หรือนี่คือถึงจุดสิ้นสุดของยุคของ "ร้านเช่าหนัง"?

ท่ามกลางวัฒนธรรมดาวน์โหลดที่แสนสะดวกง่ายดาย เพียงไม่กี่นาทีก็ได้หนังที่ต้องการมานั่งดูอย่างสบายใจ แถมคุณภาพระดับฟูลเอชดี ภาพคมชัด เสียงใสแจ๋วไม่แพ้ต้นฉบับ ส่งผลให้ร้านเช่าวีซีดี-ดีวีดีเจ๊งกันถ้วนหน้า เหลียวมองรอบกาย คำถามเกิดขึ้นว่าวันนี้ยังมีร้านเช่าหนังหลงเหลืออยู่สักกี่ร้าน ?

 

ย้อนกลับไปราว 30 ปีก่อน “ร้านเช่าหนัง”เปรียบได้ดั่งแลนด์มาร์คมิต่างจากเซเว่นอีเลฟเว่น ถนนทุกเส้นสาย บริเวณปากซอย สี่แยก ทางสามแพร่ง หรือหัวโค้งอันเป็นทำเลทอง จะต้องมีร้านวีดีโอตั้งอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสง่า

“ช่วงหลังปี 2520 เป็นต้นมา แทบทุกอำเภอมีไฟฟ้าใช้ มีการขยายสัญญาณแพร่ภาพไปทั่วประเทศ ทำให้โทรทัศน์สีมีราคาถูกลง รวมทั้งเครื่องเล่นวีดีโอด้วย ทำให้หลายครอบครัวเข้าถึงได้ง่าย นิยมซื้อมาประดับบ้าน จนเกิดร้านเช่าวีดีโอขึ้นมากมายเต็มไปหมด นับเป็นทางเลือกใหม่ของความบันเทิงคนไทยพ.ศ.นั้น” เป็นคำบอกเล่าของ โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) และนักอนุรักษ์หนังคนสำคัญของไทย

ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจร้านเช่าหนังตกต่ำย่ำแย่จนแทบล้มละลาย หนีไม่พ้นพฤติกรรมที่ผู้คนหันไปพึ่งเทคโนโลยีการดาวน์โหลด และค่าลิขสิทธิ์ที่แพงหูฉี่ “ค่าลิขสิทธิ์ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ยกตัวอย่างร้านใหญ่ที่มีแฟรนส์ไชส์เขาต้องซื้อลิขสิทธิ์จากทุกค่าย เพื่อจะได้มีหนังมาลงในร้านเยอะๆ บางค่ายราคาสูงถึง 3 หมื่นบาทต่อเดือน บางค่าย 2 หมื่น ไหนจะต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าลูกจ้าง สวนทางกับจำนวนลูกค้าที่น้อยลงทุกวัน ก็ขาดทุนเจ๊งไป ส่วนร้านเล็กๆบ้านๆเขาไม่สามารถซื้อลิขสิทธิ์ได้ทุกค่าย บางร้านซื้อไหวแค่ค่ายเดียว ที่เหลือก็ต้องใช้วิธี ‘หลบ’หมายถึงไปซื้อแผ่นผีราคาถูกมาไรท์ให้เช่า แบบนี้ถ้าโดนจับละเมิดลิขสิทธิ์โดนปรับหนัก”

 

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ นักเขียนบท และผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัล เล่าว่า สมัยก่อนที่ยังเด็กไม่สามารถไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ได้ทุกเรื่อง ร้านเช่าหนังคือสิ่งเติมเต็มที่ขาดไม่ได้

“สมัยเด็กๆ การไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ไม่ใช่ว่าจะดูได้ทุกเรื่อง เพราะทั้งแพง ทั้งไกล พอมีร้านเช่าหนังอยู่ใกล้บ้าน ราคาแผ่นละ 20 บาท แถมยังมีโปรโมชั่นพิเศษแถมอีก มันเลยเป็นทางเลือกให้เราสามารถดูหนังได้บ่อยๆ ทั้งหนังอินดี้ หนังต่างประเทศที่ไม่ได้เข้าโรงใหญ่ ถ้าโลกนี้ไม่มีร้านเช่าหนัง ผมก็อาจจะได้ดูหนังน้อยกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ได้ ความสนุกที่ผมได้สัมผัสคือ การวิ่งแข่งกันไปเช่าหนังใหม่ เราต้องลุ้นว่าไปแล้วจะมีไหม ถ้ามีคนเช่าไปก่อนก็เดินคอตกกลับบ้าน วันรุ่งขึ้นก็ต้องรีบมาดูว่าเขาคืนแล้วหรือยัง มันเป็นความทรงจำขำๆที่เราจำได้”

ผู้กำกับชื่อดังยอมรับว่า ไม่ได้เข้าร้านเช่าหนังนานหลายปีแล้ว เนื่องจากร้านใกล้บ้านล้มหายตายจากไปหมด

“มันเป็นอนิจจัง รุ่งเรืองสุดๆได้ก็มีวันตกต่ำได้ พฤติกรรมคนส่วนใหญ่มองว่าอันไหนสะดวกกว่าก็เลือกใช้อันนั้น มันเป็นเรื่องปกติครับสำหรับการเปลี่ยนฟอร์แมท เทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

Credit: http://www.dodeden.com/88049.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...