เจดีย์เอียง สัญลักษณ์ของเกาะเกร็ด
“เกาะ” นอกจากจะอยู่ในทะเลแล้ว ก็ยังมีเกาะที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำด้วย อย่างเช่นในลำน้ำเจ้าพระยา ใกล้ๆ กับกรุงเทพฯ ก็มีเกาะท่องเที่ยวชื่อดังอยู่อีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ “เกาะเกร็ด” ที่อยู่ใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
เกาะเกร็ดแต่เดิมนั้นก็ไม่ได้เป็นเกาะ เป็นเพียงผืนแผ่นดินธรรมดา แต่เมื่อมีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ “คลองลัดเกร็ด” ขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง กัดเซาะตลิ่งและทำให้คลองที่ขุดขึ้นกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ส่วนแม่น้ำสายเดิมก็มีขนาดเล็กลง เกาะเกร็ดจึงกลายเป็นเกาะตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
พระเจดีย์มุตาว หรือ เจดีย์เอียง
บนเกาะเกร็ดนั้นมีชาวไทยรามัญหรือชาวมอญอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ โดยชาวมอญเหล่านี้อพยพมาอยู่ที่เกาะเกร็ดตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งชาวมอญเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการทำให้เกาะเกร็ดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจของจังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน เพราะเมื่อพวกเขาอพยพมาอาศัยอยู่บนเกาะเกร็ด ก็ได้นำเอางานหัตถศิลป์ที่พวกเขาเชี่ยวชาญอย่างการปั้นเครื่องปั้นดินเผามาด้วย และมีการสืบทอดฝีมือการทำเครื่องปั้นดินเผาจากรุ่นสู่รุ่นมาจนปัจจุบัน
ภายในพระอุโบสถ วัดปรมัยยิกาวาส
การเดินทางมายังเกาะเกร็ดนั้น สามารถมาข้ามเรือข้ามฟากได้ที่วัดสนามเหนือ ใน อ.ปากเกร็ด เพียงชั่วอึดใจ ก็จะข้ามมาถึงฝั่งเกาะเกร็ดแล้ว ซึ่งสัญลักษณ์ที่คุ้นตากันดีของเกาะเกร็ดก็คือ “เจดีย์เอียง” หรือ “เจดีย์มุตาว” เป็นเจดีย์สีขาวทรงรามัญ แต่เดิมนั้นเจดีย์ก็ตั้งตรงตามปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปตลิ่งเกิดทรุดลง องค์เจดีย์ก็เลยเอนเข้าหาแม่น้ำอย่างที่เราเห็นกัน แต่คนเฒ่าคนแก่ชาวมอญเชื่อกันว่า เหตุที่เจดีย์เอนก็เพราะจระเข้ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำและคอยปกปักรักษาเกาะเกร็ดนั้นขยับตัว ทำให้ตลิ่งทรุดจนเจดีย์เอนลงมา แต่ปัจจุบัน ก็มีการซ่อมแซมและเสริมโครงสร้างขององค์เจดีย์ให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อไม่ให้เจดีย์เอียงทรุดไปมากกว่านี้แล้ว
ภายในวัดปรมัยยิกาวาส
บริเวณที่ตั้งของเจดีย์เอียง อยู่ภายในบริเวณของ “วัดปรมัยยิกาวาส” ซึ่งเดิมเรียกกันว่า “วัดปากอ่าว” เชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากมีการขุดคลองลัดเกร็ด และได้ถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ต่อมาชาวมอญที่มาอาศัยอยู่ได้ร่วมใจกันบูรณะวัดร้างนี้ขึ้นมาใหม่ และได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์เสด็จมาทอดพระกฐินในแถบนี้และเห็นว่าวัดนี้ทรุดโทรมมาก เมื่อทรงปฏิสังขรณ์โดยคงรูปแบบมอญไว้แล้วพระองค์จึงพระราชทานชื่อวัดให้ใหม่ว่า “วัดปรมัยยิกาวาส” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สนองพระคุณพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์
ขนมเด็กๆ แบบย้อนยุค
ที่วัดนี้นอกจากจะมีเจดีย์เอียงอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประยุกต์ ด้านหลังพระอุโบสถมีพระเจดีย์รูปทรงแบบมอญซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ทั้งยังมีพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ และพิพิธภัณฑ์ของวัด ซึ่งจัดแสดงอยู่ในอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นหอไทยนิทัศน์ เครื่องปั้นดินเผา จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาชิ้นเก่าแก่และงดงาม ส่วนชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์ ร.5 จัดแสดงข้าวของมีค่าของวัด เช่นพระพุทธรูป จารึกใบลาน ตู้พระธรรม ฯลฯ และมีข้าวของพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 อีกด้วย
เดินชอปปิ้งในตลาด
มาถึงที่เกาะเกร็ดแล้ว ก็ต้องมาเยี่ยมชมตลาดที่เปิดขายตลอดเส้นทางรอบๆ เกาะ ซึ่งตลาดบนเกาะเกร็ดแห่งนี้เปิดทุกวัน แต่จะมีร้านค้าคึกคักเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยของที่ขายนั้นก็มีทั้งอาหารคาว-หวาน ขนม ของเด็กเล่น เครื่องปั้นดินเผา เสื้อผ้า ของฝากของที่ระลึกต่างๆ แต่ที่เห็นจะมีวางขายอยู่หลายร้านก็คือ ทอดมันหน่อกะลา อันเป็นของขึ้นชื่อของเกาะเกร็ด และขนมหวานไทยๆ ที่มีให้เลือกชิมหลากหลายชนิด (คลิก!! อ่านเรื่องกินที่เกาะเกร็ด)
ระหว่างทางเดินชอปปิ้งในตลาด ก็จะผ่าน “วัดไผ่ล้อม” ซึ่งเป็นวัดโบราณที่สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน จากนั้นก็กลายเป็นวัดร้าน และมาบูรณะขึ้นอีกครั้งเมื่อมีชาวมอญอพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่เกาะเกร็ด
วัดไผ่ล้อม
พระอุโบสถของวัดไผ่ล้อมหันหน้าออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นคติในการสร้างพระอุโบสถในสมัยก่อน บริเวณหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงาม ส่วนบริเวณด้านหลังพระอุโบสถมีพระธาตุรามัญเจดีย์ รอบๆ ฐานในทิศทั้งแปดมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวัดแบบมอญ มีกำแพงแก้วล้อมรอบพระธาตุรามัญเจดีย์ ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีซุ้มประตูแบบมอญทั้งสองด้าน
แวะชมเครื่องปั้นดินเผาขึ้นชื่อของเกาะเกร็ด
ถัดจากวัดไผ่ล้อม ก็เดินมาชมเครื่องปั้นดินเผาที่ “โรงงานเครื่องปั้นดินเผาป้าตุ่ม” ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปชมกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาอันขึ้นชื่อของเกาะเกร็ดได้ในทุกขั้นตอน หรือจะขอทดลองปั้นดินด้วยตัวเองก็ได้ แต่ถ้าใครไม่มีฝีมือในด้านนี้สักเท่าไหร่ ก็มาเดินชมเครื่องปั้นดินเผาสวยๆ ที่มีให้เลือกซื้อหากันตั้งแต่เครื่องใช้ เครื่องประดับ ของกระจุกกระจิก ของฝากน่ารักๆ ไปจนกระทั่งเครื่องปั้นดินเผาชิ้นใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้สอยในชีวิตประจำวันได้ แต่ที่เด่นๆ ก็คือ “หม้อน้ำลายวิจิตร” ที่เป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัดนนทบุรี ซึ่งผ่านกรรมวิธีการปั้น การเผา จนได้ออกมาเป็นชิ้นงานที่วิจิตรงดงาม
หม้อน้ำลายวิจิตร สัญลักษณ์ของจังหวัดนนทบุรี
ออกมาเดินเล่นชมตลาดกันต่ออีกสักนิด ก็จะถึง “วัดเสาธงทอง” พอเดินเข้าไปในวัดแล้วจะเห็นพระเจดีย์ทรงกลีบมะเฟืององค์ใหญ่ สีขาวสะอาดตา ตั้งโดดเด่นอยู่ เดินตรงเข้าไปอีกนิดก็จะเป็นพระอุโบสถ มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยปูนปั้นขนาดใหญ่ ส่วนบริเวณเพดานเขียนลายทองกรวยเชิงสวยงามมาก
พระเจดีย์ทรงกลีบมะเฟือง วัดเสาธงทอง
เดินมาจนสุดทางที่วัดเสาธงทอง ก็จะเป็นจุดสิ้นสุดของตลาดแล้ว แต่ถ้าใครยังมีเวลาว่าง ก็ลองไปเที่ยวชมบรรยากาศที่อีกฝั่งของเกาะเกร็ดกันได้ เส้นทางนี้มีบรรยากาศแตกต่างจากอีกฝั่งหนึ่งตรงที่ไม่มีร้านค้าหนาแน่น ผู้คนไม่พลุกพล่านมากนัก ยังมีภาพของชุมชนคนเกาะเกร็ดดั้งเดิมให้เห็นอยู่มาก และมีร้านอาหารน่ารักน่านั่งอยู่หลายร้าน ซึ่งจะเลือกเดินเล่นชมบรรยากาศ หรือปั่นจักรยานลัดเลาะไปตามเส้นทางก็เลือกได้ตามสะดวก
พระประธาน วัดเสาธงทอง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“เกาะเกร็ด” มีตลาดให้เลือกเดินชม ชอปปิ้ง และชิมของอร่อยเป็นเส้นทางยาว สามารถมาเยี่ยมชมได้ทุกวัน แต่วันที่ร้านค้าเปิดกันคึกคักคือวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่ช่วงสายๆ ไปจนถึงประมาณ 16.00 น. สามารถเดินทางมาที่เกาะเกร็ดได้โดยข้ามฟากมาจากวัดสนามเหนือ อยู่ใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มาขึ้นที่ท่าน้ำวัดปรมัยยิกาวาส