“ปูทูลกระหม่อม” หรือ “ปูแป้ง”
ประเทศไทยนั้นเป็นที่อยู่ของปูหลากหลายชนิด และแต่ละชนิดต่างก็มีรูปร่างที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป แต่หากจะพูดถึงปูที่มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นและสีสันที่ความสวยงาม ก็คงต้องพูดถึง “ปูทูลกระหม่อม” ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในปูน้ำจืดที่มีสีสันสวยงามชนิดหนึ่งของโลก
“ปูทูลกระหม่อม” เป็นสัตว์ถิ่นเดียวที่สามารถพบได้ที่ "เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน" อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคามเท่านั้น เมื่อก่อนนั้นชาวบ้านเรียกปูชนิดนี้ว่า “ปูแป้ง”เนื่องจากเมื่อนำมาทำเป็นอาหาร เวลาสุกแล้วปูจะเปลี่ยนเป็นสีขาว ซึ่งโดยทั่วไปปูชนิดอื่นๆ เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มชาวบ้านจึงเรียกกันป่าปูแป้ง
“ปูทูลกระหม่อม” ปูน้ำจืดที่มีสีสันงดงามอย่างมีเอกลักษณ์
และเมื่อปี พ.ศ.2536 ได้มีการตรวจสอบทางวิชาการครั้งแรก โดยศาสตราจารย์ไพบูลย์ นัยเนตร อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้พบว่าเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก อีกทั้งในปีดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารีจะทรง เจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษา ในฐานะที่พระองค์ ทรงเป็นผู้นำและมีพระปรีชาสามารถในงานด้านวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้กราบทูล ขอพระราชทานพระอนุญาตอัญเชิญพระนามของพระองค์มาเป็นชื่อของปูน้ำจืดชนิดนี้ และได้รับพระราชทานอนุญาตให้เรียกชื่อปูชนิดนี้ว่า "ปูทูลกระหม่อม" ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นชื่อเรียกของปูชนิดนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ไข่ของปูทูลกระหม่อมตัวเมีย มองแล้วคล้ายไข่ปลาแซลมอน
ลักษณะนิเวศวิทยาอันสวยงามของปูทูลกระหม่อมนั้น พี่กฤษฎา ยอดแก้ว เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูลำพันได้เล่าให้ฟังว่า ลักษณะเด่นที่สุดคือสีของกระดองที่เป็นสีม่วงเปลือกมังคุด บริเวณขอบเบ้าตาขอบกระดอง ขาเดินทั้ง 4 คู่ และก้ามหนีบทั้ง 2 ข้างมีจะเป็นสีเหลืองส้ม ปลายขาข้อสุดท้ายและปลายก้ามหนีบมีสีขาวงาช้าง และขนาดของปูมีความกว้างของกระดองประมาณ 3.5 เซนติเมตร ปูเพศผู้และเพศเมียจะมีลักษณะที่คล้ายกัน โดยจะมีส่วนที่กันคือส่วนท้องหรือที่เรียกว่าตะปิ้ง
ในส่วนการดำรงชีวิตนั้น พี่กฤษฎาได้อธิบายให้ฟังว่า ปูทูลกระหม่อมจะขุดรูอยู่ในที่ชื้นในบริเวณที่มีต้นไม้ปกคลุมและมีแสงแดดรำไร ความลึกของรูขึ้นอยู่กับระดับน้ำใต้ดิน จะออกหากินในเวลากลางคืน และจะออกมาดักเหยื่อที่บริเวณรอบๆ ปากรูในรัศมีไม่เกิน 1 เมตร โดยอาหารจะเป็นพืชและสัตว์ เช่น เศษใบไม้ ไส้เดือน แมลงชนิดต่างๆ
พี่กฤษฎา ยอดแก้ว กำลังอธิบายการดำรงชีวิตของปูทูลกระหม่อม บริเวณรูปู
ช่วงเวลาผสมพันธุ์ของปูทูลกระหม่อม จะเริ่มมีการผสมพันธุ์เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน - เดือนกันยายน ที่จะเป็นช่วงฤดูฝน เเละในฤดูการผสมพันธุ์สีสันของปูทูลกระหม่อมจะเห็นได้เด่นชัดและมีความสวยงามยิ่งขึ้นอีกด้วย หลังจากการผสมพันธุ์ประมาณ 4 เดือน ที่หน้าท้องของตัวเมียจะเริ่มมีไข่ประมาณ 10-35 ฟอง ในช่วงต้นเดือนมกราคมถึงเมษายน ไข่อ่อนเมื่อออกมาใหม่ๆ จะมีสีเหลืองอมส้มมองแล้วคล้ายๆ ไข่ปลาแซลมอน และเมื่อไข่แก่เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มปนเทาจนเกือบดำ ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ในช่วงประมาณปลายเดือนเมษายน - เดือนพฤษภาคม และตัวอ่อนจะติดอยู่ที่หน้าท้องแม่ระยะเวลาหนึ่งจนกระทั่งเข้าสู่ฤดูฝน ลูกปูก็จะออกจากท้องแม่และไปขุดรูใหม่อยู่อาศัยเอง
สำหรับลักษณะพื้นที่ป่าดูนลำพันอันเป็นสถานที่อยู่อาศัยของปูทูลกระหม่อมนั้น มีสภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ เมื่อครั้งอดีตเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชนละแวกใกล้เคียง จนกระทั่งมีการค้นพบปูทูลกระหม่อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมมือกับจังหวัดมหาสารคาม ได้ประกาศให้พื้นที่ป่าดูนลำพันที่อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเพียงแห่งเดียวของปูทูลกระหม่อม เป็นปัจจุบันเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน ในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นการป้องกันภัยคุกคามและปัญหาการบุกรุกพื้นที่ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อจำนวนและระบบนิเวศน์ของปูทูลกระหม่อม
บรรยากาศเส้นทางศึกษาธรรมชาติ “เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน”
อีกทั้งในปัจจุบันเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน ยังเปิดให้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้ผู้ที่ต้องการชมปูทูลกระหม่อมได้มีโอกาสมาเข้ามาชมปูและเดินชมธรรมชาติ ซึ่งนอกจากปูทูลกระหม่อมแล้วก็ยังมีสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้อีกด้วย อาทิ เพียงพอน กระรอก นกนานาชนิด โดยพี่กฤษฎาได้บอกเคล็ดลับสำหรับคนที่อยากชมปูอีกว่า “ต้องห้ามส่งเสียงดังเพราะปูชอบความเงียบ และสามารถนำยอดหญ้ามาแกว่งที่บริเวณปากรูปู ให้เหมือนมีแมลงมาที่ปากรู ปูก็จะออกมาให้ชม แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับดวงในการทำวิธีนี้” นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยของเราเป็นที่อยู่อาศัยของปูที่มีสีสันสวยงามชนิดหนึ่งของโลก จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะรักษาของขวัญจากธรรมชาติชนิดนี้ให้อยู่ต่อไป เพื่อลูกหลานรุ่นหลังความสวยงามของ “ปูทูลกระหม่อม” แห่งป่าดูนลำพัน