สิงคโปร์อายุครบ 50ปี: จากหมู่บ้านเพิงในโคลนตมสู่ตึกระฟ้า

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่สิงคโปร์เพิ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่จะเป็นต้นทุนพัฒนาตัวเอง หลายประเทศมองว่าสิงคโปร์ไม่น่าจะไปรอด แต่ในวันนี้ประเทศเล็กๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่เคยอาศัยในบ้านเพิงบนพื้นที่โคลนตม ได้กลายเป็นประเทศที่มีประชากรร่ำรวยมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลกด้วยความแข็งแกร่งของทรัพยากรมนุษย์ที่อพยพเข้ามาสรรหาโอกาส

การพัฒนาจากสภาพชุมชนที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสู่ความเป็นเมือง เริ่มขึ้นเมื่ออังกฤษเข้ายึดครองพื้นที่ในฐานะเจ้าอาณานิคมเมื่อปี 2362 เนื่องจากตั้งอยู่บนเส้นทางเดินเรือระหว่างอินเดียกับจีน ความรุ่งเรืองของเมืองท่าใหม่นี้ดึงดูดให้ประชากรในภูมิภาครอบๆ อพยพเข้ามาหาโอกาสใหม่ๆ ให้ชีวิต

ก่อนได้รับเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษ ประชากรกว่าล้านคนในสิงคโปร์อาศัยในหมู่บ้านเพิงไม้บนพื้นที่ที่เป็นโคลนตมซึ่งภาษามลายูเรียกว่า ‘กำปง’ เวลานั้นยังไม่มีน้ำสะอาดบริโภคและจุดหมายในการดำเนินชีวิตของประชาชนคือการมีชีวิตอยู่รอดไปวันๆ

หนึ่งปีภายหลัง นายลี กวนยู ชนะการเลือกตั้งครั้งแรก สิงคโปร์ตัดสินใจเข้ารวมตัวกับสหพันธรัฐมาลายาซึ่งประกอบไปด้วย 5 เขตปกครอง ได้แก่ มาเลเซีย บอร์เนียวเหนือ ซาราวัก บรูไน และสิงคโปร์

แต่ด้วยความขัดแย้งระหว่างสมาชิกสหพันธ์ฯ ในด้านต่างๆ เช่นว่าใครจะเป็นผู้ดูแลการเงินการคลังของสิงคโปร์ ความตึงเครียดด้านเชื้อชาตินำไปสู่จลาจลระหว่างชุมชนสิงคโปร์เชื้อชาติจีนและเชื้อชาติมาเลย์ ในที่สุดในปี 2508 สิงคโปร์ต้องถอนตัวออกจากสหพันธมาลายา

หลายประเทศไม่คิดว่าสิงคโปร์จะไปรอดเมื่อต้องเดินไปโดยลำพัง

นโยบายสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สิงคโปร์เริ่มเข้าสู่การพัฒนาคือนโยบายการเคหะแห่งชาติที่รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินการในช่วงสิบปีนับจากปี 2503 หรือในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1960 โครงการอาคารที่อยู่อาศัยในตึกสูงที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด อาคารที่พักอาศัยดังกล่าวทำให้ชาวสิงคโปร์ในตอนนั้นรู้จักกับสุขภัณฑ์ชักโครกเป็นครั้งแรก และทำให้มีการพัฒนาระบบการประปาที่ได้มาตรฐานเพื่อทุกครัวเรือนมีน้ำสะอาดใช้จากก๊อกน้ำของตน

ภายในปี 2528 ทางการสิงคโปร์พูดได้เต็มปากว่า ประเทศของพวกเขาไม่มีคนเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีสลัม และไม่มีการแยกชุมชนตามเชื้อชาติ แต่ให้อยู่ร่วมกัน เนื่องจากนโยบายการเคหะของสิงคโปร์ดังกล่าวมีนัยสำคัญของการเป็นนโยบายสร้างชาติด้วย โดยการกำหนดให้อาคารพักอาศัยทุกหลังต้องประกอบไปด้วยผู้อยู่อาศัยต่างเชื้อชาติคละเคล้ากันไป โดยคนเชื้อชาติจีนต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนจีน คนเชื้อชาติมาเลย์ต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนมาเลเซีย หรือคนเชื้อชาติอินเดียต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนอินเดีย แต่ทุกคนเป็นคนสิงคโปร์

ความสำเร็จของการสร้างชาติที่มั่นคงและมั่งคั่งของสิงคโปร์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลายเสมอไป บางครั้งต้องแลกมาด้วยเรื่องที่มองกันว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน

การรณรงค์ให้คนสิงคโปร์มีบุตรเพียง 2 คนต่อครอบครัวในท้ายที่สุด ทำให้สิงคโปร์มีปัญหาด้านความสมดุลของจำนวนประชากร โดยมีอัตราเกิดที่ไม่สามารถทดแทนอัตราการตายได้โดยเฉลี่ยที่ 1.3 แทนที่จะเป็น 2.1 ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการหันมาพึ่งพาการย้ายถิ่นฐานของคนต่างด้าวเข้ามาในสิงคโปร์แทน

ความเป็นชาติที่เป็นปึกแผ่นของสิงคโปร์ต้องแลกด้วยความเด็ดขาดในการปกครอง สิงคโปร์มีชื่อด้านการลงโทษผู้ทำผิดร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต โดยเฉพาะในคดียาเสพติด ประมาณว่าตั้งแต่ปี 2534 มีนักโทษถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอแล้วราว 400 ราย ซึ่งทำให้สิงคโปร์ได้รับสมญานามว่า ‘ดิสนีย์แลนด์แดนประหาร’

นอกจากนี้ ความเป็นหนึ่งเดียวกันของสิงคโปร์ยังหมายถึงการจำกัดการมีเสรีภาพของสื่อมวลชน องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนจัดลำดับให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเสรีภาพด้านสื่อมวลชนต่ำเป็นลำดับท้าย ๆ จาก 180 ประเทศ

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นทางออกของประชาชนสิงคโปร์ในการแสดงความคิดเห็นและรับรู้ข่าวสารนอกเหนือไปจากช่องทางของสื่อปกติที่มีรัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวด

การเซ็นเซอร์งานศิลปะเช่นละครก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการควบคุมสื่อที่รัฐบาลสิงคโปร์มีชื่อในทางที่ไม่สู้จะดีนัก โดยในอดีตเมื่อ 35 ปีที่แล้ว นักเขียนบทละครต้องส่งบทให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจ แต่ปัจจุบันรัฐบาลควบคุมโดยใช้วิธีจัดประเภทและกำหนดอายุของผู้ชม

ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ของสิงคโปร์ โดยเป็นประเทศที่มีช่องว่างดังกล่าวมากที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

อีกข้อคือปัญหาด้านอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเกิดจากการมีนโยบายพึ่งพาแรงงานย้ายถิ่น ที่เข้ามาพำนักในสิงคโปร์มาก ปัจจุบันมีคนต่างด้าวคิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งชาวสิงคโปร์กังวลว่าจะเป็นการสลายอัตลักษณ์ของความเป็นชาติสิงคโปร์ ทั้งนี้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยออกนโยบายคัดกรองการเข้าเมืองและย้ายถิ่นฐานให้มีความเข้มงวดขึ้น

ในขณะที่มีประชากรจากภายนอกอพยพเข้ามามาก ประชาชนสิงคโปร์เองจำนวนไม่น้อยรู้สึกอยากย้ายถิ่นฐานออกไปมีชีวิตในต่างประเทศ จากการสำรวจคนราว 2,000 คน ร้อยละ 56 ของคนจำนวนดังกล่าวบอกว่า อยากออกไปอยู่นอกประเทศ

Credit: https://www.facebook.com/BBCThai/photos/pcb.1618301401724227/1618300815057619/?type=1&theater
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...