© Scherzi, James/the food pass หลากสรรพคุณผักปวยเล้ง
ผักปวยเล้งหรือภาษาจีนกลางแมนดารินเรียกว่า “ปอไช่” ไม่ใช่ผักพื้นบ้านของบ้านเมืองเรา ตามการคาดเดาน่าจะเป็นผักมาจากเมืองจีน มาพร้อมกับการอพยพของชาวจีนในสมัยก่อนๆ ตอนนี้จึงเป็นผักที่หากินได้ง่ายในตลาดทุกแห่งของบ้านเรา เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารมากมาย สามารถเป็นผักที่ร่วมเป็นเมนูบนโต๊ะอาหารของร้านอาหารดังๆ ทั้งหลายในเมืองไทยได้สบายๆ
ปวยเล้งเป็นผักที่มีรสหวาน ฤทธิ์เย็น อุดมไปด้วย โปรตีน น้ำตาล เบต้าแคโรทีน วิตามิน เอ บี ซี ดี เค เหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมคนีเซียม กรดนิโคติน โฟลิค เป็นต้น
เป็นเพราะมีสารอาหารจำนวนมาก โดยเฉพาะมีธาตุเหล็กกระมังจึงมีสรรพคุณในการบำรุงเลือด ช่วยย่อย ช่วยชุ่มชื้น ช่วยเสริมความงาม สร้างความสมบูรณ์ของเลือดพร้อมทั้งกระจายเลือดให้แก่อวัยวะทั้ง 5 อันได้แก่ ตับ หัวใจ ม้าม ปอดและไต และช่วยดับกระหาย ต่อโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน วัณโรคปอด กระเพาะลำไส้เสียความสมดุล ท้องผูก ริดสีดวงทวาร มีส่วนช่วยในการบรรเทา ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ดับกระหายและช่วยย่อยได้ดี
นอกจากนี้ เนื่องจากมีเบต้าแคโรทีนสูงมากจึงช่วยป้องกันมะเร็งได้ด้วย กินผักปวยเล้งเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งยังทำให้ยืดเวลาในการเป็นโรคต้อกระจกด้วย ในผักปวยเล้งมีโฟลิค จึงเป็นผักที่เหมาะสำหรับสตรีมีครรภ์
ผักปวยเล้งทำให้ผ่อนคลาย จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคจิตประสาทด้วย ปวยเล้งมีเหล็ก สามารถช่วยบำรุงเลือด ให้ใบหน้ามีสีเลือดฝาด โดยนำผักปวยเล้งประมาณ 2 ขีดมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นท่อนๆ ลวกในน้ำเดือดที่ใส่เกลือเล็กน้อย ตักขึ้น สะเด็ดน้ำหรือจะราดน้ำเย็นก็ได้ ใส่น้ำมันงา ซีอิ๊วขาว ชิมได้รสพอดี โรยด้วยงาขาวคั่ว 4 ช้อนชา
ปวยเล้งต้มตับหมู ปวยเล้ง 3 ขีด ล้างหั่นท่อน ตับหมู 2 ขีด ล้างหั่นชิ้นบางๆ ขิงอ่อน ครึ่งแง่ง หั่นฝอย เกลือ ต้มน้ำให้เดือด ใส่ขิงและตับหมู จากนั้นตามด้วยผักปวยเล้ง น้ำเดือดแล้วใส่เกลือปรุงรสตามต้องการ จะช่วยผลิตเลือด บำรุงเลือด
เนื่องจากผักปวยเล้งมีกรดออกซาลิกมาก เวลาปรุงอาหารต้องทำให้สุกเต็มที่ กรดออกซาลิกจึงจะหายไป เนื่องจากมีกรดออกซาลิกนี่แหละ พอไปรวมกับแคลเซียมจะเกิดเป็นแคลเซียมออกซาเลต ถ้าสิ่งนี้สะสมในตัวมากเกินไป จะทำให้เกิดนิ่วได้ แต่ก็อย่างที่กล่าวมาว่าถ้าทำให้สุกเต็มที่กรดออกซาลิกจะน้อยลงได้ จึงไม่ต้องกังวลมาก
แต่ก็อย่างที่ว่าต้องห้ามกินร่วมกับอาหารที่มีแคลเซียมมาก จะทำให้แคลเซียมตกตะกอน ผู้ป่วยที่กระดูกหัก สตรีวัยทองควรกินแต่น้อย
© สนับสนุนโดย Kom Chad Luek ไขปัญหาฯ : ผักปวยเล้ง (Spinach)