กะปิเกาะเหลา ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดแห่งกะปิเมืองระนอง
แม้ไม่ได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในคำขวัญจังหวัดระนอง แต่“กะปิ” ถือเป็นอีกหนึ่งของดีขึ้นชื่อของระนอง โดยเฉพาะ “กะปิเกาะเหลา” นี่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดของกะปิระนองเลยทีเดียว
กะปิเกาะเหลาแท้ๆนั้น มีจุดเด่นที่ทำจากเคยแท้ๆ ให้รสเค็มไม่มาก มีกลิ่นหอม คุณภาพดี
ตัวผมเองเคยได้ยินชื่อกะปิเกาะเหลามานานแล้ว และเคยได้ลิ้มลองกะปิเกาะเหลาผ่านบางเมนู โดยเฉพาะ น้ำพริกกะปิ และผัดสะตอกุ้งกะปิ ก็ยอมรับโดยดุษฎีว่ากะปิเกาะเหลาเขาดีจริง อร่อยจริง ดังนั้นเมื่อมีโอกาสล่องใต้ไปเมืองระนองเที่ยวล่าสุด มีคนชวนไปเที่ยวเกาะเหลา ผมจึงไม่ขอพลาดด้วยประการทั้งปวง
กระบวนการทำกะปิเกาะเหลา ที่บ้านเกาะเหลานอก
เกาะเหลา แหล่งทำกะปิชั้นเลิศ
เกาะเหลา เป็นเกาะที่อยู่ใกล้ฝั่ง จ.ระนอง ใช้เวลานั่งเรือจากท่าเรือสะพานปลาในตัวเมืองระนองประมาณ 20 นาทีก็ถึงแล้ว
เกาะเหลาไม่ใช่เกาะประเภทหาดสวย น้ำใส ทะเลงาม หากแต่เป็นเกาะเล็กๆที่เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คน บนเกาะมี 2 หมู่บ้าน คือ บ้าน“เกาะเหลาใน” เป็นชุมชนคนไทย มีทางปูนเล็กๆเดินเชื่อมระหว่างกันในหมู่บ้าน และมีโรงเรียน“บ้านเกาะเหลา”เป็นโรงเรียนประจำเกาะตั้งอยู่ที่หมู่บ้านนี้
สะพานท่าเทียบเรือสู่บ้านเกาะเหลาใน
ขณะที่อีกหมู่บ้านหนึ่งคือ “บ้านเกาะเหลานอก” ที่เป็นชุมชนชาวเล“มอแกน” ซึ่งเกือบ 100% เป็นชาวมอแกน มีเพียงบ้านหนึ่งเดียวเป็นคนไทย นั่นก็คือบ้านของพี่“เนาวนิตย์ แจ่มพิศ” หรือ“พี่เนาว์” ประธานกลุ่มทำกะปิเกาะเหลา
นอกจากนี้บ้านของพี่เนาว์ยังเป็นหนึ่งในบ้านทำกะปิชั้นเลิศแห่งเกาะเหลาที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งพี่แกก็ใจดีเหลือหลายเปิดให้เข้าเข้าชม พร้อมสาธิต และเล่าให้ฟังถึงวิธีการทำกะปิเกาะเหลาอย่างละเอียด
ชาวบ้านเกาะเหลานอก กำลังตักกะปิบรรจุใส่ภาชนะเตรียมขาย
สำหรับภูมิปัญญาการทำกะปิเกาะเหลานั้นมีมาช้านานแล้ว เนื่องจากที่นี่มีวัตถุดิบสำคัญในการทำกะปินั่นก็คือ“กุ้งเคย”
พี่เนาว์บอกกับผมว่าเคยที่นี่เหมาะกับการทำกะปิมาก ซึ่งชาวบ้านเขาจะนำเคย 3 ชนิดมาทำกะปิ ได้แก่ เคยตาดำ, เคยสารส้มโอ และเคยแม่ลูกที่นำมาทำกะปิได้ดีสุด
แต่ปัญหาของเกาะเหลาก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับชุมชนหลายๆแห่งในบ้านเรา นั่นก็คือประสบกับปัญหาการร่อยหรอของทรัพยากร การขาดแคลนทรัพยากร จากเดิมที่เคยมีเคย และกุ้ง หอย ปู ปลา หมึก สมบูรณ์ มาวันนี้มันลดน้อยหายไปมาก โดยเฉพาะกับกุ้งเคยที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำกะปิ วันนี้ลดหายไปมาก
ชาวบ้านนำเคยสดๆที่จับได้มาตาก ก่อนนำไปสู่การทำกะปิในกระบวนการต่อไป
“ตั้งแต่เกิดสึนามิเมื่อปี 2547 ทรัพยากรหายไปมาก เคยหายไปเยอะ เลยทำให้อาชีพทำกะปิหายไปด้วย จากเมื่อก่อนที่ทำกัน 100 % เดี๋ยวนี้เหลือแค่ประมาณ 10 % เท่านั้น” พี่เนาว์ตัดพ้อให้ฟัง
ความที่คนทำกะปิเกาะเหลาลดลงไปมาก วันนี้กะปิเกาะเหลาจึงมีราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมากมาก นั่นจึงทำให้เกิดการย้อมกะปิกะเหลาขึ้น โดยมีทั้งการนำกะปิจากที่อื่นมาหลอกขายสวมตราว่าเป็นกะปิเกาะเหลาแท้ หรือไม่ก็นำกะปิเกาะเหลาไปผสมกับกะปิที่อื่นแล้วมาย้อมกะปิขาย นับเป็นกลเม็ดของพ่อค้า-แม่ค้าหัวใสบางคนที่ยังไงๆผมก็ยังเชื่อในสุภาษิต “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน”อยู่ดี
กะปิระนองอีกหนึ่งของดีเมืองระนอง โดยเฉพาะกะปิเกาะเหลานั้นถือว่าเป็นสุดยอด
มอแกนผู้อาภัพ
แม้กะปิเกาะเหลาจะมีราคาดี แต่ว่าความเป็นอยู่ของชาวมอแกนบนเกาะเหลากับเป็นตรงกันข้าม พวกเขาปัจจุบันอยู่กันอย่างลำบากยากแค้น
พี่เนาว์ผู้คุ้นเคยกับชาวมอแกนบนเกาะเหลาและเป็นดังกระบอกเสียงของชาวมอแกนที่นี่(เนื่องเพราะชาวมอแกนสวนใหญ่กลัว ไม่กล้าเล่าเรื่องราวของตนเองให้คนภายนอกฟัง) บอกกับผมว่า สมัยก่อนเกิดสึนามิ ทรัพยากรสัตว์ที่นี่ยังมีอยู่มาก พวกมอแกนก็หาเลี้ยงชีพด้วยการจับสัตว์น้ำ จับเคยมาขายให้พวกที่ทำกะปิ แต่พอหลังสึนามิ คลื่นยักษ์ทำลายทรัพยากรไปจนหดหายร่อยหรอ ทำให้ชาวมอแกนที่นี่อยู่กันอย่างลำบากแร้นแค้น หลายคนเครื่องมือประมง เรือ เสียหายไปตั้งแต่สึนามิ วันนี้ยังคงไม่ฟื้น หาเครื่องมือทำกินใหม่ไม่ได้ นอกจากนี้เรือใหญ่ที่ทำมาหากินแบบเอาเปรียบ ทำลายทรัพยากรชายฝั่ง ก็ยังมาแย่งพวกประมงพื้นบ้านทำมาหากิน
หมู่บ้านชาวมอแกนบนเกาะเหลา
นั่นจึงทำให้มอแกนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ชายยอมละทิ้งทะเล แล้วเลือกขึ้นบกไปทำมาหากิน แต่นั่นก็ต้องประสบกับปัญหาหนักอีก คือ พวกเขา“ไม่มีบัตรประชาชน” นั่นจึงทำให้การทำมาหากินลำบาก ไอ้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้นอย่างได้หวัง เพราะเมื่อไม่มีบัตรย่อมไม่มีสิทธิ์
ทั้งๆที่ชาวมอแกนเกาะเหลาในยุคนี้ล้วนต่างเป็นคนไทย เกิดและเติบโตในเมืองไทย พูดภาษาไทย(ควบคู่ไปกับการพูดภาษามอแกน) แต่พวกเขาก็สงสัยว่าทำไมชาวมอแกนเกาะเหลา รวมถึงชาวเลกลุ่มอื่นๆในระนองยังไม่บัตรประชาชนกันสักที
ทำไมพวกเขาถึงตกสำรวจไม่มีบัตรประชาชนคนไทยเหมือนดังมอแกนในพื้นที่อื่นๆ???
ชาวมอแกนเกาะเหลามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น
มีบัตร ย่อมมีสิทธิ์
ลุงสิดิษฐ์ ประมงกิจ หรือลุงดิษฐ์ หัวหน้าเผ่าชาวมอแกนอายุ 65 ปี เล่าให้ผมฟังว่า ลุงแกเป็นคนเกาะช้าง(ระนอง)เกิดและโตที่นั่นมาจนถึงช่วงวัยรุ่น จึงย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่เกาะเหลา เพราะมันอยู่ใกล้ฝั่งระนองมากกว่า และอยู่บนเกาะนี้มากว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งคนรุ่นๆแก ต่อมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่อยู่บนเกะเหลา ต่างก็เกิดในเมืองไทย โตในเมืองไทย พูดภาษาไทย เด็กๆเรียนหนังสือไทย แต่ว่าทั่งเกาะที่มีชาวมอแกน 278 คน มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่มีบัตรประชาชนคนไทย ที่เหลือเป็นผู้ถือบัตรเลขศูนย์(บัตรสำหรับผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์)และผู้ไม่มีบัตร
สำหรับปัญหาเรื่องการไม่มีบัตรประชาชนนี้ พี่เนาว์บอกกับผมว่า เป็นปัญหาใหญ่มากของชาวมอแกนที่นี่ เพราะเมื่อไม่มีบัตรประชาชน ทำให้สิทธิ์หลายๆอย่างย่อมไม่มี โดยเฉพาะสิทธิ์ในการประกอบอาชีพ สิทธิ์ในการไปขอรับสวัสดิการพยาบาลรักษาโรคยามเจ็บป่วยก็ยาก มอแกนพวกนี้ยามเจ็บป่วยจึงไม่ไปหาหมอ แต่เลือกที่จะรักษากันเอง กินยาเท่าที่จะมีจากที่ได้รับบริจาคมา
ลุงสิดิษฐ์ ประมงกิจ หัวหน้าชาวมอแกนเกาะเหลา
นอกจากนี้การไม่มีบัตรประชาชน ยังทำให้พวกเขาหางานลำบาก เพราะด้านหนึ่งก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกตำรวจจับ อีกด้านหนึ่งนายจ้างชาวระนองก็ไม่ค่อยกล้ารับ เพราะระแวงว่าอาจจะเป็นชาวพม่า หรือพวกโรฮิงญาที่อพยพ เข้ามา นั่นจึงถือเป็นความยากลำบากที่ชาวมอแกนเกาะเหลาต้องประสบพบเจอ
ลุงดิษฐ์บอกกับผมว่า ถ้าพวกเขามีบัตร(ปชช.คนไทย) ก็จะมีสิทธิ์ในการประกอบอาชีพ ซึ่งวันนี้มอแกนหลายๆคนถูกมองเป็นโรฮิงญา(จากการไม่มีบัตร) ถูกเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ด้านค่าแรง แต่ถ้าไม่ยอมทำก็ไม่มีอะไรกิน พวกเขาจึงยอมทำงานด้วยค่าแรงราคาถูกกว่าทั่วไป เพื่อให้ตัวเองได้มีกินไปวันๆ
หมู่บ้านเกาะเหลานอกที่เกือบทั้งหมดเป็นชาวมอแกน
“เมื่อมีอาชีพก็จะมีเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว ชีวิตก็จะดีกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้มาก” ลุงดิษฐ์บอกกับผมด้วยแววตาซีดเซียว
นี่ไม่เพียงเป็นเรื่องที่ชาวมอแกนหวังเท่านั้น ผมกับเพื่อนๆที่ไปเกาะเหลาในวันนั้นต่างก็หวังว่าพวกเขาจะมีบัตรประชาชนโดยเร็ว เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาลำบากอย่างที่เห็น เพราะทุกวันนี้ พวกผู้ชายต้องจากบ้านไปรับจ้างดำปลิงทะเลถึงที่ชุมพร ประจวบฯ ทำให้มอแกนหลายคนเป็นโรคน้ำหนีบ พิการมาก็มาก ตายไปก็เยอะผู้หญิง แม่บ้านหลายคนต้องกลายเป็นแม่ม่าย ลูกต้องกำพร้า แต่ว่าพวกเขาก็ยังต้องมีชีวิตอยู่สู้ต่อไป
ผู้หญิง แม่บ้าน มีอาชีพหลักคือหาหอยเจาะขาย
โดยแม่บ้าน แม่ม่าย ผู้หญิงชาวมอแกนทั้งเด็กไปจนถึงวัยชรา ส่วนใหญ่มีอาชีพหา“หอยเจาะ” หรือ หอยนางรมขนาดเล็กที่อยู่ตามโขดหินริมฝั่งขาย ซึ่งพวกเขาจะออกเรือกันไปทีละหลายๆคน เมื่อได้หอยกลับมาก็นำมาล้าง มาแคะตัวออกแล้วส่งขาย สนนราคาก็แค่กิโลกรัมละ 50 บาท คนไหนหาได้วันละ 2 กิโลก็ถือว่าดีแล้ว ส่วนหลายคนที่ได้แค่ประมาณ 1 กก.ต่อวัน(หรือน้อยกว่านั่น)นี่สิ พวกเขาจะลำบากขนาดไหน
“ปลากระป๋อง กระป๋องเดียว พวกเขากินกันทั้งครอบครัว 7-8 คน เน้นข้าวเยอะๆและโรยเกลือเข้าไป” พี่เนาว์เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงรันทด
เด็กๆชาวมอแกนที่ศูนย์เด็กเล็ก
ด้านเหล่าเด็กๆชาวมอแกนนั้น นอกจากเด็กบางส่วนที่ไปเรียนที่โรงเรียนบ้านเกาะเหลาแล้ว เหลาเด็กเล็กก็มีศูนย์ดูแลเด็กเล็กอยู่ในหมู่บ้านตรงสะพานท่าเรือ มีครูคนไทยและอาสมัครมาช่วยสอน พอให้ได้เรียน ได้กินอาหารกลางวัน โดยมีศูนย์เมอร์ซี่มาให้ความช่วยเหลือ พร้อมด้วยอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างชาติที่แวะเวียนกันมาให้ความช่วยเหลือตามอัตภาพ
ขณะที่เอ็นจีโอต่างๆที่เคยเข้ามานั้นก็มีทั้งที่มาแบบจริงใจและมาแบบไม่จริงใจ เพราะเอ็นจีโอบางคน บางกลุ่มก็มาใช้พวกมอแกนที่นี่เป็นช่องทางหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะการรับเงินบริจาคจากชาวต่างชาติ
เหล่าแม่บ้านนั่งเรือกลับจากการหาหอยเจาะ
ส่วนด้านการบริจาคช่วยเหลือของภาครัฐนั้น บางหน่วยงานที่ฟังจากปากคำของชาวบ้านที่นั่นก็ถือว่าแสบใช่ย่อย ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเรือหลังสึนามิที่มาพร้อมกับเรือที่ดูเหมือนใหม่ ทาสีสวยงาม แต่ว่าจริงๆแล้วเป็นการนำเรือเก่าไม้ผุๆมาย้อมแมวด้วยการทาสีใหม่ เมื่อเอาเรือออกทะเลไม่ได้ไม่นานก็พัง หรือการที่บอกว่าจะมาสร้างบ้านให้ก็มาสร้างให้เพียงแค่เสา ชาวบ้านจึงต้องรื้อไม้ต่อเรือมาทำเป็นฝาบ้านแทน
หรือกับเรื่องที่มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบางคนรับรู้ถึงความยากลำบากของมอแกนที่นี่ เขาจึงยินดีให้ความช่วยเหลือ ให้ภาครัฐบางหน่วยงานส่งอุปกรณ์ทำมาหากินโดยเฉพาะอวนปูมาเพื่อหวังจะให้ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพ แต่ว่าอวนปูที่ถูกส่งมาเป็นจำนวนมาก กลับมาแบบไม่สมบูรณ์ มีเพียงแค่ตาข่ายมา ส่วนองค์ประกอบอื่นๆที่จะทำให้อวนปูสมบูรณ์ใช้จับสัตว์น้ำได้กลับไม่มี ชาวบ้านบางคนที่ได้รับอวนปูไป จึงนำอวนปูไปปูนอนหรือไม่ก็นำไปห่มนอนแทน เพราะไอ้ครั้นจะทิ้งก็เสียดาย ซึ่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่สะท้อนความเป็น Thailand Only ได้เป็นอย่างดี
หอยเจาะที่หาได้ นำมาแกะเอาตัวเพิ่อส่งขายต่อไป
และด้วยความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของชาวมอแกนพวกนี้ พี่เนาว์จึงมีเรื่องอันชวนสะทกสะท้อนใจมาบอกเล่ากับผมว่า
“ปกติมอแกนที่นี่เมื่อตายแล้วเขาจะฝัง แต่ถ้าใครเมื่อตายแล้วมีคนซื้อโลงให้(พี่เนาว์เคยซื้อโลงศพให้กับมอแกนหลายคนเมื่อตายไป) ญาติพี่น้องเขาจะดีใจมาก เพราะถือว่าได้นอนตายดีๆ ตายแล้วหมดเวรหมดกรรม ไม่ต้องมาทนทุกข์อยู่ด้วยความยากลำบาก พร้อมกับมีการเต้นรำเพื่อฉลองส่งที่ไปดี”
บนเกาะเหลา(หมู่บ้านเกาะเหลานอก)จะพบเห็นหมาที่ถูกนำมาปล่อยทิ้งไว้ได้ทั่วไป
เรื่องหมาๆ ปัญหาใหม่
ดูเหมือนว่าวิบากกรมของชาวมอแกนบนเกาะเหลายังไม่จบเท่านี้ เพราะวันดีคืนดีปัญหาใหม่ของที่นี่ก็เกิดขึ้นกับการที่มีคนใจร้ายจำนวนมากนำ “สุนัข” มาปล่อยทิ้งที่นี่ จนวันนี้บนเกาะเหลามีหมาอยู่หลายสิบตัว ถึงราว 60-70 ตัว จนเกาะเหลาแทบจะกลายเป็น“เกาะหมา” อยู่แล้ว ส่งผลให้ทางศูนย์เมอร์ซี่ที่ต้องทำอาหารเลี้ยงเด็กๆก็ต้องแบ่งอาหาร(เด็ก)บางส่วนมาทำเลี้ยงหมา
จากสมาชิกต่างถิ่น ต่างพันธุ์ ถูกนำมาทิ้งจนกลายเป็นสมาชิกคุ้นเคย
ขณะที่ชาวมอแกนที่แม้จะมีความเป็นอยู่อย่างลำบากแร้นแค้น แต่พวกเขาก็อดสงสารหมาไม่ได้ ก็ต้องแบ่งข้าวปลาอาหารเท่าที่มีมาให้หมากินกันตามยถากรรม หลายบ้านมีหมาเป็นสมาชิกใหม่ ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวชาวมอแกนไปแล้ว เพราะเมื่อมันคุ้นเคยกับคน ไม่โดนทำร้าย มีกิน(แม้จะอดอยากไปบ้าง) มีที่นอน มันก็พร้อมที่จะอยู่กับเจ้านายมันของมัน
แล้วทำไมถึงมีคนนำมาหมาปล่อยทิ้งบนเกาะเหลาอย่างมากมาย นั่นก็เป็นเพราะชาวมอแกนที่นี่เขาไม่ตี ไม่ฆ่า ไม่ทำร้ายหมา คนที่รู้เมื่อเลี้ยงไม่ไหว จึงนำมาปล่อยทิ้งเพิ่มภาระให้ชาวมอแกนที่มีความเป็นอยู่อย่างย่ำแย่ให้ย่ำแย่ซ้ำหนักขึ้นไปอีก
หมาที่ถูกนำมาปล่อยทิ้ง วันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านมอแกน เกาะเหลาไปแล้ว
พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ชาวมอแกนเขาวิงวอนว่าอย่านำหมาไปปล่อยทิ้งบนเกาะอีกเลย เพราะลำพังแค่จะกินพกเขาก็แย่อยู่แล้วนี่ยังมีหมาเป็นภาระเพิ่มขึ้นมาอีก
สำหรับผมยังไงๆก็ขอฝากไปยังภาครัฐให้ช่วยไปดูปัญหาเรื่องการไม่มีบัตรประชาชนของชาวมอแกนพวกนี้หน่อยว่ามันมีปัญหาติดขัดตรงไหน จะเร่งแก้ปัญหาหรือช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร อย่าปล่อยให้พวกเขาเดียวดายเหมือนตกสำรวจหรือ
ในส่วนเรื่องหมาก็ขอฝากไปยังองค์กรรักสัตว์ต่างๆให้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือหมาที่ถูกปล่อยทิ้งบนเกาะในเบื้องต้นทั้งด้านอาหารและด้านอื่นๆ และฝากไปถึงหน่วยงานรัฐให้หาวิธีนำหมาเหล่านั้นกลับขึ้นมาเลี้ยงบนฝั่ง แต่ถ้าหมาตัวไหนชาวบ้านเขาเลี้ยงผูกพันเป็นดังครอบครัวไปแล้วก็ให้เขาดูแลต่อไป
ส่วนพวกที่นำหมาไปทิ้งบนเกาะนั้นก็ไม่รู้จะพูดยังไง บอกได้เพียงว่าพวกคุณ“ใจหมา”มาก
แม้จะมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น แต่ชาวมอแกนที่นี่ก็ยังมีใจเมตตาเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมโลกไปตามอัตภาพ
*****************************************
ใครที่อยากบริจาคสิ่งของช่วยมอแกนหรือช่วยเหลือสุนัขบนเกาะเหลา หรือต้องการไปชมวิถีการทำกะปิเกาะเหลา สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ “เนาวนิตย์ แจ่มพิศ” โทร.08-1426-8309, 08- 3590-6140
ส่วนใครที่ต้องการเที่ยวเมืองระนอง ก็สอบถามได้ที่ ททท. สำนักงานชุมพร(พื้นที่รับผิดชอบชุมพร ระนอง) โทร. 0-7750-1831-2 , 0-7750-2775-6