เที่ยวตราดแบบใหม่ เรียนรู้ สัมผัส และลงมือทำกับการท่องเที่ยวแบบ “พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง”

นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านช้างทูน         เมื่อเอ่ยถึง “นิเวศพิพิธภัณฑ์” คงมีน้อยคนนักที่จะรู้จัก “นิเวศพิพิธภัณฑ์” หรือ “อีโคมิวเซียม” (eco museum) หมายถึง พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องต่อนิเวศวิทยา จากเดิมเรามักเห็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงสิ่งต่างๆ อยู่ภายในอาคาร แต่นิเวศพิพิธภัณฑ์ จะแตกต่างออกไปตรงที่เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ที่เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยการลงมือ การสัมผัส การเห็น และการกระทำได้ด้วยตนเอง 
  กิจกรรมยาดมบุฟเฟ่ต์         เมื่อไม่นานมานี้ เราได้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดตราด ซึ่งที่นี่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งนิเวศพิพิธภัณฑ์เลยก็ว่าได้ ที่นี่นอกจากจะอุดมไปด้วยทรัพยากรต่างๆ มากมายแล้ว ยังอุดมไปด้วยวิถีชีวิต ชุมชนของชาวบ้านในพื้นที่อีกมากหมายหลายแห่งเช่นกัน 
  นั่งสามล้อเครื่อง         ด้วยความหลากหลายของจังหวัดตราดนี้เอง ทำให้ที่นี่มีชุมชนนิเวศพิพิธภัณฑ์ด้วยกันถึง 7 แห่งด้วยกัน ได้แก่ นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านช้างทูน นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านยายม่อม นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านชายเนิน นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านไม้รูด นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านท่าระแนะ นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านค้นนา และนิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านอ่าวใหญ่ เกาะกูด 
  ร่อนพลอยแดง         จุดเด่นของการมาเที่ยวนิเวศพิพิธภัณฑ์ที่เราสัมผัสได้ก็คือ การได้ลงไปคลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่จริงๆ ได้เห็นในสิ่งที่คนพื้นที่ทำ และเราก็ได้ลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากทีเดียว มาตราดคราวนี้เราได้มีโอกาสไปท่องเที่ยว และร่วมกิจกรรมของ “นิเวศพิพิธภัณฑ์” ในจังหวัดตราดถึง 4 แห่งด้วยกัน โดยแต่ละที่นั้นก็เรียกได้ว่า มีเอกลักษณ์และความน่าสนใจไม่แพ้กันเลย ซึ่งที่ไหนจะมีอะไรถูกใจใครบ้างนั้น ตามไปเที่ยวกันเลย 
  สปาโคลนขาว         นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านช้างทูน
       “นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านช้างทูน” ตั้งอยู่ที่บ้านหนองไม้หอม ต.บ้านช้างทูน อ.บ่อไร่ จ.ตราด เมื่อมาถึงจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากบรรดาลุงๆ ป้าๆ ในพื้นที่อย่างอบอุ่น กิจกรรมที่นี่นั้นมีให้เราได้ร่วมสนุกกันหลายอย่างชนิดที่ว่าเที่ยวกันวันเดียวก็ไม่ครบกันง่ายๆ หลังจากได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นแล้ว เราเริ่มกิจกรรมด้วยการฟังบรรยายถึงที่มาของนิเวศฯ บ้านช้างทูน จากนั้นจึงเริ่มทำกิจกรรมแรก โดยกิจกรรมแรกที่เราได้เลือกทำกันคือ “ยาดมบุฟเฟต์” ที่เป็นยาดมสมุนไพร ใช้สมุนไพรในท้องถิ่นมาทำ โดยเราสามารถเลือกใส่สมุนไพรตัวที่ชอบได้อย่างจุใจ 
  พลอยแดงที่ร่อนได้         เมื่อเตรียมยาดมพร้อมแล้ว เราไม่รอช้ากระโดดขึ้นรถสามล้อเครื่อง ตะลอนไปในหมู่บ้านจุดหมายต่อไปของเราคือ “ทำฝายชอง” เป็นการทำฝายชะลอน้ำเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ซึ่งฝายชอง จะสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยชาวบ้านจะนำใบระกำมาสานต่อๆ กัน ใช้ก้านของใบระกำมากลัด (เย็บ) ให้ติดกันเป็นแผง เมื่อได้แผงแล้วก็นำเถาชงโค (เป็นเถาวัลย์ชนิดหนึ่งที่มีเปลือกเหนียว ทนแรงดึงสูง) มาใช้แทนเชือก จากนั้นจึงนำแผงจากใบระกำที่สานไว้ไปผูกกับไม้ และเถาชงโค ก็จะได้ฝายกั้นน้ำจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีคุณค่าจริงๆ 
  สปาสุ่มไก่         หลังจากทำฝายกันน้ำเสร็จแล้ว กิจกรรมต่อไปก็คือ การ “ร่อนพลอยแดง (ทับทิมสยาม)” พลอยแดงแห่งเมืองตราด ที่ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่มากนัก ซึ่งชาวบ้านจะใช้เครื่องสานโบราณในการร่อน เริ่มจากโกยหินในน้ำมาใส่ที่ร่อน แล้วก็ทำการร่อนในน้ำให้โคลนที่ติดมาหลุด จากนั้นก็มาเลือกพลอย โดยคุณป้าที่สอนบอกแก่เราว่า ให้สังเกตดีๆ พลอยจะมีสีแดง และสะท้อนกับแสงแดด หาไปไม่นานก็เจอพลอยแดงเม็ดเล็กๆ หลบซ่อนอยู่ตามหินกรวดเต็มไปหมด ไม่น่าเชื่อเลยว่าลำธารเล็กๆ จะมีพลอยอยู่จริงๆ สร้างความตื่นเต้นให้เราได้มากทีเดียว 
  ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์         นอกจากการร่อนพลอยแล้ว เรายังจะได้ผ่อนคลายไปกับการพอกผิวด้วย “สปาโคลนขาว” ซึ่งเป็นการพัฒนามาจากภูมิปัญญา และคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในสมัยก่อน ว่า ขณะร่อนพลอยท่ามกลางแดดร้อนๆ แต่ผิวหนังส่วนที่แช่น้ำตลอดทั้งวันยังคงนวลเนียน จึงสังเกตว่า โคลนขาวเนื้อละเอียดในชั้นดินของลำธารน่าจะมีสรรพคุณช่วยป้องกันแสงแดด จึงได้นำโคลนขาวมากรองให้สะอาด แล้วเติมน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นจากพืชสมุนไพรในท้องถิ่นลงไป นำมาพอกผิวทิ้งไว้ให้แห้งก่อนลงลำธาร จะช่วยให้ผิวพรรณดีจากการทำสปา และได้ผ่อนคลายจากการแช่น้ำสะอาดในลำธาร เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เอาใจคนรักผิวแบบสุดๆ 
  ธรรมชาติในป่าชายเลน         จากนั้นปิดท้ายกันด้วยกิจกรรม “สปาสุ่มไก่” หรือ “สปา เดอ ชอง” เป็นการทำสปาสมุนไพร ที่รวบรวมสมุนไพรกว่า 32 ชนิดมาไว้ด้วยกัน โดยจุดเด่นของสปาที่นี่คือ จะทำสปาในสุ่มไก่ขนาดใหญ่ ที่สามารถโผล่หัวออกมาได้ หลังงจากผ่อนคลายกับสปาแล้วผ่อนคลายกันต่อกับการนวดจับเส้นผ่อนคลายด้วยการจับเส้นแผนชอง หรือนวดตัวด้วยน้ำมัน เรียกได้ว่ามาที่นี่ได้ทั้งสนุก และได้ผ่อนคลายต่อการทำสปาแบบท้องถิ่นอีกด้วย 
  ล่องเรือชมป่าชายเลน         นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านท่าระแนะ
       “นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านท่าระแนะ” ตั้งอยู่ตำบลหนองคันทรง อ.เมือง จ.ตราด ที่นี่เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำตราด ที่ออกสู่อ่าวทะเลตราด จึงทำให้เป็นชุมชนที่มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ หลังจากฟังบรรยายของพื้นที่ที่นี่แล้ว เราเริ่มต้นกิจกรรมด้วยการปล่อยปู เป็นกิจกรรมปล่อยปูตัวเล็กๆ สู่ป่าชายเลน หลังจากปล่อยปูเสร็จก็ได้เวลาเดินชมพื้นที่ป่าชายเลน ป่าชายเลนที่นี่อุดมสมบูรณ์มาก หากมองไปด้านล่างจะเห็นทั้ง ปู และสัตว์ต่างๆ มากมาย 
  ลานตะบูน         จากนั้นลงเรือล่องไปในพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งไฮไลต์ของการล่องเรือก็คือ “ลานตะบูน” เป็นลานขนาดใหญ่ที่มีรากของต้นตะบูนขึ้นอยู่เต็มทั่วพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านได้คิดกิจกรรมขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมสนุกที่ลานตะบูนในกิจกรรมชื่อว่า “โบว์ลิ่งตะบูน” เป็นการนำไม้ตะบูน และลูกตะบูนมาทำเป็นลานโบว์ลิ่งธรรมชาติ 
  ถ่านกะลา         ไม่เพียงเท่านั้น มหัศจรรย์นิเวศป่าชายเลนบ้านท่าระแนะ ยังมีพืชอีกชนิดที่น่าสนใจคือ “หัวร้อยรู” ชาวจีนเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะจากความเชื่อว่า กินร้อยรู อยู่ร้อยปี ซึ่งมีคุณสมบัตินำมาตากแห้งเป็นชาบำบัดรักษาโรคมะเร็งได้อีกด้วย 
  สปาถ่านกะลาหน้าเด้ง         นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านยายม่อม
       “นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านยายม่อม” ตั้งอยู่ในอำเภอแหลมงอบ จ.ตราด จุดเด่นของที่นี่อยู่ที่วิถีชีวิตชุมชนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายแขกจาม เป็นชนพื้นเมืองตราดที่อพยพมาจากเมืองกัมปงจาม ประเทศกัมพูชา เมื่อมาเยือนที่นี่นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมกิจกรรม “ทำสปาถ่านกะลาหน้าเด้ง” ซึ่งที่มาของการทำถ่านกะลาของที่นี่ก็เนื่องมาจากชาวบ้านในชุมชนบ้านยายม่อมนั้น มีอาชีพทำสวนมะพร้าวเป็นส่วนใหญ่ ในสมัยก่อนไม่ได้มีการบริหารจัดการกะลามะพร้าวให้ดี ทำให้มีน้ำขัง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ชาวบ้านจึงได้มีการกำจัดกะลามะพร้าวโดยการนำไปเผาเป็นถ่านกะลา แล้วนำผงถ่านที่มีคุณสมบัติในการดูดซับมาทำเป็นส่วนผสมในการทำผงขัดหน้า ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดซับสิ่งสกปรกออกจากใบหน้า หลังจากทำสปาแล้ว จะสังเกตได้ว่าผิวหน้าจะนุ่ม ดูสุขภาพดี 
  ทรายดำจากธรรมชาติ         ซึ่งไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งของชุมชนบ้านยายม่อมก็คือ กิจกรรม “สปาทรายดำ” เป็นหาดทรายดำ 1 ใน 5 ของโลก และเป็นแห่งเดียวของประเทศไทยด้วย นักท่องเที่ยวจะได้สนุกสนานกับการหมกทรายดำ ทรายสีดำสะอาด ที่ชาวบ้านร่อนจนเหลือแต่ทรายที่ละเอียด นำมาหมกส่วนต่างๆ ของร่างกาย เชื่อว่าจะทำให้สุขภาพดี เลือดลมไหลเวียนสะดวก และช่วยลดอาการปวดเมื่อได้ด้วย เรียกได้ว่าใครที่รักสุขภาพต้องไม่พลาด 
  สปาทรายดำ         และนี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ 7 ชุมชน “นิเวศพิพิธภัณฑ์” ของจังหวัดตราด มาเที่ยวตราดคราวนี้แม้จะไม่ได้ไปเที่ยวเกาะลงทะเล แต่ได้มาเที่ยวแบบเชิงนิเวศ ชื่นชมธรรมชาติ ได้ร่วมทำกิจกรรมกับคนในพื้นที่ หากใครชอบกิจกรรมแบบนี้ลองเดินทางมาเที่ยวแบบเรากันดู บอกได้เลยว่าไม่ผิดหวังแน่นอน
        
       สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด โทร.0-3959-7259-60
Credit: http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000041658
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...