ปรากฏการณ์เว็บใหม่มาแรง บนโลกSocial media!

ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในแวดวงนักพัฒนาเว็บไทย เมื่ออยู่ๆ ก็มีเว็บไซต์ประเภทเว็บท่า หรือ Web Portal ที่แปลงตัวเองมาเป็น “เว็บข่าว” มีการเติบโตในเชิงของผู้เข้าชมที่วัดจากจำนวน IP หรือ Internet Protocol สูงขึ้นกว่า 200% จนขึ้นไปอยู่ในอันดับ 2 ตามการวัดของ truehits.net ภายในเวลาไม่กี่เดือน
ขณะเดียวกัน ก็มีเว็บไซต์อีกเว็บหนึ่ง ที่อ้างตัวว่าเป็น “เว็บข่าว” แต่ข่าวที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นข่าวแปลกประหลาด หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ซึ่งแปลมาจากเว็บไซต์รวมเรื่องแปลกของต่างประเทศ แต่มีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับเว็บแรกจนขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 5 ในเวลาอันรวดเร็ว จะต่างกันตรงที่เว็บไซต์นี้เพิ่งเป็นที่รู้จักได้ไม่นาน


การเติบโตของเว็บไซต์ 2 เว็บดังกล่าว ทำให้เว็บท่าอันดับ 1, 2 และ 3 ที่ครองตำแหน่งมายาวนาน ได้แก่ sanook.com, kapook.com และ mthai.com ต้องปรับกลยุทธ์กันขนานใหญ่ เพราะแม้ว่าหากจะวัดความนิยมกันที่จำนวนการเข้าชมแบบรายหน้า หรือ Page Views เว็บไซต์ยอดนิยมดั้งเดิมเหล่านี้ ยังมีจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า แต่การถูกแซงด้วยจำนวน IP หรือ Unique IP ก็ทำให้เว็บไซต์เหล่านี้ ต้องปรับกลยุทธ์กันยกใหญ่

คำถามที่เกิดขึ้นคือ อะไรคือปัจจัยที่ทำเว็บไซต์ทั้ง 2 เว็บที่กล่าวถึงข้างต้น มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ แน่นอนว่า ปัจจัยพื้นฐานคือ ตัวเนื้อหาข่าวที่ถูกนำเสนอในเว็บไซต์ ซึ่งในประเด็นนี้ สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอไว้ในสกู๊ปข่าว เรื่อง “คำถามถึงมืออาชีพสื่อกับสารพัดเว็บข่าวใหม่ ทำไมโดนใจต้องแชร์!” 

โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า เว็บไซต์เหล่านี้มักจับกระแสนำคลิปวิดีโอ หรือข่าวที่เน้นสนุกสนานผ่อนคลายมา “เขียนใหม่” โดยดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ยอดฮิตของต่างประเทศคือ “Buzzfeed” ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวมข่าวกระแสไร้สาระที่เน้นปั่น “ยอดวิว” ของเมืองนอก ที่ผู้คนในหลากหลายต่างประเทศให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก เห็นได้จากมียอดกดถูกใจในแฟนเพจเฟซบุ๊กกว่า 4 ล้านคน และ Buzzfeed นี้เองก็นำข่าวและบทความจากเว็บต่างๆ มาลงเช่นกัน ไม่ว่าจะคัดลอกมาจากเว็บไซต์ของสำนักข่าวต่างๆ หรือแม้แต่เรื่องที่มีการแชร์กันในโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือเว็บบอร์ดต่างๆ

ข้อสังเกตข้างต้น น่าจะมีความถูกต้องบางส่วน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เว็บไซต์ 2 เว็บข้างต้น ยังมีการไปคัดลอกข่าวมาจากเว็บไซต์ข่าวมืออาชีพ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งบางข่าวและภาพข่าวถือว่า เป็นงานอันมี “ลิขสิทธิ์” ซึ่งขณะนี้สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของเว็บข่าวมืออาชีพ กำลังดำเนินการตักเตือนและอาจจะต้องมีการฟ้องร้องในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไป


นอกจากนี้ เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านี้ ไม่ได้เป็นเว็บไซต์ข่าวมืออาชีพ จึงเลือกที่จะนำข่าวสารต่างๆ มาเสนอโดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักจริยธรรมทางวิชาชีพ เช่น การนำคลิปที่มีการแชร์กันมากๆ ใน Social Media มาทำเป็นข่าวโดยไม่มีการตรวจสอบ หรือแม้กระทั่งการนำเสนอข่าวความรุนแรง หรือข่าวที่มีเนื้อหาและภาพด้านเพศมานำเสนอโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ จึงทำให้ไม่ถูกตรวจสอบจากสังคม เพราะสังคมไม่ได้คาดหวังเรื่องจริยธรรมจากเว็บไซต์เหล่านี้อยู่แล้ว ขณะที่ตัวเว็บไซต์เองก็ไม่แคร์ว่าจะมีใครวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร เพราะตราบใดที่ยังมีคนมากดอ่านอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจอะไร

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเติบโตของ Social Media โดยเฉพาะ Facebook ที่เป็นเครื่องมือที่ทำให้เนื้อหาจากเว็บไซต์เหล่านี้ ไปสู่กลุ่มผู้อ่านในวงกว้าง ผ่านการ “แชร์” ไปเรื่อยๆ เนื่องจากในปัจุบันคนรุ่นใหม่ที่มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต นิยมบริโภคข่าวที่มีเพื่อนแชร์ผ่านมาทาง Social Media มากกว่าที่จะบริโภคข่าวจากสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ข่าวที่เป็นมืออาชีพ

ทั้งนี้ การที่จะทำให้เนื้อหาจากเว็บไซต์ถูกแชร์ไปมากๆ ตามธรรมชาติเป็นไปได้ยาก เว้นแต่เนื้อหาเรื่องนั้น จะเป็นที่โดนใจพลเมือง facebook เข้าอย่างจัง อีกอย่างการที่เว็บไซต์ต่างๆ ได้มีการสร้าง fanpage โดยเชื่อกันว่า เมื่อเนื้อหาข่าวนั้นถูกโพสต์ลงบนหน้าแฟนเพจแล้ว จะถูกส่งไปถึงสมาชิกของแฟนเพจนั้นทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เนื้อหาข่าวนั้นจะถูกแชร์ไปที่หน้าเพจของสมาชิกแบบสุ่มๆ เพียง 5-10% เท่านั้น


ด้วยเหตุนี้เอง เว็บไซต์บางแห่งที่ต้องการเพิ่มยอดจำนวนสมาชิกที่จะได้รับการแชร์เนื้อหาข่าวไปมากๆ จะต้องจ่ายเงินซื้อยอดจำนวนสมาชิกที่เนื้อหาจะถูกแชร์ไปเพิ่มขึ้นให้แก่ทาง facebook ซึ่งเชื่อว่าเว็บไซต์ที่เติบโตแบบผิดธรรมชาติข้างต้น น่าจะใช้วิธีนี้ ในการเพิ่มยอดจำนวนผู้เข้าชมด้วย เพราะเมื่อเนื้อหาข่าวนั้นไปปรากฏในหน้าเพจของสมาชิกยิ่งมากเท่าไร โอกาสที่จะมีการแชร์ต่อไปมากๆ ก็มีเพิ่มขึ้นไปด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาที่ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า สาเหตุที่เว็บไซต์เหล่านี้ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก น่าจะเป็นเพราะว่ามีเนื้อหาที่ตรงใจ มีวิธีดึงเข้าเรื่องที่น่าสนใจ โดยการใช้พาดหัวที่ไม่เหมือนการเขียนข่าวทั่วไป ที่จะเป็นการนำเนื้อข่าวมาสรุป แต่การเขียนพาดหัวของเว็บเหล่านี้ จะเป็นการเขียนแบบทิ้งไว้เพื่อให้อยากรู้ เพราะต้องการที่จะเพิ่มยอดวิวให้กับเว็บไซต์

ดร.มานะ เสนอแนะว่า ต้องแยกระหว่างเว็บที่เป็นเว็บเฉพาะกิจ และเว็บสำนักข่าวหลัก แต่ในภาพรวมคนจะมองว่า องค์กรสื่อทุกวันนี้ค่อนข้างเบลอ เพราะสื่อหลักก็ลงไปเล่นข่าวแบบนี้บ้าง ในด้านปัญหาจริยธรรม สื่อถูกตั้งคำถามมากขึ้น มืออาชีพกับมือสมัครเล่นแยกกันไม่ได้ ทำให้คนมองภาพรวมของวิชาชีพสื่อไม่ค่อยดี


ข้อเสนอแนะของอาจารย์มานะน่าสนใจ เพราะในขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อรวมทั้งสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์จะมีการออกแนวปฏิบัติเรื่องการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับ Social Media อยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีสมาชิกของสมาคมบางส่วน ที่อาจจะละเลยไม่ดำเนินการตามแนวปฏิบัติดังกล่าวอย่างเคร่งครัด จึงทำให้ข่าวบางชิ้น มีความใกล้เคียงกับข่าวที่ถูกนำเสนอในเว็บไซต์ 2 เว็บข้างต้น เช่น การนำเนื้อหาที่เกิดขึ้นใน Social Media มานำเสนอโดยไม่มีการตรวจสอบถึงที่มาที่ไป และไม่คำนึงสิทธิความเป็นส่วนของผู้ตกเป็นข่าว

แต่ปัจจัยที่สำคัญกว่านั้น คือ ผู้บริโภคข่าวผ่าน Social Media เอง ก็ต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านและแชร์ข่าวที่ถูกส่งมาจากเว็บไซต์ ที่ไม่ใช่เว็บข่าวมืออาชีพด้วย เพราะเมื่อไม่มีคนอ่าน คนข่าว ข่าวในลักษณะดังกล่าวก็จะค่อยๆ หายไปเอง ในทางกลับกัน เมื่อผู้บริโภคข่าวยังคงแชร์ข่าวที่ไร้สาระเหล่านี้อยู่ เว็บไซต์เหล่านี้ก็จะยังคงเติบโตต่อไป

วุฒิภาวะของพลเมือง Social Media ชาวไทย จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของเว็บไซต์ ที่นำเสนอเนื้อหาที่ไร้สาระเหล่านี้ พอๆ กับการขยายตัวของ Social Media เพราะวันใดก็ตามที่ไม่มี Social Media เว็บไซต์เหล่านี้ ก็จะเหลือจำนวนผู้ชมอยู่ที่แค่หลักหมื่นเท่านั้น
Credit: http://www.siam55.com/news20899.html
22 มี.ค. 58 เวลา 21:45 1,684 1
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...