แวดวงการศึกษาของไทยมีความพยายาม อย่างยิ่งในการสร้างนวัตกรรมใหม่ออก สู่สังคม
สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ก็เพิ่งประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมยานใต้น้ำไร้คนขับสำหรับการฝึกปราบเรือดำน้ำที่เรียกว่า "เป้าฝึกปราบเรือดำน้ำ" เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา
โดยนวัตกรรมชิ้นนี้เป็นความร่วมมือกับสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ โดยมี พล.ร.อ.ศ.วีรวัฒน์ วงษ์ดนตรี เป็นหัวหน้าโครงการสร้างนวัตกรรมยานใต้น้ำไร้คนขับสำหรับการฝึกปราบเรือดำน้ำ
การสร้างนวัตกรรมยานใต้น้ำไร้คนขับสำหรับการฝึกปราบเรือดำน้ำที่เรียกว่า เป้าฝึกปราบเรือดำน้ำ เพื่อทดแทนการ นำเข้าจากต่าง ประเทศในการใช้ประโยชน์ฝึกนายทหารพนักงานโซนาร์ให้มีความชำนาญ และสามารถพิสูจน์ทราบถึงเรือดำน้ำของข้าศึกได้
รศ.ปองวิทย์ ศิริโพธิ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. เผยว่า หลังจากที่ประเทศไทยปลดระวางประจำการเรือดำน้ำ ในวันที่ 30 พ.ย.2494 แล้ว และไม่มีนโยบายจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการอีกเลย ทำให้เทคโนโลยีในด้านการทหารเรือบางส่วนขาดหายไป
จนปัจจุบันกองทัพเรือได้มีนโยบายในการจัดสร้างเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการฝึกนายทหารพนักงานโซนาร์ ให้มีความชำนาญสามารถพิสูจน์ทราบถึงเรือดำน้ำของข้าศึกได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่การที่จะใช้เรือดำน้ำจริงในการให้เรือปราบเรือดำน้ำใช้ฝึก จะต้องเสียงบประมาณในการฝึกที่สูงมาก ประกอบกับกองทัพเรือไทยก็ไม่มีเรือดำน้ำจริงที่ประจำการอยู่เลย จึงทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา โดยมีงบประมาณในการวิจัยโครงการนี้ประมาณ 6 ล้านบาท
พล.ร.อ.ศ.วีรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทัพเรือต้องการสร้างยานใต้น้ำแบบไม่มีคนขับที่มีขีดความสามารถเหมือนเรือดำน้ำที่ใช้ในการทหาร จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างยานใต้น้ำ "เป้าฝึกปราบเรือดำน้ำ" เพื่อใช้ทดแทน โดยกองทัพเรือเคยศึกษาวิจัยเพื่อสร้างยานใต้น้ำไร้คนขับมาแล้วในปี 2543 แต่ยังมีข้อบกพร่องหลายประการไม่สามารถนำไปใช้ฝึกทหารได้อย่างสมบูรณ์
หลังจากนั้นมีโครงการพัฒนาต่อยอดให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่และใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานทั้งหมด โดยยานใต้น้ำที่สร้างขึ้นมี 3 ลำ ลำแรกชื่อไกรทอง ได้ผ่านการทดสอบในทะเลแล้ว ส่วนอีก 2 ลำชื่อว่าสุดสาคร และวิชุดา ขณะนี้ได้จัดสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว เตรียมที่จะส่งมอบให้กองเรือยุทธการในเดือนก.ย.นี้
สำหรับวิธีการทำงานของยานใต้น้ำไร้คนขับนี้จะทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนของเรือดำน้ำฝ่ายศัตรู ซึ่งมักจะซ่อนตัวอยู่ในทะเล ขณะที่เรือผิวน้ำต้องค้นหาเรือดำน้ำให้พบว่าอยู่ตำแหน่งใด ยานใต้น้ำไร้คนขับทั้ง 3 ลำนี้ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ภายใน สามารถอยู่ใต้น้ำได้นาน 4 ชั่วโมง แล่นด้วยความเร็ว 3 น็อต ดำน้ำลึกไม่เกิน 30 เมตร มีระบบเสียงใต้น้ำทำให้เกิดสัญญาณปรากฏบนหน้าจอโซนาร์ของเรือผิวน้ำเมื่อส่งคลื่นเสียงไปกระทบยานใต้น้ำ
เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในวงการศึกษาไทย
________________________________________