หมอเตือนอย่า "ดื่มชา" มากเกินไป เหตุมีสารออกซาเลตสูง ไปจับแคลเซียมในฉี่กลายเป็นผลึก ทำท่อไตอุดตัน ขับของเสียไม่ได้ตามปกติ เสี่ยงนิ่ว-โรคไตถามหา แนะดื่มชาแต่พอเหมาะ ไม่ดื่มติดต่อกัน ไม่เติมน้ำตาล ชี้เติมนมช่วยลดการเกิดตะกอนได้ แนะคนเป็นโรคไตยิ่งต้องระวังชาและอาหารออกซาเลตสูง
นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์ประจำหน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวถึงกรณีวารสารทางการแพทย์รายงานพบผู้ป่วยชายชาวต่างประเทศเป็นโรคไตจากการดื่มชาเย็นถึง 16 แก้วต่อวันติดต่อกันเป็นเวลานาน ว่า จากรายงานจะพบว่าชายคนดังกล่าวดื่มชาจำนวนมากกว่าคนปกติ เมื่อเทียบกับชาวอเมริกันที่ดื่มประมาณ 500 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ชายคนดังกล่าวดื่มถึงวันละ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน และยังดื่มสะสมมาเป็นเวลานาน โดยชาที่ดื่มเป็นชาดำแบบกระป๋อง ซึ่งตามปกติในชาดำและชาสมุนไพรต่างๆ จะมีสารที่เรียกว่า ออกซาเลต ซึ่งจะทำปฏิกิริยาในการจับแคลเซียมในปัสสาวะให้กลายเป็นผลึกเล็กๆ และทำให้เกิดการอุดตันบริเวณท่อไตจนทำให้ไม่สามารถขับของเสียได้ตามปกติ ทำให้เกิดโรคไตหรือเกิดนิ่วขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การดื่มชาไม่ว่าจะแบบร้อนหรือเย็นไม่ควรดื่มมากและติดต่อกันนานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบได้ ที่สำคัญการดื่มชาไม่ควรเติมน้ำตาล
"หากต้องการดื่มชาดำสามารถทำได้ โดยอาจเติมนมลงไปเพื่อให้สารออกซาเลตจับแคลเซียมในกระเพาะอาหาร ก็จะช่วยลดการเกิดตะกอนที่จะไปอุดตันบริเวณท่อไตลงได้ ทั้งนี้ นอกจากชาแล้วอาหารบางประเภทยังมีสารออกซาเลตสูงด้วย ซึ่งไม่ควรบริโภคในปริมาณมาก เช่น มะเฟือง ผักโขม ลูกเนียง เป็นต้น ซึ่งเคยพบว่า ชาวไต้หวัน นิยมดื่มน้ำมะเฟืองซึ่งใช้มะเฟือง 5-6 ลูกในการคั้น ทำให้ได้รับสารออกซาเลตปริมาณมากและเกิดอาการไตวายเฉียบพลันขึ้น ส่วนในประเทศไทยเคยพบในภาคใต้ จากกรณีที่เด็กๆกินลูกเนียงครั้งละ 10 ลูกขึ้นไปได้เช่นกัน" นพ.สุรศักดิ์ กล่าวและว่า สำหรับชาเขียวจะมีสารออกซาเลตน้อยกว่า และมีงานวิจัยบางชนิดที่พบว่าอาจช่วยป้องกันนิ่วได้
นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ที่น่าห่วงคือผู้ที่มีอาการของไตเสื่อมอยู่แล้วจะมีปัสสาวะในท่อน้อยกว่าคนปกติ เมื่อได้รับสารออกซาเลตจะทำให้เกิดการจับตัวกับแคลเซียมได้เร็วและทำให้เกิดอาการไตวายเฉียบพลันได้มากกว่า ซึ่งรวมถึงผู้ที่ดื่มน้ำน้อยก็สามารถเกิดได้เร็วกว่าเช่นกัน สำหรับผู้ป่วยไตเสื่อมนั้นพบว่าส่วนใหญ่มาพบแพทย์ช้าและเสียการทำงานของไตไปแล้วกว่า ร้อยละ 70 ซึ่งอยู่ในระยะที่แสดงอาการแล้ว โดยผู้ที่ควรเฝ้าระวังตัวเองมากกว่าปกติและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอคือ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน มีพฤติกรรมกินเค็มมาก ดื่มชามาก ก็ควรจะมาพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพปีละครั้ง หรือสังเกตอาการตนเอง เช่น ปัสสาวะน้อย ตาบวม ขาบวม ปวดเอว ปัสสาวะเปลี่ยนสีเป็นสีชาเข้มหรือสีแดงเข้ม โดยการตรวจปัสสาวะตรวจเลือด จะทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่อาการเริ่มแรก และการรักษาในระยะเริ่มแรกจะได้ผลดีกว่า ซึ่งอาการไตเสื่อมเรื้อรังจะค่อยๆเกิดขึ้นกินระยะเวลาเป็นปีหรือหลายปีกว่าจะแสดงอาการ ส่วนอาการไตวายเฉียบพลันนั้นมักจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับสารพิษ กินยาบางชนิด สมุนไพรบางชนิด หรืออาหารที่มีสารออกซาเลตปริมาณมาก ซึ่งจะแสดงอาการภายใน 7-14 วัน