จากเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดในประเทศไอซ์แลนด์และปะทุต่อเนื่อง ทำให้เกิดเถ้าภูเขาไฟฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้างในแถบยุโรปตะวันตก สร้างความเสียหายทางเศรษฐ กิจและธุรกิจการบินอย่างมากช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น
รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ หัวหน้าหน่วยวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงปรากฏ การณ์ภัยธรรมชาติดังกล่าวว่า ตามหลักทฤษฎีทางธรณีวิทยา โดยเฉพาะการแปรสัณฐานเปลือกโลกแล้วภูเขาไฟในบริเวณไอซ์แลนด์ไม่ควรระเบิดรุนแรงขนาดนี้ แต่ว่าในกรณีนี้เป็น "ภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็ง" คือมีชั้นน้ำแข็งหนาปิดทับอยู่ด้านบน ทำให้เกิดการสะสมของพลังงานมาก จึงระเบิดอย่างรุนแรง
"ภูเขาไฟแบ่งได้ง่ายๆ 2 แบบ คือ 1.ภูเขาไฟที่ระเบิดรุนแรง เช่น ภูเขาไฟกรากะตัว ประเทศอินโดนีเซีย ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนในอเมริกา ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่เกิดจากแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่มาชนกันหรือมุดเข้าหากัน และ 2.ภูเขาไฟที่ระเบิดไม่รุนแรง เช่น ภูเขาไฟไอซ์แลนด์ เพราะเกิดในบริเวณที่แผ่นเปลือกโลกแยกตัวออกจากกัน หรือเกิดจากการปะทุขึ้นมาของจุดร้อน (hot spot) ใต้โลก เช่น ภูเขาไฟฮาวาย
แต่สำหรับการระเบิดของภูเขาไฟในประเทศไอซ์แลนด์ครั้งนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ คือเป็นภูเขาไฟที่อยู่ใต้ธารน้ำแข็ง "ไอย์ยาฟยัลลาโยกูล" มีชั้นน้ำแข็งที่หนามากมาปิดทับปล่องด้านบนอยู่ จึงทำให้เกิดการสะสมพลังงานความร้อนและแรงดันจำนวนมหาศาลอยู่ภายใน กระทั่งวันหนึ่งเมื่อพลังงานที่สะสมใต้โลกมีมากจนเกินรับไหว จึงเกิดแรงดันจนน้ำแข็งที่ปิดทับอยู่ถูกดันให้แตกออกจนเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง เถ้าถ่านร้อนที่อยู่ในหินละลายลาวาก็ฟุ้งกระจายไปทั่ว
นอกจากนี้ แรงดันและพลังงานความร้อนที่ปะทุออกมายังมีผลทำให้น้ำแข็งบริเวณรอยแยกกลางเกาะไอซ์แลนด์ละลายอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
เมื่อน้ำแข็งและน้ำเย็นไหลมาผสมกับหินละลายก่อให้เกิดเถ้าภูเขาไฟจำนวนมาก โดยเถ้าภูเขาไฟขนาดใหญ่จะฟุ้งกระจายไม่นานและตกลงในมหาสมุทร ขณะที่เถ้าภูเขาไฟขนาดเล็กจะฟุ้งและเคลื่อนตัวไปได้ไกลมาก
การระเบิดของภูเขาไฟในไอซ์แลนด์ด้วยอิทธิพลของ "ลม" ที่เคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกทำให้เถ้าภูเขาไฟถูกพัดฟุ้งกระจายไปทางทิศตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ เป็นเหตุให้หลายประเทศในแถบยุโรปตะวันตกได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการบิน เพราะเถ้าเหล่านี้ไม่เพียงทำลายทัศนวิสัย แต่ยังมีผลให้เครื่องจักรต่างๆ ในเครื่องบินเสียหายด้วย"
รศ.ดร.ปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันนักธรณีวิทยาบอกได้เพียงว่ามีภูเขาไฟที่ยังปะทุอยู่บริเวณใดบ้าง แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะสามารถทำนายถูกต้องแม่นยำว่าภูเขาไฟจะระเบิดเมื่อใด ส่วนภูเขาไฟในประเทศไทยเป็นชนิดที่ดับสนิทตั้งแต่เมื่อห้าแสนปีที่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลใจ
แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังไว้ คือภัยจากแผ่นดินไหวและฝุ่นควันฟุ้งกระจาย เช่น ภูเขาไฟละแวกใกล้เคียงที่ต้องจับตามอง อาทิ ภูเขาไฟกรากะตัวของอินโดนีเซีย ที่เคยระเบิดเมื่อ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2426 ซึ่งครั้งนั้นไทยได้รับผลกระทบจากเถ้าถ่านภูเขาไฟที่ปะทุออกมาด้วยเช่นกัน
ข้อมูล : ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.