อาร์ทีดอทคอม/โคโมนิวส์/เดอะการ์เดียน - สื่อต่างประเทศรายงานเมื่อวันศุกร์(3เม.ย.) ว่านักศึกษาชาวสหรัฐฯคนหนึ่งถ่ายติดเหตุการณ์น่าขนลุก เครื่องบิน 2 ลำถูกฟ้าผ่าเหนือท้องฟ้าเมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอชิงตัน ในเวลาห่างกันแค่ไม่กี่วินาที โดยในวิดีโอพบเห็นสายฟ้าฟาดลงมากลางลำตัวเครื่อง แต่เคราะห์ดีที่สามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัย
โอเวน คราฟต์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน มักตระเวนถ่ายภาพสายฟ้าฟาดอยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆนี้เขาได้รับผลตอบแทนเหนือกว่าที่คาดหวังไว้ เนื่องจากเขาถ่ายติดเหตุการณ์เครื่องบิน 2 ลำถูกฟ้าผ่าในเวลาไล่เลี่ยกัน
"ผมรู้สึกช็อกมา ผมบรรยายไม่ถูกเลยว่ามันอัศจรรย์แค่ไหนที่ได้เห็นภาพแบบนี้" คราฟต์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวโคโมนิวส์ พร้อมเผยว่าตนเองมีโชคเล็กน้อยที่ถ่ายภาพดังกล่าวได้ โดยตอนนั้นเขาตัดสินใจซูมเข้าไปใกล้ๆเครื่องบิน หลังเห็นสภาพท้องฟ้าที่ปกคลุมไปด้วยพายุฝน "ผมซูมเข้าไป และทันใดนั้นฟ้าก็ฟาดผ่านเครื่องบิน ผมถึงกับตะลึงไปเลย"
โคโมนิวส์รายงานว่าไม่มีใครได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้และเครื่องบินทั้ง 2 ลำสามารถลงจอดอย่างปลอดภัย ขณะที่ เชลลี ลูบาห์น ซึ่งกำลังเดินทางจากฮิวสตันมายังซีแอตเทิล เล่าความรู้สึก หลังจากเครื่องบินของสายการบินอะแลสกาแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน 731 ที่เธอโดยสารมาถูกฟ้าผ่าว่า "มันคือฟ้าผ่า ไม่ใช่แค่ฟ้าแลบ ดูเหมือนว่ามันจะโดนเข้าที่ปีกและในเวลาเดียวกันนั้นได้ยินเสียงดังสนั่น ชายที่นั่งอยู่ติดกับฉันถึงขั้นพูดว่าโอ้พระเจ้า"
แอนโธนีย์ พอร์เตอร์ ผู้โดยสารของเที่ยวบิน 515 ของสายการบินอะแลสกาแอร์ไลน์ส จากออเรนจ์ เคาน์ตี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สู่ซีแอตเทิล ที่ถูกฟ้าผ่าเช่นกัน บอกว่ามันเหมือนกับเครื่องบินตกหลุมอากาศครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยประสบมา ภายในเวลาแค่ไม่กี่วินาที "มันน่าหวาดกลัว แต่มันเกิดขึ้นเร็วมาก ผู้โดยสารรู้ว่ามีบางอย่างเกิดขึ้น แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เครื่องบินถูกฟ้าผ่าตรงๆ โดยก่อนและหลัง 5 นาที เครื่องบินบินอย่างาบเรียบ ไม่มีความปั่นป่วนใดๆ"
อาร์ทีดอทคอม อ้างความเห็นของศาสตราจารย์มานู ฮัดดัด จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ในสหราชอาณาจักร ระบุว่าเหตุฟ้าผ่าเครื่องบินเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากกว่าที่ทุกคนคิด "เฉลี่ยแล้ว เครื่องบินทุกๆลำจะถูกฟ้าผ่าปีละครั้ง" เขากล่าว "หน้าที่ปฏิบัติของเครื่องบินคือต้องลงจอดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หลังถูกฟ้าผ่า แต่นี่เป็นเพียงมาตรการป้องกันไว้ก่อน ฟ้าฟ่ามีอุณหภูมิสูงสุดถึง 30,000 องศาเซลเซียส ตัวอย่างของความเสียหายคือรอยไหม้เกรียมบริเวณที่ถูกกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่มันเป็นบริเวณปีก อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันนี้ระบบไฟฟ้าของเครื่องบินได้รับการปกป้องเป็นอย่างดี"