นานกิง สงครามสังหารสุดหฤโหด

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ.2474 จีนซึ่งกำลังมีปัญหาการเมืองภายในระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นรัฐบาลปกครองประเทศ กับพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ก็เจอเคราะห์ซ้ำกรรมซ้อน ถูกญี่ปุ่นรุกรานดินแดนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่เรียกว่าแมนจูเรีย (เพื่อหวังในทรัพยากรธรรมชาติของที่นั่น และอยากได้เป็นกันชนระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียที่มีการสู้รบกันมาแล้วก่อนหน้านั้น) นอกจากปัญหาความอ่อนแออันเกิดจากความ ขัดแย้งภายในแล้ว ความล้าสมัยของยุทโธปกรณ์ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทัพของจีนด้อยประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ทำให้ไม่อาจต้านทานกองกำลังของญี่ปุ่นที่มีอาวุธที่ทันสมัยกว่ามาก จึงเสียดินแดน ส่วนนั้นไปในเวลาเพียงไม่กี่เดือน

ต่อมาญี่ปุ่นก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองบีบบังคับให้ตนสามารถเข้าไปตั้งกองกำลังในดินแดนจีนได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะได้รับการต่อต้านจากชาวจีนก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการสู้รบกันอย่างเต็มที่ในขั้นที่เรียกว่าทำสงครามกัน

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีพลเรือนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ไม่ได้รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่ได้เข้าไปร่วมสู้รบในสงครามด้วยเลย แต่เกิดจากการตกเป็นเชลยแล้วถูกสังหารหมู่ อย่างในยุโรปชาวยิวก็ถูกสังหารหมู่ไปจำนวนหลายล้านคนโดยกองทัพนาซี ส่วนทางเอเชียของเราเองก็มีเหตุการณ์สุดโหดทำนองเดียวกันที่เกิดกับประชาชนจำนวนหลายแสนคน เหตุการณ์ที่ว่าคือการสังหารหมู่ที่เมืองหนานจิง อดีตเมืองหลวงของจีนในยุคนั้น หรือที่คนไทยเราคุ้นเคยกันในชื่อ นานกิง

จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของสงครามเกิดขึ้นในค่ำคืนวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2480 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นอ้างว่ามีทหารญี่ปุ่นนายหนึ่งหายไปและมีความประสงค์ขอเข้าตรวจค้นเมืองหว่านผิง ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง แต่ถูกทหารประจำการของจีนปฏิเสธ กองทัพญี่ปุ่นไม่พูดพร่ำทำเพลงยกพลเข้าบุกโจมตีเมืองหว่านผิงและยิงลูกระเบิดใส่บริเวณสะพานหลูโกวเฉียว (สะพานมาร์โคโปโล) จากนั้นก็เข้าตีและยึดเมืองปักกิ่งได้อย่างรวดเร็ว

ต่อมาวันที่ 16 และ 17 เดือนเดียวกัน แม่ทัพสูงสุดของรัฐบาลจีนนามเจี่ยงจงเจิ้ง หรือที่คนต่างชาติรู้จักในนามนายพลเจียงไคเช็ค ก็ออกแถลงการณ์ปลุกระดมชาวจีนทั่วทุกหัวระแหงให้ลุกขึ้นต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2480 กองทัพญี่ปุ่นส่งกำลังทหารเข้าโจมตีเมืองเซี่ยงไฮ้ และยึดได้ภายในระยะเวลาราว 3 เดือนเศษ ศึกครั้งนั้นจีน เสียทหารไปมากกว่าสองแสนนาย โดยก่อนที่เซี่ยงไฮ้จะแตกไม่นานรัฐบาลจีนประกาศย้ายเมืองหลวง และหน่วยงานราชการทั้งหมดจากนานกิง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากเมืองเซี่ยงไฮ้ไปอยู่ที่เมืองจุงกิงชั่วคราว ขณะที่ศูนย์บัญชาการทหารก็ย้ายไปประจำการที่เมืองอู่ฮั่น และเมื่อสงครามลุกลามไปที่อู่ฮั่น จึงมีการย้ายฐานทัพไปประจำการยังเมืองจุงกิงเช่นกัน

หลังจากยึดเซี่ยงไฮ้ได้ เป้าหมายต่อไปของญี่ปุ่นคือนานกิง ซึ่งเป็นอดีตเมืองหลวงไปแล้ว ญี่ปุ่นโหมการโจมตีอย่างหนักทั้งทางพื้นดินและทางอากาศ แต่เนื่องจากแม่ทัพใหญ่และทหารจำนวนมากของจีนที่ทำหน้าที่ป้องกันเมืองนานกิงหลบหนีไปจากเมือง เพราะเชื่อว่ากองกำลังที่รักษาเมืองไม่อาจต้านทานกองทัพญี่ปุ่นได้แน่ แล้วกองทัพญี่ปุ่นก็เข้ายึดครองเมืองแห่งนี้ได้ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2480 โดยใช้เพียง 4 วันเท่านั้น แม้ว่าจะเสียกำลังทหารไปกว่า 4 หมื่นนาย หลังจากยึดเมืองนานกิงได้สำเร็จ ญี่ปุ่นก็ขยายกำลังออกไปยังดินแดนต่างๆของประเทศจีนมากขึ้น

สงครามครั้งนี้ เรื่องที่ สร้างความ โกรธแค้นสะเทือนใจให้แก่คนจีนมาจนทุกวันนี้ คือเหตุการณ์ที่ชาวตะวันตกเรียกว่า Nanjing Massacre หรือ การสังหารหมู่ที่นานกิง เพราะการเข้ายึดครองเมืองนานกิง ของทหารญี่ปุ่นได้เข่นฆ่าล้างผลาญชีวิตและทรัพย์สินของชาวจีนไปมากมาย มีทั้งการเผาทั้งเป็น ฝังทั้งเป็น ลั่นกระสุนสังหาร แทงด้วยดาบปลายปืน ฟันด้วยดาบ ปล้นสะดม โดยเฉพาะการข่มขืน กระทำชำเราผู้หญิงและเด็กหญิงชาวจีนเป็นจำนวนมากถึงราว 20,000 คน จนเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า The Rape of Nanjing

ทางการจีน นักประวัติศาสตร์ และบรรดาหน่วยงานบรรเทาทุกข์ที่อยู่ในเหตุการณ์ ต่างพูดตรงกันว่ากองทัพญี่ปุ่นได้สังหารชาวจีนเฉพาะในเมืองนานกิงราว 300,000 คน ซึ่งความโหดร้ายที่ปรากฏแก่ชาวโลก ได้รับการเปิดเผยจากบันทึกและการบอกเล่าของชาวต่างชาติผู้อยู่ที่นานกิงในเวลานั้น โดยเฉพาะชาวอเมริกันหลายคนหลายอาชีพที่ทำงานที่นั่น พวกเขามีส่วนช่วยให้ชาวเมืองรอดชีวิตได้จำนวนมาก ต่อไปนี้เป็นข้อความ ที่คัดมาเพื่อให้เห็นภาพในสายตา ของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์

ทิลแมน เดอร์ดิน นักข่าวของนิวยอร์กไทม์ส ได้เห็นเหตุการณ์สังหารหมู่ในช่วงเริ่มแรกก่อนที่จะถูกทหารญี่ปุ่นไล่ออกไป เขาเขียนเล่าภาพที่เขาเห็นกับสายตาตนเองว่า

“ตอนนั้นผมอยู่ในวัย 29 นั่นเป็นข่าวใหญ่ชิ้นแรกที่ผมทำให้นิวยอร์กไทม์ส ผมขับรถ ลงไปที่ฝั่งแม่น้ำ รถต้องแล่นทับไปบนศพที่กองก่ายกันระเกะระกะที่ฝั่งแม่น้ำนั่น ขณะผมรอคอยการลงมือ พวกนายทหารของญี่ปุ่นก็สูบบุหรี่คุยกัน ยืนดูการสังหารทหารจีน 1 กองพันโดยรัวปืนกลเข้าใส่”

“มีคนจำนวนราวสี่ร้อยคนถูกนำตัวออกไปจาก ตึกแห่งหนึ่ง พวกเขาถูกล่ามติดกันเป็นชุดๆ ชุดละประมาณห้าสิบคน โดยมีแถวของทหารที่ถือปืนยาวและปืนกลมือคอยควบคุมอยู่ พวกเขาต้องเดินแถวกันไปเพื่อรับการประหาร”

นอกจากนั้นนักข่าวอีกคนหนึ่งก็รายงานว่า ก่อนที่เขาจะออกจากเมืองนานกิงไปขึ้นเรือเพื่อไปตั้งหลักที่เซี่ยงไฮ้ เขาพบการสังหารหมู่ผู้ชายจำนวนสองร้อยคน ชายทั้งหมดถูกนำตัวไป ยืนเรียงหน้ากระดานที่ข้างกำแพงแห่งหนึ่ง จากนั้นทหารญี่ปุ่นก็ช่วยกันระดมยิงใส่ผู้ชายเหล่านั้น เมื่อนักโทษถูกยิงล้มลงไปนอนกับพื้นแล้ว ทหารทั้งหลายก็เข้าไปเอาเท้าเหยียบและใช้ปืนพกยิงเข้าใส่ผู้ที่ยังดิ้นอยู่

“นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ของญี่ปุ่นจากเรือรบที่ลอยลำอยู่นอกชายฝั่ง เข้าไปดูปฏิบัติการของทหารญี่ปุ่นราวกับเข้าไปชมการแสดงที่บันเทิงใจ”

สาธุคุณ จอห์น มากี นักสอนศาสนาชาว อเมริกัน เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นเหตุการณ์ ท่านสาธุคุณบอกว่า ทหารญี่ปุ่นไม่เพียงสังหารเชลยศึกทุกคนที่จับได้เท่านั้น แต่ยังเข่นฆ่าชาวบ้านชาวเมืองทุกเพศทุกวัยด้วย

“...หลายคนถูกยิง ราวกับเป็นการล่ากระต่ายไปตามท้องถนน”

หลังจากได้เห็น การสังหารและข่มขืนอยู่ 1 สัปดาห์สาธุคุณ มากีได้ร่วมกับชาวตะวันตกคนอื่นๆ จัดตั้งเขตปลอดภัยสากลขึ้น เพื่อช่วย เหลือชาวจีนจำนวนหนึ่งให้รอดพ้นจากการสังหาร โดยเฉพาะผู้หญิงให้พ้นจากการถูกข่มขืน

ยังมีข้อความจากสมุดบันทึกของ มินนี วอทริน สตรีชาวอเมริกัน ซึ่งมีส่วนช่วยเหลือร่วมกับสาธุคุณมากี เธอบันทึกในวันที่ 16 ธันวาคมว่า

“...คงไม่มีอาชญากรรมประเภทไหนเลยที่ไม่ได้เกิดขึ้นในวันนี้ เด็กสาว 13 คนซึ่งทำงานในโรงเรียนสอนภาษาได้ถูกฉุดไปเมื่อคืนนี้ และวันนี้ฉันก็ได้ยินว่าเมื่อคืนมีเด็กผู้หญิงตามบ้านเรือนถูกเอาตัวไปหลายคน บางคนเพิ่งอายุ 12 ปี”

“...ศพของประชาชนที่ถูกฆ่าตายเกลื่อนกลาดตามท้องถนนทุกสายในเมือง ส่วนใหญ่ของศพที่เห็นเป็นผู้สูงอายุ ผู้หญิง และเด็ก...”

ในวันต่อๆมา เธอเขียนว่า “มีคนถูกกราดยิงหรือแทงตายด้วยดาบปลายปืนไปกี่หมื่นคน เราคงไม่มีทางรู้ได้ เพราะหลายกรณีมีการราดน้ำมันลงบนศพแล้วจุดไฟเผา”

แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่นยุคนั้นก็รายงานว่า พวกทหารชั้นผู้น้อยของญี่ปุ่นต่างแข่งกันว่าใครจะฆ่าคนจีนได้มากกว่ากัน

เรื่องราวของชาวตะวันตกที่คอยช่วยเหลือเหล่าสตรีที่หลบหนีการย่ำยีอย่างทารุณของทหารญี่ปุ่นนั้น ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “The Flowers of War สงครามนานกิง สิ้นแผ่นดินไม่สิ้นเธอ” ภาพยนตร์จีนที่ได้รับการพูดถึงกันในระดับโลก ทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงทั้งรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำอีกด้วย

ระยะเวลาราวหกสัปดาห์ที่ชีวิตของชาวเมืองนานกิงตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ทหารญี่ปุ่นที่เมามายเดินกันเกลื่อนตามท้องถนน พร้อมจะทำทุกอย่างกับคนจีน ไม่ว่าจะเป็นการปล้น ฆ่า ข่มขืน นักศึกษาหญิงถูกบังคับให้ไปบริการทางเพศต่อทหารญี่ปุ่น ผู้ที่ขัดขืนก็ถูกข่มขืนแล้วฆ่าทิ้งประมาณ ตัวเลขออกมาว่า หญิงชาวจีนถูกข่มขืนไปมากถึง 20,000 คน ในเวลา แค่ 4 สัปดาห์แรกหลังการยึดเมืองนานกิงสำเร็จ ไม่เว้นแม้แต่หญิงชรา เด็ก และหญิงมีครรภ์ ไม่เพียงแต่ข่มขืนด้วยตัวเองเท่านั้น ทหารญี่ปุ่นยังบังคับให้พ่อขืนใจลูกสาวตนเอง และลูกชายขืนใจแม่ โดยพวกเขายืนดูกันราวกับดูการแสดงที่สนุกสนาน หลังการข่มขืนเสร็จหญิงเคราะห์ร้ายจำนวนมากถูกฆ่าตายอย่างสยดสยอง

นอกจากการสังหารหมู่ทหารเชลยและประชาชนจำนวนมากแล้ว ทหารญี่ปุ่นทำการข่มขวัญชาวจีนไม่ให้ต่อต้านพวกเขาด้วยการทิ้งศพไว้เกลื่อนถนนและปล่อยให้เลือดไหลนองไปทั่วพื้นถนน ผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมากถูกนำไปเป็นหุ่นให้ทหารญี่ปุ่นฝึกการใช้ดาบปลายปืน บางส่วนถูกเผาทั้งเป็น หรือไม่ก็ถูกฝังดินทั้งเป็น ศพชาวจีนจำนวนมหาศาลถูกนำไปทิ้งในแม่น้ำแยงซีเกียงจนแม่น้ำแดงฉานไปด้วยเลือด ประมาณกันว่าในครั้งนั้นคนจีนถูกสังหารไปไม่น้อยกว่าสามแสนคน

การสังหารหมู่ที่นานกิงเป็นอีกตัวอย่างอันชัดเจนของความอำมหิตโหดร้ายของสงคราม ซึ่งแทบจะมิก่อให้เกิดประโยชน์อันใดเลย มีแต่จะสร้างความพินาศย่อยยับให้กับมวลมนุษยชาติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น.

หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นบุกนานกิง

หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้านานกิงได้เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการเข้าปลดอาวุธทหารจีนที่ยอมแพ้และยอมตกเป็นเชลย โดยมีคำสั่งต่อทหารญี่ปุ่นว่าให้กำจัดคนจีนและเชลยทุกคนที่จับได้ และจากที่ประชุมตกลงว่า จะทำการแบ่งเชลยออกเป็นจำนวนเท่าๆกัน และจะถูกนำออกมาจากที่คุมขังเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 50 คน เพื่อนำไปประหาร ใช้ทหารกองร้อยที่ 1, 2 และ 5 โดยกองร้อยที่ 1ใช้พื้นที่บริเวณนาข้าว และบริเวณพื้นที่ลุ่มทางตะวันตกเฉียงใต้ของกองร้อยที่ 2 และกองร้อยที่ 5 ใช้พื้นที่บริเวณนาข้าวทางตะวันออกเฉียงใต้ของที่ตั้งกอง

คำสั่งนั้นเป็นไปอย่างเป็นเหตุเป็นผลและเหี้ยมโหดโดยปราศจากเมตตาเพราะไม่สามารถหาอาหารให้เชลยทั้งหมดได้ โดยสามารถช่วยขจัดปัญหาเรื่องอาหาร และลดการตอบโต้ได้

ญี่ปุ่นใช้วิธีการหลอกลวงเชลยเพื่อนำไปประหารหลายวิธีด้วยกัน เช่น ให้สัญญาว่าจะปฏิบัติอย่างดีหากไม่ต่อต้าน หลอกให้เข้ามอบตัว แบ่งผู้ชายออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละร้อยหรือสองร้อย แล้วหลอกไปยังจุดต่างๆที่นอกตัวเมืองเพื่อฆ่าทิ้ง

ทั้งหมดนี้ได้รับการปฏิบัติอย่างง่ายดายกว่าที่ฝ่ายญี่ปุ่นคาด การต่อต้านมีเพียงบางจุด เพราะทหารจีนส่วนใหญ่ทิ้งอาวุธและทิ้งเมืองไปก่อนแล้ว

เชลยศึกชาวจีนกำลังถูกทหารญี่ปุ่นประหารโดยการตัดคอด้วยดาบซามูไร "กุนโตะ"     การสังหารพลเรือน

 

การดำเนินการกับเชลยศึกจีน

6 สิงหาคม ค.ศ. 1937 เนื่องจากกองทัพญีปุ่นไม่สามารถหาอาหารมาให้แก่เชลยศึกอย่างเพียงพอได้ จึงคิดทำการสังหารเชลยศึกเสีย แต่กฎหมายระหว่างประเทศในขณะนั้นได้ให้การคุ้มครองแก่เชลยศึกอยู่ จักรพรรดิฮิโรฮิโต จึงได้มีรับสั่งแก่ทหารทุกนายให้ยกเลิกการใช้คำว่า เชลยศึก กับชาวจีนที่ถูกจับได้ และนำเชลยศึกเหล่านั้นไปทำการสังหารที่บริเวณแม่น้ำแยงซี การสังหารเชลยศึกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม (ซึ่งถูกเรียกว่า String Gorge Massacre) ทหารญี่ปุ่นใช้เวลาในช่วงเช้าเพื่อมัดเชลยศึกเหล่านั้นเข้าด้วยกันเป็นจำนวนหลายแถว และเปิดฉากยิงใส่ด้วย ปืนกล เชลยศึกที่ถูกมัดอยู่ไม่สามารถหนีได้ ทำได้เพียงกรีดร้องเท่านั้น เชลยศึกราว 57,500 คนถูกสังหาร

เชลยศึกบางส่วน ถูกทหารญี่ปุ่นมัดเข้าด้วยกัน และให้เชลยศึกเหล่านั้นเหยียบ กับระเบิด เพื่อสังหารหมู่ บ้างก็มัดเชลยเหล่านั้นเข้าด้วยกันแล้วจุดไฟเผา

File:Chinese civilians to be buried alive.jpg

กองศีรษะคนจีน                                               ฆ่าโดยฝังทั้งเป็น

 

การทารุณกรรม

ทหารญี่ปุ่นทำการทารุณกับชาวนานกิงเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจได้เช่น ฝังทั้งเป็น โดยจะขุดหลุม และฝังเชลยให้โผล่ขึ้นมาแค่เพียงหน้าอกหรือแค่คอ เพื่อจะได้รับทุกข์ทรมานต่างอีกหลายอย่าง เช่น ฉีกเป็นชิ้นๆ ทหารญี่ปุ่นคว้านตับไตไส้พุง ตัดหัวหรือสับเหยื่อเป็นชิ้นๆแล้วโยนให้สุนัขกิน ตอกเชลยไว้กับแผ่นไม้แล้วให้รถถังแล่นทับ ใช้เป็นที่ซ้อมเสียบดาบปลายปืน ควักลูกตา หั่นจมูกและใบหูก่อนเผาทั้งเป็น

 

การสังหารพลเรือน

หลังทหารจีนทั้งหมดยอมแพ้ ก็เท่ากับไม่เหลือใครที่จะปกป้องพลเรือนในตัวเมือง ทหารญี่ปุ่นหลั่งไหลเข้ามา ยึดอาคารที่ทำการรัฐบาล ธนาคารและโรงเก็บสินค้า ยิงผู้คนตามท้องถนนอย่างไม่เลือกหน้า โดยใช้ทั้งปืนพก ปืนกล ปืนเล็กยาว ยิงเข้าไปในฝูงคนที่มีทั้งทหารที่บาดเจ็บ หญิงชรา และเด็กๆ โดยทหารญี่ปุ่นฆ่าพลเรือนทุกมุมเมือง ไม่ว่าจะตามตรอกเล็กๆ หรือถนนสายใหญ่ ในสนามเพลาะ หรือแม้แต่ในอาคารที่ทำการรัฐบาล

 

การข่มขืน

หญิงชาวจีนถูกข่มขืนเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ไม่ว่าจะเป็นสาว คนท้อง หรือคนแก่ ทหารญี่ปุ่นข่มขืนชนิดไม่เลือกหน้า ไล่ตั้งแต่ชาวนา เด็กนักเรียน ครู พนักงานระดับบริหาร คนงาน อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งแม่ชี ต่างก็เลี่ยงไม่พ้นการถูกข่มขืนทั้งสิ้น โดยผู้หญิงคนหนึ่งจะตกไปอยู่ในมือของทหารประมาณ 15 ถึง 20 คน บางคนในจำนวนนี้ถูกเรียงคิวจนถึงแก่ความตาย แต่กฎของกองทัพที่ว่าห้ามข่มขืนผู้หญิงของฝ่ายตรงกันข้ามนั้น ทำให้ทหารสังหารเหยื่อเสียเมื่อเสร็จธุระ

พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ได้กระทำกันเฉพาะในหมู่พลทหาร แม้ระดับนายทหารก็ไม่เว้น บางคนไม่เพียงสนับสนุนการข่มเหง แต่ยังเตือนให้พลทหารจัดการเหยื่อเมื่อเสร็จธุระเพื่อกำจัดหลักฐาน

หญิงในนานกิงถูกข่มขืนชนิดไม่เลือกที่และไม่เลือกเวลา ประมาณว่าหนึ่งในสามของการข่มขืนทั้งหมดเกิดขึ้นตอนกลางวันแสกๆ และไม่มีสถานที่แห่งใดปลอดจากการข่มขืน เช่น คนท้อง หญิงชรา ในเรือนแม่ชี ในโบสถ์ แม้แต่ในโรงเรียน

นอกจากนั้นคนเฒ่าคนแก่ยังไม่สามารถใช้ความชราเป็นเกราะคุ้มกันการข่มขืนได้ ผู้เฒ่าต่างต้องเผชิญทารุณกรรมทางเพศอย่างถ้วนหน้าและซ้ำซาก ย่ายายวัยแปดสิบจำนวนมากถูกข่มขืนจนตายคาที่ และอย่างน้อยก็ถูกยิงตายเพราะปฏิเสธการถูกข่มขืน

 

 

 

หลังสงคราม

แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่สองจบลงไปแล้วด้วยความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่น แต่จากการกระทำสังหารหมู่ชาวจีนในนานกิงครั้งนั้นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่นตกต่ำอย่างถาวรไม่อาจฟื้นฟูขึ้นมาได้เลย เพราะชาวจีนโกรธแค้นญี่ปุ่นเป็นอย่างมากจึงได้ทำการต่อต้านญี่ปุ่นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ปัจจุบันญี่ปุ่นจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและรักสันติสุขมากขึ้นก็ตาม แม้ว่านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นหรือจักรพรรดิญี่ปุ่นมากล่าวขอโทษด้วยตนเองก็ไม่อาจทำให้ชาวจีนยกโทษให้ ในเนื้อหาหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นยังถูกบิดเบือนด้วยการข้ามการกระทำอันโหดร้ายในนานกิงครั้งนั้นและบอกเพียงว่า เพียงแค่ยึดนานกิงเท่านั้น ทำให้ชาวจีนไม่พอใจและไม่ไว้ใจต่อญี่ปุ่นมาก

 

 

 

สิ้นลมแล้ว! เหยื่อนานกิง ผู้อายุมากที่สุด หลี่ ซู่เฟิน เกิดเมื่อปี 2466 ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ - เขาสูญเสียมารดา และ น้องสาววัย 10 ขวบ ทั้งสองถูกข่มขืนโดยทหารญี่ปุ่น (ภาพเอเยนซี)        

สิ้นลมแล้ว! เหยื่อนานกิง ผู้อายุมากที่สุด ชาง จื่อเฉวียง เกิดในปี 2471 เล่าว่า ญาติพี่น้องเกือบทั้งหมดในครอบครัวพ่อ แม่ และพี่น้องสี่คน ต่างถูกฆ่าตายสิ้น (ภาพเอเยนซี)        

สิ้นลมแล้ว! เหยื่อนานกิง ผู้อายุมากที่สุด โจว เฝินหยิง ผู้เล่าว่า ในตอนที่ญี่ปุ่นยึดนานกิงปี 2480 เธออายุ 22 ปี ถูกทหารญี่ปุ่นจับตัวไปเป็นทาสบำเรอกามนาน 3 เดือน (ภาพเอเยนซี)

 

สิ้นลมแล้ว! เหยื่อนานกิง ผู้อายุมากที่สุด ภาพเมื่อครั้งที่ นางอู่ สิ่วหลาน นำดอกไม้ไปวางหน้าอนุสรณ์สถานนานกิงฯ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2548 วาระครบรอบ 68 ปี โศกนาฏกรรมนานกิง เธอเป็นพยานผู้มีอายุมากที่สุด และได้สิ้นลมแล้วอย่างสงบ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ในวัย 97 ปี (ภาพเอเยนซี)

       

 

 

Credit: http://www.thairath.co.th/content/259862
1 ก.ค. 58 เวลา 21:58 5,625 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...