ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่6 ได้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่ยากเกินจะคาดเดาถึงสาเหตุที่แท้จริง โศกนาฏกรรมนี้เกิดขึ้นกับเจ้าชายพระองค์หนึ่ง พระนามว่า พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้า“ดิลกนพรัฐ” ผู้เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ประสูติจากเจ้าหญิงทิพเกษร ณเชียงใหม่ ผู้มีเชื้อสายมาจากราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ จึงทำให้พระองค์เจ้าดิลกฯได้ชื่อว่า “เจ้าชายเลือด2ราชวงศ์”เมื่อพระชันษาครบ13ปี พระองค์ได้เสด็จไปศึกษายังประเทศเยอรมัน โดยเลือกศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ จนในที่สุดพระองค์ก็สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต ยังทรงเป็นคนไทยคนแรกที่จบในสาขานี้ และเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกอีกด้วย
ในปีพ.ศ.2450 พระองค์เสด็จกลับประเทศไทย และเข้ารับราชการทันทีในกระทรวงมหาดไทย ต่อมาอีกไม่กี่ปีก็เสกสมรสกับเจ้าหญิงศิริมา ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นพระญาติทางมารดาของพระองค์และใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขที่วังแถวถนนนครไชยศรีอันเป็นเรือนหอ
เล่ากันว่าเจ้าหญิงจากนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ผู้นี้มีสิริโฉมงามยิ่งนัก พระองค์เจ้าดิลกฯทรงรักชายามากถึงกับมิยอมรับใครมาเป็นหม่อม(เมียรอง เมียน้อย)ทั้งสองร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาได้ไม่กี่ปียังไม่ทันมีโอรส-ธิดามาเชยชม
แต่แล้วไม่นานหลังจากนั้นใครจะรู้ว่าชีวิตคู่อันมีความสุขนี้จะเดินทางมาพบเจอกับเหตุการณ์ที่เรียกว่า "จุดพลิกผันของชีวิตคู่" เมื่อเจ้าหญิงศิริมาผู้เป็นชายาทรงเป็นตะคริวในขณะลงเล่นน้ำและจมน้ำเสียชีวิตที่สระภายในพระราชวังดุสิต
พระองค์เจ้าดิลกฯผู้เป็นสวามีทรงเสียพระทัยอย่างมิอาจจะหักห้ามได้ หนำซ้ำพระโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทยังมากำเริบอีก เท่านี้ยังไม่พอยังเป็นจังหวะเดียวกับงานที่กระทรวงมามีปัญหาไม่เป็นไปดั่งใจหมาย จึงทำให้ปัญหาต่างๆเริ่มสั่งสมเป็นความเครียด ทรงเก็บพระองค์อยู่เงียบๆปราศจากคู่คิดที่คอยอยู่เคียงข้างกันมาอย่างแต่ก่อน ในที่สุดพระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยปลงพระชนม์ของพระองค์เองใช้พระแสงปืนยิงเข้ากลางขมับจนสิ้นพระชนม์ รวมพระชันษาเพียง27ปีเท่านั้น เล่ากันว่าเสียงปืนดังก้องออกไปจนถึงประตูใหญ่หน้าตำหนัก ปิดฉากตำนานรักและปิดตายเรือนหอครองคู่นี้แต่นั้นเป็นต้นมา
ภาพสระน้ำในพระราชวังดุสิต
ก่อนสิ้นพระชนม์รัชกาลที่6พระราชทานกรม พระองค์เจ้า“ดิลกนพรัฐ” เป็น "กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี"
โศกนาฏกรรมรัก…แห่งราชสำนักไทย” เรื่องที่ สอง
โศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และยากที่จะลืมที่เกิดขึ้นกับราชสำนักไทย เกิดขึ้นกับหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ภาณุพันธุ์พระธิดาองค์โตในสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุ์ฯ(สมเด็จวังบูรพา) เมื่อหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์โตเป็นสาวพระองค์ได้เข้าไปถวายตัวเป็นข้าหลวงเด็กอยู่ในพระบรมหาราชวัง เรียนรู้วิชาการเรือนและภาษาต่างประเทศตามที่กุลสตรีชั้นสูงพึงมี กล่าวกันว่าในสมัยนั้นหม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์นั้น
เป็นเจ้าหญิงในพระราชวงศ์ที่มีพระสิริโฉมงดงาม เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติรูปสมบัติและชาติกำเนิดที่สูงส่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระองค์จะเป็นที่หมายพระทัยของเจ้าชายหลายองค์ในพระราชวงศ์ไม่นานนัก พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5จึงทูลกับสมเด็จวังบูรพาผู้เป็นพระอนุชา(น้องชาย)ว่า จะขอหม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์ให้ไปเป็นชายาพระราชโอรสของพระองค์คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายอาภากร เจ้าชายหนุ่มรูปงาม
ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาหลักสูตรทหารเรือจากประเทศอังกฤษ หม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์ก็มิได้ขัดข้องแต่ประการใด ไม่นานวังหลวงอันเป็นสถานที่เงียบสงบก็กลายเป็นสถานที่จัดงานมงคลสมรสสร้างความปลื้มปิติยินดีไปทั่ววังหลวง พระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงพอพระทัยกับความรักของพระราชโอรสเป็นอย่างถึงกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทั้งสองพระองค์เข้ารับพระราชทานน้ำสังข์ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ในตอนค่ำของวันเดียวกันนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าหญิงพรรณราย และเจ้าคุณจอมมารดาแพ ทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่ออกไปส่งตัวเจ้าสาวที่วังนางเลิ้งอันเป็นวังที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นเรือนหอ
ทั้งสองพระองค์ทรงครองรักกันเรื่อยมาจนมีพยานรักร่วมกันเป็นพระโอรส 3 แต่แล้วความรักความสุขที่มีร่วมกันก็เริ่มจางไป มีเรื่องต้องขุ่นข้องหมองใจอยู่เป็นนิจไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่ทางราชการของพระองค์ชายอาภากรที่มากขึ้นทำให้มีเวลาอยู่ร่วมกันน้อยลง และอีกเรื่องที่เห็นจะเป็นชนวนใหญ่ของปัญหาชีวิตคู่นี้ก็คือเรื่องที่พระองค์เจ้าชายอาภากรรับเอาหม่อมเล็กๆเข้ามาอยู่ในวังด้วย ทำให้ปัญหาต่างๆเริ่มสั่งสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นานหม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์จึงตัดสินพระทัยเสวยยาพิษปลงประชนม์ชีพของพระองค์เอง ถึงกับสิ้นชีพิตักษัยบนตำหนักใหญ่วังนางเลิ้งตรงกับวันที่ 26 กรกฏาคม พ.ศ.2451 เวลา10.50น. เพียงพระชนม์23ปีเท่านั้น โดยพระองค์ได้เอ่ยคำสุดท้ายไว้ว่า "คนที่เรารัก..ก็ยังมิค่อยได้อยู่ใกล้"
หลังการสิ้นของพระธิดา สมเด็จวังบูรพาทรงโศกเศร้าเสียพระทัยเป็นอย่างมากถึงกับได้แต่งกลอนบทหนึ่งที่สะท้อนหัวอกของคนเป็นพ่อไว้ว่า..
เขาไม่รักเราแล้วหนอ...พ่อจะเลี้ยง
ถึงเวียงวังเราก็มี...ที่อาศัย
เขาไม่รักเราแล้ว...ก็แล้วไป
จะไปรักเขาไย...ให้ป่วยการ"
โศกนาฏกรรมหญิง!...ชิงสวาท“รักสามเศร้า” เรื่องที่สาม
ปีพ.ศ. 2449 ภายในพระบรมหาราชวัง ในสมัยนั้นผู้คนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากจะยลโฉมหญิงงามจากเมืองเหนือแล้วไซร้ให้ไปที่ตำหนักของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
ผู้เป็นพระมเหสีในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ตำหนักหลังนี้นอกจากจะเป็นที่ประทับของพระราชชายาเจ้าฯแล้ว
ยังเป็นที่อยู่ของเหล่าข้าหลวงนางในที่ล้วนแต่เป็นพระญาติและเป็นเจ้าหญิงจากพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือทั้งสิ้นจึงทำให้ตำหนักหลังนี้อบอวลไปด้วยขนบธรรมเนียมและราชประเพณีล้านนาเช่น ทุกคนจะแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสตรีชั้นสูงในคุ้มเจ้าหลวงเกล้าอวยมวยผมอย่างสาวชาวเหนือ มีดนตรีขับร้องและฟ้อนรำเป็นเอกลักษณ์อาหารการกินและภาษาเป็นคำเมือง.
ความงามของข้าหลวงนางในตำหนักนี้ขจรขจายไปทั่วในราชสำนัก แต่ที่งามสวยรวยเสน่ห์จนลือชื่อนั้นเห็นจะเป็นเจ้าหญิงองค์หนึ่งนามว่า “ยวงแก้ว สิโรรส" เจ้าหญิงเมืองเหนือองค์นี้มีอุปนิสัยใจคอเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวและห้าวหาญ มิค่อยจะเกรงผู้ใดนัก
(แถวนั่งพื้นคนที่สองจากซ้ายไปขวา)
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เจ้าหญิงยวงแก้วมีคู่รักเป็นผู้หญิง นามว่า “หม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์เทพ” หญิงสาวราชนิกุลผู้นี้เป็นข้าหลวงอยู่ตำหนักของเจ้านายพระองค์หนึ่งในละแวกเดียวกัน แต่หารู้ไหมว่าหม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์เทพผู้นี้ก็มีแฟนสาวอยู่ก่อนแล้วคนหนึ่ง ชื่อว่า นางสาวหุ่น เมื่อความเป็นเช่นนี้แล้วจึงเกิดศึกชิงรักหักสามเศร้า ระหว่างนางสาวหุ่นกับเจ้าหญิงยวงแก้ว ต่างคนต่างชิงดีชิงเด่นชิงไหวชิงพริบหวังจะเอาชนะกัน เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่พักหนึ่ง ไม่นานนางสาวหุ่นจึงปล่อยข่าวเป็นเชิงใส่ไฟเจ้าหญิงยวงแก้ว ประมาณว่าเจ้าหญิงยวงแก้วนี้หลงใหลใคร่เสน่ห์ในตัวหม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์เทพมากมายถึงขนาดเอาทรัพย์สินมีค่าที่พระราชชายาเจ้าฯประทานให้ไปปรนเปรอหม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์เทพเสียหมดสิ้น.
จนในที่สุดเรื่องใส่ไฟนี้ก็แดงขึ้น รู้กันไปถึงไหนๆ สุดท้ายก็ไปถึงหูพระราชชายาเจ้าฯ พระองค์ก็ทรงกริ้วเจ้าหญิงยวงแก้วอย่างรุนแรงถึงกับเอ่ยปาก
ให้เอาของประทานมาคืนพระองค์ให้หมด และคาดโทษไว้ว่าจะส่งตัวกลับ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ให้เร็วที่สุด.
ไม่มีใครทราบความรู้สึกของเจ้าหญิงยวงแก้วได้ดีเท่ากับตัวของท่านเองอีกแล้วแต่ที่รับรู้ได้ชัดเจนทั่วพระบรมหาราชวังคือ มันได้สร้างความอับอายให้เจ้าหญิงยวงแก้วเป็นอย่างมาก อายต่อเพื่อนๆข้าหลวง อายต่อผู้คนและคุณพนักงานในวัง จนไม่กล้าที่จะออกไปไหนมาไหน ปัญหาต่างๆสั่งสมมากขึ้นจนกลายเป็นความเครียด กลุ้มอก กลุ้มใจ ทุกข์ระทม 3วันต่อมาในคืนนั้นเองเจ้าหญิงยวงแก้วได้นอนปรับทุกข์กับเจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่เพื่อนร่วมตำหนักถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
แทนที่ทุกคนจะเห็นใจแต่กลับเยาะเย้ยเหยียดหยามซ้ำเติมเจ้าหญิงบัวชุมก็ได้แต่ปลอบใจให้คลายโศกเศร้าลงแต่แล้วในคืนนั้นเองหลังจากเจ้าหญิงบัวชุมนอนหลับสนิทนั้น...
**...เจ้าหญิงยวงแก้ว จึงตัดสินใจแอบเดินขึ้นไปยังชั้นบนสุดของตำหนัก แล้วกระโดดลงมาจนถึงแก่ความตายโดยไร้คำสั่งเสีย ด้วยวัยเพียง...19ปี
ปิดฉากตำนานรักสามเศร้านี้อย่างค้างคาใจหลายคน เพราะไม่มีผู้ใดคาดคิดว่าเจ้าหญิงยวงแก้วจะเด็ดเดี่ยวถึงเพียงนี้
อ้างอิง: หนังสือเพชรล้านนา โดยปราณี ศิริธร ณ พัทลุง