แกรนด์ดัชเชสที่โลกลืมแห่งราชวงศ์โรมานอฟ

  เชื่อว่าหลายคนยังคงจดจำพระนามของสมเด็จพระจักรพรรดิซาร์นีโคลัสที่ 2 แห่งราชวงศ์โรมานอฟ ที่เก่าแก่และมั่งคั่งที่สุดของยุโรป และทรงเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของรัสเซีย ก่อนที่จะถูกปฏิวัติโดยกองทัพประชาชน และถูกปลงพระชนม์อย่างทารุณ จนกลายเป็นโศนาฏกรรมสะเทือนขวัญที่สุด ที่ยังกล่าวขานมาถึงปัจจุบันนี้

 

 ล่าสุด เฮเลน รัพพาพอร์ท นักประพันธ์ชื่อดังได้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ในชื่อเรื่อง The Lost Live of The Romanof Grand Duchess ซึ่งเป็นการปิดเผยถึงพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิซาร์นีโคลัสที่ 2และจักรพรรดินีอะเลคซันดรา ฟอโดรอฟนา ซึ่งถูกฆาตกรรมพร้อมพระบิดาและพระมารดาด้วย แต่เรื่องราวของเจ้าหญิงทั้ง 4 พระองค์นี้ กลับไม่มีใครเคยกล่าวถึงเลย

 

แกรนด์ดัชเชสโอลก้า,ตาเตียน่า,มารี และ อนาสตาเซีย
       
     

   หนังสือเล่มนี้ได้เปิดเผยเรื่องราวตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวาระสุดท้ายที่สุดขมขื่นอย่างละเอียดละออ ทั้งเรื่องราวและภาพถ่ายของเจ้าหญิงทั้งสี่ และเจ้าชายมกุฎราชกุมารองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โรมานอฟ
       
        ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อนหน้านี้ เรื่องราวระหว่างสองหนุ่มสาวแห่งราชวงศ์รัสเซีย กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จากบทประพันธ์สุดโรแมนติก ของ โรเบิร์ต เค เมสซี่ “นิโคลัสและอเล็กซานดรา” ซึ่งกลายเป็นบทประพันธ์อมตะ ที่บรรยายถึงคืนของฝันร้ายที่หลอนผู้อ่านจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับพระโอรส พระธิดาผู้ไร้เดียงสาทั้ง 5 พร้อมกับพระราชบิดาและพระราชมารดา ของคืนวันที่ 16-17 กรกฎาคม ค.ศ.1918 

 


       
        เรื่องราวของเจ้าหญิงโอลก้า, เจ้าหญิงทาเทียน่า, เจ้าหญิงมาเรีย และ เจ้าหญิงอนาสตาเซีย พระราชธิดาสี่ใบเถาพร้อมด้วยพระอนุชาองค์เล็กคือ เจ้าชายอเล็กซี่ ถูกนำมาถ่ายทอดอย่างชวนให้ติดตามจนวางไม่ลง ตั้งแต่เรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นภาพพระราชทานของพระธิดาทั้งสี่พระองค์ มาพิมพ์เป็นฝากล่องช็อกโกแลต ซึ่งถือว่าเป็นการนำเอาภาพหายาก มาเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ ให้ผู้คนได้รับรู้ถึงความงดงามของเจ้าหญิงทั้งสี่ ในฉลององค์ลูกไม้ลายละเอียดสีขาวผ่อง และบางภาพก็ฉายร่วมกับพระอนุชาผู้เป็นองค์มกุฎราชกุมาร ซึ่งล้วนแต่เป็นภาพที่ทำให้ระลึกถึงเหยื่อของความโหดร้ายทารุณ ของชนในชาติเดียวกันที่กระทำต่อกันและกัน อันเป็นผลจากการปฏิวัติ

 

 

  รายละเอียดจากหนังสือเล่มนี้ ยังกล่าวถึงบทบาทของเจ้าหญิงทั้งสี่พระองค์ ที่ไม่ได้มีความสำคัญใดๆ ต่อราชวงศ์มากนัก นอกเสียจากเป็นตัวประกอบที่เสริมความอลังการ ให้กับพระราชวงศ์และพระอนุชาเพียงเท่านั้น

 

   งานพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่าง พระเจ้าซาร์นิโคลัสII กับ เจ้าหญิงอะเล็กซานดรา ฟอโดรอฟนา เมื่อปี ค.ศ. 1894 กลายเป็นข่าวที่ทั้งโลกล้วนตื่นเต้น เพราะเป็นเรื่องของการลงเอยระหว่างเจ้าหญิงแสนสวย กับเจ้าชายผู้ที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุด ประหนึ่งเทพนิยาย และยิ่งเมื่อองค์จักรพรรดินีมีพระธิดาถวายในปีถัดมาคือ เจ้าหญิงโอลก้า และเจ้าหญิงทาเทียน่า ในอีกสองปีต่อมา ยิ่งทำให้ทั้งโลกจับตามองว่า เมื่อใดจึงจะมีพระโอรส แต่แล้วทายาทอีกสองพระองค์ ที่มีพระประสูติกาลต่อมา ก็ยังคงเป็นเจ้าหญิงอีกสองพระองค์คือ เจ้าหญิงมาเรีย และ เจ้าหญิงอนาสตาเซีย ที่สร้างความผิดหวังให้กับองค์จักรพรรดิเป็นยิ่งนัก

 

 

       
        จนในที่สุดในปี ค.ศ. 1904 เทพก็ประทานเจ้าชายอเล็กซี่ ผู้เป็นรัชทายาทที่มีสิทธิขึ้นครองบัลลังก์ แต่ก็ทรงเป็นเจ้าชายที่เคราะห์ร้าย ที่มีพระโรคประจำตัวคือ โรคฮีโมฟีเลีย อันเป็นอาการที่โลหิตมักไหลไม่ยอมหยุด ทั้งในยามเกิดบาดแผล หรือเมื่อเลือดกำเดาไหล ซึ่งสร้างความทุกข์ระทมให้กับพระราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงทำให้เจ้าหญิงทั้งสี่พระองค์ ต้องคอยเป็นพระอภิบาลดูแลพระอนุชาอย่างใกล้ชิด และเป็นเหตุที่ทำให้ รัสปูติน นักบวชนอกรีตเข้ามามีบทบาทต่อพระราชวงศ์ จนส่งผลให้ราชวงศ์ถึงคราวเสื่อมถอยและหมดอำนาจในที่สุด

 

เจ้าชายอเลกซี่

 

รัสปูติน

       
        วาระสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ ถูกกล่าวถึงอย่างละเอียดในหนังสือเล่มนี้ นอกเหนือไปจากการตระเตรียมพิธีวิวาห์ของ เจ้าหญิงโอลก้า พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ เพื่อสานสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรให้แน่นแฟ้น กับราชวงศ์โรมานอฟแล้ว ยังเล่าถึงกิจกรรมต่างๆ ของพระราชธิดาก่อนหน้ามีการปฏิวัติ เช่นการเข้าเป็นพยาบาลในช่วงสงครามในปี ค.ศ. 1915 และการล่มสลายของราชวงศ์ในที่สุด ภายหลังจากการที่จักรพรรดิถูกจับตัวได้และถูกเนรเทศ ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติพร้อมกับครอบครัว ที่ต้องระหกระเหินไปยังที่ต่างๆ

 

 

        และกลางดึกของคืนวันที่ 16-17 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 ราชวงศ์โรมานอฟทั้งหมดที่ถูกกุมขังอยู่ ก็ถูกปลุกขึ้นมากลางดึก โดยอ้างว่าจะมีการย้ายที่คุมขัง แต่แล้วทุกพระองค์ก็ถูกสังหารหมู่ กลายเป็นโศกนาฏกรรมเลือดในห้องเก็บของใต้ถุนที่คุมขังนั่งเอง 

 

  จากการตรวจ DNA ตามหลักฐานที่เหลืออยู่ ยืนยันว่าทุกชีวิตที่ถูกฆาตกรรมหมู่ ที่เยกาเตรินเบิร์กในคืนนั้น คือทุกพระองค์ของราชวงศ์โรมานอฟทั้งหมด สิ่งที่หลงเหลืออยู่เป็นเพียงภาพเก่าแก่ของอดีตเจ้านายทุกพระองค์ ที่ถูกเก็บไว้ และนำมาเผยแพร่ในหนังสือThe Lost Live of The Romanof Grand Duchess ซึ่งเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าอ่าน และเป็นหลักฐานอิงถึงอดีตอันรุ่งเรืองของราชวงศ์ที่สูญสิ้นไปแล้วจากโลกนี้

Credit: http://www.siam55.com/news23715.html
7 พ.ค. 58 เวลา 22:13 5,206 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...