เป็นประเด็นใหญ่โตที่ทำเอาประชาชนแตกตื่นตกใจไปตามกัน กระทั่งสมาทานสัญญาว่าชาตินี้ชีวิตนี้ จะไม่มีทางกินส้มตำปูลาร้าอีกเป็นอันขาด เมื่อพบเห็นภาพของตัวพยาธิที่ชอนไชไต่เลื้อยไปบนชั้นผิวหนังช่วงลำคอของใครคนหนึ่ง ซึ่งภาพดังกล่าวกลายเป็นที่ถูกพูดถึงอึงคะนึงในโลกออนไลน์ แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ นี่คือฤทธิ์เดชของส้มตำปูปลาร้า จริงหรือ?
“จากมุมปากขวา มีเส้นนี้เดินทางมาวันที่ 5 มาถึงใต้ขากรรไกรซ้ายดังภาพ นี่แหละเส้นทางเดินของพยาธิ ทานส้มตำปูปลาร้า ประมาณ 10 วัน ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะที่ยอมรับทั่วไปว่ารักษาโรคพยาธิตัวจี๊ดได้หายขาด ยารักษาที่ใช้อยู่เป็นยาช่วยลดอาการบวมและคัน เช่น ยาจำพวกเพรดนิโซโลน (prednisolone) และไดเอทธิลคาบามาไซน์ (diethylcarbamazine) (hetrazan) ให้ทุเลาลง และยาที่ใช้รักษาที่อยู่ในปัจจุบันนี้คือ ยาอัลเบนดาโซล ( albendazole ) โดยให้ผู้ป่วยรับประทานขนาด 400 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 21 วัน บางรายแพทย์สามารถทำการผ่าตัดเอาตัวออกมาได้ แต่ทั้งนี้ แล้วแต่ตำแหน่งของพยาธิที่พบ การผ่าเอาตัวแก่ออกจากอวัยวะที่เกิดอาการบวมแดง อาจพ่นด้วยยา เอทิล คลอไรด์ (ethyl chloride) ซึ่งจะ ทำให้พยาธิหยุดการเคลื่อนไหวช่วยให้ผ่าตัดง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ามีคนไข้บางคนที่พยาธินี้หลุดออกมาเองโดยไม่รู้ตัว เช่น หลุดออกจากเปลือกตา จากการไอหรือการขากสมหะ หลุดออกทางช่องปัสสาวะ หรือบริเวณผิวหนัง เป็นต้น หรือหายไปโดยไม่ทราบชัดแน่นอน โดยมากผู้ป่วยจะมีตัวอ่อนพยาธิตัวจี๊ดเพียงตัวเดียว ถ้าพยาธิออกมาแล้วก็มักหายจากโรคเลย (ยกเว้นกินพยาธิตัวอ่อนเข้าไปมากกว่าหนึ่งตัว) พยาธิแต่ละตัวจะมีชีวิตอยู่ในร่างกายคนได้นานนับสิบปี ดังนั้น ผู้ป่วยไม่ควรทำการรักษาด้วยตัวเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง มิฉะนั้น พยาธิอาจเดินทางไปอวัยวะสำคัญซึ่งจะทำให้เสียชีวิตได้” (ข้อมูลโพสต์จากเฟซ Pairoch Vasanakomut)
ทันทีที่ภาพและข้อความนี้ถูกโพสต์แชร์ ก็เผื่อแผ่ความกังวลไปสู่ประชาชนคนออนไลน์อย่างถ้วนทั่ว หลายคนวิตกว่า ส้มตำปูปลาร้าที่เคยรักเคยชอบ จะถึงกาลต้องตัดขาดจากกันเท่านี้แล้วหรือ?
กระนั้นก็ดี ในเวลาต่อมาไม่นานนัก แฟนเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ก็โพสต์ปลอบปลุกให้ทุกคนได้เข้าใจกระจ่างแจ้งว่า ไอ้ตัวที่แล่นเลื้อยเป็นสายอย่างที่เห็นในภาพนั้น เป็นพยาธิจริงๆ เพียงแต่ไม่ได้เกิดจากการกินส้มตำปูปลาร้าแต่อย่างใด และในทางการแพทย์ เขาขนานนามพยาธิพวกนี้ไว้ในชื่อว่า “larva migrans”
และเมื่อสืบค้นข้อมูลลงไปเพื่อหาความจริง....ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญแห่งคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งคุณหมอจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมกันเขียนบทความเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ก็ทำให้เราได้เข้าใจเกี่ยวกับพยาธิที่มีชื่อว่า “larva migrans” นี้อย่างกระจ่างแจ้งชัดเจน
ร.ศ.พ.ญ.กัญญารัตน์ กรัยวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผ.ศ.พ.ญ.จิตติมา ฐิตวัฒน์ คณะเวชศาสคร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous larva migrans) คือโรคผิวหนังที่เกิดจากพยาธิตัวกลมระยะตัวอ่อน (ส่วนมากเป็นพยาธิปากขอหรือพยาธิเส้นด้าย) ของสัตว์ พยาธิระยะตัวอ่อนจะไชไปตามผิวหนัง ชั้นหนังกำพร้าทำให้เกิดผื่นมีลักษณะเป็นเส้นนูนสีแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตาม ทางที่พยาธิไชผ่าน เนื่องจากคนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่พยาธิเจริญเติบโต พยาธิตัวอ่อนจึงเดินทางไปตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยไม่สามารถเจริญเป็นระยะตัวแก่ในร่างกายคนได้ จนในที่สุดพยาธินั้นจะตายไปเอง พยาธิสภาพและอาการแสดงทางผิวหนังจะเป็นอยู่นาน จนกว่าพยาธิจะถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันหรือได้รับยาฆ่าพยาธิ โรคนี้พบมากในเขตร้อน เช่น ทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปอาฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ เป็นต้น