มูลเหตุที่พม่าจะมารบไทยครั้งนี้ พูดกันหลายอย่างว่าเป็นเพราะพระยามอญคนหนึ่งมาอาศัยไทยอยู่ที่เมืองมะริด พม่าขอให้ไทยส่งตัว ไทยไม่ยอมส่งบ้าง ว่าเพราะไทยไปตีเมืองทวายบ้าง ว่าเพราะไทยจับเรือของพม่าบ้าง อันที่จริงไม่ต้องแสวงหามูลเหตุเพราะการที่พม่ามาตีไทย นั้นไม่จำเป็นต้องมีมูลเหตุ เรารู้กันอยู่แล้วว่า พม่าปราบมอญไว้ใต้อำนาจเมื่อใดเป็นต้องมาตีไทย ประวัติศาสตร์อุบัติซ้ำอยู่เช่นนี้มาตลอดกาล
พอถึงฤดูแล้งปีเถาะ พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญา มาฉลองพระเกศธาตุที่เมืองย่างกุ้ง เมื่อ เสร็จทำบุญแล้วก็ลงมือทำบาปทันที พอฉลองพระธาตุเสร็จ พระเจ้าอลองพญาให้มังระราชบุตร ที่สองกับมังฆ้องนรธา ยกกองทัพมีจำนวนพล 80,000 คน ลงมาตีเมืองทวาย ครั้นตีได้เมืองทวายแล้วก็เลยมาตีมะริดและตะนาวศรีได้โดยง่าย
เมื่อสมเด็จพระสุริยาศน์อมรินทร์ได้ทรงทราบข่าวอันนี้ ก็ทรงเรียกพล 5,000 คน แบ่งออกเป็นสองกอง กองหนึ่งมีพล 3,000 คน ซึ่งเปรียบกับกองทัพสมัยสมเด็จพระนเรศวร หรือสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ก็นับว่าเป็นกองทัพเล็กน้อยเหลือเกิน แต่ถึงกระนั้นก็มีแม่ทัพนายกองมากมายคือ พระราชรองเมืองซึ่งว่าที่จตุสดมภ์ฝ่ายเมืองเป็นแม่ทัพ พระยาเพชรบุรีเป็นกองหน้า พระยาราชบุรีเป็นยกกระบัตร พระยาสมุทรสงครามเป็นเกียกกาย พระธนบุรีกับพระนนทบุรีเป็นกองหลัง ไม่รู้ว่าแบ่งกำลังพลกันได้สักกองละกี่ร้อย นอกจากนั้นยังมีกองที่สองซึ่งพระยารัตนาธิเบศร์ว่าที่จตุสดมภ์ฝ่ายวังเป็นแม่ทัพคุมจำนวนพล 2,000 คน
พระยารัตนาธิเบศร์ผู้นี้เราควรจะจำชื่อไว้ เพราะเป็นบุคคลที่มีประวัติแปลกประหลาด หาผู้อื่นเหมือนได้ยาก พวกแม่ทัพนายกองเหล่านี้ไม่เคยมีใครสักคนเดียวที่ได้เข้าศึกสงคราม ไม่มีใครรู้ว่าการรบนั้นทำกันอย่างไร แต่ก็ยังมีหวังในชัยชนะอยู่บ้าง เพราะมีคนคนหนึ่งชื่อ ชู เป็นขุนรองปลัดกรมการเมืองวิเศษไชยชาญ เป็นผู้ขลังวิทยาคม มีลูกศิษย์มาก คุมพรรคพวกที่อยู่ยงคงกระพันมาถึง 400 คน ขออาสาไปรบ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งเป็นกองเรียกว่า กองอาทมาต ไปกับกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ ความหวังในชัยชนะมีอยู่อันเดียวคือกองอาทมาต ของปลัดชูนี้เท่านั้น
กองทัพพระราชรองเมือง ซึ่งมีพล 3,000 คน ยกข้ามเขาบรรทัดออกไปถึงด่านสิงขร เมื่อไปถึงด่านสิงขรก็ได้ความว่า เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดเสียแก่พม่าเสียแล้ว จึงตั้งทัพอยู่ที่แก่งตุ่มในตอนปลายของแม่น้ำตะนาวศรี ตั้งอยู่เฉย ๆ ไม่ได้สร้างค่าย หรือหาที่มั่นอย่างหนึ่ง อย่างใด พักกองทัพอย่างสบายเหมือนคณะท่องเที่ยวคณะหนึ่ง ส่วนกองทัพหนุนของพระยารัตนาธิเบศร์นั้นไปตั้งอยู่ที่เมืองกุย
เมื่อมังระรู้ว่ากองทัพไทยไปตั้งอยู่ที่แก่งตุ่ม ก็ให้มังฆ้องนรธาคุมทหารมาตี โดยไม่มีที่มั่น ไม่ได้เตรียมการป้องกันอย่างหนึ่งอย่างใด พอถูกพม่าตีก็แตกพ่ายถอยหนีกลับเข้ามา ฝ่าย พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งคุมพลถึง 2,000 คนและกองอาทมาตอีก 400 คน ออกรบกับพม่า กองทัพ ส่วนใหญ่อีก 2,000 คนอยู่เฉย ๆ หน้าที่การรบจึงเป็นหน้าที่ของกองอาทมาต ซึ่งมีวิชาอาคมนั้น แต่กองเดียว
แต่ก็น่าสรรเสริญกองอาทมาต ซึ่งได้ออกสู้รบอย่างเด็ดเดี่ยว รบกันด้วยอาวุธสั้นถึงตะลุมบอน พม่าหนุนเนื่องเข้ามามากมาย ท่านเจ้าคุณรัตนาธิเบศร์ก็ไม่ช่วยปล่อยให้กองอาทมาต กองเดียวสู้อยู่ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง สู้อย่างสุดกำลัง สู้กับกองทัพพม่าซึ่งมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า ในที่สุดก็สิ้นแรง ตัวขุนรองปลัดชูถูกพม่าล้อมจับได้ ทหารอื่น ๆ ถูกฆ่าตายเกือบหมด ที่เหลืออยู่ก็ถูกไล่ลงทะเลจมน้ำตายเสียเป็นอันมาก
ส่วนท่านแม่ทัพหนุนคือ ท่านเจ้าคุณรัตนาธิเบศร์นั้น พอรู้ว่าเสียกองอาทมาตแล้วก็ไม่รอ หน้าข้าศึกอีกต่อไป พาพล 2,000 คน ถอยหนีขึ้นมาจนเลยเมืองเพชรบุรี พม่าจึงตามเข้ามายึดเมืองเพชรบุรีไว้ได้อีกเมืองหนึ่ง
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในไทยรบพม่า กล่าวถึงตอนนี้ว่า
“กองทัพพม่ายกล่วงแดนไทยเข้ามาครั้งนั้น จะเป็นด้วยเหตุใดไทยจึงมิได้ตระเตรียมต่อสู้ หาปรากฏไม่ ได้ความแต่ว่าพม่าตีเมืองได้โดยง่ายทั้งเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด จนพม่าประหลาดใจว่าไทยทำไมจึงอ่อนแอถึงเพียงนั้น จึงเป็นเหตุให้พม่ากำเริบ คิดอยากจะลองตีหัวเมืองไทยต่อเข้ามา ในชั้นนี้พม่ายังหาได้ตั้งใจว่าเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาไม่
ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้รับใบบอกจากพระยาตะนาวศรีว่าพม่าจะยกกองทัพมาตีเมืองตะนาวศรี เมืองมะริด พระเจ้าเอกทัศมีรับสั่งให้เกณฑ์กองทัพให้พระราชรองเมือง ซึ่งได้ว่าที่พระยายมราชเป็นแม่ทัพถือพล 3,000 คน พระยาเพชรบุรีเป็นกองหน้า พระยาราชบุรีเป็น ยกบัตร พระสมุทรสงครามเป็นเกียกกาย พระธนบุรีกับพระนนทบุรีเป็นกองหลัง ยกไปรักษา เมืองมะริด แล้วให้พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งว่าที่จตุสดมภ์กรมวังคุมกองทัพจำนวนพล 2,000 คน ยกหนุนไปอีกทัพหนึ่ง และครั้งนั้นขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ เป็นผู้รู้วิทยาคม เข้ามาอาสาราชการสงคราม จึงโปรดให้คุมสมัครพรรคพวกรวม 400 คน เป็นกองอาทมาตไปใน กองทัพพระยารัตนาธิเบศร์ด้วย
กองทัพพระยายมราชยกไปไม่ทันจะรักษาเมืองตะนาวศรี เมืองมะริด พอข้ามแนวเขาบรรทัดออกไปถึงด่านสิงขร ก็ได้ความว่าเมืองตะนาวศรี เมืองมะริดเสียแก่พม่าแล้ว จึงตั้งอยู่ที่แก่งตุ่มปลายน้ำตะนาวศรี หวังจะรอกองทัพหนุน หรือจะบอกขอคำสั่งอย่างใดหาปรากฏไม่
ฝ่ายพม่าเตรียมจะยกกองทัพเข้ามาในหัวเมืองไทยอยู่แล้ว ครั้นรู้ว่ากองทัพไทยไปตั้งอยู่ที่ ปลายน้ำ มังระจึงให้มังฆ้องนรธายกมาตีกองทัพพระยายมราช พระยายมราชไม่มีที่มั่นก็แตกพ่าย พม่าจึงได้ใจก็ติดตามเข้ามา
ขณะนั้นพระยารัตนาธิเบศร์ตั้งอยู่ที่เมืองกุย ให้ขุนรองปลัดชูคุมกองอาทมาตลงไปตั้งสกัดทางอยู่ที่อ่าวหว้าขาว พม่ายกมาถึงนั่นเวลาเช้าตรู่ ขุนรองปลัดชูคุมกองอาทมาตออกโจมตีข้าศึก รบกันด้วยอาวุธสั้นถึงตะลุมบอน พวกอาทมาตฆ่าฟันพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อพระยารัตนาธิเบศร์ทราบว่ากองทัพพระยายมราชแตก ให้เกณฑ์กำลัง 500 คน ลงไปหนุนกองขุนรองปลัดชู กองหนุนเห็นจะลงไปไม่ทัน ขุนรองปลัดชูรบกับพม่าตั้งแต่เช้ามาจนเที่ยงก็สิ้นกำลัง พม่าหนุนกันมามากเข้า ล้อมจับขุนรองปลัดชูได้ พวกกองอาทมาตก็แตกพ่ายยับเยิน พม่าไล่ลงทะเลจมน้ำตายก็มาก ฝ่าพระยารัตนาธิเบศร์พอทราบว่ากองอาทมาตแตกก็ไม่รออยู่ต่อสู้ข้าศึก รีบถอยทัพหนีมาเมืองเพชรบุรี พม่าก็ขึ้นมาได้ถึงเมืองเพชรบุรีโดยหามีผู้ใดที่จะต่อสู้กีดขวางไม่”
นี้เป็นการเปิดฉากรบระหว่ากองทัพพม่ากับกองทัพกรุงศรีอยุธยาในตอนที่กรุงศรีอยุธยา จะบรรลุถึงอวสาน เป็นฉากที่น่าสังเวชสลดใจ ทหารที่ยกไปทั้งหมดรวม 5,400 คน มีผู้บังคับบัญชาเป็นขุนนางวังน้ำใหญ่โตตาม ๆ กันทั้งนั้น ได้ทหารจริง ๆ เพียง 400 คน คือพวก ขุนรองปลัดชูและสานุศิษย์ที่มาอาสาสมัคร ส่วนพวกที่กินเบี้ยหวัดเงินเดือน มีฐานันดรศักดิ์ไม่ได้ทำอะไรเลย ในตอนนี้เราควรจะจารึกลงไว้ได้เรื่องหนึ่งคือ เรื่องกองอาทมาตของขุนรองปลัดชู ซึ่งจะเรียกว่าคลั่งเวทมนตร์หรืออะไรก็ตามที แต่พวกนี้เข้ามาอาสาช่วยบ้านเมืองเข้าทำการรบจริง ๆ รบอยู่ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง รบสู้กับศัตรูที่มีกำลังมากกว่าตัวหลายเท่า รบโดยไม่ละทิ้งหน้าที่ ถึงแม้ว่าท่านแม่ทัพนายกองที่เป็นขุนน้ำพระยาจะนั่งดูอยู่เฉย ๆ โดยไม่เข้าช่วย เขาเป็นวีรบุรุษ แต่คนพวกนี้ก็อยู่ในจำพวกตายเปล่า ไม่ได้รับความยกย่องในทางใดนอกจากทางประวัติศาสตร์