9 เรื่องเล่า จากในหลวง ที่แทบไม่มีใครเคยได้ฟัง

เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก emaginfo

          9 เรื่องเล่าของในหลวง ใครจะรู้บ้างว่าในพระจริยวัตรของพระองค์ท่าน ที่เสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์ท่านอยู่เป็นประจำนั้น ก็มีเรื่องราวน่ารัก ๆ ที่พระองค์ทรงประสบด้วยตนเองอยู่มากมาย

          กว่าครึ่งศตวรรษที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรชาวไทย และหนึ่งในพระราชกรณียกิจก็คือการเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรทุกหมู่เหล่าในแต่ละท้องที่ เพื่อทอดพระเนตรถึงชีวิตความเป็นอยู่ นำมาซึ่งพระราชดำริแก้ไขปัญหาบำบัดทุกข์ภัยให้ชาวบ้าน ดังที่เราเห็นในข่าวว่าทุกครั้งจะมีชาวบ้านจำนวนมากแห่แหนเดินทางมาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน

          และด้วยพระปฏิภาณและพระอารมณ์ขัน ก็ทำให้ชาวบ้านที่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ได้มีความสุขกับหลากหลายเรื่องราวชวนขำที่เกิดขึ้น ซึ่งเว็บไซต์ emaginfo ได้รวบรวม 9 เรื่องของในหลวงมาเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องราวขำ ๆ น่ารัก ๆ ที่พระองค์ตรัสให้คนสนิทฟัง ลองอ่านแล้วทุกคนต้องอมยิ้มไปกับพระอารมณ์ขันของพ่อหลวงแห่งปวงชนชาวไทยเป็นแน่


เรื่องที่ 1 เรียกน้าสิ ยาย

           วันหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกรของ ท่านตามปกติที่ต่างจังหวัด ก็มีชาวบ้านมาต้อนรับในหลวงมากมาย ซึ่งพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาตามลาดพระบาทหลวง ทีนี้ที่แถวหน้าก็มีหญิงชราแก่คนหนึ่งได้ก้มลงกราบแทบพระบาทแล้วก็เอามือของแกมาจับพระหัตถ์ของในหลวง

           แล้วหญิงชราท่านนั้นก็พูดว่า..ยายดีใจเหลือเกินที่ได้เจอในหลวง แล้วก็พูดกับในหลวงว่ายายอย่างโน้น ยายอย่างนี้ อีกตั้งมากมาย แต่ในหลวงก็ทรงเฉย ๆ มิได้ตรัสรับสั่งตอบว่ากระไร

           ทีนี้พวกข้าราชบริพารก็มองหน้ากันใหญ่ กลัวว่าพระองค์จะทรงพอพระราชหฤทัยหรือไม่ แต่พอพวกเราได้ยินพระองค์รับสั่งตอบกับหญิงชราคนนั้น ก็ทำให้เราถึงกับกลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหว เพราะพระองค์ทรงตรัสว่า "เรียกว่ายายได้อย่างไร อายุอ่อนกว่าแม่ฉันตั้งเยอะ ต้องเรียกน้าซิ ถึงจะถูก !"

 


เรื่องที่ 2 แขนแยกได้

           พระองค์ท่านเสด็จไปที่จังหวัดสกลนคร เพื่อเยี่ยมเยียนชาวบ้าน และพระองค์ก็ทรงตรัสถามชายคนหนึ่งที่มาเข้าเฝ้า แล้วแขนเจ็บเข้าเฝือก

           ในหลวงทอดพระเนตรเห็นเข้า ก็ทรงรับสั่งถามว่า "แขนเจ็บไปโดนอะไรมา"

           ชายคนนั้นตอบว่า "ตกสะพาน" แล้วในหลวงทรงรับสั่งกลับไปอีกว่า "แล้วแขนอีกข้างหนึ่งล่ะ"

           ชายคนนั้นก็ตอบกลับมาอีกว่า "แขนข้างนี้ไม่ได้ตกลงไปด้วย ตกข้างเดียว"

           ในหลวงของเราก็ทรงพระสรวล

 


เรื่องที่ 3 ดินเค็ม

           พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่ทางภาคใต้ คือจังหวัดนราธิวาส ทางใต้นี้มีปัญหาเรื่องดินเป็นกรด มีความเค็ม

           พระองค์จึงทรงรับสั่งถามกับชาวบ้านที่มาเฝ้ารับเสด็จว่า "ดินหลังบ้านเป็นอย่างไร เค็มไหม" ชาวบ้านก็มองหน้ากันแล้วทำหน้างง ก่อนตอบกลับมาว่า "ไม่เคยชิมสักที" ในหลวงทรงแย้มพระสรวล รับทรงสั่งกับข้าราชบริพารที่ตามเสด็จว่า "ชาวบ้านแถวนี้เขามีอารมณ์ขันกันดีนะ"


เรื่องที่ 4 บัตร 30 บาท

           ในขณะที่ในหลวงท่านทรงประชวรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง มีข้าราชบริพารเข้าเยี่ยมจำนวนมาก และมีนายกฯ ในขณะนั้นได้ถวายบัตร 30 บาทให้พระองค์ เพื่อใช้สิทธิ์ ซึ่งพสกนิกรรู้สึกเคืองใจที่นายกฯ คนดังกล่าวทำเช่นนั้น

           แต่ในหลวงตรัสว่า "ไม่เป็นไรหรอก หากข้าพเจ้าไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ แต่คงสามารถใช้บัตรผู้สูงอายุได้ หรือจะใช้สิทธิข้าราชการของบุตรี (ฟ้าหญิง) ก็ได้" ท่านพูดเสียงเรียบ ๆ ไม่ได้รู้สึกว่าถูกลบหลู่เลย พูดเสร็จก็ยื่นบัตรทองใบนั้น ให้นายกฯ คนนั้น ฟังแล้วก็อดยิ้มไม่ได้ว่าท่านตอบได้น่ารักมาก

           เคยมีคนถามผมว่า นับถือใครมากที่สุด คิดถึงคนแรกและคนเดียวเลยคือ ในหลวง

           ท่านเหนือกว่ากษัตริย์ใดในโลกหล้า ยิ่งใหญ่กว่าวีรบุรุษคนใดในตำนาน มีคุณธรรมประเสริฐล้ำเทียบพระโพธิสัตว์ ขอถวายความจงรักภักดีจนกว่าชีวีจะหาไม่

 


เรื่องที่ 5 เราจับได้แล้ว

           ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เล่าว่า ครั้งหนึ่งในงานนิทรรศการ "ก้าวไกลไทยทำ" วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538

           "The BOI Fair 1995 commemorates the 50th Anniversary of His Majesty King Bhumibol Adulyadej’s reign" (Board of Investment Fair 1995 BOI)

           หลังจากที่เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามศาลาการแสดงต่าง ๆ ก็มาถึงศาลาโซนี่ (อิเล็กทรอนิกส์) ภายในศาลาแต่งเป็น "พิภพใต้ทะเล" โดยใช้เทคนิคใหม่ล่าสุด "Magic Vision" น้ำลึก 20,000 league จะมีช่วงให้แลเห็นสัตว์ทะเลว่ายผ่านไปมา ปลาตัวเล็ก ๆ สีสวยจะว่ายเข้ามาอยู่ตรงหน้า

           ข้อสำคัญเขาเขียนป้ายไว้ว่าถ้าใครจับปลาได้เขาจะให้เครื่องรับโทรทัศน์ พวกเราไขว่คว้าเท่าไรก็จับไม่ได้ เพราะเป็นเพียงแสงเท่านั้น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า "เราจับได้แล้ว" พร้อมทั้งทรงยกกล้องถ่ายรูปชูให้ผู้บรรยายดู แล้วรับสั่งต่อ "อยู่ในนี้"

           ต่อจากนั้นคงไม่ต้องเล่า เพราะเมื่ออัดรูปออกมาก็จะเป็นภาพปลาและจับต้องได้ บริษัทโซนี่จึงต้องน้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องรับโทรทัศน์ตามที่ประกาศไว้…

 


เรื่องที่ 6 หมึกไม่ออก

           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อนงค์รัตน์ สุขุม เล่าให้ฟังว่า… วันที่ 19 กรกฎาคม 2526 เป็นวันพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่นายกสโมสรอาจารย์จะเป็นผู้ดูแลถวายปากกาให้ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ในปีนั้นอาจารย์อนงค์รัตน์ในฐานะอุปนายกสโมสรอาจารย์ได้รับหน้าที่นี้แทน

           ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนิน เราก็ดูแลความเรียบร้อยทุกอย่าง อย่างระมัดระวังที่สุด โดยเฉพาะปากกาลองกันหลายครั้งจนมั่นใจว่าไม่มีปัญหาแน่

           พอเสด็จฯ มาถึงท่านก็ทรงลงประปรมาภิไธย ปรากฏว่าทรงจรดปากกาลงไปแล้วแต่ไม่มีหมึกออกมา เราก็ตกใจมากเลย ไม่รู้จะทำยังไงดี นึกในใจว่าเป็นความบกพร่องของเราแน่ ๆ ลองมากไปจนหมึกหมด

           อาจารย์ก็เลยถวายกระดาษทิชชูเปล่า ๆ ที่อยู่ในมือให้ท่าน เพื่อจะให้ท่านทรงเช็ดปากกา แต่ท่านทรงเมตตามากเลย สีพระพักตร์ที่ท่านมองดิฉันเหมือนกับจะตรัสว่า "ไม่ต้องตกใจ" แล้วก็ทรงนำปากกามาลองที่มือดิฉันที่มีกระดาษทิชชู ปรากฏว่าหมึกออก จากนั้นก็ทรงหันไปลงพระปรมาภิไธยในสมุด พอท่านเสด็จพระราชดำเนินไปแล้ว ทุกคนก็รีบเข้ามาดูกระดาษที่ทรงลองปากกาแผ่นนั้นกันใหญ่ บางคนก็ขอจะเอาไปเป็นมงคล

 


เรื่องที่ 7 ทุกข์ยามดึก

           เรื่องนี้เล่าโดย พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ผู้อำนวยสำนักงานโครงการพระดาบส อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข

           ท่านเล่าว่า…..การที่ได้ทรงพระกรุณารับฟัง และติดต่อทางวิทยุตำรวจเป็นประจำ จึงทรงทราบความลำบาก ความเดือดร้อนของข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย ตำรวจประจำตู้ยามบางคนคับแค้นใจ เกี่ยวกับปัญหาครอบครัว

           ปัญหาการครองชีพ เมื่อเสพสุราแล้วครองสติไม่ได้ ไม่รู้จะระบายความในใจกับใคร จึงได้พล่ามบรรยายมาทางวิทยุ บางคนหลับยามไม่พอกดคีย์ ไมโครโฟนค้าง ทำให้มีเสียงกรนออกอากาศมาด้วย บางคนตะโกนร้องเพลงลูกทุ่ง ออกอากาศมา เพื่อเป็นการแก้เหงาก็มี

           แต่ที่จัดได้ว่าโชคดี คือ ศูนย์ควบคุมข่ายตำรวจแห่งชาติ "ปทุมวัน" กล่าวคือ ในยามดึกวันหนึ่ง พนักงานวิทยุคนหนึ่งได้ระบายความเดือดร้อน เนื่องจากหิวโหยไม่สามารถ หาอาหารรับประทานได้เพราะต้องเข้าเวร

           เมื่อในหลวงทรงรับฟัง ก็ทรงสงสาร จึงได้รับสั่งทางวิทยุกับผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นโดยตรงว่า "โปรดเกล้าฯ พระราชทานตู้เย็นเพื่อเก็บอาหารสำรอง สำหรับเวรยามดึกให้ 1 ตู้"

 


เรื่องที่ 8 ลอดซุ้ม

           ราวปี 2498 เป็นต้นมา คราใดที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวลนั้น จะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปยังท้องที่ห่างไกลทุรกันดารย่านหัวหิน หนองพลับแก่งกระจาน ด้วยพระองค์เอง โดยที่ราษฎรไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าทรงมาถึงแล้ว

           วันหนึ่งทรงขับรถยนต์พระที่นั่งผ่านไปถึงยังบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านหมู่บ้านห้วยมงคล อำเภอหัวหิน ซึ่งราษฎรกำลังช่วยกันตบแต่งประดับซุ้มรับเสด็จกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง และไม่คาดคิดว่าเป็นรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์

           เมื่อในหลวงทรงขับรถยนต์ไปถึงซุ้ม ราษฎรที่ไม่รู้ว่าเป็นในหลวง ก็บอกว่า วันนี้ห้ามลอดผ่านซุ้มนี้ เพราะขอให้ในหลวงผ่านก่อนนะ ในหลวงเสด็จฯ ก่อนแล้วพรุ่งนี้ถึงจะลอดผ่านซุ้มได้

           แล้วในหลวงก็ทรงขับรถพระที่นั่งเบี่ยงข้างทางไม่ลอดซุ้มดังกล่าว วันรุ่งขึ้นเมื่อทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านนี้อย่างเป็นทางการ พระองค์ทรงมีพระดำรัส ทักทายกับชายผู้นั้นที่เฝ้าอยู่หน้าซุ้มเมื่อวันวานว่า "วันนี้ฉันเป็นในหลวง..คงผ่านซุ้มนี้ได้แล้วนะ.."


เรื่องที่ 9 ชื่อเหมือนกัน

           เรื่องการใช้ราชาศัพท์กับในหลวง ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ใครต่อใครเกร็งกันทั้งแผ่นดิน เพราะเรียนมา ตั้งแต่เล็กแต่ไม่เคยได้ใช้เมื่อออกงานใหญ่จึงตื่นเต้นประหม่า ซึ่งเป็นธรรมดาของคนทั่วไป และไม่เว้นแม้กระทั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายรายงาน หรือกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในพระราชานุกิจต่าง ๆ นานัปการ

           ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ เคยเล่าให้ฟังว่า ด้วยพระบุญญาธิการและพระบารมีในพระองค์นั้นมีมากล้นจนบางคนถึงกับไม่อาจ ระงับอาการกิริยาประหม่ายามกราบบังคมทูล จึงมีผิดพลาดเสมอ แม้จะซักซ้อมมาอย่างดีก็ตาม

           ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน มีข้าราชการระดับสูงผู้หนึ่งกราบบังคมทูลรายงานว่า "ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า พลตรีภูมิพลอดุลยเดช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบบังคมทูลรายงาน ฯลฯ"

           เมื่อกราบบังคมทูลไปเช่นนั้น ในหลวงทรงแย้มพระสรวลอย่างมีพระอารมณ์ดีและไม่ถือสาว่า"เออ ดี เราชื่อเดียวกัน…" สร้างความขำขันกันทั้งศาลาดุสิดาลัย

           ในเรื่องเล่าอันน่ารักทั้ง 9 เรื่องนี้ บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชน เป็นล้นพ้น แม้น ณ เวลา พระองค์ทรงมีพระอาการประชวร แต่พระองค์ก็ยังทรงเป็นห่วงพสกนิกรชาวไทยอยู่ไม่ห่าง ปวงข้าชาวไทยขอพระองค์ทรงพระเจริญ..

           ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าในนาม Emaginfo



Credit: http://hilight.kapook.com/view/112362
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...