สงกรานต์คืออะไร? ความหมายที่ ´หายไป´ กับสงครามสาดน้ำ
เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ไทยแต่โบราณ คนรุ่นใหม่ทุกคนรู้กันดี แต่ถ้าจะถามลึกลงไปว่า ...เหตุใดคนโบราณจึงยึดเอาวันที่ปีเก่าผ่านไปและนับเป็นวันปีใหม่
คือ วันที่ 13 เมษายน หรือ ทำไมเรียกวันที่ 14 เมษายน ว่า "วันเนา" คำตอบเหล่านี้ถามคนรุ่นหลังสิบคนอาจได้สิบคำตอบ?!!
เพื่อไม่ให้ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามหลายอย่างของไทยเราถูกกลืนหายไปกับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคม กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงเป็นแม่งานจัดทำหนังสือ "สงกรานต์คืออะไร?" แจกจ่ายไปตามสำนักวัฒนธรรมประจำจังหวัดทั่วประเทศ สนใจไปขอรับหนังสือเล่มกะทัดรัดฟรี! ภายในเล่มมีรูปวาดการ์ตูนประกอบน่ารัก ฝีมือ โอม รัชเวทย์ เนื้อหาอ่านง่ายๆ เต็มไปด้วยความรู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์ที่คนไทยเราควรรู้ ดังนี้
ในปี 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กำหนดให้ วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นการนับทางสุริยคติแทน จวบจนกระทั่งปี 2483 รัฐบาลไทยสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้ประกาศให้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันเป็นการนับปีใหม่แบบสากลนิยม ดังนั้น ตั้งแต่ ปี 2484 เป็นต้นมาเราจึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 มกราคม และใช้กันมาจนปัจจุบัน
สงกรานต์ปีใหม่แบบไทย
แม้เราจะนับวันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนิยม แต่ด้วยลักษณะพิเศษและกิจกรรมที่คนในชุมชนได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญสุนทาน การอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำ และการละเล่นรื่นเริงต่างๆ ล้วนทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ยังถือประเพณีสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทยๆ ที่เป็นเทศกาลแห่งความเอื้ออาทร เกื้อกูลผูกพันซึ่งกันและกัน
ประกาศสงกรานต์มีไว้ทำไม
ประกาศสงกรานต์นี้ ถือเป็นการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรื่องหนึ่งตามประเพณีราชการแต่สมัยโบราณ กล่าวคือ เมื่อสิ้นสุดปีหนึ่งๆ จะเปลี่ยนปีนักษัตรเริ่มศักราชใหม่ ทางราชการก็จะประกาศสงกรานต์ให้ราษฎรได้ทราบทั่วกันเกี่ยวกับวัน เดือน ข้างขึ้น ข้างแรมในปีต่อไป ปัจจุบันจะมีปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและปฏิทินหลวงที่พระราชทานเนื่องในวันปีใหม่ของทุกปี
สงกรานต์ในแต่ละภูมิภาค
ปัจจุบันแม้ประเพณีสงกรานต์ในหลายท้องที่จะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันมากขึ้น โดยเฉพาะตามจังหวัดใหญ่ๆ อย่างไรก็ดี ในแต่ละภูมิภาคก็ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่น่าสนใจ คือ
ภาคเหนือ หรือที่เรียกว่า ล้านนา เขาจะเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่า "วันสังกรานต์ล่อง" (อ่านว่าสังขานล่อง) หมายถึง วันที่ปีเก่าผ่านไป หรือวันที่สังขารร่างกายแก่ไปอีกปี วันนี้ตอนเช้าจะมีการยิงปืนหรือจุดประทัดเพื่อขับไล่เสนียดจัญไร จากนั้นก็จะมีการทำความสะอาดบ้านเรือน ชำระล้างร่างกายรวมทั้งแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่เพื่อต้อนรับปีใหม่
วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเนา" หรือ "วันดา" จะเป็นวันเตรียมงานต่างๆ เช่น เครื่องสังฆทาน อาหารที่จะไปทำบุญและแจกญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน วันนี้บางทีก็เรียกว่า "วันเนา" เพราะถือว่าเป็นวันห้ามพูดจาหยาบคาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ
วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันพญาวัน" หรือ "วันเถลิงศก" ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ เป็นวันที่ชาวบ้านจะทำบุญประกอบกุศล เลี้ยงพระฟังธรรม อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ สรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ นำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่
คำว่า "ดำหัว" ปกติแปลว่า "สระผม" แต่ ในทางประเพณีสงกรานต์หมายถึงการไปแสดงความเคารพ ขออโหสิกรรมที่อาจจะล่วงเกินในเวลาที่ผ่านมา และขอพรจากท่าน โดยมีดอกไม้ธูปเทียน และน้ำหอมที่เรียกว่า "น้ำขมิ้นส้มป่อย" (ประกอบด้วยน้ำสะอาดผสมดอกไม้แห้ง เช่น สารภี หรือดอกคำฝอยและฝักส้มป่อยเผาไฟ) พร้อมทั้งนำของไปมอบให้ผู้ใหญ่ เช่น ผลไม้ เสื้อผ้า อาหาร ฯลฯ เมื่อผู้ใหญ่กล่าวอโหสิกรรม และอวยพรแล้ว ท่านจะใช้มือจุ่มน้ำขมิ้นส้มป่อยลูบศีรษะตนเอง
ถัดจากวันพญาวันเรียกว่า วันปากปี จะมีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีสืบชะตา และการทำบุญขึ้นท้าวทั้งสี่ (คือการไหว้เทวดาประจำทิศ) รวมถึงการจุดเทียนต่ออายุชะตาภายในบ้าน)
นอกจากนี้หลายท้องที่ยังจัดการละเล่นรื่นเริงสนุกสนาน มีมหรสพการแสดง หรือมีการจัดประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเสริมไปด้วย เช่น การประกวดกลองมองเซิง กีฬาพื้นเมือง เป็นต้น
ภาคอีสานหรือตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีสงกรานต์จะจัดกิจกรรม 3 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรืออาจจะ 7 วัน ก็แล้วแต่ท้องถิ่นกำหนด โดยวันแรกจะตรงกับวันที่ 13 เมษายนเป็นต้นไป กิจกรรมที่จัดจะคล้ายกับทางเหนือ กิจกรรมหลักๆ คือ สรงน้ำพระพุทธรูป ซึ่งส่วนใหญ่จะทำอยู่วันเดียว โดยมากจังหวัดจะจัดขบวนแห่ขึ้น ประกอบด้วยพระพุทธรูปและบริวารอื่นๆ เมื่อแห่เสร็จก็จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ตามลำดับ
จากนั้นก็มักมีการ ทำบุญอัฐิบรรพบุรุษ ที่เรียกว่า สักอนิจจา ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้คนอีสานที่ไปทำมาหากินหรือตั้งถิ่นฐานอยู่ต่างถิ่น มักจะเดินทางกลับภูมิลำเนาในวันสงกรานต์เพื่อรวมญาติ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว
นอกจากนี้ก็มีการปล่อยสัตว์ ปล่อยนก ปล่อยปลา ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ก็มีการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การแสดง และการละเล่นต่างๆ ตามประเพณีท้องถิ่น ด้านคนหนุ่มคนสาวและเด็กๆ ก็จะเล่นสาดน้ำกันด้วยความสนุกสนานเชื่อมสัมพันธ์กันและกัน โดยก่อนวันสงกรานต์จะมีการทำความสะอาดบ้าน การเตรียมอาหารและทุกสิ่งไว้ให้พร้อม เพื่อจะได้งดการทำภารกิจต่างๆ ในช่วงสงกรานต์ซึ่งถือเป็นวันเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ทุกคนรอคอย
ภาคใต้ จะเรียกว่า "วันสงกรานต์" ว่า "ประเพณีวันว่าง" ถือว่าเป็น วันละวางทั้งกายและใจ จากภารกิจปกติ ซึ่งตามประเพณีจะจัดกิจกรรม 3 วันคือวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายนของทุกปี
วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันเจ้าเมืองเก่า" หรือ "วันส่งเจ้าเมืองเก่า" เพราะเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ในวันนี้มักจะเป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือน และเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ รวมทั้งทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ที่เรียกว่า ลอยเคราะห์ หรือ ลอยแพ เพื่อให้เคราะห์กรรมต่างๆ ลอยตามไปกับเจ้าเมืองเก่าไป และมักจะมีสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญในวันนี้
ส่วนวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันว่าง" คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง ดังนั้น ชาวบ้านก็จะงดงานอาชีพต่างๆ แล้วไปทำบุญที่วัด และรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ส่วนวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันรับเจ้าเมืองใหม่" คือวันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิม วันนี้ชาวเมืองมักจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับใหม่แล้วนำอาหารไปทำบุญที่วัด
นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ชาวใต้ยังมีการปล่อยนกปล่อยปลา การก่อเจดีย์ทรายและการเล่นสาดน้ำเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ และในสมัยก่อนแต่ละหมู่บ้านจะมีคณะเพลงบอกออกไปตระเวนร้องตามชุมชนหรือหมู่บ้าน โดยจะมีการร้องเป็นตำนานสงกรานต์ หรือเพลงอื่นๆ ตามที่เจ้าของบ้านร้องขอด้วย
ภาคกลาง ประเพณีสงกรานต์ในภาคกลางจะมีกิจกรรมหลักๆ คล้ายภาคอื่นๆ เช่นกันคือ การทำความสะอาดบ้านเรือน เครื่องใช้ต่างๆ ก่อนวันสงกรานต์ ครั้นถึงวันสุกดิบ (ก่อนสงกรานต์หนึ่งวัน) ก็จะเป็นการเตรียมทำอาหารคาวหวานไปทำบุญตักบาตร หรือนำไปถวายพระที่วัด ซึ่งอาหาร/ขนมที่นิยมทำในเทศกาลนี้ได้แก่ ข้าวแช่ ข้าวเหนียวแดง กะละแม ลอดช่อง เป็นต้น
นอกจากนี้ก็ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ การสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การละเล่นพื้นบ้าน การจัดประกวดเทพีสงกรานต์ การจัดขบวนแห่ การขนทรายเข้าวัดและก่อพระเจดีย์ทราย เป็นต้น