ไขข้อข้องใจ ... จริงหรือไม่ ขน-เห็บ สุนัขเข้าไปในร่างกายคนได้?

เป็นประเด็นร้อนไม่แพ้อากาศในช่วงนี้เลยนะครับ เล่นเอาเจ้าของอย่างเราและน้องหมามองหน้ากันไม่ติด จากกรณีมีสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวการอาพาธของพระนิภากรโสภณ หรือเจ้าคุณไกร เจ้าคณะอำเภอหนองบัว จ.นครสวรรค์ ที่ระบุว่า พบเห็บภายในโพรงจมูก และมีขนสุนัขอยู่ในปอดอีกจำนวนมาก ซึ่งข่าวดังกล่าวได้รับความสนใจจากคนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ตามโซเชียลเน็ตเวิร์คต่าง ๆ มีผู้นำข่าวดังข่าวมาเผยแพร่และแสดงความเห็นต่อข่าวนี้กันอย่างหลากหลาย บ้างก็ปักใจเชื่อว่าสุนัขเป็นต้นเหตุของอาการป่วยจริง ๆ จนเกิดความหวาดกลัวถึงขั้นจะนำสุนัขที่บ้านของตัวเองไปปล่อย!!! แต่บ้างก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย และนำข้อเท็จจริงทางการแพทย์มาถกเถียงกัน ...
 
     แม้ความคืบหน้าล่าสุด (10 เม.ย. 2556) จะมีการออกมาแก้ข่าวแล้วว่า ผลตรวจรักษาอาการของพระนิภากรโสภณนั้น ไม่พบเห็บหมัด รวมถึงขนสุนัขภายในร่างกายของท่านแต่อย่างใด แท้จริงแล้วท่านอาพาธด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ระยะที่ 4 แต่ประเด็นนี้ ก็ยังถูกกล่าวถึงกันอย่างเป็นวงกว้าง และมีเพื่อน ๆ ชาวด็อกไอไลค์ (Dogilike) เข้ามาไถ่ถามถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อยู่จำนวนไม่น้อย

    
     ผมหมอต้น ด็อกไอไลค์ ในนามของทีมงานด็อกไอไลค์ดอทคอม (Dogilike.com) จึงขอนำเสนอข้อมูลให้เพื่อน ๆ ได้คลายข้อกังวล ที่ละประเด็นดังนี้ครับ
 
จริงหรือไม่ ที่ขนสุนัขจะเข้าปอดของคนได้
 
     เรื่องขนสุนัขเข้าปอดคนนั้น เป็นไปได้ยากครับ เพราะอะไรก็ตามที่จะลงไปในปอดได้นั้น ต้องมีขนาดเล็กมาก ๆ และหากจะผ่านทางเดินหายใจไปถึงปอดได้ จะต้องผ่านกลไกการขับออกของร่างกาย เพราะปกติร่างกายก็จะมีการปฏิเสธสิ่งแปลกปลอมอยู่แล้ว เช่น จาม ไอ สร้างเมือก (เสมหะ) มาจับ หรือใช้ cilia (ซีเลีย) พัดโบกออกมา ขนาดของวัตถุที่จะเข้าไปในปอดได้นั้น ต้องมีขนาดเล็กกว่า 3-5 ไมครอนเท่านั้นซึ่งเล็กมาก ๆ ดังรูป 

จริงหรือไม่ เห็บอาศัยในโพรงจมูกของคนได้
 
     อันที่จริงแล้วเห็บมีโฮสต์ เป็นของตัวเองครับ อย่างเห็บสุนัข เช่น Rhipicephalus sanguineus ก็ชอบอยู่กับสุนัข ถามว่าขึ้นสัตว์อื่นหรือคนได้มั้ย ตอบว่า "ได้ครับ" ซึ่งจัดเป็น accidental host หรือ โฮสต์โดยบังเอิญ และเห็บอาจดูดเลือดสัตว์หรือคนอื่นหรือไม่ดูดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบอยู่ตามผิวหนังหรือในช่องหูส่วนนอก (ใบหู) มากกว่า การจะเข้าไปอาศัยถาวรในโพรงจมูกนั้นเป็นไปได้ยาก และโดยธรรมชาติแล้ว จมูกจะไวต่อการรับสัมผัส หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ร่างกายก็จะปฏิเสธด้วยการจามออกมาครับ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากมาก ถ้าเห็บจะเข้าไปเจริญเติบโตในโพรงจมูกของเรา 

จริงหรือไม่ เห็บวางไข่ใต้ผิวหนังคนได้
 
     ประเด็นนี้ก็ไม่น่าเป็นไปได้อีกเช่นกันครับ เพราะปกติแล้วเห็บตัวเมียเมื่อผสมพันธุ์และดูดเลือดอิ่มแล้ว จะลงจากโฮสต์มาวางไข่ตามพื้น ในที่ที่มีกำบัง เช่น ซอกพื้น แยกไม้ กำแพง ฯลฯ เหตุผลที่ดูจะใกล้เคียงที่สุด ในกรณีที่มีสิ่งมีชีวิตใต้ผิวหนังนั้น อาจจะเกิดจากการที่เห็บดูดเลือด ซึ่งเวลาที่เห็บดูดเลือดจะใช้ปากเจาะและฝังส่วน chelicera และ hypostome ฝังลงไปในผิวหนังของโฮสต์ ทำให้เกิดรอยโรคเล็ก ๆ ที่ผิวหนัง อาจเป็นไปได้ว่า บางครั้งมีแมลงบางชนิด จะเข้ามาดูดกินเลือดและวางไข่ ไข่จะฟักออกมาเป็นแมลง แล้วไชเข้าไปในแผล เรียกว่า Myiasis ครับ แต่ก็พบได้ยากมาก ๆ เช่นกันครับ

รู้จัก “เห็บ” กันหน่อย จะได้ไม่โดนใครหลอก
 
     เห็บมีมากมายหลากหลายชนิด อาจจะมากกว่า 650 สปีชีส์ (species) เลยทีเดียว เห็บส่วนใหญ่มีโฮสต์เป็นของตัวเอง (host specificity) ครับ เห็บเป็นปรสิตภายนอกร่างกาย (Ectoparasite) จึงมักจะอาศัยอยู่ตามผิวหนัง ซอกนิ้ว หรือในใบหู พบน้อยมากที่จะเข้าไปอยู่ในจมูกของน้องหมา เห็บกินเลือดของโฮสต์เป็นอาหาร เมื่อเห็บกินเลือดจนอิ่มอ้วนพี  (engorged tick) แล้ว ก็จะลอกคราบ ผสมพันธุ์ หรือวางไข่ต่อไป ตามปกติแล้วเห็บมี 4 ระยะ คือ ไข่ ตัวอ่อน ตัวกลางวัย และตัวเต็มวัย ตามลำดับ ก่อนที่เห็บตัวเมียจะวางไข่ เห็บต้องดูดเลือดและผสมพันธุ์ก่อน เมื่อเห็บตัวเมียดูดเลือดจนอิ่มแล้ว ก็จะลงจากโฮสต์แล้วหาที่ซ่อนเพื่อวางไข่ ไข่เห็บจะมีขนาดเล็กสีน้ำตาล เห็บอาจจะวางไข่ชุดเดียวแล้วตาย หรือวางไข่หลายชุดแล้วตายก็ได้ในบางชนิด
 

     พิษภัยจากเห็บ
 
     1. โฮสต์ที่ถูกเห็บกัดและดูดเลือด อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ น้องหมาจะป่วย ซึม อ่อนแรง จนอาจเสียชีวิตได้ถ้าโลหิตจางมาก ๆ
     2. เห็บเป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ มาสู่โฮสต์ได้ เช่น โรคพยาธิในเม็ดเลือด (คลิก) โรคอัมพาตจากเห็บ (คลิก) โรคลายม์ (คลิก) หรือเกิดการอักเสบของผิวหนัง ฯลฯ
 
     การกำจัดเห็บ
 
     การกำจัดเห็บให้ได้ผลนั้นต้องกำจัดที่ตัวสัตว์และในสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เพราะหากไม่กำจัดตามสิ่งแวดล้อมแล้ว เห็บพวกนี้ก็จะกระโดดกลับมาอาศัยอยู่บนตัวน้องหมาได้ใหม่ไม่สิ้นสุด ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สำหรับกำจัดเห็บมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ยาฉีด ยาหยอดหลัง ยาพ่น แชมพู ปลอกคอกันเห็บ ฯลฯ ให้เราได้เลือกใช้มากมาย แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังด้วย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นสารเคมี ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งคนและน้องหมา หากใช้ไม่ถูกหรือใช้ในปริมาณที่มากเกินไปครับ (พิษภัยของยาฆ่าเห็บหมัด ที่คนรักสุนัขต้องอ่าน...คลิก)
 
ควรหรือไม่ ที่คนกับน้องหมาจะนอนร่วมเตียงเดียวกัน
 
     จริงๆ ไม่ควรและไม่แนะนำนะครับ การเลี้ยงสัตว์ควรต้องแยกเป็นสัดเป็นส่วน ไม่เพียงแต่โรคสัตว์สู่คน คนก็สามารถนำโรคสู่สัตว์ได้เช่นกัน แต่ถ้าใครที่ด้วยความรักความเอ็นดูแล้วอยากนำน้องหมามานอนด้วย ต้องเน้นย้ำให้ดูแลเรื่องความสะอาดและสุขบัญญัติเป็นอย่างดี เป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงเป็นพิเศษนะครับ (รู้ไว้ ก่อนอนุญาตให้น้องหมามานอนด้วย ..คลิก)

โรคจากน้องหมาสู่คนที่ควรระวัง
 
     เพื่อน ๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่า จริง ๆ แล้วการเลี้ยงและอยู่ใกล้ชิดกับน้องหมานั้น สามารถนำโรคต่าง  ๆ มาติดเราได้หรือไม่ ... ข้อเท็จจริง ก็คือ น้องหมาสามารถนำโรคมาสู่คนได้เหมือนกัน โรคที่ติดต่อสู่คนนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส ปรสิตทั้งภายในและภายนอก ฯลฯ โดยคนรับเอาโรคนี้มาจากการสัมผัสน้ำลาย สารคัดหลั่ง อุจจาระ ปัสสาวะ การสัมผัสตัวน้องหมาโดยตรง หรือทางอ้อมผ่านทางอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ โรคที่สำคัญ ๆ ก็อย่างเช่น โรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) โรคฉี่หนู โรคเชื้อราขี้กลาก โรคกาฬโรคปอด หรือแม้แต่หนอนพยาธิในทางเดินอาหาร ฯลฯ ดังนั้นคนเลี้ยงสัตว์ต้องคอยระมัดระวัง และป้องกัน โดยการพาน้องหมาไปฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ ป้องกันเห็บหมัด และพยาธิหนอนหัวใจ แล้วอย่าลืมทำความสะอาดมือหรือร่างกายทุกครั้งที่สัมผัสน้องหมา ก่อนทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไปด้วยนะครับ 


     เหตุการณ์นี้ก็เป็นบทเรียนที่ดีครับ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากขึ้น การเลี้ยงดูน้องหมาในปัจจุบัน จะเลี้ยงแบบตามมีตามเกิดไม่ได้แล้ว ความรู้ เทคนิก วิธีการเลี้ยงต่าง ๆ เราต้องตามให้ทัน 
Credit: http://www.dogilike.com/content/vettalk/2241/
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...