สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือ พระนางเรือร่ม
"พระนางเรือล่ม" คำนี้คงเป็นที่คุ้นเคยสำหรับชาวนนทบุรีมาแต่ช้านาน เนื่องจากเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับการเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีพระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จทิวงคตด้วยอุบัติเหตุ พระประเทียบล่ม ที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ กำลังตั้งพระครรภ์เจ้าฟ้าได้ 5 เดือน
เรื่องดังกล่าว ถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงเวลานั้น เพราะเป็นการสูญเสียทั้งพระมเหสี และพระธิดาของรัชกาลที่ 5 พร้อม ๆ กัน ... วันนี้ขอย้อนรอยนำประวัติ"พระนางเรือล่ม" พร้อมนำเหตุการณ์ในวันที่พระองค์เสด็จทิวงคต มาเล่าให้ฟังกันอีกครั้ง
ประวัติ พระนางเรือล่ม (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423)
สมเด็จพระนางเรือล่ม มีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ประสูติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ลำดับที่ 50 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระขนิษฐาอีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง)
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
ครั้นเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระชนมายุได้ 19 พรรษา ทรงมีพระราชธิดาพระองค์แรก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพชรรัตน์ และเสด็จทิวงคตพร้อมกันกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ที่ขณะนั้นทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423
เหตุการณ์โศกนาฏกรรมพระนางเรือล่ม
เรือพระพันปีหลวง พยายามแล่นเซงเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ
เรือพระพันปีหลวง เข้าปะทะเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ
เป็นเรื่องเศร้าที่เล่าขานต่อกันมายาวนาน สำหรับเหตุการณ์วันที่เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านเล่ากันต่อ ๆ ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา และเจ้าฟ้าในครรภ์ ทรงตามเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปพระราชวังบางปะอิน เมื่อเสด็จมาถึง ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทุบรี เรือพระพันปีหลวง ได้แล่นเซงเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ประกอบกับนายท้ายเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เมาเหล้าขาดสติ จึงไม่สามารถควบคุมเรือได้ จึงเป็นเหตุให้เรือล่ม
ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ทรงว่ายน้ำได้ แต่เพราะความที่ทรงห่วงพระราชธิดา จึงทรงว่ายเข้าไปช่วย แต่ก็ต้องสิ้นพระชนม์ พร้อมกับพระพี่เลี้ยงอีก 1 คน ทั้งหมด 4 ศพ ซึ่งศพจมอยู่ใต้ท้องเรือ โดยที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย เพราะติดอยู่ที่กฎมณเฑียรบาลว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งโคตร
นอกจากนี้ ก่อนเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมขึ้น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ได้ทรงพระสุบินว่า พระธิดาของพระองค์ตกลงไปในน้ำ ด้วยความตกพระทัยจึงรีบคว้าพระธิดาจนตกลงไปในน้ำด้วยกัน แล้วได้ตื่นจากบรรทม ท่านก็ทรงครุ่นคิดถึงการเสด็จฯ ไปพระราชวังบางปะอิน แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงชะตากรรมได้
การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ในครั้งนั้น มีเสียงร่ำลือในวังหลวงอย่างหนาหูว่า เป็นแผนการจงใจที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากความอิจฉาริษยาของบรรดามเหสี และสนมนางในที่คิดหาหนทางกำจัด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าอันน่าพิศวงเกี่ยวกับอาถรรพ์ของดวงพระวิญญาณตามมาด้วย
โดยชาวบ้านเล่ากันว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังงมค้นหาพระศพในวันที่เรือพระประเทียบล่ม แต่หาอย่างไรก็หาไม่พบ จนชาวบ้านแถมนั้นทนเห็นเหตุการณ์นั้นไม่ไหว จึงลงมาช่วย แต่ไม่ว่าจะค้นหาอย่างไรก็ไม่พบ ถึงขนาดทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์แต่ก็ยังไม่พบพระศพ จนต้องเชิญหลวงจีนท่านหนึ่งนามว่า "สกเห็ง" โดยท่านสกเห็งได้เสกถ้วยน้ำชาให้ลอยไปตามกระแสน้ำ พอถ้วยจมลงจุดใดก็ให้ชาวบ้านและทหารช่วยกันงมหา ซึ่งในที่สุดก็สามารถหาพระศพจนพบ โดยลักษณะของพระศพนั้น สร้างความเศร้าสลดให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ได้โอบกอดพระธิดาไว้แนบอก ส่วนสถานที่ที่พบพระศพนั้นก็คือใต้ซากเรือพระประเทียบนั้นเอง
ทั้งนี้ โศกนาฏกรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นหน้าวัดกู้ กลางลำน้ำเจ้าพระยา จ.นนทบุรี ชาวบ้านละแวกนั้นจึงร่วมใจตั้งศาลพระนางเรือล่มขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่กู้พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ โดยชาวบ้านได้เรียกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ว่า "พระนางเรือล่ม" มานับแต่นั้นเป็นต้นมา
เรื่องเล่าดวงวิญญาณ พระนางเรือล่ม
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์อันสุดเศร้าจะผ่านมานานมากแล้ว แต่ก็ยังมีผู้กล่าวขานถึงดวงวิญญาณของพระนางเรือล่มอยู่บ่อยครั้ง และมีเรื่องแปลก ๆ มาเล่าต่อ ๆ กันมาให้ได้ฟังเสมอ
โดยคนในสมัยนั้นได้เล่าว่า หลายครั้งจะมีฝูงจระเข้ว่ายน้ำมาคำนับที่หน้าศาลอยู่เป็นประจำ ทั้งที่ปกติจระเข้มักว่ายอยู่ใต้น้ำ แต่เมื่อว่ายน้ำผ่านหน้าศาลทีไร จระเข้ทุกตัวเป็นต้องลอยตัวขึ้นเพื่อมาคำนับทุกครั้ง นอกจากนี้ ยังเคยเกิดเหตุการณ์แปลก ๆ ขึ้นกับคนต่างถิ่น ที่ไม่เคยรู้จักเรื่องราวของพระองค์ท่านมาก่อน โดยบางคนได้เดินทางมายังวัดกู้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมา ซึ่งเขาบอกว่า ฝันเห็นผู้หญิงท่านหนึ่งบอกว่าให้เดินทางมาวัดกู้แล้วจะมีโชค พอมาถึงก็เป็นอันตกตะลึงเนื่องจากหญิงในฝัน กับผู้หญิงในรูปปั้นหน้าตาเหมือนกันไม่มีผิดเพี้ยน
อย่างไรก็ดี เรื่องอาถรรพ์ดังกล่าว ก็ยังมีคนบางคนที่ไม่เชื่อ และลบลู่ความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ซึ่งเมื่อคนดังกล่าวพูดจาดูหมิ่น ก็เกิดอาการแปลก ๆ จู่ ๆ ก็วิ่งไปท่าน้ำ และกระโดดน้ำตาย บางคนก็ไปสาบาน บอกว่าถ้าผิดจริงขอให้จมน้ำตาย ซึ่งก็ได้จมน้ำตายจริง ๆ
อนุสรณ์สถาน พระนางเรือล่ม
หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เสด็จทิวงคตแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้สร้างอนุสรณ์สถานขึ้นหลายแห่งเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ โดยแต่ละแห่งนั้น เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เคยตามเสด็จฯ และทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ ได้แก่...
อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ณ น้ำตกพริ้ว จังหวัดจันทบุรี
โดยภายในอนุสาวรีย์ได้บรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เอาไว้ด้วย โดยมีคำจารึกจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ว่า...
"ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล
ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนอยู่ได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็จะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน
ณ ท่ามกลางป่าเขาและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว"
ที่ระลึกถึงความรักแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสี ซึ่งเสด็จทิวงคตแล้ว ด้วยเธอได้มาถึงที่นี่ เมื่อ จุลศักราช ๑๒๓๖ โดยความยินดีชอบใจมาก
อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นโดย จุฬาลงกรณ์ บรมราช ผู้เป็นพระราชสามี
อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ในสวนสราญรมย์
เดิมนั้นเป็นพระราชอุทยานของพระราชวังสราญรมย์ พระราชวังที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สำหรับตัวอนุสาวรีย์นั้น สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2426 ณ บริเวณที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ เคยทรงพระสำราญเมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ตัวอนุสาวรีย์ทำด้วยหินอ่อนสีขาว มียอดเป็นปรางค์เป็นที่บรรจุพระอัฐิ และมีคำจารึกแสดงความทุกข์โทมนัส ของพระองค์บนแผ่นหินอ่อน ไว้ว่า
ระฦกแห่ง สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี แล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์โสภางค์ทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี
อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นโดย
พระราชโองการแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ใน
จุลศักราช ๑๒๔๒
อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยหลังจากที่รัชกาลที่ 5 ได้มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระนางเจ้าฯ และพระราชธิดาแล้ว ก็ได้ทรงโปรดฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์หินอ่อนขึ้น เพื่อเป็นที่รำลึกถึงด้วยความอาลัยรัก พร้อมทั้งจารึกคำไว้อาลัยที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไว้ที่อนุสาวรีย์นั้นด้วย โดยมีข้อความดังนี้...
ที่ระลึกถึงความรัก แห่ง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีอรรคมเหสี
อันเสด็จทิวงคตแล้ว ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้
โดยความสุขสบาย และเป็นที่เบิกบานใจ พร้อมด้วยผู้ซึ่งเป็นที่รัก และที่สนิทอย่างยิ่งของเธอ
อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้น โดย จุฬาลงกรณ์ บรมราช
ผู้เป็นสามี อันได้รับความเศร้าโศกเพราะความทุกข์
อันแรงกล้าในเวลานั้นแทบจะถึงแก่ชีวิต
ถึงกระนั้นก็ยังมิได้หักหาย
นอกจากนี้ รัชกาลที่ 5 ยังมีการนำพระนามของพระองค์ไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ด้วย เช่น ตึกสุนันทาลัย โรงเรียนราชินี สวนสุนันทา ณ พระราชวังดุสิต รวมถึง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คลังปัญญาไทย