งานวิจัยจากคณะเภสัชและวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยแพทย์เปรัค มหาวิทยาลัยกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย สำรวจพบสมุนไพรที่หมอพื้นบ้านนิยมใช้เพื่อรักษาเบาหวาน ซึ่งมีประสิทธิภาพแถมยังราคาถูก ขณะเดียวกัน ผลข้างเคียงก็น้อยกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน ดังนี้
1.ฟ้าทะลายโจร
หรือที่ชาวมาเลเรียกว่า เฮมเปดุ บูมิ เป็นไม้ล้มลุกที่มีสรรพคุณคือ แก้อาการติดเชื้อ รากและใบ เมื่อนำมาศึกษาพบว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการเผาผลาญกลูโคส จึงมีผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
สำหรับวิธีใช้ก็ไม่ยาก เพียงนำใบฟ้าทะลายโจร 4-5 ใบ ไปตากให้แห้ง จากนั้น นำมาใส่น้ำร้อน ทำเป็นชา ดื่มได้ตลอดทั้งวัน
2.แป๊ะตำปึง หรือแซมบัง นยาวา
เป็นพืชล้มลุกที่พบได้ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดแป๊ะตำปึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เนื่องจากช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อดูดซึมน้ำตาลได้อย่างรวดเร็วภายใน 14 วัน นอกจากนี้ยังช่วยลดความดันโลหิต แต่ยังไม่สามารถลดระดับอินซูลิน
ในประเทศไทย ชาวเหนือนิยมนำใบสดมากินกับลาบ เรียก ว่านกอบ หรือ ใบเบก
3.ไทรไข่มุก หรือ มะจอเต๊ะ
หมอพื้นบ้านมาเลเซียดั้งเดิมใช้รักษาอาการสตรีตกเลือดหลังคลอด ช่วยให้ระบบเลือดและหัวใจทำงานได้ดีขึ้น ต่อมามีการศึกษาพบว่า สารสกัดจากใบช่วยลดทั้งระดับน้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอลและความดันโลหิตได้ จึงมีผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานขณะที่ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ยังมีสารแอนติออกซิแดนท์สูงอีกด้วย
ปัจจุบัน สมุนไพรชนิดนี้จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีการผลิตเป็นชาชงสมุนไพรพบเห็นได้ทั่วไปในมาเลเซีย
4.ดาวกระจาย หรือ อุลาม รายา
ชื่อในภาษามาเลเซียนั้นแปลว่า ราชาแห่งสลัด แม้ดาวกระจายเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปละตินอเมริกา แต่ชาวมาเลเซียนิยมใช้ใบสดมาปรุงเป็นสลัด ส่วนในตำรับยาพื้นบ้านมาเลเซียระบุว่า ดาวกระจายมีสรรพคุณในการต้านมะเร็งรักษาเบาหวาน นิ่ว และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า สารสกัดจากใบช่วยลดการดูดซึมกลูโคสในลำไส้เล็กได้ จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีผลช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วย
5.ลูกใต้ใบ หรือ ดุกัง อานัก
พืชล้มลุกขนาดเล็กชนิดนี้พบได้ทั่วไป ข้อมูลในรายงานระบุว่า เพียงออกเดินสำรวจรอบๆ บ้านก็จะพบต้นลูกใต้ใบขึ้นอยู่ มีสรรพคุณช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้ เพราะสารสกัดของลูกใต้ใบมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังช่วยขับปัสสาวะ ลดอาการบวม แก้ร้อนใน ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะได้อย่างดี
คนรุ่นก่อนมักใช้ต้นลูกใต้ใบตากแห้งมาชงเป็นชาดื่ม แต่ด้วยเหตุที่มีรสขม จึงนิยมนำมาทำเป็นแคปซูลเพื่อให้กินได้สะดวกขึ้น
____________________________________________
ข้อมูล : นิตยสารชีวจิต ฉบับ 395 (16 มีนาคม 2558)