายฝั่ง "บ้านโรงถ่าน" เป็นชุมชนเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวสลักเพชร อยู่ทางตอนใต้ของเกาะ นักท่องเที่ยวนิยมไปชมทิวทัศน์กันที่นี่ เมื่อมองไปทางเหนือจะเห็นยอดเขาสลักเพชรมีเมฆหมอกปกคลุม ทางตะวันออกจะเห็นเกาะมะพร้าวในและทิวเขาบริเวณแหลมใหญ่ และ "บ้านสลักเพชร" เป็นชุมชนใหญ่และเก่าแก่ที่สุดบนเกาะช้าง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะ ชาวบ้านประกอบอาชีพทำการประมงชายฝั่ง มีหมู่เกาะและทิวเขาโอบล้อมช่วยกำบังคลื่นลมได้ดี หน้าหมู่บ้านมีวัดเก่าแก่คือ "วัดสลักเพชร" สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเกาะช้าง และอ่าวสลักเพชรเป็นอ่าวใหญ่ที่สุดบนเกาะ ฯลฯ บางครั้งการได้ออกไปนั่งซึมซับบรรยากาศริมทะเล ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์บ้าง ก็เป็นการเติมพลังให้กับตัวเองได้เหมือนกันนะ ... ไม่เชื่อลองไปเที่ยวทะเลหน้าฝนดูสิ !!!

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 

 

 

Credit: http://travel.kapook.com/view122491.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...