เรื่องจริงที่ยิ่งกว่าละคร สุข เศร้า เคล้าน้ำตา ปะปนกันไป ก่อเกิดโศกนาฏกรรมในวันวาน มาวันนี้หลายที่เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีประวัติอันยาวนานให้จดจำ PaiNaiDii ขอพาคุณไปเที่ยวสถานที่แห่งวันวานที่มีที่มาจากอดีตอันปวดร้าว เหตุผลอะไรที่สถานที่ต่างๆ เหล่านี้เป็นจุดจบของเรื่องราว หรือ จุดเกิดเหตุที่คร่าชีวิต มาร่วมกันตามหาร่องรอยอดีตกับสถานที่ประวัติศาสตร์ที่จารึกความทรงจำอันแสนโหดร้ายด้วยกัน
เส้นทางรถไฟสายมรณะ
อนุสรณ์สถานที่แลกมาจากการ "ทารุณกรรม"
“เส้นทางรถไฟสายมรณะ” จุดกำเนิดของเรื่องราว เริ่มต้นเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2กองทัพญี่ปุ่นในยุคนั้น ถือเป็นมหาอำนาจในโลกเลยก็ว่าได้ ได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์จากประเทศไทยมุ่งเข้าสู่พม่า ความโหดร้ายได้ก่อตัวขึ้นเมื่อมีการเกณฑ์เชลยศึกมากมายจากหลายชนชาติด้วยกันได้แก่ ทหารอังกฤษ ทหารอเมริกา ทหารออสเตรีย ทหารฮอลแลนด์ ทหารนิวซีแลนด์ ประมาณ 61,700 คน พร้อมกันนี้ยังมีการเกณฑ์ไพร่พลกรรมกรชาวจีน ญวน มลายู ไทย พม่า อินเดีย อีกเป็นจำนวนมาก ในระหว่างการก่อสร้าง ทั้งเชลยศึกและกรรมกร ต้องเผชิญกับความยากลำบากต่างๆ นานา การถูกทารุณกรรม โรคระบาด อาหารที่ขาดแคลน การทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรอีกนับร้อยลูก ทำให้เหล่าเชลยศึกและคนงานทั้งหลายพากันมาจบชีวิตลง ณ สถานที่แห่งนี้
การก่อสร้างนี้กองทัพญี่ปุ่น ได้ยืมเงินจากรัฐบาลไทย จำนวน 4 ล้านบาท ใช้เวลาสร้างเพียง 1 ปีเท่านั้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2485ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2486 และเปิดใช้ทันทีในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2486 ตั้งแต่นั้นมา เส้นทางรถไฟแห่งนี้ก็ได้เป็นอนุสรณ์สถานจากร่องรอยประวัติศาสตร์ ความทรงจำหวนให้นึกถึงความร้ายกาจในยุคสงคราม เส้นทางรถไฟมรณะที่แลกมาจากเลือดเนื้อจากคนเกือบแสน
พิกัดเกิดเหตุ
ทางรถไฟสายนี้เริ่มต้นจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านจังหวัด
กาญจนบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่ โดยสะพานข้ามแม่น้ำแควไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อให้ถึงสถานีปลายทางที่เมืองทันบูซายัด ประเทศพม่า มีความยาวรวม 415 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟอยู่ในเขตประเทศไทยประมาณ 303.95 กิโลเมตร และอยู่ในเขตพม่า 111.05 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 37 สถานี
เที่ยวตามรอยอดีต
เส้นทางรถไฟสายนี้ให้บริการเดินรถทุกวันและจัดรถไฟขบวนพิเศษสายกรุงเทพฯ - น้ำตก ในวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเก็บภาพบรรยากาศแห่งความงาม พร้อมซึบซับความทรงจำจากอดีต โดยจุดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากคือช่วงสะพานข้ามแม่น้ำแคว และช่วงโค้งมรณะหรือถ้ำกระแซ ซึ่งเป็นสะพานโค้งเลียบแม่น้ำแควน้อยยาวประมาณ 400 เมตร
2อุโมงค์เขาน้ำค้าง
ซ่อนกองกำลังกว่า 4,000 ชีวิตได้อย่างมิดชิดกับความแร้นแค้น
อุโมงค์ดินเหนียวแห่งนี้เป็นอุโมงค์ที่มีขนาดใหญ่และยาวที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ใครกันที่สร้างอุโมงค์แห่งนี้ขึ้นมา เพื่ออะไร ในอดีตสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาน้ำค้างแห่งนี้เสมือนเขตหวงห้ามเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ด้วยพื้นที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน โจรจีนคอมมิวนิสต์(จ.ค.ม.) จึงได้เลือกที่แห่งนี้เป็นฐานที่มั่น เป็นแหล่งสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารที่สำคัญ ด้านในมีถึง 3 ชั้น มีทางเข้าออก 16 ช่องทาง ความยาวคดเคี้ยวขึ้นลงในภายในอุโมงค์ประมาณ 1,000 เมตร ภายในอุโมงค์แบ่งเป็นห้องๆ เช่น ห้องประชุม ห้องพยาบาล ห้องวิทยุ ห้องครัว สนามซ้อมยิงปืน โดยอุโมงค์ขุดด้วยกำลังคน 200 คนต่อวัน ใช้เพียงมือเท่านั้นในการขุด ทุกคนต้องช่วยกันถึงแม้ไม่อยากทำก็เลี่ยงไม่ได้ ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี ไม่ง่ายเลยกว่าได้มา เขาน้ำค้าง เหมาะกับการหลบซ่อน แต่ไม่เหมาะการอยู่อาศัย ด้วยพื้นที่เป็นถิ่นธุรกันดาร อาหารการกินที่หาได้ยากในแถบนี้ กองกำลังโจรจีนคอมมิวนิสต์ต้องซ่อนตัวภายในอุโมงค์อย่างเงียบเชียบ อดมื้อกินมื้อกับเสบียงที่จำกัดจำเขี่ย แม้แต่อากาศที่ไม่ต้องขวนขวาย แต่ที่นี่ก็ไม่มีให้ เมื่อป่วยก็ต้องรักษากันเอง ล้มหายตายจากศพก็ยังไม่สามารถนำออกมาประกอบพิธีได้
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2523 กองกำลังโจรจีนคอมมิวนิสต์สลายตัวไปในที่สุด ด้วยปฏิบัติการตามแผนยุทธการใต้ร่มเย็น สามารถเข้ายึดค่ายปฏิบัติการของโจรจีนคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ จากนำนโยบายการเมืองนำการทหารกองทัพภาคที่ 4 และหน่วยทหารผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43 (พตท.43)
พิกัดเกิดเหตุ
อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอนาทวี และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีสภาพป่าและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 132,500 ไร่ หรือ 212 ตารางกิโลเมตร
เที่ยวตามรอยอดีต
ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างเปิดให้เข้าเยี่ยมชม โดยภายในอุโมงค์จะมีนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมา ข้อมูลและภาพถ่ายในสมัยก่อน ภายในอุโมงค์ยังคงสภาพเหมือนในอดีต มีห้องต่างๆให้ได้เยี่ยมชมพร้อมป้ายบอก เช่น ห้องประชุม ห้องพยาบาล ห้องวิทยุ ห้องครัว สนามซ้อมยิงปืน เป็นต้น และยังมียาสมุนไพรจำหน่าย คิดค่าเข้าชมคนละ 20 บาท
สะพานนนทบุรี
คดีอาชญากรรมในวงการแพทย์อันโด่งดัง “เหตุปมรักนวลฉวี”
กว่า 50 ปีที่ “สะพานนนทบุรี” สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแบบเปิดได้ที่สร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสะพานแรกๆ ของประเทศไทย ได้รับการกล่าวขานในชื่อใหม่ว่า “สะพานนวลฉวี” สาเหตุที่เรียกชื่อนี้ มีอยู่ว่า เช้าวันที่ 12 กันยายน 2502 เวลา 8.45 น. นายจำลอง จิรัตฐิตกุล ช่างกลปากเกร็ดนั่งเรือแท็กซี่จากบ้านที่คล้องอ้อมไปทำงาน ระหว่างที่นั่งเรือแท็กซี่นั้นเขาได้พบกับ ศพ! ในแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตนนทบุรี ศพหญิงสาวผู้น่าสงสารสวมเสื้อสีฟ้าอ่อน นุ่งกระโปรงสีดำ สืบความในเวลาต่อมาทราบว่า เธอคือ นวลฉวี เพชรรุ่ง
ผลจากการชันสูตรศพ สาเหตุการตายเนื่องจากถูกแทงจนเลือดตกในมาก และสิ้นใจก่อนถูกโยนลงน้ำ จากหลักฐานที่พบ มีนาฬิกาข้อมือและแหวนทองลงยา จารึกนามสกุล "รามเดชะ" (สกุลเดิมของหมออธิปสามีของนวลฉวี) ด้วยหลักฐานชิ้นนี้นี่เองที่บ่งชี้ว่าเธอผู้นี้เป็น ใคร จากการสืบสวนของตำรวจจึงสืบทราบไปถึงตัว หมออธิป สุญาณเศรษฐกร สามีของผู้ตาย และสุดท้ายหมออธิปสารภาพว่าตนเองเป็นคนวางแผนฆ่านวลฉวี โดยจ้างวานให้คนอื่นจัดการฆ่าแล้วเอาศพไปถ่วงน้ำ ต่อมา ตำรวจตามจับคนรับจ้างฆ่าและเค้นหนักจนในที่สุดก็สารภาพสิ้น หมออธิปก็สิ้นอิสรภาพในที่สุด
พิกัดเกิดเหตุ
สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมพื้นที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เข้ากับตำบลบางขะแยง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
เที่ยวตามรอยอดีต
สามารถชมวิวสวยได้กว้าง 360 องศา จากร้านอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยา และร้านบริเวณเชิงสะพานนวลฉวี
คุกขี้ไก่
กักขังนักโทษที่คิดต่อต้าน แต่ต้องทุกข์ทรมานจาก “ขี้ไก่"
คุกขี้ไก่ กักขังนักโทษที่คิดต่อต้าน แต่ต้องทุกข์ทรมานจาก “ขี้ไก่”ฝรั่งเศสได้เข้ามายึดครองเมืองจันทบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2436 เดิมแรกเริ่มสร้างมาเพื่อเป็นป้อมปืน ตรวจการบริเวณปากน้ำแหลมสิงห์ หรือในสมัยนั้นที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อว่า “ป้อมฝรั่งเศส” ลักษณะป้อมสร้างด้วยอิฐมีลักษณะเป็นหอสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้าง 4 เมตร สูง 10 เมตร มีช่องสังเกตุการอยู่ 2 แถว หลังคามุงกระเบื้องทรงพีระมิด
ต่อมาป้อมแห่งนี้ต่อมาได้นำมากักขัง นักโทษผู้ที่คิดต่อต้านกับชาวฝรั่งเศสที่อาศัยในไทย ทั้งทหารญวน จีน รวมทั้งคนไทย ชั้นบนเป็นที่เลี้ยงไก่เพื่อถ่ายมูลใส่นักโทษข้างล่างจึงเรียกคุกแห่งนี้ว่า “คุกขี้ไก่” เล่ากันว่าเป็นคุกที่ทรมานมากที่สุด นักโทษต้องทนทุกข์ทรมานกับขี้ไก่ แต่ก็ต้องกินขี้ไก่เพื่อประทังความหิว ทั้งๆ ที่เหม็น สกปรก เต็มไปด้วยเชื้อโรค นักโทษบางคนติดเชื้อถึงกับบาดเจ็บล้มตาย คุกแห่งนี้ยกเลิกใช้คุมขังหลังจากทหารฝรั่งเศสถอนกำลังออก เมื่อพ.ศ. 2447
พิกัดเกิดเหตุ
ที่ตั้งของคุกขี้ไก่อยู่หมู่ที่ 1 ตำบลปากแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี คุกขี้ไก่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 3 (จันทบุรี-ตราด) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3149 ก่อนถึงอำเภอแหลมสิงห์ตั้งอยู่ทางด้านขวามือ
เที่ยวตามรอยอดีต
คุกขี้ไก่ได้รับการยกย่องให้เป็นโบราณสถาน เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการกดขี่ข่มเหงในยุคสมัยการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมร่องรอยอดีตในยุคประวัติศาตร์ กับการเอาชีวิตเข้าแลกของบรรพบุรุษไทยเพื่อรักษาบ้านเมืองไว้