บรรยากาศกว๊านพะเยายามเย็น
“พะเยา” เป็นหนึ่งในจังหวัดเล็กๆของบ้านเราที่ในความเล็กๆ สงบ เรียบง่าย กลับแฝงไว้ด้วยมนต์เสน่ห์ แง่งาม น่าสนใจชวนให้หลงใหลและค้นหา
สำหรับหนึ่งในสถานที่ที่เป็นดังสัญลักษณ์แห่งจังหวัดพะเยาก็คือ “กว๊านพะเยา” ที่ถูกยกเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งเมืองพะเยา ซึ่งหากใครขึ้นเหนือไปแอ่วพะเยาแล้วไม่ควรพลาดการไปเยือนกว๊านพะเยาสักครั้ง(หรือหลายๆครั้ง)
ชาวประมงพื้นบ้านออกเรือหาปลาในกว๊านพะเยายามเช้าตรู่
กำเนิดกว๊านพะเยา
กว๊านพะเยา ตั้งอยู่ใน อ.เมือง พะเยา เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่(มาก)มีขนาดเนื้อที่ประมาณ 12,831 ไร่ จัดเป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ รองจากบึงบอระเพ็ด(1) จ.นครสวรรค์, หนองหาร(2) จ.สกลนคร และ บึงละหาน(3) จ.ชัยภูมิ(บางข้อมูลว่ากว๊านพะเยาใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศรองจากบึงบอระเพ็ดและหนองหาร) โดยคำว่า“กว๊าน” หมายถึง หนองน้ำหรือบึงน้ำขนาดใหญ่ เป็นภาษาท้องถิ่นล้านนาที่ใช้เฉพาะที่พะเยาเท่านั้น
กว๊านพะเยาเวลาเย็น ยามตะวันค่อยๆเคลื่อนคล้อยลอยลับเหลี่ยมเขา
ในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2484 กว๊านพะเยา มีสภาพเป็นที่ลุ่มต่ำ มีแม่น้ำอิงไหลผ่าน เกิดน้ำขังเป็น “หนอง”และ“บวก” ขึ้นมาอยู่หลายแห่งด้วยกัน(หนอง คือบริเวณที่มีน้ำขังขนาดใหญ่,บวกคือบริเวณที่มีน้ำขังขนาดเล็ก) มี“หนองเอี้ยง”(ปัจจุบันคือกว๊านบริเวณหลังวัดศรีโคมคำ) เป็นหนองที่มีความสำคัญที่สุดและเกี่ยวพันกับตำนานพื้นบ้านที่ผมจะกล่าวถึงในช่วงต่อไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2482-2484 กรมประมง ได้สร้างทำนบและประตูกั้นน้ำ กักเก็บน้ำไว้ เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่กินพื้นที่มากกว่า 1 หมื่นไร่ ที่ผู้คนเรียกขานกันว่า “กว๊านพะเยา” ขึ้นมา
สวนประดับกับมุมถ่ายรูปคู่ป้ายของกว๊านพะเยา
จากนั้นกว๊านพะเยาได้กลายแหล่งน้ำสำคัญในหลายๆด้านของพะเยา ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมาสัมผัสในมนต์เสน่ห์อยู่ไม่ได้ขาด
สำหรับผมนี่ไม่ใช่การมาแอ่วกว๊านพะเยาครั้งแรก แต่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มากว๊านพะเยาแล้วประทับใจมาก เพราะไปในช่วงเดือนที่แล้วที่พะเยายังคงหนาวเย็น บวกกับสภาพแสงแดดและท้องฟ้าเป็นใจช่วยขับเน้นให้กว๊านพะเยาดูสวยงามมากขึ้น(กว่าที่เราเคยพานพบเมื่อครั้งที่ผ่านๆมา)
เรือจอดเรียงรายยามเช้าริมกว๊านที่ท่าเรือวัดติโลกอารม
เช้ามืด-เช้า
เนื่องจากในทริปนี้ผมตั้งใจมาแอ่วกว๊านพะเยาเป็นพิเศษ จึงปักหลักพักค้างแถวอยู่ริมกว๊านนั่นแหละ ซึ่งวันนี้ริมกว๊าน(ฝั่งเมือง)มีที่พักน่าสนใจให้เลือกพักกันไม่น้อย สนนราคามีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน ขึ้นอยู่กับทำเล บรรยากาศ ความหรูหรา และวันที่เข้าพัก(หากเป็นช่วงวันหยุดราคาย่อมอัพขึ้นมากว่าในวันธรรมดา)
แน่นอนว่าเมื่อมาพักถึงแหล่งชนิดโผล่หน้าออกไปก็เห็นกว๊านเด่นหรา งานนี้แม้ยามอยู่กรุงเทพฯผมจะเป็นคนตื่นสายแบบไม่อายแดดอายตะวัน แต่ว่าเมื่อมาที่นี่หากตื่นนอนสายคงหมดท่า เพราะว่าพลาดสิ่งดีๆไปไม่น้อย
รับตะวันยามเช้าที่หน้ากว๊านพะเยา
ดังนั้นผมจึงตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อไปเฝ้ารอเก็บตะวันกันที่หน้ากว๊าน ซึ่งก็สมใจอยาก ได้เห็นพระอาทิตย์ดวงกลมโตค่อยๆลอยโผล่เหลี่ยมเขาเหนือน่านน้ำในกว๊านขึ้นมา ก่อนที่มันจะส่องแสงสาดทอไปยังผิวน้ำที่นิ่งเรียบ มีหมอกจางๆลอยปกคลุม ท่ามกลางม่านขุนเขาจากเทือกดอยหลวง ดอยหนอก ที่ตั้งตระหง่านง้ำเป็นฉากหลังดูงดงามทรงเสน่ห์
จากนั้นวิถียามเช้าริมกว๊านได้ออกดำเนินไปอย่างเนิบนิ่ง ไม่เร่งรีบ แต่ว่าในความนิ่งก็เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวอันมากเสน่ห์ ชาวประมงพื้นบ้านออกเรือลอยลำหาปลา นกน้อยโผบินเกาะคาคอน ร้านรวงริมกว๊านเริ่มทยอยกันเปิด ผู้คนมาออกกำลังกาย เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน นักท่องเที่ยวบางส่วนออกมาเสพบรรยากาศสูดโอโซน พรานเบ็ดออกวางเบ็ดล่าปลากันแต่เช้าตรู่
พรานเบ็ดมาปักเบ็ดล่าปลากันตั้งแต่เช้ามืด
นอกจากนี้ยังมีภาพของพระ-เณร ที่ออกเดินบิณฑบาต ซึ่งทุกๆเช้าที่ริมกว๊านบริเวณท่าเรือไปวัดติโลกอาราม จะมีกิจกรรม"ตักบาตรข้าวเหนียว"ในช่วงเวลาประมาณ 7 โมงเช้า โดยมีร้านค้าแถวนั้นจัดเตรียมข้าวเหนียวและข้าวของใส่บาตรไว้บริการ ส่วนถ้าหากใครที่ไปเป็นหมู่คณะจำนวนมากก็ให้ติดต่อก่อนล่วงหน้า เพื่อผู้จัดตักบาตรจะได้เตรียมข้าวของใส่บาตรไว้ให้ตามต้องการ(สามารถติดต่อได้ที่ คุณเรณู(ป้านาย) 089-433-7311)
สำหรับการตักบาตรริมกว๊านในทริปนี้ ผมไปในช่วงที่ไม่ใช่วันพระใหญ่ คนมาใส่บาตรจึงไม่มาก แต่ในความเรียบง่ายกลับมีศรัทธาอันน่าคารวะอยู่เต็มเปี่ยม
ตักบาตรข้าวเหนียวริมกว๊าน
เช้า-สาย
หลังอิ่มบุญอิ่มใจจากใส่บาตร ผมไปอิ่มท้องต่อกับมื้อเช้าด้วยข้าวต้มร้อนๆจากที่พัก พร้อมกับทำอาบน้ำทำธุระส่วนตัว ก่อนออกมายังริมกว๊านอีกครั้งในช่วงก่อน 8 โมงครึ่งเล็กน้อย เพื่อเปิดประเดิมล่องเรือไปยังวัดติโลกอารามเป็นคณะแรกของวัน(ค่าเรือคนละ 30 บาท)
วัดติโลกฯวัดกลางน้ำแห่งกว๊านพะเยา
วัดติโลกอารามเป็นวัดกลางน้ำที่มองจากฝั่งเห็นเป็นเงาองค์พระเล็กๆตั้งเด่นอยู่บนเกาะกว๊าน วัดแห่งนี้มีประวัติว่า เป็นวัดที่พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาเมืองเชียงใหม่ โปรดฯให้เจ้าหัวแสน เจ้าเมืองพะเยาสร้างขึ้นมาในช่วงราวปี พ.ศ. 2019-2030
ครั้นเมื่อมีการสร้างประตูกักเก็บน้ำ ส่งผลให้วัดติโลกอาราม ชุมชนต่างๆ เรือกสวนไร่นา รวมไปถึงวัดอีกหลายแห่งที่อยู่บริเวณที่ลุ่มแม่น้ำอิงต้องจมลงไปอยู่ใต้น้ำนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2484
หลวงพ่อศิลา พระพุทธรูปศักดิ์ศิทธิ์กลางกว๊านพะเยา
จากนั้นอีกเกือบ 70 ปีผ่านมา ได้มีชาวบ้านชุมชนวัดศรีอุโมงค์คำขุดพบพระเครื่องยอดขุนพลพะเยาพร้อมๆกับพบพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัยองค์โตที่ต่อมาเรียกขานว่า "หลวงพ่อศิลา" จึงได้นำมาประดิษฐานที่วัดศรีอุโมงค์คำเป็นการชั่วคราว โดยมีการทำพิธีสมโภชน์ถึง 7 วัน 7 คืนด้วยกัน
ต่อมาในปี 2550 ทางได้ทำการสำรวจวัดร้างกลางกว๊านที่พบพระพุทธรูป ซึ่งตอนนั้นมีชื่อเรียกขานว่า วัดสันธาตุ หรือ วัดบวกสี่แจ่ง(แจ่ง เป็นภาษาคำเมือง แปลว่ามุม) อันเป็นการเรียกขานตามลักษณะที่ตั้งของวัด
นั่งเรือจากฝั่งสู่วัดติโลกฯ
ในการสำรวจทีมสำรวจได้พบ ศิลาจารึกเขียนด้วยตัวอักษรฝักขาม แปลได้ว่า“วัดติโลกอาราม” กับประวัติการสร้างวัดตามที่กล่าวมาข้างต้น
นั่นจึงทำให้ทางจังหวัดได้ลงมือบูรณะปรับแต่งวัดติโลกอารามที่ค้นพบจนเสร็จสิ้นใน ปี 2550 พร้อมกับได้อัญเชิญหลวงพ่อศิลากลับไปประดิษฐานคืนสู่กว๊านพะเยาตามเดิมที่วัดแห่งนี้
วัดติโลกอาราม
จากนั้นวัดติโลกอารามและหลวงพ่อศิลาก็ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งในวัดและพระสำคัญคู่เมืองพะเยา ซึ่งจากท่าเรือวัดติโลกฯ ผมกับเพื่อนๆนั่งเรือแจวนำเที่ยวที่มีการจัดเตรียมไว้ให้ ค่อยๆลอยเอื่อยๆฝ่าน้ำนิ่งโต้ลมเย็นๆสู่วัดติโลกฯกลางน้ำ ที่นานๆจะมีโอกาสได้นั่งเรือแจวสักหน ถือว่าได้บรรยากาศไปอีกแบบ
จากฝั่งใช้เวลาไม่นานประมาณ 10 นาที เราก็มาถึงยังวัดติโลกฯบนเกาะกลางน้ำ วัดติโลกฯเป็นวัดที่ตั้งโล่งๆ มีหลวงพ่อศิลาเป็นองค์พระประธานอันน่าเลื่อมใสไปด้วยพุทธลักษณะอันงดงาม ประดิษฐานโดดเด่นเป็นสง่ากลางกว๊านให้พุทธศาสนิกชนได้ล่องเรือมาสักการะบูชาท่ามกลางบรรยากาศแวดล้อมของสายน้ำขุนเขาแห่งกว๊านพะเยา
หลวงพ่อศิลา พระประธานแห่งวัดติโลกฯ
ทุกๆปีในวันพระใหญ่ คือ มาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา ทางจังหวัดพะเยาจะจัดพิธีเวียนเทียนกลางน้ำขึ้น ได้ชื่อว่าเป็นพิธีเวียนเทียนกลางน้ำหนึ่งเดียวในโลก ที่มีผู้คนเดินทางมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมากชนิดที่ต้องจองเรือแจวข้ามฝั่งล่วงหน้ากันเลยทีเดียว
สาย-เที่ยง
เสร็จจากการสักการะหลวงพ่อศิลา ผมกลับเข้าฝั่งมาในตอนสาย 9 โมงนิดๆ เวลานี้ยังคงมีเหลือเฟือให้เลือกเที่ยวกัน ซึ่งผมเลือกเที่ยวตามวัดหลักๆในตัวเมือง คือ ช่วงออกไปไกลหน่อย ไปชมพระพุทธรูปหินทรายและงานพุทธศิลป์ที่แกะสลักริมเพิงผาที่ “วัดผาธรรมนิมิต” หรือ “วัดห้วยผาเกี๋ยง” (ต.ท่าวังทอง อ.เมือง ห่างจากตัวเมืองไปราว 10 กม.) ที่ช่างแกะสลักออกมาได้อย่างงดงามน่าทึ่ง พระพุทธรูปมีพระพักตร์อ่อนหวานดูมีชีวิตชีวา
งานพุทธศิลป์แกะสลักหินทรายที่วัดผาธรรมนิมิต
จากนั้นกลับเข้าเมืองมาแวะไปไหว้พระที่“วัดศรีอุโมงค์คำ” วัดมีพระประธานองค์งามที่ศิลปินแห่งชาตินามอุโฆษผู้ลาลับอย่าง อ.ถวัลย์ ดัชนี ได้เคยกล่าวยกย่องว่า พระประธานที่วัดนี้มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในล้านนา
ครั้นพอช่วงเที่ยงเรากลับมานั่งหม่ำอาหารกลางวันกันที่ร้านอาหารริมกว๊าน ซึ่งก็มีหลากหลายร้านให้เลือกนั่ง โดยมี 2 เมนูไฮไลท์ชูโรง คือ “ปลาเผา” กับ “กุ้งฝอยทอด” งานนี้ใครโชคดีก็ได้ร้านอร่อย โชคไม่ดีก็ได้ร้านพอไปวัดวาได้ ส่วนใครที่จะใช้วิชาสังเกตสังกาว่าร้านไหนคนเข้าเยอะ น่าจะอร่อย มันก็ไม่แน่เสมอไป เพราะบางร้านทัวร์ลง คนเยอะ แต่รสชาติอาหารกลับแค่ พอแหลกล่ายก็มี
ยามเช้ากับนกน้อย
บ่าย-เย็น
ช่วงบ่ายผมไม่ไปไหนไกลจากกว๊าน หากแต่เลือกเที่ยวในตัวเมืองต่อ เริ่มจากไป “วัดพระธาตุจอมทอง” ไหว้พระธาตุจอมทอง พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพะเยา
แล้วจึงออกเดินทางต่อไปยัง“วัดศรีโคมคำ” หรือ“วัดพระเจ้าตนหลวง” ที่อยู่ใกล้ๆเพื่อสักการะองค์ “พระเจ้าตนหลวง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพะเยา ที่หากว่าใครมาพระเยาแล้วไม่ได้มาไหว้เหมือนกับมาไม่ถึง
พระเจ้าตนหลวง เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนา ซึ่งดูขรึมขลังงดงามด้วยพุทธศิลป์เชียงแสน น่าเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง
พระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพระเยา
เสร็จจากไหว้พระเจ้าตนหลวงผมยังอยู่ที่วัดศรีโคมคำต่อ เพราะที่นี่มีโบสถ์กลางน้ำหลังให้เที่ยวชม ด้านหลังโบสถ์ติดกับกว๊านพะเยา ซึ่งก็มีคนนิยมมาทำบุญด้วยการ ปล่อยปลา ปล่อยเต่า กันอยู่เรื่อยๆ
ในเขตวัดศรีโคมคำยังมีอีกหนึ่งจุดน่าสนใจไม่ควรพลาด นั่นก็คือ “หอวัฒนธรรมนิทัศน์” ที่ภายในจัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ รวบรวมศิลปวัตถุน่าสนใจมากมายจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็น พระพุทธรูปเก่าแก่ต่างๆ พระพุทธรูปหินทราย ศิลาจารึก เครื่องปั้นดินเผา และที่น่าทึ่งและถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คือซากฟอสซิลต่างๆ อาทิ ฟอสซิลไดโนเสาร์,ฟอสซิลช้าง 4 งา, ฟอสซิลปูคู่รักมหัศจรรย์อันน่าทึ่ง เป็นต้น
การจัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์
หอวัฒนธรรมนิทัศน์ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งรวมของดีของภาคเหนือ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองพะเยาที่น่าสนใจยิ่ง แต่น่าเสียดายที่หลายๆคนมักมองข้ามไป
พญานาคกว๊านพะเยา
จากหอวัฒนธรรมฯ ผมกลับเข้าที่พักอีกครั้งในช่วงบ่ายคล้อย เพื่อไปล้างหน้าล้างตา พักผ่อนเล็กน้อย ก่อนออกมาสัมผัสกับบรรยากาศริมกว๊านยามเย็น
กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต
ริมกว๊านวันนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีการจัดทำมุมเก๋ๆ จัดสวนเล็กๆ ประดับประติมากรรมเท่ๆ ให้ถ่ายรูปกันจำนวนหนึ่ง พร้อมกับมุมถ่ายรูปคู่ป้ายกว๊าน มุมนั่งเล่น มุมชมวิว ชมพระอาทิตย์ตก และมุมที่ไม่น่าเชื่อว่านี่คือกว๊านพะเยา เพราะเมื่อมองผ่านมุมต้นหมาก ต้นมะพร้าวริมฝั่งแล้ว มันให้ความรู้สึกคล้ายกับอยู่ริมทะเลยังไงยังงั้น
ปั่นจักรยานริมกว๊านยามเย็น
บริเวณริมกว๊านฝังตรงข้ามยังเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะเทศบาลพะเยา ที่โดดเด่นไปด้วย “อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง”กษัตริย์องค์ที่ 9 (พ.ศ. 1801 - 1841)แห่งเมืองภูกามยาว(พะเยาในสมัยโบราณ) ที่ปกครองดินแดนแห่งนี้จนรุ่งเรืองอย่างมาก
ขณะที่ฝั่งตรงข้ามอนุสาวรีย์ในฝั่งน้ำริมกว๊านมีการสร้างรูปปั้นพญานาค 2 ตนตั้งเด่นเป็นสง่า โดยพญานาคคู่นี้ทางผู้สร้างไม่ได้สร้างขึ้นมาลอยๆ แต่หากอ้างอิงมาจากนิทานกว๊าน ตำนานพญานาคแห่งกว๊านพะเยา ซึ่งมีตำนานเล่าว่า ในสมัยโบราณหนองน้ำแห่งนี่ที่เรียกว่า “หนองเอี้ยง” เป็นที่อยู่ของพญานาคนามว่า“พญาธุมะสิกขี” ที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง
พญาธุมะสิกขี ถือตนว่าเป็นเจ้าแห่งหนองน้ำแห่งนี้ ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับริมหนองเอี้ยง หลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระอานนท์ได้เดินลงไปริมหนองน้ำ เพื่อตักน้ำมาถวายแด่พระพุทธเจ้า แต่ได้ถูกพญานาคพญาธุมะสิกขีเข้ามาขัดขวาง พร้อมแสดงความกร่างว่าข้าเป็นเจ้าของหนองน้ำนี้ ทำให้พระพุทธเจ้าต้องลงมากำราบโดยแสดงปาฏิหาริย์เนรมิตพระวรกายให้สูงใหญ่กว่าพญาธุมะสิกขี
พญาธุมะสิกขีเมื่อเห็นในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า จึงเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ พร้อมถวายตนเป็นผู้รับใช้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เมื่อตถาคตปรินิพพาน ล่วงไปได้ 5 พันปี ท่านจงมาสร้างรากฐานพระพุทธศาสนาไว้ที่หนองน้ำแห่งนี้
ประติมากรรมพญานาคแห่งกว๊านพะเยา
ครั้นกาลเวลาล่วงผ่านมาครบตามกำหนด พญาธุมะสิกขีได้แปลงเป็นบุรุษนุ่งขาวห่มขาวแล้วไปเล่าให้สองตายายผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่อาศัยอยู่ริมหนองฟัง พร้อมกับมอบทองคำจำนวนมากที่นำมาจากเมืองพญานาคให้สองตายายนำไปสร้างพระพุทธรูปขึ้น ซึ่งพระพุทธรูปที่สร้างนั้นก็คือ “พระเจ้าตนหลวง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพะเยาที่ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดศรีโคมคำ” ในตัวเมืองพะเยานั่นเอง
สำหรับรูปปั้นพญานาคคู่นี้ สร้างหันหน้าเข้าหากันโดยมีองค์พระธาตุจอมทองอยู่ตรงกลาง ใครไปใครมามักจะไม่พลาดการมาถ่ายรูปกับพญานาคคู่นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งมุมสัญลักษณ์ของกว๊านพะเยา
ยามเย็นจะมีคนมาพักผ่อน ดื่มกินกันริมกว๊าน
เย็น-ค่ำ
บรรยากาศยามเย็นถือเป็นช่วงไฮไลท์ของกว๊านพะเยา โดยเฉพาะในฤดูหนาว ยามเย็นริมกว๊านบรรยากาศดีไม่เบา นั่นจึงทำให้ในช่วงเย็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนทัศนาริมกว๊านกันมากพอสมควร
ริมกว๊านยามเย็นจัดว่าเต็มไปด้วยสีสัน ทั้งจากนักท่องเที่ยวและจากชาวพะเยา ที่นี่เราจะได้เห็น ผู้คนมาออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน นั่งเรือไปวัดติโลกฯ นั่งดื่มกิน ไทเก็ก พักผ่อน ถ่ายรูป จู๋จี๋กัน และที่สำคัญคือมาเฝ้ารอชมพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งในวันที่ดินฟ้าอากาศเป็นใจ บรรยากาศพระอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาที่กว๊านพะเยานั้นงดงามมาก งดงามจนมีคนนำไปแต่งเป็นเพลงบรรยายความงามของกว๊านพะเยากันหลายต่อหลายคน
อีกหนึ่งมุมมองของกว๊านยามโพล้เพล้
คร