ไทยกับอนุสัญญาห้าม อาวุธเคมี [18+]

ไทยกับอนุสัญญาห้าม อาวุธเคมี
เรียบเรียงโดย น.อ. จุฑา สุขอารมณ์


กล่าวนำ
      อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามพัฒนา ผลิต สะสมและใช้อาวุธเคมี (The Convention on The Prohibition of the Development , Production, Stockpiling and Use of Chemical Weapons and their Destruction ) หรือมีชื่อที่เรียกกันสั้นๆ ว่า อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี(Chemical Weapons Convention: CWC ) เป็น 1 ใน 25 อนุสัญญาหลักของสหประชาชาติ อนุสัญญาฯ นี้ได้เปิดให้นานาชาติลงนามรับรองเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส เมื่อ 13 ม.ค.2536 ปรากฏว่ามีประเทศต่างๆจำนวน130ประเทศลงนามรับรองในสองวันแรก และใน เม.ย.2545 ซึ่งครบรอบ5ปีที่อนุสัญญามีผลบังคับใช้ มีประเทศต่างๆเป็นรัฐภาคี(State Party)จำนวน 145 ประเทศ
องค์กรเพื่อการห้ามอาวุธเคมี( Organization for the Prohibitiion of Chemical Weapons :OPCW) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯและเพื่อให้เชื่อถือได้ว่ามีการนำ อนุสัญญาฯไปสู่การปฏิบัติ ตามกฎเกณฑ์ รวมทั้งเพื่อการตรวจพิสูจน์ยืนยันว่ามีการปฏิบัติตามพันธกรณี ตลอดจนเป็นเวทีอภิปรายและเป็นที่ปรึกษาหารือระหว่างรัฐภาคี
ประวัติการใช้อาวุธเคมี
ได้มีการใช้อาวุธเคมีในการรบสมัยโบราณมานานกว่าพันปีแล้ว เช่น ธนูอาบยาพิษ ไอพิษ ควันไฟที่มีไอสารหนู และน้ำมันดินต้มจนเดือด แต่สงครามเคมียุคใหม่นั้นเริ่มกำเนิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่1 กล่าวคือมีการบรรจุก๊าซคลอรีนและก๊าซฟอสจีนลงในถังในสนามรบ แล้วปล่อยก๊าซให้ฟุ้งกระจายไปตามลม เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นมาในเชิงอุตสาหกรรมเป็นปริมาณมาก จึงมีความเป็นไปได้ง่ายที่จะถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อให้ได้ชัยชนะในสงคราม
ในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการใช้ก๊าซคลอรีน เป็นปริมาณมโหฬารครั้งแรกในสนามรบที่เมือง Ieper ประเทศเบลเยี่ยมเมื่อวันที่22 เมษายน 2458 สงครามครั้งนี้มีการใช้อาวุธเคมีมากมายหลายๆแบบ รวมทั้งใช้ก๊าซมัสตาส ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 90,000 คน และบาดเจ็บหนักอีกเกือบ 1 ล้านคน ผู้เจ็บป่วยจากอาวุธเคมีจะได้รับทุกข์ทรมานตลอดชีวิต คาดกันว่ามีการใช้อาวุธเคมีถึง 124,000 ตัน ในสงครามโลกครั้งที่1 ซึ่งเป็นที่น่าสพึงกลัวมากของผู้คนในยุคนั้น
ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรธที่ยี่สิบ อุปกรณ์หรือเครื่องนำส่งสารเคมี มีความก้าวหน้ามากคืออยู่ในลักษณะของลูกปืนใหญ่ ลูกปืนครก ลูกระเบิดจากเครื่องบิน และทุ่นระเบิด


ภาพที่ 1 อาวุธเคมีในสงครามโลกครั้งที่ 1

 


    อันตรายของ สารเคมีพิษ ( Chemical Agents ) และเทคโนโลยีของเครื่องส่งมีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นมาก รวมทั้งได้มีการผลิตสารมรณะคือสารประสาท ได้ในปี พ.ศ. 2473 - 2483
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผ่านมานั้น อาวุธเคมีถูกนำมาใช้เป็นปริมาณมากในเกือบทุกสนามรบ และเหลือไว้แต่ตำนานและซากของอาวุธเคมีเก่าที่ถูกทอดทิ้งซึ่งกำลังเป็นปัญหา มากกับประเทศต่างๆในปัจจุบัน
สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ได้สะสมอาวุธเคมีต่างๆไว้ถึง 10,000 ตัน ในช่วงสงครามเย็น อาวุธเคมีที่สะสมไว้นี้มีปริมาณมากพอที่จะทำลายชีวิตมนุษย์และสัตว์โลกเกือบ ทั้งหมด
ประเทศอีรักนำอาวุธเคมีมาใช้ ในสงครามระหว่างอีรักและอีหร่าน ปี พ.ศ.2523 และใช้ก๊าซมัสตาส และสารประสาทฆ่าชาวเคอตที่ เมือง Halabja ในตอนเหนือของประเทศ ภาพความสยดสยองน่าสพึงกลัวต่ออาวุธเคมีที่เมือง Halabja ทำให้ทั่วโลกตกตลึง

ภาพที่ 2 ชาวอีหร่าน ที่บาดเจ็บจากอาวุธเคมี


    ตัวอย่างการใช้อาวุธเคมีก่อการร้ายเร็วๆนี้ คือการใช้ ก๊าซ ซาริน ( Sarin Gas ) โจมตีชุมชนที่เมือง Matsumoto ประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2537 และการใช้ก๊าซ ซาริน โจมตีรถไฟใต้ดินที่เมือง Tokyo การโจมตีเหล่านี้กระตุ้นให้นานาชาติ ตระหนักถึงแนวโน้มที่ผู้ก่อการร้ายจะทำอาวุธเคมีมาใช้ในการก่อความไม่สงบ และภัยอันน่ากลัวของอาวุธเคมี
อำนาจการทำลายล้างของอาวุธเคมีได้ปรากฏผลให้เห็นชัดเจนมาตั้งแต่อดีต จากแนวโน้มที่รัฐต่างๆ จะนำอาวุธเคมีที่มีอันตรายและทันสมัยยิ่งขึ้นมาใช้.ในสงครามหรือเมื่อเกิด ความขัดแย้ง จึงเกิดความพยายามโดยนานาชาติเพื่อการบังคับ หรือห้ามใช้อาวุธเคมี รวมทั้งมีการดำเนินการ เพื่อกำจัดอาวุธเคมีให้หมดไปจากโลก
     อาวุธเคมีคืออะไร?
นิยามทั่วไปของอาวุธเคมีคือ สารเคมีพิษซึ่งบรรจุไว้ภายในลูกระเบิดหรือลูกปืนใหญ่ แต่ตามอนุสัญญาฯ ได้นิยามอาวุธเคมีไว้ กว้างขวางกว่า คือสารเคมีพิษ หรือสารที่ใช้ผลิตสารเคมีพิษ(Precursor) ซึ่งสามารถทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต หรือบาดเจ็บโดยกระบวนการปฏิกริยาเคมี นอกจากนี้ยุทธปัจจัย
(Munition) หรืออุปกรณ์บรรจุที่ออกแบบไว้เพื่อนำส่งสารเคมีพิษ ไม่ว่าจะบรรจุสารเคมีแล้วหรือยังไม่บรรจุก็ตาม ให้ถือว่าเป็นอาวุธเคมีด้วย
สารเคมีพิษที่มีการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นอาวุธเคมีนั้นแบ่งเป็นกลุ่มคือ สารสำลัก (Choking Agents) เช่น คลอรีนและฟอสจีน สารพุพอง (Blister Agents) เช่น มัสตาด และลีวิไซท์สารโลหิต (Blood Agents) เช่น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ และสารประสาท (Nerve Agents) เช่น ซารีน โซมาน และ VX
เนื่องจากเป็นที่แน่ชัดว่าสารเคมีพิษบางตัวและ/ หรือสาร ที่ใช้ผลิตสารเคมีมีพิษเหล่านี้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ในวงการอุตสาหกรรมทั่วโลก เช่นใช้เป็นสารวัตถุดิบเบื้องต้น เป็นสาร Anti-neoplastic agents สารฆ่าเชื้อโรค และสารฆ่าวัชพืชหรือสารฆ่าแมลง สารดังกล่าวเหล่านี้จะถูกพิจารณาว่า เป็นอาวุธเคมีทันที เมื่อมีการผลิต และเก็บสะสมไว้เป็นปริมาณที่มากมายเกินความจำเป็น ในการใช้งานตามปกติ
อนุสัญญาฯ จึงได้แบ่ง สารเคมีพิษและสารที่ใช้ผลิตสารเคมีพิษ ซึ่งอาจจะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อผลิตอาวุธเคมี ออกเป็น 3 บัญชีรายการคือ
     บัญชีรายการที่1 คือสารเคมีที่เคยใช้เป็นอาวุธเคมี ในอดีตและ/ หรือ สารที่แทบไม่เคยใช้ หรือไม่เคยใช้สำหรับสันติภาพ รวมทั้งสารที่ปรากฏลักษณะเป็นภัยคุกคามมากๆตามอนุสัญญาฯ
     บัญชีรายการที่2 คือสารที่ใช้ผลิตสารเคมีพิษ ซึ่งสามารถทำไปใช้เพื่อผลิตอาวุธเคมีตามรายการที่ 1 และส่วนใหญ่มีใช้อยู่ในเชิงอุตสาหกรรม
     บัญชีรายการที่3 คือสารเคมีที่ผลิตในเชิงพาณิชย์เป็นปริมาณมากๆ แต่ในบางกรณี อาจถูกใช้เป็นสารเพื่อ การสงครามเคมี และอาจถูกใช้เป็น สาร ที่ใช้ผลิตสารเคมีพิษ เพื่อผลิตสารตามบัญชีรายการที่ 1 และ 2 ได้เช่นกัน

       ความรับผิดชอบของรัฐภาคี
การเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาฯนั้น รัฐต่างๆ จะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ภายในรัฐตามที่อนุสัญญาฯ กำหนด และต้องสามารถรับรองว่าการตรวจพิสูจน์ยืนยัน โดยเจ้าหน้าที่ของ OPCW จะดำเนินไปด้วยดีตลอด ภาระที่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ซึ่งมีความหลายหลาย จึงเป็นภารกิจที่หนักมาก
มาตรการต่างๆ ภายในรัฐ คือการเตรียมความพร้อม การดำเนินการ ทำลายอาวุธเคมี การสำรวจและการควบคุมอุตสาหกรรมเคมี ตลอดจนการดำเนินการแก้ไข กฎหมายท้องถิ่นและกฎหมายบริหารงานต่างๆของรัฐ
พันธะแรกที่รัฐภาคีจะต้องดำเนินการ เมื่ออนุสัญญาฯมีผลบังคับใช้ คือ จัดตั้งหน่วยงานระดับชาติ (National Authority) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานกับ OPCW และรัฐภาคีอื่นๆ และมีหน้าที่หลักในการรวบรวม จัดทำและจัดส่งคำประกาศไปให้ OPCW รวมทั้งเฝ้าตรวจ/ติดตาม การสั่งเข้ามาของสารเคมีที่กำหนดในบัญชีรายการ และ ควบคุมดูแล แผนการทำลายอาวุธเคมีต่างๆ
พันธะกรณีที่สำคัญที่สุด ตามอนุสัญญาฯ คือ ทำลายอาวุธเคมี ซึ่งจะเสียค่าใช่จ่ายสูงมาก ตัวอย่างเช่นประเทศมหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกา และ รัฐเซีย เสียค่าใช้จ่าย ในการทำลายอาวุธเคมี ที่สะสมอยู่ ทั้ง 2 ประเทศรวมกันประมาณ 20 ล้านล้านยูโร โดยค่าใช้จ่ายที่สูงมากนั้นมาจาก การใช้เทคโนโลยีสูงมากในการทำลาย สารเคมีพิษ เพื่อความมั่นใจว่า จะเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ในทุกขั้นตอนของการขนส่งและการทำลาย
ไทยกับอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามอาวุธเคมี
ประเทศไทยได้เตรียมการเพื่อเป็นภาคีอนุสัญญาฯตั้งแต่ เมษายน 2543 เริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย เช่นตรวจสอบและแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและให้มีบทลงโทษ ครอบคลุมอาวุธเคมี และการเตรียมความพร้อมตามมาตรการควบคุมสารเคมีพิษ และโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสารเคมีที่เกี่ยวข้อง โดยการรวบรวมข้อมูลสารเคมีตามบัญชีรายการ 1,2,3 และและสารอินทรีที่ไม่อยู่ในรายการ เพื่อจัดทำคำประกาศครั้งแรก
ไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี เมื่อ 10 ธันวาคม 2545 และอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้กับไทยหลังจากให้สัตยาบัน 30 วัน คือวันที่ 9 มกราคม 2546 ในฐานะรัฐภาคี ไทยจะต้องดำเนินการปฏิบัติให้เป็นไปตามพันธะกรณี และข้อกำหนดต่างๆที่ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ
ประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการเป็นภาคีอนุสัญญาฯ
ในแง่มุมทางการเมืองระหว่างประเทศ ไทยจะได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น เพิ่มความโปร่งใสและความเชื่อมั่น รวมทั้งสะท้อนทัศนคติของไทย ในความพยายามลดและปลดอาวุธ
ในแง่มุมความปลอดภัยของชาตินั้น เป็นการป้องปรามหรือขัดขวางการข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธเคมี และในกรณีมีการข่มขู่หรือใช้อาวุธเคมี ก็จะได้รับการช่วยเหลือผ่านทาง OPCW รวมทั้งทำให้ไทยสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลลับของ OPCW ในเรื่อง เทคโนโลยีการป้องกันด้วย
ในแง่มุมทางเศรษฐกิจของชาตินั้น สินค้าและ อุตสาหกรรมเคมีของไทยจะได้รับการพัฒนา รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากนานาชาติ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางวิชาการและทางเทคนิค
บทส่งท้าย
การที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ ย่อมเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นจริงใจของไทย ในการลดและขจัดอาวุธเคมีต่อประชาคมโลก และต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน
ถึงแม้ว่าไทยจะไม่มีอาวุธเคมีและโรงงานผลิตฯอยู่ในราชอาณาจักร แต่ภารกิจ และความรับผิดชอบที่ไทยจะต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ นั้นยังมีอีกมากมาย

Credit: http://www.navy.mi.th/science/BrithDay46/Brithday_data/thai.htm
20 พ.ค. 53 เวลา 20:23 4,324 9 160
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...