http://variety.teenee.com/foodforbrain/69811.html
เพลิงไหม้ ซานติก้าผับ (1 ม.ค. 2552) ผู้เสียชีวิต 66 คน บาดเจ็บ 225 คน นักเที่ยวราตรีกว่าพันคนอัดแน่นกันอยู่ภายในร้านต่างกำลังสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ หลังจากผ่าน Countdown มาได้ไม่นาน ขณะที่วงดนตรี ‘เบิร์น' กำลังเล่นบนเวที ได้มีนักท่องเที่ยวจุดพลุไฟเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่ แต่พลุไฟลูกหนึ่งได้พุ่งไปติดฝ้าเพดานของร้านซึ่งทำจากวัสดุติดไฟง่าย ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว นักท่องเที่ยวกว่าพันคนพยามแย่งกันออกทางประตูร้านที่มีเพียงจุดเดียว จนทำให้เกิดการเบียดเสียดเหยียบกัน ประกอบกับไฟฟ้าที่ดับลง เมื่อตกอยู่ในความมืดทุกคนยิ่งเกิดอาการแตกตื่น มีเสียงกรีดร้องไปทั่ว เวลาเพียงไม่กี่นาทีเพลิงได้เผาไหม้ไปทั่วภายในร้าน นักท่องเที่ยวจำนวนมากถูกเผาทั้งเป็น เป็นที่น่าสลดอย่างยิ่ง
เดินอากาศไทย เที่ยวบิน 365 ตกที่ จ.ภูเก็ต (31 ส.ค. 2530) ผู้เสียชีวิต 83 คน ไม่มีผู้รอดชีวิต ไทยแอร์ เที่ยวบินที่ 365 นำผู้โดยสารบินจากหาดใหญ่ไปยังจังหวัดภูเก็ต เกิดเฉี่ยวกับสายการบินดรากอน แอร์ไลน์ ของฮ่องกง ทำให้เครื่องบินเกิดหมุนกลางอากาศ นักบินพยายามแก้ไขโดยดึงหัวขึ้น แต่เครื่องได้ตกลงถึงพื้นน้ำเสียก่อนทางทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ต บริเวณอ่าวปอ ห่างจากสนามบินประมาณ 8 ไมล์ทะเล
เครื่องบิน วัน-ทู-โก ไถลออกนอกรันเวย์ (16 ก.ย. 2550) ผู้เสียชีวิต 90 คน บาดเจ็บ 41 คน สายการบินวัน-ทู-โก แอร์ไลน์ เที่ยวบิน 269 เดินทางจากกรุงเทพมุ่งหน้าสู่ภูเก็ต กำลังจะลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตในขณะที่ฝนตกหนัก ส่งผลให้รันเวย์ลงจอดลื่น ทันทีที่ล้อเครื่องบินแตะรันเวย์ เครื่องเกิดลื่นไถลออกนอกรันเวย์ และชนเนินเขาที่ติดกับสนามบินจนเครื่องบินขาดออกเป็น 2 ท่อนและเกิดเพลิงลุกไหม้รุนแรง
: รถแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (24 ก.ย. 2533) ผู้เสียชีวิต 90 คน บาดเจ็บ 121 คน อุบัติเหตุกลางกรุงที่รุนแรงที่สุด เกิดขึ้นเมื่อมีรถบรรทุกก๊าซขนาด 4 หมื่นลิตรในถังคู่ขนาดใหญ่ วิ่งลงทางด่วนโดยได้สัญญาณไฟเลี้ยวขวา ขณะนั้นได้มีสามล้อ วิ่งจากประตูน้ำ มุ่งหน้าทางแยกมิตรสัมพันธ์ ฝ่าสัญญาณไฟแดงวิ่งตัดหน้ารถบรรทุกก๊าซ ทำให้รถบรรทุกก๊าซหักหลบกะทันหันรถเสียหลักพุ่งเข้าชนตึกข้างทางจนพลิกคว่ำก๊าซระเบิด แรงระเบิดส่งผลให้เพลิงเผาไหม้รถยนต์ บ้านเรือน เสียหายรวมกว่า 200 ล้านบาท
เพลิงไหม้โรงแรมรอยัลจอมเทียน รีสอร์ท (ศุกร์ที่ 13 ส.ค. 2536) ผู้เสียชีวิต 91 คน บาดเจ็บ 53 ราย สาเหตุเกิดจากพนักงานประจำห้องอาหารของโรงแรมถอดท่อสายยางส่งแก๊สออกจากถังโดยไม่ได้ปิดวาล์ว ทำให้แก๊สพุ่งออกมาจากถัง ประกอบกับในขณะนั้นได้มีการประกอบอาหาร จากเตาแก๊สใกล้เคียงทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ ผู้คนหลายร้อยคนพยายามหนีออกจากตัวตึก บางส่วนไม่สามารถหนีลงมาข้างล่างได้ ต้องหนีขึ้นไปบนดาดฟ้า และบางส่วนถูกไฟครอกเสียชีวิตเนื่องจากไม่สามารถหนีได้ทัน ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการขาดอากาศหายใจ
สายการบินไทย เที่ยวบิน 261 ตกที่ จ.สุราษฎร์ธานี (11 ธ.ค. 2541) ผู้เสียชีวิต 101 คน บาดเจ็บ 45 คน สายการบินไทย เที่ยวบิน 261 กรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี มีผู้โดยสารรวม 146 คน โดยใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง และเมื่อเครื่องบินเริ่มลดระดับเพื่อลงสู่ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ในขณะที่สภาพอากาศไม่อำนวยเนื่องจากฝนตกหนักทำให้ทัศนวิสัยไม่ดี นักบินพยายามนำเครื่องลงจอดถึง 2 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ และในครั้งที่ 3 เครื่องยนต์เกิดชะงักทำให้เครื่องบินตกกระแทกพื้นห่างออกไปประมาณ 3 กม. ทางตะวันตกเฉียงใต้ของท่าอากาศยาน และ 1 ในผู้รอดชีวิตครั้งนั้นคือนักร้องชื่อดัง เจมส์ เรืองศักดิ์
สายการบินไทย เที่ยวบิน 311 ชนเขาเอเวอร์เรสต์ (31 ก.ค. 2535) ผู้เสียชีวิต 113 คน ไม่มีผู้รอดชีวิต สายการบินไทย เที่ยวบิน 311 เส้นทางบินกรุงเทพ-เนปาล ได้พุ่งชนเทือกเขาทางตอนเหนือห่างจากนครกาฎมันฑุประมาณ 35 กม. โดยสาเหตุเกิดจากความผิดพลาดในการสื่อสารระหว่างนักบินและเจ้าหน้าที่หอบังคับการบินเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงเครื่องลำนั้นไม่มีเรดาร์ ประกอบกับเป็นช่วงที่สภาพอากาศปิด ทัศนวิสัยค่อนข้างแย่ถึงแย่มาก ทำให้นักบินบินหลงทิศขึ้นเหนือและชนเข้ากับภูเขาในความสูง 11,500 ฟุต
เรือโดยสารศรีราชา เกาะสีชัง ถูกเรือบรรทุกน้ำมันชน (8 มี.ค. 2535) ผู้เสียชีวิต 119 คน รอดชีวิต 15 คน เรือขนส่งผู้โดยสารจำนวนกว่าร้อยคนที่เพิ่งกลับจากการนมัสการเจ้าพ่อเขาใหญ่ ที่เกาะสีชัง มุ่งหน้าไปยังอำเภอศรีราชา ได้ถูกเรือเรือบรรทุกน้ำมันพุ่งเข้าชนอย่างรุนแรง จนทำให้เรือจมลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุทางน้ำครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม จ.นครราชสีมา (13 ส.ค. 2536) ผู้เสียชีวิต 137 คน บาดเจ็บ 227 คน อดีตโรงแรมหรูติด 1 ใน 5 ของโคราช ที่ใครๆ ต่างก็อยากมาพัก ตอนแรกโรงแรมมีเพียง 3 ชั้น แต่ต่อมามีนักท่องเที่ยวและลูกค้าเข้ามาพักเรื่อยๆ จึงได้ตัดสินใจสร้างเพิ่มเป็น 6 ชั้นเพื่อรับรองลูกค้า ซึ่งทำโดยผิดหลักการก่อสร้างและวิศวกร โดยไม่ได้ใส่ใจถึงกฎความปลอดภัย จนทำให้โรงแรมเกิดการทรุดตัวและถล่มลงมาอย่างรุนแรง ทับร่างของคนหลายร้อยที่กำลังอยู่ในโรงแรมทั้งพนักงานโรงแรมและแขกที่เข้าพัก ซึ่งใช้เวลาค้นหาผู้รอดชีวิตเกินกว่าสัปดาห์ ถือเป็นเหตุการณ์ตึกถล่มที่รุนแรงที่สุดติด 1 ใน 5 ของโลก
ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ (10 พ.ค. 2536) ผู้เสียชีวิต 188 คน บาดเจ็บ 485 คน เป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ในขณะที่คนงานกว่า 1,400 คนกำลังทำงานอยู่ในโรงงานตุ๊กตาขนาดใหญ่ ได้เกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงที่ชั้นล่างของอาคาร 1 เพลิงได้ลุกลามอย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นโรงงานที่มีเศษผ้าและวัตถุไวไฟเป็นจำนวนมาก คนงานที่อยู่ชั้นบนของตึกต่างกระโดดลงมาเพื่อหนีความตายกันอย่างโกลาหล บางคนรอดชีวิตมาได้แต่ก็ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการไปตลอดชีวิต และหลังจากเพลิงได้ลุกไหม้ไปได้ 15 นาที ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันตามมา นั่นคือตัวอาคารได้ถล่มลงมาอย่างรุนแรง ฝังร่างคนงานที่อยู่บริเวณตึกโรงงานทั้งหมด