เพราะไม่มีสิ่งใดเป็นนิรันดร์ เมื่อเวลาผันผ่านทุกอย่างก็พร้อมล่มสลาย
ลองดูตัวอย่างของเทคโนโลยีทั้งหลายเหล่านี้ ที่เคยผ่านยุคเรืองรอง เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ซึ่งอาจใช้คำว่าเป็นสิ่ง ‘เปลี่ยนโลก’ เลยก็ว่าได้ แต่แล้ววันนี้ทุกอย่างคือ ‘อดีต’ ด้วยความนิยมที่ถดถอย และหลายสิ่งถึงขนาด ‘เลิกใช้’ ไปเลยก็มี
ICQ (I Seek You)
โปรแกรมติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สัญลักษณ์ดอกไม้เขียวที่คุ้นตา ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงปี พ.ศ. 2539 - 2543 ยอด Register มากถึงหลายร้อยล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก ค่อยๆ หายไปจากความนิยมเมื่อคนไทยมีทางเลือกมากขึ้น อย่างไรก็ดีทุกวันนี้ยังคงมีการพัฒนาอยู่ ด้วยความสามารถที่มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการสนใจแต่อย่างใด
Pirch98
ห้องแชทสาธารณะเพื่อเข้าไปคุยกับกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และสามารถแยกมาคุยส่วนตัวผ่านการส่งข้อความหากัน โด่งดังมากๆ ตั้งแต่ยุค 90 ต่อมาถึงยุคมิลเลนเนียมช่วงต้นๆ แต่ด้วยการจุติของขาเกรียน ทำให้ผู้ดูแลห้องต้องปวดหัว หมั่นเตะหรือไล่คนในห้องออก และก็มีหลายครั้งที่เตะมั่ว สร้างเป็นความเบื่อหน่ายของผู้เล่น จนค่อยทยอยหายไป (ปัจจุบันยังมีคนเล่นอยู่ แต่ปริมาณน้อยมากๆ)
MSN
เชื่อว่าหนุ่มๆ ต้องเคยผ่านประสบการณ์ตามล่าอีเมลของสาวๆ ตามเว็บบอร์ดต่างๆ มาแอดเพื่อพูดคุยอย่างแน่นอน MSN เป็นการต่อยอดมาจากบริการ Hotmail ของ Microsoft ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก (ภายหลังเปลี่ยนเป็นชื่อ Windows Live Messenger) แต่แล้วการรุกรานของโซเชียลเน็ตเวิร์กรูปแบบใหม่มากมายทำให้การ ‘ออนเอ็ม’ ถูกลืม และจบประวัติศาสตร์ไว้ที่ 12 ปี ในวันที่ 8 เมษายน 2556 โดยย้ายผู้ใช้บริการไปยัง Skype ให้อัตโนมัติ
IE (Windows Internet Explorer)
เว็บบราวเซอร์จาก Microsoft เปิดตัวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 พัฒนาต่อเนื่องมาถึง IE6 ก็สามารถขึ้นแท่นเป็นโปรแกรมท่องเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ครองส่วนแบ่งการตลาดแบบเหนือคู่แข่งแบบเบ็ดเสร็จ (ปี พ.ศ. 2544) อย่างไรก็ดีแม้ปัจจุบันจะมาถึง IE8 แล้ว แต่ปัญหาเดิมๆ ที่นักพัฒนาเว็บไซต์ต่างส่ายหน้าให้ IE คือด้านการแสดงผลหน้าเว็บที่มักมีปัญหาอยู่ตลอด ทั้งรูปแบบของเว็บที่ผิดแปลกไป ต้องใช้เวลาในการแสดงผลนาน ตลอดจนเรื่องสำคัญอย่างระบบความปลอดภัยที่แย่มากๆ โดน Phishing และ Virus Spyware Malware บุกจู่โจมอย่างเนื่อง ทำให้คนหนีไปใช้ค่ายอื่นและไม่เหลียวแลกลับมาหา IE อีกเลย
โทรเลข
ระบบโทรคมนาคม ซึ่งใช้อุปกรณ์ทางไฟฟ้าส่งข้อความจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ถูกสร้างขึ้นมาแทนการส่งข่าวโดยม้าเร็ว ควันไฟ หรือนกพิราบ ถือเป็นต้นแบบสำคัญที่นำพาไปสู่พัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสาร และเมื่อทุกอย่างพัฒนาข้ามขั้นไป โทรเลขจึงดูล้าสมัยไปเสียแล้ว สุดท้ายประเทศไทยก็ประกาศเลิกใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551 เวลา 20.00 น.
ตลับเทป
Compact Cassette หรือเรียกสั้นๆว่า เทป หนึ่งในสัญลักษณ์ของวงการดนตรี รูปแบบการบันทึกเสียงลงสื่อรูปแบบหนึ่งโดยใช้แถบแม่เหล็ก ขนาดเล็กสามารถพกพาได้อย่างสะดวก ความนิยมของเทป ทำให้แผ่นเสียงถูกตีกรอบเหลือในวงแคบๆ และก็เป็นวัฏจักรเมื่อการบันทึกเสียงแบบดิจิตอลเริ่มเฟื่องฟู ซีดีก็เตะเทปตกกระป๋อง (แต่แปลกที่แผ่นเสียงกลับมาเกิดใหม่แหะ)
เครื่องเล่นเทปแบบพกพา
‘ซาว-อะ-เบ๊า’ คือคำที่คนไทยใช้เรียกเจ้าเครื่องนี้ ทำงานร่วมกับหูฟังคู่เก่งให้คุณได้เพลิดเพลินไปกับตลับเทป หรือซีดีโปรด แต่เพราะข้อจำกัดในการฟังได้แค่ทีละม้วนหรือทีละแผ่นนี่แหละ ที่ปิดกั้นอิสระในการรับฟัง พร้อมสร้างความลำบากหอบหิ้วหากต้องการการรับฟังที่มากกว่า ดังนั้นเมื่อเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลรุ่นใหม่ๆ ได้ถูกพัฒนาขึ้น มันจริงหายไปตามกาลเวลา โดย Sony ประกาศเลิกผลิตรุ่นที่ใช้เทปคาสเซท เมื่อปี พ.ศ. 2553 และนำคำว่า Walkman มาใช้กับเครื่องเล่น MP3 แทน
ม้วน+เครื่องเล่นวิดีโอ
หลายท่านอาจจะเคยมีโมเมนต์ที่ว่า เย็นวันศุกร์เดินไปเช่าหนัง และหอบวิดีโอออกจากร้านมาหลายม้วนเพื่อรับชมในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือการตะเวนเลือกซื้อหาคอนเสิร์ตสุดโปรด หรือมอบความบันเทิงให้ตัวเองด้วยวิดีโอคาราโอเกะสักม้วน และเช่นเดียวตลับเทปเมื่อสื่อดิจิตอลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แถมยังให้การแสดงที่ผลที่คมชัดกว่า ราคาถูกกว่า พกพาง่ายกว่า แล้วใครเล่าจะมานั่งดูภาพจากวิดีโอ ผ่านเครื่องเล่นโบราณๆ
เครื่องกรอวิดีโอ
เพราะวิดีโอไม่สามารถใช้ปากกาเสียบแล้วหมุน เพื่อไปยังตอนที่ต้องการได้แบบเดียวกับเทป และความกลัวว่าถ้ากรอด้วยเครื่องเล่นวิดีโอจะทำให้ต้องเครื่องเสียเร็ว เจ้าสิ่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นมา พร้อมพัฒนาจากหน้าตาสี่เหลี่ยมทื่อๆ เป็นรูปลักษณ์สุดเฟี้ยวฟ้าวหลากหลาย แต่แล้วก็ต้องจากไปเมื่อวิดีโอไม่ใช่ความบันเทิงภายในบ้านที่ผู้คนต้องการอีกต่อไป
MD (Mini Disc)
Sony คิดค้นและผลิตขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 ด้วยหวังจะให้มาทดแทนเครื่องเล่นเทป นิยมอย่างมากในหมู่ผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบเสียง เพราะสามารถบันทึกเสียงได้ถึงแผ่นละ 80 นาที พร้อมความเสถียรที่ยอดเยี่ยม แปลกแต่จริงที่ชาวตะวันตกนิยมใช้งาน MD อย่างแพร่หลาย ตรงกันข้ามกับประเทศผู้ผลิตเองอย่างญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทยด้วย Sony จึงประกาศยุติการขายเครื่องเล่น MD ในปี พ.ศ. 2554 และเลิกการผลิตอย่างสิ้นเชิงในเวลาต่อมา
Laser disc
สื่อบันทึกข้อมูลที่ใช้แสงเลเซอร์ช่วยในการบันทึกและล้างข้อมูล มีความจุมากกว่าแผ่นบันทึกข้อมูลแบบเดิมในยุคนั้นมาก (ประมาณ 600MB ถึง 1.3GB) ค้นหาข้อมูลได้รวดเร็ว ทนทานต่อการขูดขีด แต่ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 เซนติเมตร และความวุ่นวายเวลาใช้งาน ต้องมีหน่วยบันทึกหรือ Drive แบบพิเศษ อีทั้งราคาเครื่องเล่นสูงมาก ทำให้ LD ไม่แพร่หลายในตลาดทั่วไป
Floppy Disk
บางครั้งนิยมเรียกว่าดิสก์เกตต์ (Diskette) แผ่นพลาสติกวงกลม ขนาด 3.5 นิ้ว (ขนาดยอดนิยมก่อนหายสาบสูญ) บรรจุอยู่ในพลาสติกแบบแข็งรูปสี่เหลี่ยม และสามารถอ่านและบันทึกผ่าน Disk Drive ได้อย่างสะดวกง่ายดาย เพราะความง่ายในการบันทึกนี่แหละ ทำให้เกิดการแทรกตัวของเจ้าไวรัสต่างๆ ตามมาสร้างปัญหาให้ผู้ใช้ปวดหัวอย่างมากมาย บางรายหลอนถึงขนาดถอด Drive ทิ้งเลยก็มี และนี่แหละจุดจบของมัน
HD DVD
สงครามของสื่อบันทึกข้อมูลความละเอียดสูงที่สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่า DVD ในขนาดแผ่นที่เท่ากัน ระหว่างฝ่ายแดง HD DVD และ ฝ่ายน้ำเงิน Blu-ray Disc แม้สมาคม DVD Forum จะลงความเห็นให้ฝ่ายแดงเป็นฟอร์แมตแผ่นบันทึกข้อมูลรุ่นถัดไปต่อจาก DVD แต่ Blu-ray ก็ยังถูกพัฒนาขึ้นโดยไม่ผ่าน DVD Forum และทั้งสองฝั่งต่างส่งผลิตภัณฑ์ รวมถึงเครื่องเล่นแผ่นของตัวเองออกจำหน่าย
เมื่อผ่านไปเพียงแค่ไม่กี่ปี บริษัทผู้ผลิตในอุตสาหกรรม HD DVD กลับเริ่มถอนการสนับสนุน จนกระทั่งวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 โตชิบาได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะหยุดพัฒนา ผลิต และจำหน่ายเครื่องเล่นและบันทึก HD DVD และจะหันไปสนับสนุนระบบคู่แข่งแทน เป็นอันว่า HD DVD ก็จบบริบูรณ์ และกลุ่มผู้สนับสนุนได้ยกเลิกอย่างเป็นทางการหลังจากนั้นอีกเพียงเดือนเศษ
ทีวีขาวดำ
ถูกดัดแปลงกลายมาเป็นของตั้งโชว์เสียแล้ว สำหรับสิ่งบันเทิงอันดันหนึ่งคู่บ้านคุณ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าในยุคนั้นแม้จะแสดงผลเป็นขาวดำ แต่เรายังสามารถแยกเฉดออกว่า ดำแบบนี้เท่ากับสีแดง ดำประมาณนี้คือสีน้ำเงิน อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างย่อมดีกว่า ถ้ามีการแสดงผลแบบชัดเจนเฉกเช่นทีวีสี และแล้วทีวีขาวดำก็ค่อยๆ หายไป
พิมพ์ดีดไฟฟ้า
พัฒนามาเพื่อแก้ข้อจำกัดของเครื่องพิมพ์ดีดแบบเก่า พิมพ์ตัวหนังสือได้มากขึ้น ออกแรงกดน้อยลง เป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่า และที่สำคัญสามารถลบคำที่พิมพ์ผิดพลาดได้ แม้จะเก่งกล้าสามารถแต่ก็ห่างไกลจากคอมพิวเตอร์มากนัก ดังนั้นผู้ใช้งานจึงค่อยๆ น้อยลงจนแทบหาไม่เจอ แต่แปลกที่พิมพ์ดีดแบบเดิมๆ กลับยังคงอยู่
เพจเจอร์
แม้จะมีข้อจำกัดที่การสื่อสารทางเดียว และไม่สามารถพิมพ์ข้อความส่งไปหาผู้รับได้โดยตรง ต้องโทรเข้า Call Center เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิมพ์และส่งต่อข้อความไปยังผู้รับ (ยุคแรกแสดงแค่หมายเลขโทรศัพท์ ต่อมาเพิ่มเป็นตัวอักษร) แต่ก็ถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาชนิดแรกๆ ที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นไทย ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการเกือบล้านราย พัฒนาจากหน้าตาเชยๆ เป็นสีสันสะดุดตามีให้เลือกหลากหลาย ความนิยมเริ่มถดถอยจากเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา อย่างไรก็ดี บางหน่วยงานในต่างประเทศยังคงใช้ระบบเพจเจอร์อยู่ อาทิ แพทย์ในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ภัย รวมถึงภัตตาคาร ที่ใช้แจ้งให้ลูกค้าทราบเมื่อมีโต๊ะว่าง
PDA
ทำงานเหมือนเป็นเลขาส่วนตัว พกพาความสามารถมาหลากหลาย นำติดตัวไปได้ทุกที่ โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ Palm มักใช้งานเพื่อเป็นเครื่องบันทึกช่วยจำต่างๆ และ Pocket PC เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเช่นเดียวกับ Palm แต่ใช้ซอฟต์แวร์ของ Microsoft เป็นหลัก ต่อมาได้มีการพัฒนาให้เครื่องดังกล่าวมีฟังก์ชันโทรศัพท์เข้ามาในตัวด้วย จนเกิดเป็นสมาร์ทโฟนสุดยอดเทคโนโลยีที่จบเบ็ดเสร็จในเครื่องเดียว PDA จึงค่อยๆ หายไป
iPod Classic
เครื่องเล่นเพลงที่เป็นตัวแทนความเท่ของวัยรุ่นทั้งโลก สร้างขึ้นมาจากแนวคิดว่าเป็นฮาร์ดดิสก์ขนาดใหญ่ที่มีเพลงเพียบ และเข้าถึงการใช้งานได้ง่ายด้วย Scroll Wheel (พัฒนาเป็น Click Wheel) iPod เคยฆ่าสินค้าอื่นๆ ตายมามากมาย แต่แล้วก็ถึงคราวตัวเอง เมื่อการฟังเพลงแบบ Streaming และความสามารถของผลิตภัณฑ์ร่วมสังกัดอย่าง iPhone6 มีความจุถึง 128GB พร้อมทั้งใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดึงเพลงจาก Cloud มาฟังได้อีก วันที่ 9 กันยายน 2557 บริษัท Apple จึงได้อันเชิญ iPod Classic ออกจากเว็บ ทั้งในหน้าของ iPod และ Apple Online Store ถือเป็นการปิดตำนาน 13 ปีของ iPod อย่างเป็นทางการ
iPod Touch
ในเมื่อมีiPhoneอยู่ในมือแล้ว จะเสียตังค์ไปซื้อเครื่องเล่นที่ไม่สามารถโทรเข้า/ออก ประมวลผลช้ากว่าทำไม? และการพกDeviceมากกว่าหนึ่งเครื่องไปไหนมาไหน มันคือภาระชัดๆ
เมาส์แบบลูกกลิ้ง
อุปกรณ์สำคัญในการใช้งานคอมพิวเตอร์ สำหรับควบคุมตัวชี้บนจอคอมพิวเตอร์ เรียกชื่อตามลักษณะรูปร่างที่คล้ายกับหนู ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Mouse’ ในยุคแรกจะมีอุปกรณ์สำหรับตรวจจับตำแหน่งการเคลื่อนไหวของลูกกลิ้งยาง การเคลื่อนไหวที่ไม่ทันใจของลูกกลิ้งนี่แหละ ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นเมาส์ที่ใช้ LED หรือเลเซอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสง และการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของแสงในการเคลื่อนไหว Pointing และต่อยอดไปอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Air Mouse ที่ใช้งานโดยถือขึ้นมาเอียงไปมาในอากาศ
เฟอร์บี้
ตุ๊กตาสัตว์เลี้ยงพูดได้ที่ถือกำเนิดมานานนับสิบปี พัฒนาต่อยอดมาจนฮิตฮอตแบบสุดๆ เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา จนสร้างประวัติศาสตร์ในวงการของเล่น ด้วยยอดจำหน่ายสูงสุดถึง 40 ล้านตัวทั่วโลก ด้วยความสามารถในการรับรู้ การเคลื่อนไหว และการปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของที่มากขึ้น เอกลักษณ์ของเจ้าเฟอร์บี้อีกอย่างคือ ไม่มีสวิตช์สำหรับปิดเครื่อง ดังนั้นมันจึงพร้อมโวยวายด้วยภาษา Furbish ที่ยากจะเข้าใจแบบไม่รู้จักเวล่ำเวลา ก่อเป็นความรำคาญในทุกที่ๆ ที่มันย่างกาย นี่เองเป็นสาเหตุให้มันหายไปอย่างไร้ร่องรอย
แฟนเก่า
วัวเคยขา ม้าเคยขี่ ที่เคยผ่านมือให้ใช้งาน หนักบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ความต้องการของแต่ละท่าน ด้วยหลากหลายเหตุผลแตกต่างไป ทำให้แฟนเก่าเป็นได้แค่ความความทรงจำ แต่ก็ไม่แน่ หากครึ้มฟ้าครึ้มฝน ลมพัดใจเพ อาจมีโซเซมาคลิกกันเป็นครั้งคราว
*** สิ่งที่(คาดว่า)จะหายไปในไม่ช้า ***
ตู้โทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญ
เดินผ่านท้องถนนในกรุงเทพมหานคร เห็นตัวแทนของผู้ได้รับสัมปทานไล่เก็บตู้โทรศัพท์ขึ้นรถไม่เว้นแต่วัน หรือนี่สัญญาณบอกว่า มันกำลังจะเป็นอดีต??
กล้องดิจิตอลคอมแพ็คท์ระดับล่าง-กลาง
ความสามารถในการถ่ายภาพที่มากขึ้นของสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ผลิตหลายรายเริ่มลดจำนวนการผลิตกล้องดิจิตอลคอมแพ็คท์ในระดับล่าง-กลางลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการเติบโตของสายการผลิตกล้องแบบ Mirrorless
โทรศัพท์มือถือไร้ฟังก์ชันเสริม
แม้วันนี้ยังมีอยู่ แต่อีกไม่นานเราจะเข้าสู่สังคมก้มหน้าแบบเต็มรูปแบบ เพราะทุกวันนี้สามารถหาซื้อสมาร์ทโฟนที่รองรับความบันเทิงครบครัน ในราคาเท่าๆ กับโทรศัพท์บื้อๆ เครื่องหนึ่ง แล้วคุณจะซื้อแบบไหน?
iPod Touch
ล้ำสมัยและมากความสามารถ แต่ในเมื่อมี iPhone อยู่ในมือแล้ว จะเสียตังค์ไปซื้อเครื่องเล่นที่ไม่สามารถโทรเข้า/ออกได้และประมวลผลช้ากว่าทำไม และการพก Device มากกว่าหนึ่งเครื่องไปไหนมาไหน มันคือภาระชัดๆ
ภาพประกอบ : อินเทอร์เน็ต