พบกระเบนขนุนพันธุ์หายากใต้ท้องทะเลเกาะพีพี หัวหน้าหน่วยสิ่งแวดล้อม ระบุ ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์
วันที่ 16 มีนาคม 2558 นายจิรศักดิ์ พุทธวรรณ นักดำน้ำ และเป็นประธานชมรมวิทยุสมัครเล่นเกาะพีพี สามารถบันทึกกระเบนขนุนตัวสีขาวไว้ได้ ขณะลงไปดำน้ำบริเวณเกาะปิดะนอก แหล่งท่องเที่ยวจุดดำน้ำลึกชื่อดังของเกาะพีพี จ.กระบี่ โดยกระเบนตัวดังกล่าว มีความกว้างประมาณ 1 ฟุต ยาวตั้งแต่หัวถึงหางประมาณ 80 เซนติเมตร สภาพตัวสีขาวตามลำตัวมีตุ่ม และเมื่อเข้าไปใกล้ก็ได้ว่ายน้ำหนีไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่กระเบนสายพันธุ์อื่นที่พบได้ทั่วไปก็มีอยู่หลากหลายในบริเวณดังกล่าว
ขณะที่ นายปิยะวัฒน์ พรหมรักษา หัวหน้าหน่วยสิ่งแวดล้อม ประจำสถานีวิจัยและพัฒนาชายฝั่งอันดามัน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า กระเบนตัวดังกล่าวเป็นกระเบนขนุน เป็นกระเบนที่พบได้ยาก แต่อยู่อาศัยทั่วไปในทะเลลึก ส่วนที่มาพบในบริเวณใกล้เกาะพีพี อาจเกิดจากการเข้ามาหากินในจุดที่มีความสมบูรณ์ เพราะกระเบนประเภทนี้มีความอ่อนไหวต่อระบบนิเวศสูงมาก หากไม่สมบูรณ์จริงก็จะไม่เข้ามา
นายปิยะวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับกระเบนขนุน เป็นกระเบนที่มีขนาดใหญ่และยาวได้กว่า 1.5 เมตร ตามลำตัวมีหนามคล้ายเม็ดขนุนโผล่ขึ้นมาทั้งตัว และที่ปุ่มดังกล่าวมีพิษรุนแรง ชาวประมงไม่ชอบให้ติดอวนเพราะยุ่งยากหากนำมาทำอาหาร แต่จากสภาพที่พบถือได้ว่าท้องทะเลกระบี่ยังมีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่งและมีสัตว์ทะเลที่หลากหลายอยู่ ส่วนสาเหตุที่พบน้อยอาจเพราะมีกิจกรรมทางน้ำมาก ทั้งเรือนำเที่ยว เรือประมง และการดำน้ำของนักท่องเที่ยวที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น