ซีพีเจ เผยรายงาน 10 ประเทศทั่วโลกที่สื่อถูกจำกัดเสรีภาพมากที่สุดปี 2558 เอริเทรีย จากทวีปแอฟริกาครองแชมป์ ด้านทวีปเอเชียติดโผมากสุด 6 ประเทศ
วันที่ 22 เมษายน 2558 สำนักข่าวเอพี รายงานจากสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (ซีพีเจ) เปิดเผยรายงานการจัดอันดับ 10 ประเทศที่มีการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนประจำปี 2558 ซึ่งมีประเทศที่ติดอันดับได้แก่ เอริเทรีย เกาหลีเหนือ ซาอุดีอาระเบีย เอธิโอเปีย อาเซอร์ไบจาน เวียดนาม อิหร่าน จีน เมียนมาร์ คิวบา
นอกจากนี้ยังมีอีก 4 ประเทศที่เกือบเข้าไปอยู่ในรายชื่อนี้ ได้แก่ เบลารุส อิเควทอเรียลกินี อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน
โดยในรายงานของซีพีเจ ระบุว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศเอริเทรียสามารถเชื่อมต่อโดยตรงกับโทรศัพท์เท่านั้น มีประชากรเพียงร้อยละ 1 ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และมีประชากรเพียงร้อยละ 5 ที่มีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในโลก สำหรับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารนั้นรัฐจะเป็นผู้ทำหน้าที่หลัก ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวต่างชาติคนสุดท้ายได้ถูกทางการเนรเทศเมื่อปี 2550 ด้านผู้สื่อข่าวที่เสนอข้อมูลถูกควบคุมภายใต้อำนาจรัฐ และหากเนื้อหาที่นำเสนอเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลลับทางราชการ ก็อาจจะถูกจับกุม
ส่วนประเทศเกาหลีเหนือนั้นมีหนังสือพิมพ์รายใหญ่ 12 ฉบับ และสถานีโทรทัศน์และวิทยุ 20 แห่ง ทั้งหมดนี้ขึ้นตรงต่อสำนักข่าวกลางเกาหลี (เคซีเอ็นเอ) ที่การเสนอข่าวจะเป็นไปในทิศทางเชิดชูภารกิจและความยิ่งใหญ่ของผู้นำ จึงมีประชาชนบางส่วนพยายามแสวงหาเสรีภาพทางความคิดจากสื่อต่างชาติที่ลักลอบนำเข้า โดยเฉพาะพรมแดนที่ติดประเทศจีน นอกจากนี้การให้บริการอินเทอร์เน็ตมีไว้เฉพาะกับคนระดับสูงเพียงอย่างเดียว
สำหรับประเทศซาอุดีอาระเบีย จากปรากฏการณ์อาหรับสปริง รัฐบาลได้แก้กฎหมายเมื่อปี 2554 เพื่อปิดกั้นสื่อ โดยได้กำหนดบทลงโทษสื่อประเภทใดก็ตามที่เผยแพร่สิ่งที่ละเมิดต่อกฎหมายทางศาสนา กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ สร้างความได้เปรียบให้ต่างชาติ เป็นภัยต่อความสงบสุขของสังคมหรือความมั่นคงของชาติที่จะนำไปสู่การก่ออาชญากรรมรวมถึงรัฐบาลริยาดยังใช้อิทธิพลในคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอาหรับ (จีซีซี) ออกกฎห้ามไม่ให้สื่อของประเทศสมาชิกโจมตีรัฐบาลประเทศสมาชิกด้วยกันเองด้วย
ด้านประเทศเอธิโอเปียที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคมนี้ รัฐบาลได้เร่งปราบปรามสื่ออิสระ ด้วยการจับกุมผู้สื่อข่าวและข่มขู่สำนักพิมพ์ นอกจากนี้เอธิโอ เทเลคอม ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายเดียวในประเทศ มักจะระงับเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์การทำงานรัฐบาลไม่ต่างจากประเทศอาเซอร์ไบจานที่แหล่งข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่มาจากรัฐหรือตัวแทนของรัฐ อีกทั้งประชาชนที่ใช้ช่องทางออนไลน์เป็นสื่อก็มักจะปิดบังตัวเอง เหตุจากการเสี่ยงที่จะถูกฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกถึง 10 เดือน
ส่วนประเทศเวียดนามการทำงานของสื่อมวลชนจะถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานรัฐและจะคอยกำหนดทิศทาง และเรื่องราวในการนำเสนอ สำหรับคนที่ชอบเขียนบันทึกส่วนตัวลงในเว็บไซต์ที่มีการเสนอบทความที่อ่อนไหว จะเจอการต่อต้านในหลายรูปแบบ อาทิ การโจมตีข้างถนน การจับกถม การสอดแนม นอกจากนี้อาจถูกจำคุกในข้อหาต่อต้านรัฐ ซึ่งไม่ต่างจากผู้สื่อข่าวในอิหร่าน ที่มักถูกตอบโต้ด้วยการจับกุม บางครั้งรุนแรงถึงขั้นขับออกนอกประเทศ เว็บไซต์ข่าวและสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากถูกปิดกัน โดยมีรายงานว่ารัฐบาลเตหะรานอาจใช้เทคโนโลยีขั้นสูงปลอมเนื้อหาและหน้าเว็บไซต์ยอดนิยมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงประชาชน
ขณะที่ประเทศจีนยักษ์ใหญ่แห่งเอเซียนั้นจากรายงานลับในชื่อ "เอกสารหมายเลข 9" ที่รั่วไหลออกสู่สาธารณชนเมื่อปีที่ผ่านมา เผยให้เห็นแนวทางนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ ในการต่อสู้กับภัยคุกคามทางการเมือง รวมไปถึงการต่อต้านแนวคิดค่านิยมสากลและมุมมองของสื่อตะวันตก โดยมีใจความหลักเพื่อสนับสนุนการปกครองแบบรวบอำนาจของรัฐบาล ส่วนประเทศเมียนมาร์ที่มีชายแดนติดกันก็มีการออกกฎหมายควบคุมการนำเสนอเนื้อหาของสื่อ ที่เป็นภัยต่อศาสนา ขัดต่อการบังคับใช้กฎหมาย และกระทบต่อความเป็นหนึ่งเดียวทางชาติพันธุ์
นอกจากนี้ประเทศคิวบา ประเทศที่เสรีภาพสื่อถูกปิดกั้นมากที่สุดในภูมิภาคอเมริกา สื่อทั้งหมดถูกควบคุมโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยผู้สื่อข่าวหรือคนเขียนบันทึกลงเว็บไซต์อิสระ มักอาศัยสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากสถานเอกอัครราชทูตต่างชาติหรือโรงแรม ในการเผยแพร่เนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ
ภาพจาก เฟชบุ๊ก ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อ