var sharemobile=0
ชาวโรฮิงญา ปาดน้ำตา กลุ่มชาติพันธุ์สุดรนทด เหยื่อจากความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา
ผู้ลี้ภัยชาว ‘โรฮิงญา’ หรือ โรฮีนจา กลุ่มชาติพันธุ์อันน่าเวทนา บ้างก็ว่ามาจากเมียนมา บ้างว่ามาจาก บังคลาเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ไร้แผ่นดิน ที่ขณะนี้ ตกอยู่ในภาวะวิกฤตเนื่องจากถิ่นฐานที่อยู่อาศัย จนกระทั่ง บานปลาย กลายเป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการลักลอบเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม เนื่องจากไม่เป็นที่ต้องการ จากปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้อพยพชาวโรฮิงจากกว่า 1,600 ราย หลั่งไหลออกจากเมียนมา และ บังคลาเทศ ส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ หรือ อาระกัน ทางตะวันตกของประเทศเมียนมา ต่อมาได้รับความช่วยเหลือออกจากชายฝั่งอินโดนีเซีย และถูกลำเลียงมาอาศัยอยู่ในมาเลเซีย โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้เลือกประเทศไทย เป็นสื่อกลางเพื่อเดินทางไปยังประเทศที่สาม กล่าวคือ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นดินแดนที่พวกเขาเชื่อว่า เป็นดินแดนของชาวมุสลิมอย่างแท้จริง
ชาวโรฮิงญา คือ ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม ที่อาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา ใครจะรู้ว่าพวกเขาต้องปาดน้ำตา จากความทุกข์ระทมมานานเพียงใด ในการถูกเลือกปฏิบัติ ประหัตประหารไม่แตกต่างจาก ‘พลเมืองชั้นสอง’ เนื่องจากพื้นเพที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ เป็นพุทธศาสนิกชน ขณะที่รัฐบาลมีการตีตราให้ชาวโรฮิงญากว่า 1,330,000 ราย เป็นบุคคลไร้สัญชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน อย่างผิดกฏหมาย และต้องตกอยู่ในภาวะ ถูกกดขี่ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ราวกับมิใช่มนุษย์จากผู้ที่เคร่งครัดต่างศาสนาและเจ้าหน้าที่จากกองทัพพม่าพวกเขามีทางเลือกเพียงสองทาง คือ ถูกประหัตประหารหากยืนกรานจะอยู่ในชาติเหล่านี้ต่อไป หรือ ลี้ภัยและต้องอาศัยอยู่ในเรืออย่างไร้แผ่นดิน
องค์การสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเอ็น’ นิยามให้กลุ่มโรฮิงญาเป็นมวลชนผู้ลี้ภัยที่ถูกข่มเหงมากที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่ง และไม่มีท่าทีว่าปัญหาดังกล่าวจะทุเลาเบาบางลง ซ้ำร้ายยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ย้อนไปเมื่อช่วงปี 2369 ถึง 2491 ในยุคโบราณ ยุคเรืองรองของ ‘จักรวรรดิโมกุล’ ผู้ปกครองมีอาณัติเหนืออนุทวีปอินเดียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 19 เดิมทีมีพื้นเพมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งในช่วงการล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก กระนั้นอังกฤษได้นำพาชาวโรฮิงญาเข้ามาในบังคลาเทศ โดยการอ้างว่าพวกเขามีต้นกำเนิดดั้งเดิมมาจากบังคลาเทศ และบางส่วนอ้างว่า มีถิ่นกำเนิดจากรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา
ก่อนหน้านี้นาย ‘เต็ง เส่ง’ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ผู้นำเผด็จการทหาร กล่าวว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพที่ผิดกฏหมายจากบังคลาเทศ ปฏิเสธว่าชาวโรฮิงญา ไม่สมควรมีสิทธิตามแบบอย่างพลเมืองในประเทศ และยังกล่าวคล้ายกับว่า ชาวโรฮิงญา ‘มิใช่มนุษย์’ และยืนกรานจะเนรเทศชาวโรฮิงญากว่า 80,000 ราย พร้อมทั้งเรียกร้องให้สหประชาชาติ ยื่นมือเข้ามาดำเนินการในการโยกย้ายพวกเขาไปให้พ้นแผ่นดิน แต่สหประชาชาติปฏิเสธที่จะยื่นมือเข้ามาแทรกแซงปัญหาดังกล่าว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาวโรฮิงญา ตกอยู่ในภาวะของวิกฤตการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว ทั้งจากการที่มีรายงานจากสื่อต่างประเทศหลานสำนักว่า พวกเขาถูกขับไล่ด้วยการเผาทำลายบ้านเรือนของตัวเอง ถูกเจ้าหน้าที่จากกองทัพพม่าทารุณกรรม บ้างก็ถูกจับโยนลงทะเล ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม ระหว่างการอพยพทางเรือ ที่เต็มไปด้วยอันตราย ยังไม่มีฝ่ายใดสามารถกำหนดทิศทางของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่เป็นที่ต้องการเหล่านี้ได้ว่า จะมีจุดจบเช่นใด และจะสามารถหลัดพ้นจากฐานะผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมจากความขัดแย้งทางศาสนาเช่นนี้ได้เมื่อใด
MThai News
ที่มา thejakartapost