โรคลิชมาเนีย โรคอุบัติใหม่ในไทย แพทย์เตือนให้ระวัง

ภาพจาก medicinenet.com

          โรคลิชมาเนีย แพทย์เตือนระวังริ้นฝอยทรายกัด ทำให้เกิดโรค เผย ที่พบในไทยเป็นสายพันธุ์ใหม่ ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ แนะสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง         

           เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ โรคลิชมาเนีย (Leishmania) ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย เพราะพันธุ์ที่พบในประเทศไทยครั้งนี้มีสารพันธุกรรมแตกต่างจากเชื้อลิชมาเนียในประเทศอื่นที่มีรายงานมาก่อน จึงเชื่อได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ ให้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Leishmania siamensis          

           สำหรับโรคลิชมาเนียนี้ เกิดจากการกัดของริ้นฝอยทราย (Sand fly) เพศเมียที่มีเชื้อลิชมาเนีย และทำให้เกิดโรคได้ทั้งในคนและสัตว์อีกหลายชนิด เช่น หนู สุนัข แมว ม้า วัว กระรอก และกระแต เป็นต้น โดยมีมากกว่า 20 ชนิดที่สามารถทำให้เกิดโรคในคนได้ ซึ่งจะแสดงอาการออกทางอวัยวะภายใน แสดงอาการทางผิวหนัง หรือแสดงอาการออกทางอวัยวะภายในและผิวหนังร่วมกัน สังเกตอาการได้จากการเริ่มมีไข้เรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ท้องอืด ตับม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโต ผิวหนังคล้ำและเกิดรอยโรคที่ผิวหนัง         

           นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่อว่า สำหรับเชื้อลิชมาเนียที่ระบาดในไทยนั้นมี 2 ชนิด คือ ลิชมาเนียสายพันธุ์ไทย (L. siamensis) และลิชมาเนียที่พบในผู้ป่วยในเกาะมาร์ตินีก (Martinique Island) ชื่อว่า L. martiniquensis ก่อนหน้านี้มีรายงานการระบาดของเชื้อดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 74 ประเทศ ทั้งในแถบตะวันออกกลาง เมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกา อเมริกากลาง และตอนเหนือของอเมริกาใต้ 

 
ภาพจาก missinglink.ucsf.edu 

          สำหรับในประเทศไทยนั้น เคยมีรายงานพบโรคนี้ 2 ช่วง คือในปี 2503-2529 ที่พบในคนที่เดินทางเข้าไปทำงานในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรค และช่วงที่ 2 คือตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพบโรคนี้ในคนที่ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศมาก่อน และผู้ป่วยมีทั้งคนที่มีระดับภูมิคุ้มกันปกติ และภูมิคุ้มกันบกพร่อง พบทั้งในภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือ รวมทั้งชาวพม่าที่เข้ามารักษาตัวในประเทศไทยอีกด้วย          

อย่างไรก็ดี นายแพทย์อภิชัย ก็ชี้แจงว่าโรคลิชมาเนียสามารถป้องกันได้ดังนี้           

1. สวมใส่เสื้อผ้ารัดกุมมิดชิด เมื่อต้องเข้าไปทำงานหรือพักค้างคืนในพื้นที่ที่คาดว่ามีริ้นฝอยทรายอาศัยอยู่            

2. ทายากันยุงให้ทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณขาและแขน            

3. นอนในมุ้งที่ชุบด้วยสารกำจัดแมลง           

4. ฉีดพ่นสเปรย์กำจัดยุงและแมลงภายในบ้าน           

 5. ดูแลบริเวณบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้มีสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต เพราะเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญ            

6. หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ในบริเวณที่พักอาศัย และให้สารกำจัดแมลงบนตัวสัตว์ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ 

Credit: http://health.kapook.com/view115056.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...