เจ้าดารารัศมี พระราชชายา (26 สิงหาคม 2416 - 9 ธันวาคม 2476) เจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักรจากนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา
พระประวัติ
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา มีพระนามเดิมว่า "เจ้าดารารัศมี" พระนามลำลองเรียกกันในหมู่พระประยูรญาติว่า "เจ้าอึ่ง" ประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา (หากนับทางเหนือ เป็นเดือน 10) หรือตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 เมื่อเวลา 00.30 น.เศษ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่ (ที่ตั้งของ "ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิม)
เป็นพระราชธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์กับเจ้าทิพเกสร เป็นพระราชธิดาในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ และเจ้าอุษา พระมหาเทวี เจ้าดารารัศมีมีพระเชษฐภคินีร่วมพระโสทรหนึ่งพระองค์ คือ เจ้าจันทรโสภา
เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าดารารัศมีทรงพระอักษรทั้งฝ่ายล้านนา สยาม และภาษาอังกฤษ จนแตกฉาน ทั้งยังได้ทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ จนนับได้ว่าทรงเป็นผู้รอบรู้ในด้านขนบประเพณีอันเก่าแก่เหล่านั้น ดีที่สุดคนหนึ่งทีเดียว ในด้านการกีฬานั้นเล่า ก็โปรดการทรงม้าเป็นอย่างยิ่ง
เหตุแห่งการเสด็จเข้าวังหลวง
ในปี พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งเทียบได้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในภาคพายัพ) ได้อัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชร ไปพระราชทานเป็นของเฉลิมพระขวัญแก่เจ้าหญิงดารารัศมี
นัยว่าเป็นของทรงหมั้นนั่นเอง รวมทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ฯ พระราชทานเจ้าหญิงดารารัศมีตามแบบอย่างเจ้านายใน "ราชวงศ์จักรี" เป็นกรณีพิเศษ (ปล. แม่เจ้าเทพไกรสรพระมหาเทวี พระราชชนนีได้สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปในปี 2426 นี้เอง)
คล้อยหลัง 3 ปี ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 (ตรงกับ วันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248) ในปี 2429 นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรง และสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าหญิงดารารัศมีได้โดยเสด็จพระราชบิดาลงมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย และได้รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลยประทับอยู่ ณ กรุงเทพพระมหานครนับแต่นั้นมา
เหตุแห่งการเมืองไปสู่ความรักระหว่างสองพระองค์
เมื่อพระองค์เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง พระราชบิดาได้พระราชทานเงินค่าตอไม้ (ค่าสัมปทานไม้สักในเขตแคว้นล้านนา ซึ่งตอนนั้นถือกันว่าป่าไม้สักทั้งหมดในดินแดนล้านนาเป็นของพระเจ้านครเชียงใหม่ทั้งสิ้น จะยกประทานแก่ผู้ใดก็ได้
ในกรณีนี้ทรงยกผลประโยชน์เป็นค่าสัมปทานประทานพระราชธิดา) เพื่อสร้างพระตำหนักขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ในพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นที่ประทับของ เจ้าจอมดารารัศมี และข้าราชบริพารในพระองค์
ในระหว่างที่ประทับอยู่ใน พระบรมมหาราชวัง ทรงดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย มิได้สนพระทัยต่อการถูกมองพระองค์ว่าเป็น "เจ้าหญิงเมืองลาว" แต่ประการใด ทรงให้ข้าราชบริพารในพระตำหนักแต่งกายด้วยผ้าซิ่นแบบล้านนา เหมือนเมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่ ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ทุกประการ รวมทั้งโปรดให้ให้ศึกษาศิลปะดนตรีไทย ดนตรีสากล การขับร้อง และการฟ้อนรำ
ทั้งนี้ เจ้าจอมดารารัศมีสามารถทรงเครื่องดนตรีได้หลากหลายชนิด แต่ที่โปรดและทรงได้ถนัดที่สุดคือ จะเข้ เจ้าจอมดารารัศมี ยังทรงสนพระทัยในการถ่ายรูปซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น นอกเหนือไปจากพระปรีชาสามารถด้านการทรงม้า
ขณะนั้นยังทรงเป็นเพียงเจ้าจอมพระสนม ยังไม่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี จนกระทั่งปี 2451 ที่เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยือนนครเชียงใหม่ รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ขึ้นเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง ดำรงพระอิสริยยศ "พระราชชายา" และดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้านายแห่งพระราชวงศ์จักรีนับแต่นั้น ถึงแม้จะทรงศักดิ์เป็นพระมเหสีในตำแหน่งพระราชชายา
แต่กระบวนเสด็จพระราชดำเนินคืนสู่นครเชียงใหม่ครั้งนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชทานอย่างเต็มตามโบราณราชประเพณีเสมอด้วยทรงครองพระอิสริยยศพระมเหสีในตำแหน่ง "พระอัครชายาเธอ" เลยทีเดียว ดังปรากฏความตามสำเนาพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดกระบวนเสด็จครั้งนั้นอย่างชัดเจน
ด้วยการดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย หากแต่แฝงไว้ด้วยพระปรีชาญาณ ความมุ่งมั่น และความเชื่อมั่นในพระองค์ กอปรกับความจงรักภักดีที่ทรงมีต่อพระราชสวามี จึงเป็นที่โปรดปรานฯ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่สุดเจ้าดารารัศมี ซึ่งขณะนั้นยังทรงดำรงตำแหน่ง "เจ้าจอมดารารัศมี" ก็ทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลพระราชธิดา
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) ในคราวนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่ง "เจ้าจอมดารารัศมี" ขึ้นที่ "เจ้าจอมมารดาดารารัศมี"
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี หรือพระนามเรียกขานในหมู่ข้าราชบริพารว่า "เสด็จเจ้าน้อย" เป็นที่โปรดปรานฯ ใน พระราชบิดา ยิ่งนัก ด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา เป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดามีพระชันษาเพียง 3 ปี 4 เดือน 18 วัน ก็ได้ประชวรและสิ้นพระชนม์ลง
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 (ต่อมาทรงได้รับโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามพระอัฐิขึ้นเป็น "พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี" "พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี" และ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี" ตามลำดับ)
การสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดาในคราวนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ทรงมีรับสั่งกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวโทษพระองค์เอง ว่า "ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ที่ทรงมิได้สถาปนาพระยศพระราชธิดาให้เป็น "เจ้าฟ้า" ตามศักดิ์แห่งพระมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงพระราชธิดาในพระเจ้าประเทศราช เป็นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์"
แต่สำหรับเจ้าจอมมารดาดารารัศมีแล้วนั้น ทรงเสียพระทัยอย่างที่สุด ไม่สามารถรับสั่งเป็นคำพูดได้ ทรงฉีกทำลายพระฉายาลักษณ์ที่ "พระราชสวามี" ประทับร่วมอยู่กับ "พระองค์" และ "พระราชธิดา" เสียจนหมดสิ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากทรงได้รับลายพระหัตถเลขา จากพระราชบิดาที่ส่งมาประทานแล้ว ทำให้ทรงมีกำลังพระทัยดีขึ้นโดยลำดับ
ต่อมาภายหลัง เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมิได้มีพระประสูติกาลอีกเลย ทั้งที่โดยความจริงแล้วนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยเอาไว้ก็ตาม ไม่ว่าจะอย่างไร เจ้าจอมมารดาดารารัศมี ก็ยังทรงมุ่งมั่นรับใช้เบื้องพระยุคลบาท และถวายความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระบรมราชสวามีอย่างหาที่สุดไม่ได้
โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา"
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ "เจ้าจอมมารดา เจ้าดารารัศมี" ขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี มีพระอิสริยยศเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่ง ออกพระนามว่า "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา" นับเป็นพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
จึงนับได้ว่า "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา" เป็นพระมเหสีลำดับที่ 5 ในเวลานั้น
ลำดับที่ 1-4 มีรายพระนามดังนี้
1. สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
2 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
3. สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
4. พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี
(ไม่นับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี 4 พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัลยา และพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรกและพระมเหสีทั้ง 2 พระองค์ที่สวรรคตและ สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว)
การเสด็จประพาสนครเชียงใหม่
นับแต่พระราชชายาเสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวัง ก็มิได้เสด็จกลับเชียงใหม่อีกเลย แม้คราวที่ พระราชบิดาถึงพิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2440 ก็ตาม ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2451 เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา (ก็คือเจ้าอินทวโรรสนั้นมิได้ประสูติแต่แม่เจ้าพระมหาเทวีดังเช่นพระราชชายาฯ) ได้ลงมาเฝ้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชชายาจึงกราบถวายบังคมขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่ เพื่อทรงเยี่ยมพระประยูรญาติพร้อมกับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ พระเชษฐา ในครานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาต ด้วยไม่ทรงต้องการขัดพระทัยพระราชชายา
อย่างไรก็ตาม การเสด็จพระราชดำเนินของพระราชชายา ในคราวนี้นั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเป็นห่วงและเอาพระทัยใส่ยิ่งนัก ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชสวามี เสด็จพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาส่งเสด็จ พระราชชายาฯ เพื่อทรงประทับในขบวนรถไฟพระที่นั่ง ณ สถานีรถไฟสามเสน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ พระราชโอรสในเจ้าจอมมารดาทิพเกสร โดยเสด็จพระราชดำเนินไปส่งพระราชชายาฯ ถึงตำบลปากน้ำโพ นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของทางรถไฟสายเหนือ
ตลอดการเสด็จพระราชดำเนิน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดข้าราชการเป็นหมวดหมู่ กรม กองโดยเสด็จพระราชชายาฯ มีธงดารารัศมี ประจำพระองค์พระราชชายาฯประดับ เพื่อแสดงถึงฐานะของพระมเหสีอันสูงศักดิ์ และให้ข้าราชการ กรมการเมืองทั้งหลายตลอดเส้นทางที่เสด็จพระราชดำเนินกลับคืนนครเชียงใหม่นั้นจัดเตรียมการรับเสด็จเสมือนหนึ่งว่าทรงดำรงตำแหน่ง พระอัครชายาเธอ ทีเดียว
เมื่อ พระราชชายาฯ เสด็จถึงปากน้ำโพ ได้เสด็จพระราชดำเนินต่อโดยทางชลมารค ทรงประทับในเรือเก๋งประพาส มีเรือในขบวนเสด็จกว่า 50 ลำ มีการปักธงทิวเป็นขบวนไปตามลำน้ำปิง เมื่อผ่านเขตอำเภอ จังหวัด มณฑลใด มีเจ้าหน้าที่ปลูกพลับพลาประทับร้อน ประทับแรม และคอยรับเสด็จตลอดเขตของตนทุกแห่งทั่วไป
การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้า ใช้เวลานานถึง 2 เดือน 9 วัน จึงเสด็จพระราชดำเนินถึงยังนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2452 ณ ที่นั้น เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ พร้อมด้วย พระประยูรญาติ เจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการทหาร พลเรือน ประชาชนแต่ละอำเภอ คหบดีทั่วทั้งดินแดนล้านนา
ต่างจัดขบวนแห่ของตน มีขบวนทหาร ตำรวจ ข้าราชการขี่ม้าเข้าแถวนำ แต่งขบวนเป็นภาพคนสมัยโบราณ คนป่า เรื่องชาดกรามเกียรติ์ และนิทานพื้นบ้าน มีขบวนกลองชนะ กลองสะบัดไชย กลองเมือง แตรวง กลองพม่า ต่อกันเป็นระยะๆ ตามหน้าบ้านมีการตั้งเครื่องบูชารายทางมิได้ขาด จนกระทั่งถึงที่ประทับที่คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ ซึ่งจัดเป็นข้างหน้าข้างใน มี สนม กรมวังกำกับอย่างใน พระบรมมหาราชวังทุกประการ และมีทหารกองเกียรติยศตั้งคอยรับเสด็จพระราชชายาฯอย่างสง่างาม
ระหว่างประทับที่เชียงใหม่ พระราชชายาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพระประยูรญาติยังนครลำพูน และ นครลำปาง และได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในที่ต่างๆ รวมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระธาตุ พระพุทธบาท และปูชนียสถานสำคัญต่างๆอย่างทรงสำราญพระราชหฤทัย
ตลอดเวลาในการเสด็จประพาสนครเชียงใหม่ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโทรเลข และพระราชหัตถเลขา แสดงความรักอาทรห่วงใย มาพระราชทานพระราชชายาฯไม่ขาด และ พระราชชายาฯ ก็ทรงพระโทรเลข หรือ ลายพระหัตถ์ตรัสเล่าเรื่องราวต่างๆถวายกลับไปโดยตลอด
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา
การเสด็จนิวัติพระนคร[
พระราชชายาฯ ประทับอยู่ ณ นครเชียงใหม่ได้หกเดือนเศษ ก็ถึงคราวเสด็จนิวัติ พระนคร ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเตรียมการรับเสด็จพระราชชายาฯอย่างยิ่งใหญ่ มีขบวนรับเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน ขบวนเรือเสด็จประกอบด้วยเรือถึง 100 ลำเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประทับเรือยนต์หลวงมารอรับเสด็จพระราชชายาฯที่อ่างทอง แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมกัน 2 พระองค์ไปประทับแรม ณ พระราชวังบางปะอิน
ในการนี้ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสร้อยพระกรเพชรล้ำค่าเป็นของพระขวัญ ทรงประทับแรมอยู่ ณ พระราชวังบางปะอิน เป็นเวลา 2 ราตรี จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงพระนคร ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพระราชทานเลี้ยงฉลองขึ้นตำหนัก ตำหนักสวนฝรั่งกังไส (พระราชวังดุสิต) ซึ่งเป็นตำหนักใหม่ที่โปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานพระราชชายาฯเป็นพิเศษ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่โดยเสด็จพระราชชายาฯลงมากรุงเทพฯครั้งนี้ร่วมโต๊ะเสวยด้วยทุกองค์
"วันวิปโยค" พระสวามีเสด็จสวรรคต
หลังจากเสด็จนิวัติ พระนคร พระราชชายาฯ ได้ทรงประทับอยู่ในพระราชวังดุสิต อย่างสำราญพระราชหฤทัยที่ได้ทรงกลับมารับใช้เบื้องพระยุคลบาท พระราชสวามีได้เพียง 10 เดือน ก็ต้องทรงประสพกับเหตุวิปโยคคราใหญ่ในพระชนม์ชีพอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชสวามี ได้เสด็จสวรรคต ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นับรวมเวลาที่ พระราชชายาฯ ได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท เป็นเวลา 23 ปีเศษ
นับแต่สิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาฯ ยังทรงประทับใน พระราชวังดุสิต มาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2457 จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่เป็นการถาวร เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินคืนสู่นครเชียงใหม่ โดยเสด็จออกเดินทางเมื่อ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2457 และเสด็จพระราชดำเนินถึงยังนครเชียงใหม่ในวันที่ 22 เดือนเดียวกัน ได้เข้าประทับยัง คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง ตั้งแต่นั้น
สิ้นพระชนม์
กู่พระอัฐิในวัดสวนดอก
ในบั้นปลายพระชนม์ชีพพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม อันเป็นพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างถวาย โดยแวดล้อมด้วยพระประยูรญาติและข้าราชบริพารในพระองค์เป็นเวลานานถึง 20 ปี
จนกระทั่ง วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พระองค์เริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคพระปัปผาสะพิการ (ปอดพิการ) แพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้พยายามถวายการรักษาอย่างเต็มที่ แต่พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา (เจ้าแก้วนวรัฐประสูติแต่หม่อมเขียวในพระเจ้าอินทวิชยานนท์)
จึงเชิญเสด็จมาประทับ ณ คุ้มรินแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้สะดวกในการที่พระประยูรญาติจะได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการและเป็นการง่ายที่แพทย์จะถวายการรักษา
ความทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อัญเชิญด้ายสายสิญจน์มาผูกพระกรพระราชชายาฯ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยในการรักษาพระอาการและโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ถวายรายงานพระอาการให้ทรงทราบเป็นประจำวัน
ขณะเดียวกัน พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายแพทย์กรมรถไฟขึ้นมาประจำกับแพทย์ทางเชียงใหม่ถวายการดูแลพระอาการอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ พระประยูรญาติ และข้าราชบริพาร ยังได้จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ชนิดย้ายที่ได้จากอินโดนีเซียเพื่อฉายดูพระปัปผาสะ เป็นการช่วยแพทย์แผนปัจจุบัน แต่พระอาการก็มิได้ทุเลาลงแต่อย่างใด
พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เมื่อเวลา 15.14 น. ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชนมายุ 60 ปี 3 เดือน 13 วัน
ข้อมูล :: จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ภาพจากหลายหลายเว็บไซต์)