เหตุไฟไหม้บ้านนับร้อยครั้ง ยังเป็นปริศนา คาดเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี

 
 เหตุไฟปริศนาไหม้บ้านกว่าร้อยครั้งในเดือนเดียว ที่ จ.พัทลุง เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดิน ฝุ่น ส่งตรวจแล้ว อีก 5 วัน รู้ผล คาดเป็นสาร 2 ชนิดทำปฏิกิริยากัน

             วันที่ 22 เมษายน 2558 รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ รายงานความคืบหน้าจากกรณีเกิดเหตุไฟปริศนาลุกไหม้ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านของ นายล้อม ศักดิ์หวาน ในพื้นที่ อ.ตะโหนด อ.ตะโหนด จ.พัทลุง โดยไม่ทราบสาเหตุ จำนวนนับร้อยกว่าครั้ง ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมานั้น จนบัดนี้ไฟปริศนาดังกล่าวก็ยังคงไหม้อยู่ โดยตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงช่วงสายของวันนี้ พบว่ายังมีไฟไหม้ถึง 5 ครั้ง  ส่วนใหญ่ไหม้เสื้อผ้าที่เปียกชื้น ถุงพลาสติกที่มีความชื้น สร้างความสงสัยให้หน่วยงานหลายฝ่าย และพยายามตั้งสมมุติฐานถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น 

             ล่าสุด รายงานระบุว่า นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้ลงพื้นที่พร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีวิทยา เพื่อเก็บตัวอย่างดินและประเมินสถานการณ์ รวมถึงตรวจสอบสภาพแวดล้อมโดยรอบอีกครั้ง เพื่อหาสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ อีกทั้งได้ส่งตัวอย่างดินไปตรวจพิสูจน์ที่สำนักงานกรมทรัพยากรธรรมชาติที่ 4 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ในระหว่างรอผลพิสูจน์

             ด้านนายล้อม เจ้าของบ้าน กล่าวว่า ไฟปริศนาดังกล่าวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน ซึ่งทุกครั้งที่มีเหตุไฟไหม้ หลานสาววัย 2 ขวบ จะเป็นคนบอกว่าไฟไหม้ตรงจุดไหน และตั้งแต่เกิดเหตุไฟปริศนาไหม้ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านของตนตั้งแต่ 17 มีนาคม เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ รวมแล้ว กว่า 164 ครั้ง  ซึ่งตนและครอบครัวยังคงมีความกังวลใจกับเรื่องดังกล่าวอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงกลางคืน ซึ่งต้องผลัดเปลี่ยนเวรกันเฝ้าดูสถานการณ์ตลอด 

             รายงานระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักงานกรมทรัพยากรธรรมชาติที่ 4 จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะลงพื้นที่มาเก็บตัวอย่างฝุ่น แล้วส่งไปตรวจสอบที่กรุงเทพฯ เนื่องจาก จ.พัทลุง ไม่มีห้องแล็บตรวจวิเคราะห์ ซึ่งจะทราบผลอย่างน้อยภายใน 5 วัน 

             ส่วนสาเหตุที่ต้องเก็บตัวอย่างฝุ่นไปตรวจสอบนั้น คาดว่าที่บ้านของนายล้อมนั้น อาจมีสารแคลเซียม คาร์ไบด์ และก๊าซอะเซทิลีน ตกค้างอยู่ ทำให้สารทั้ง 2 ชนิดนี้ทำปฏิกิริยาต่อกัน เมื่อเกิดความชื้นและอุณหภูมิที่สามารถทำให้เกิดไฟลุกได้ และหากพบว่าบ้านนายล้อมมีสาร 2 ชนิดนี้ตกค้างอยู่จริง ก็จะต้องทำการตรวจสอบหาสารดังกล่าวว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อสรุปหาสาเหตุแท้จริงต่อไป

ภาพจาก ครอบครัวข่าว 3 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

Credit: http://hilight.kapook.com/view/119401
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...