ปลายพู่กันของปีศาจ ปืนกลมือเบอร์กแมน

ท่านผู้อ่านคงพอจำกันได้นะครับว่า เมื่อ 15-20 ปีมาแล้ว หากจะมีการประหารชีวิตนักโทษคดีอุกฉกรรณ์ในเมือง ไทย ชื่อสองชื่อคู่กันจนแยกไม่ออกจะผุดขึ้นในใจของท่านเสมอ ชื่อนั้นคือ นายมุ้ย จุ้ยเจริญ มือเพชรฆาตแห่งกรมราชทัณฑ์ ผู้มีหน้าที่เหนี่ยวไกประหาร ส่วนอีกชื่อหนึ่งที่หนังสือพิมพ์ชอบลงกันมากก็หนีไม่พ้นปืนกล แบล็คมันด์ ที่ใช้ในภาระกิจอันน่าสะพึงกลัวนี้ ผมเข้าใจว่าในปัจจุบันทางราชการจะไม่ได้ใช้ปืนชนิดนี้อีกแล้ว เนื่องจากไม่มีผู้ใดกล่าวถึงเป็นเวลานาน แต่ก็อดคิดไม่ได้ตามประสาคนชอบปืนเก่า ๆ ว่า แท้จริงปืนแบคมันด์มีรูปร่างอย่างไร เนื่องจากไม่เคยเห็นปืนชื่อดังกล่าวในสาระบบปืนมาก่อน จนกระทั่งไม่นานนี้ได้เห็นในรูปของพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์เข้าจึงได้ถึง บางอ้อ

 

 

 

 

 

 

 

 

 จำลองการประหารชีวิตด้วยแบล็คมันด์          ข้อมูลจำเพาะ - ยาว 81.25 -83.75 ซม.
ลำกล้องยาว 19.75 ซม นน. 8 ปอนด์ 2 ออนด์  อัตราการยิง 500 นัด/นาที แม็กกาซีนจุ 20 ,
24, 32 หรือกล่อง 50 นัด  ขนาดกระสุน 7.63 เมาเซอร์ 7.65 ลูเกอร์ 9 พารา และ .45 ผลิตใน
เยอรมันและสเปน(ช่วงสงครามกลางเมือง)

 

ต้นตระกูลปืนกลมือ

เจ้าแบล็คมันด์นี้ก็คือปืนกลมือแบบเบอร์กแมน (Bergmann) MP18 ของเยอรมันนั่นเอง แม้
ว่ารูปร่างจะไม่กระทัดรัดเหมือนอูซี่แต่เมื่อพบประวัติของมันแล้วอดที่จะ เก็บมาเล่าให้ฟัง
ไม่ได้ เพราะของเขาไม่เบาเลยละครับ

เบอร์กแมน MP18 คือตำนานของปืนกลมือที่ฝรั่งเรียกว่า Sub-machine gun เกิดจากความ
ต้องการของทหารราบในสมัยมหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (The Great War) นะครับ ไม่ใช่
มาจากเจ้าพ่ออัลคาโปนที่ชอบถือปืนกลทอมมี่ในภาพยนต์ประเภท แก๊งสเตอร์ กล่าวย่อ ๆ ก็คือ
มันเกิดเมื่อปลายสงคราม แล้วมาพัฒนาใช้งานอย่างแพร่หลายในสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อ
มาจึงค่อยจาง หายไปเมื่อทหารราบในปัจจุบันหันมาใช้ปืนเล็กยาวจู่โจม (Assualt Rifle) แทน

หลายท่านคงแยกปืนทหารประเภท M16 หรือ อาร์ก้า ซึ่งก็ยิงรัวแบบปืนกลเหมือน ๆ กับปืน
กลมือไม่ออกถึงความแตกต่าง ผมคิดว่าคุณสมบัติของ Sub-machine gun ที่ชัดเจนน่าจะมี
สามประการ คือ

1. ควรเป็นปืนที่ใช้กระสุนปืนพกกึ่งอัตโนมัติของทหาร เช่น 9 มม. พาราฯ .45 ACP หรือ
7.62 x 25 มม. (โตกาเรฟ) เพราะจะมีน้ำหนักเบา เหมาะในการยิงระยะประชิดตัว ดังนั้น
ปืน M16 และ AK47 ซึ่งใช้กระสุนที่ใหญ่และรุนแรงกว่าจึงไม่ควรจัดอยู่ในประเภท
Sub-machine gun ในขณะที่ปืนอูซี่ หรือ MG5 นับเป็นปืนประเภทนี้ได้

2. ทำการป้อนกระสุนด้วยแม็กกาซีน ไม่ว่าจะเป็นแบบธรรมดา หรือแบบจาน และสามารถ
ยิงทีละนัดหรืออัตโนมัติเต็มตัว (Full automatic) ได้ตามต้องการ ลักษณะนี้ทำให้แยกปืน
กลเบาหรือปืนกลหนักที่ป้อนกระสุนด้วยสายกระสุนออกไปอยู่คนละประเภท

3. เป็นปืนที่ทำการยิงด้วยมือสองมือ ทั้งในระดับสะโพก หรือประทับยิง คุณสมบัตินี้เป็น
การแยกจากปืนกลหนักในสมัยก่อนซึ่งมีน้ำหนักมากต้องใช้ทีมงานหลายคนในการ เคลื่อนย้าย
ในขณะที่ปืนกลมือเบาพอที่จะวิ่งพลางยิงพลางได้

 

          

ปลายพู่กันของปีศาจกำลังระบายสี

  Stormtroopers และ MP18   ติดแม็กกาซีนหอยโข่ง

 

 

หน่วยจู่โจมเยอรมัน (Stormtroopers)

ใน สงครามโลกครั้งแรก ทหารราบมีปืนยาวระบบลูกเลื่อนเป็นอาวุธประจำกาย โดยที่ทั้ง
สองฝ่ายต่างก็มีหมัดเด็ด (นอกเหนือจากปืนใหญ่) เหมือนกัน คือ ปืนกลหนักระบบระบาย
ความร้อนด้วยน้ำ ที่ออกแบบโดยท่านเซอร์ ฮิแรม แม็กซิม (Sir Hiram Maxim) ซึ่งผมจะ
เขียนถึงภายหลังเมื่อถึงเวลาอันสมควร ปืนกลหนักชนิดนี้ใช้กันแพร่หลายและคร่าชีวิตทหาร
หาญไปมากมายจนได้ฉายา ว่า "ปลายพู่กันของปีศาจ" (Devil's Paintbrush) เพราะเมื่อ
วาดปากกระบอกไปทางไหนคนก็ล้มตายดั่งใบไม้ร่วง แม้แต่ตัวท่านผู้ประดิษฐ์ในที่สุดก็
ตรอมใจตายเพราะเห็นความหายนะของมัน กับตาทั้งที่ตั้งใจแต่แรกว่าจะใช้ปืนชนิดนี้เป็น
เครื่องยุติการรบราฆ่า ฟันอย่างรวดเร็ว

เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างขุดสนามเพลาะประจันหน้ากันเป็นแนวรบยาวนับร้อยไมล์ ไม่อาจรุก
คืบหน้าไปไหนได้เป็นเวลานาน ๆ จึงมีผู้คิดอาวุธใหม่ ๆ เพื่อเปลี่ยนสถานการณ์สงคราม เช่น
รถถัง ปืนพ่นไฟ และปืนกลมือ ทั้งหมดนี้ถูกประดิษฐ์เพื่อวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียวคือ
เพื่อเจาะ ทะลวงแนวรับฝ่ายตรงข้ามด้วยความเร็ว และอำนาจการทำลายที่สูงกว่าอาวุธ
ประจำ กายทั่ว ๆ ไป

ปืนกลมือนับเป็นผลงานของเยอรมันแท้ ๆ (อีกแล้วครับ) โดยท่านนายพล Von Hutier จัดตั้งกองทหารประเภทใหม่ เรียกว่า หน่วยจู่โจม หรือ หมู่ทะลวงฟันอะไรทำนองนั้น (Stormtroopers / Strosstruppen) มีกำหนดว่า

1. เป็นทหารราบเบา ไม่แบกสัมภาระรุงรัง (จึงไม่เอาปืนกลแม็กซิมซึ่งหนักถึง 36 ปอน์ด ไปให้เมื่อยตุ้ม)

2. ต้องมีอาวุธชั้นดี เช่น MP18 มีอำนาจการยิงสูง โดยเคลื่อนที่เป็นหมวดเล็ก ๆ หลังการกรุยทางของปืนใหญ่ได้

3. มีหน้าที่เจาะแนวรบข้าศึก ทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้าไปเรื่อย โดยปล่อยให้การเข้ายึดพื้นที่เป็นเรื่องของทหารราบธรรมดาไป ดังนั้นการรุกก็ไม่ต้องเป็นแนวหน้ากระดาน แต่จะเจาะในจุดที่เห็นว่า อ่อนแอ

ที่ผมเล่ามายืดยาวก็เพื่อให้เห็นว่าเยอรมันเขาคิดกันมานานแล้ว ถ้าเป็นแฟนหนังสตาร์วอร์คงนึกออกนะครับว่าเจ้าดาร์ทเวเดอร์ อัศวินดำ เขาก็มีทหารจู่โจมสวมเกราะขาวทั้งตัว เรียกว่า Stormtroopers เหมือนกัน แถมใส่หมวกทรงนาซีด้วย คงไม่มีอะไรใหม่จริงในโลกนี้ละครับ

เป็นเรื่องน่าเสียดายว่าปืน MP18 ถูกผลิตขึ้นเพียง 35,000 กระบอก ก่อนสงครามเลิก และ
หน่วยจู่โจมเยอรมันแม้จะแสดงฝีมือด้วยการถล่มแนวรบพันธมิตรจนถอยร่นไม่เป็น ท่า เยอรมันก็อ่อนล้าจนต้องยอมแพ้ไปในปี ค.ศ.1918 นั้นเอง อย่างไรก็ตามชื่อเสียงของปืนเบอร์กแมน และความล้ำสมัยของมันก็สร้างความประทับใจแก่ผู้ชนะโดยเฉพาะรัสเซีย (ซึ่งเจอะกับตนเองเข้าจังเบอร์) ถึงกับใช้ปืนกลมืออย่างแพร่หลายใสงครามกับเยอรมันใน 25 ปีต่อมา

ระบบ การทำงาน

เจ้า MP18 เป็นผลงานการออกแบบของเซียนปืนกลอย่างนายชไมเซอร์ (Hugo Schmeisser) เมื่อท่านผู้อ่านเป็นเด็กอาจจำหนังสงครามได้ว่า ทหารนาซีมักมีอาวุธดีกว่าชาวบ้านเสมอ โดยเฉพาะปืนกลมือรุ่น MP38 ที่เราเรียกติดปากว่า ชไมเซอร์ตามชื่อช่างปืนท่านนี้

ชไมเซอร์ได้ออกแบบปืน MP18 ไว้ให้สร้างง่ายแต่แข็งแรง จึงเลือกระบบ Blowback ของปืนพกออโตฯ ซึ่งทำให้มีลำกล้องกับโครงปืนเป็นชิ้นเดียวกันหมด ลำกล้องจะหุ้มด้วยปลอกที่เจาะรูระบายความร้อนไว้อีกชั้นหนึ่ง ในขณะที่ชุดลำเลื่อน และเข็มแทงชนวนจะแยกเป็นอิสระจากกัน และรองรับไว้ด้วยสปริงรับแรงสะท้อนขนาดใหญ่ แข็งแรง บรรจุอยู่ในโครงปืน

 

 

    ระบบ Blowback ซึ่งใช้ สปริงรับแรงสะท้อนขนาดใหญ่ แข็งแรง บรรจุอยู่ในโครงปืน  

 

 

ระบบนี้จะอาศัยความสัมพันธ์ของน้ำหนักของชิ้น ส่วนและสปริงเป็นตัวหน่วงในการป้อนกระสุนนั่นคือเมื่อยิงนัดแรกไปแล้ว แก๊ซจะดันชุดลำเลื่อนให้ถอยหลัง ซึ่งจะถูกสปริงขดใหญ่นี้ช่วยหน่วงเวลาให้ขอรั้งปลอกกระสุนดัดปลอกทิ้งไป เมื่อชุดลำเลื่อนถอยไปจนสุด สปริงจะดันเข็มแทงชนวนกลับไปข้างหน้า เพื่อยันชุดลำเลื่อนกลับไปด้วยกัน เพื่อเอากระสุนใหม่เข้ารังเพลิง และลั่นนัดต่อไป

ตัวปืน MP18 นั้นวางอยู่บนรางไม้ค่อนข้างใหญ่ และหนัก เพื่อช่วยรับแรงสะท้อนจากการยิงรัว โครงปืนยึดกับรางไม้ด้วยปุ่มล็อคซึ่งเมื่อหมุนปุ่มนี้ก็สามารถยกโครงปืนออก จากรางปืนได้ทั้งชุด

แม็ก กาซีนตลับหอยโข่ง

เมื่อ Stormtroopers จะบุกตลุยขึ้นไปนั้น ทางกองทัพกำหนดกำลังพลไว้ว่าให้นายทหารทุกคน และพลทหารอย่างน้อย 10% ของจำนวนพลในกองร้อยใช้ MP18 ในแต่ละกองร้อยนั้นจะมีหมวดปืนกลมือ 4 หมวด

แต่ละหมวดจะมีปืน MP18 อยู่ 6 คน บวกกับพลถือกระสุนตามไปด้วย 6 คน เหตุที่ต้องมีพลกระสุนตามหลังไปเพราะ MP18 รุ่นแรกใช้แม็กกาซีนหอยโข่ง จุ 32 นัด ของปืนพกพาราเบลลั่ม ซึ่งหนักเอาการและบรรจุใหม่ลำบากมาก นอกจากนี้ หากคนยิงมีอันเป็นไปก็ให้พลกระสุนคว้าปืนมาบุกต่อไปด้วย

เมื่อสงครามสงบปืนกลเบอร์กแมนเป็นที่นิยมแพร่ไปหลายประเทศ โดยถูกใช้ในสงคราม
กลางเมืองในสเปน และในหน่วยตำรวจ รวมทั้งของไทยเราด้วย โดยเยอรมันแอบไปซุ่มปรับปรุงในประเทศเดนมาร์ก มีการปรับปรุงให้เลือกยิงทีละนัดได้เพิ่มจากเดิมที่ต้องยิงรัวอย่าง เดียว เรียกใหม่ว่ารุ่น MP28 (ค.ศ.1928) เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้น หน่วย SS ของฮิตเลอร์ ใช้ MP28 เป็นอาวุธหลักทั้งหน่วย

 

 

                            

หน่วย SS กับ MP28 ใน
สงครามโลกครั้งที่สอง

  ตำรวจเยอรมันเมื่อก่อน
ฮิตเลอร์มีอำนาจ

 

 

 

 

 

 

 

มีของดีก็ต้องมีของเก๊

ประเทศ ที่ลืมบทเรียนจากปืนกลมือในสงครามเห็นจะเป็นอังกฤษ พอเริ่มสงครามโลกครั้งที่
สองนั้นมีเพียงกองทัพเรือซึ่งอยู่ในบังคับของท่านนายกฯ เชอชิลด์ มาก่อนเท่านั้น ที่พอจะมี
ความพร้อมรบ ในขณะที่กองทัพบกยังหัวโบราณยึดอยู่กับปืนยาวระบบลูกเลื่อน ทั้งเห็นว่า
ปืนกลเบอร์กแมนขาดอำนาจการยิงและเหมือนกับอาวุธของอาชญากรเท่านั้น

 

 

 

           

 

ในภาพซ้ายชิ้นส่วนของแลง เชสเตอร์เหมือนเบอร์กแมนแทบทุกชิ้น   ในภาพขวาลูกนาวี
อังกฤษ ประคองแลงเชสเตอร์เข้าค้นเรือกลางทะเลหลวง

 

 

 

 

 

การรบแบบสายฟ้าแลบของเยอรมัน (Blitzkrieg) โดยประสานการยิงอย่างรุนแรงของอาวุธ
หลายชนิดตั้งแต่เครื่องบิน รถถัง ลงมาถึงปืนกลมือ ทำให้กระทรวงกลาโหมอังกฤษต้องรีบ
หาอาวุธสมัยใหม่มาใช้ และเมื่อบางอย่างคิดเองไม่ทันหาซื้อไม่ได้ ก็ต้องขอขโมยก็อปปี้เอาดื้อ ๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมปืนกลมือแลงเชสเตอร์ (Lanchester) ขนาด 9 พาราฯ จึงเหมือนเบอร์กแมน MP28 เหลือเกิน กองทัพอังกฤษซึ่งผลิตปืนแบบนี้พร้อมติดดาบปลายปืนของ SMLE no. 1 mk. 3  เป็นจำนวน 80,790 กระบอก ส่วนใหญ่ใช้ประจำบนเรือรบของกองทัพเรือ

ผมขอจบตำนานเบอร์กแมนไว้เพียงเท่านี้ โดยหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้อิงประวัติ
ศาสตร์ไปไม่มากก็น้อย ในโอกาสต่อ ๆ ไป ผมจะพยายามเสนอปืนกลมือชนิดอื่น ๆ มาสลับ
ฉากบ้างนะครับ

   

จ่าน้อม ทหารหน้า

Credit: http://www.thailandoutdoor.com/GunStory/Bergmann/bergmann.html
#ปืน
Messenger56
เด็กกองถ่าย
สมาชิก VIP
18 พ.ค. 53 เวลา 22:39 4,233 3 42
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...