บีบีซีตีแผ่วิกฤตโรฮีนจา ทำไมคนกลุ่มนี้ถึงลอยเคว้งในทะเล ไม่มีประเทศใดต้อนรับ
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 สำนักข่าวบีบีซี ตีแผ่เรื่องราววิกฤตชาวโรฮีนจา กำลังลอยเรือในทะเลอย่างไม่รู้จะขึ้นฝั่งที่ไหน เพราะไม่มีประเทศใดอยากจะให้ที่พักพิงถาวร กลายเป็นคนไม่มีแผ่นดินอยู่ ไม่รู้ว่าบทสรุปจะไปสิ้นสุดที่ไหน ขณะที่นานาชาติเริ่มมีปฏิกิริยาต่อสถานการณ์นี้แล้ว
ในรายงานชื่อ Why are so many Rohingya migrants stranded at sea? ของสำนักข่าวบีบีซี ระบุว่าตอนนี้มีชาวโรฮีนจาต้องลอยเรืออยู่กลางทะเลนอกชายฝั่งไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมแล้วหลายพันคน พวกเขาเริ่มจะขาดแคลนอาหารและน้ำ จะขึ้นฝั่งประเทศใดก็ไม่ได้ เพราะเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีประเทศใดต้องการ
ทำไมชาวโรฮีนจาจึงอพยพออกจากพม่า
นับตั้งแต่ 50 กว่าปีก่อน รัฐบาลพม่าได้ออกนโยบายหลาย ๆ อย่างมากดขี่ชาวโรฮีนจาในประเทศ จึงมีการกีดกันแบ่งแยกอย่างรุนแรงมาก ถูกมองเป็นพลเมืองชั้นต่ำเป็นที่เกลียดชังของชาวพม่าที่นับถือศาสนาพุทธ แต่ถึงอย่างนั้นชาวโรฮีนจาไม่สามารถเคลื่อนไหวใด ๆ ได้ พวกเขาถูกจำกัดสิทธิ์ และมักถูกปฏิเสธจากสวัสดิการพื้นฐานในสังคมพม่า ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ ไม่เพียงแค่นั้นรัฐบาลพม่ายังจัดระดับพวกเขาเป็น "พลเมืองชั่วคราว" เท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะออกเสียงเลือกตั้งใด ๆ
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ชาวโรฮีนจากว่า 120,000 คน ได้ขึ้นเรืออพยพออกจากพม่า หวังจะหาที่ที่ดีกว่าได้ใช้ชีวิตทำมาหากิน และจากรายงานล่าสุดพบว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีชาวโรฮีนจาอพยพออกจากพม่าและบังคลาเทศกว่า 25,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮีนจาที่มีถิ่นฐานเดิม คือ รัฐยะไข่ พวกเขาอพยพออกมาทั้งที่ไม่รู้ว่าจะมีจุดหมายที่ไหน รู้เพียงแค่ต้องอพยพออกมาเท่านั้น
ทำไมชาวโรฮีนจาถึงลอยเรืออยู่ในทะเล ?
ตอนนี้มีผู้อพยพชาวโรฮีนจามากถึง 8,000 คนจากบังคลาเทศและพม่า ใช้ชีวิตอยู่ในเรือที่ล่องลอยกลางทะล ไม่สามารถขึ้นฝั่งได้ หลังจากที่พวกเขาเดินทางออกมาจากพม่าและบังคลาเทศ มุ่งหวังที่จะไปขึ้นฝั่งที่มาเลเซีย แต่แล้วกลับถูกกักตัวเอาไว้ภายในเรือที่ลอยลำอยู่ในทะเลนานหลายเดือน เพื่อใช้เป็นเหยื่อในการเรียกค่าไถ่ ถ้าครอบครัวจ่ายเงินให้ถึงจะได้เดินทางไปต่อ ขณะเดียวกันพวกเขาจะอพยพไปขึ้นฝั่งที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะไม่มีประเทศไหนยอมรับ
ทัศนคติของประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ที่มีต่อชาวโรฮีนจา
ไทย: กองทัพเรือไทยได้ช่วยเหลือชาวโรฮีนจาในเรื่องเครื่องยังชีพ อาหารและน้ำ แต่ไม่ยอมให้ชาวโรฮีนจาเข้ามาตั้งรกรากในประเทศ อย่างไรก็ดีทางการไทยระบุว่ากำลังพิจารณาจัดตั้งศูนย์พักพิงผู้อพยพชั่วคราวตามชายฝั่ง ขณะที่ชาวโรฮีนจาเองส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยากจะตั้งรกรากในไทย พวกเขาต้องการไปยังประเทศมุสลิมด้วยกันอย่างมาเลเซียมากกว่า
มาเลเซีย: แม้ว่าจะเป็นจุดหมายหลักของชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่ แต่มาเลเซียได้ประกาศจุดยืนแน่ชัดว่าไม่ให้ชาวโรฮีนจามาตั้งรกรากอยู่ภายในประเทศ พร้อมสั่งให้กองทัพเรือขับไล่ชาวโรฮีนจาที่พยายามจะขึ้นฝั่งออกไป
บังคลาเทศ: ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา บังคลาเทศได้รับชาวโรฮีนจาเข้าไปในศูนย์พักพิงตามชายแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้มีชาวโรฮีนจาอยู่ในบังคลาเทศประมาณ 200,000 คน หลายคนก็ถูกส่งกลับพม่า
อินโดนีเซีย: อินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมอีกประเทศที่ยืนยันชัดว่าไม่ต้อนรับชาวโรฮีนจา กองทัพเรือคอยสอดส่องดูแลและไล่เรือของชาวโรฮีนจาไม่ให้เทียบท่าขึ้นฝั่ง หากมีชาวโรฮีนจาคนใดลักลอบขึ้นฝั่งมาได้ อินโดนีเซียก็จะขับออกไปให้หมด
แล้วปัญหาโรฮีนจาจะลงเอยอย่างไร ?
จากการวิเคราะห์ของ คริส เลวา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้จากบีบีซี เขามีความเห็นว่า ปัญหาโรฮีนจา อาจจะกลายเป็นปัญหาเช่นนี้ต่อ ๆ ไป จนกว่านานาชาติจะกดดันให้พม่ายกระดับคุณภาพชีวิตของชาวโรฮีนจาในประเทศ เพราะพม่าเป็นประเทศเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้ พร้อมกับเผยว่าที่วิกฤตโรฮีนจาบานปลายมาได้ขนาดนี้ก็เพราะประเทศในภูมิภาคเพิกเฉย ไม่จัดการกับปัญหานี้อย่างเด็ดขาด ไม่กล้าที่จะนำเรื่องนี้มาพูดกับพม่า ด้วยเกรงว่าจะทำให้เกิดความบาดหมาง ปัญหาโรฮีนจาจึงลุกลามหนักอย่างที่เห็น