ซุนวู เป็นนักการทหารและนักปกครองที่เชี่ยวชาญเป็นยอดเยี่ยมในสมัยชุนชิว เกิดเมื่อประมาณสองพันสี่ร้อยถึงห้าร้อยปีก่อนระหว่างพุทธกาล ได้รับสมญาว่าเป็นมังกรหนึ่งในสมัยนั้น
อันสมัยชุนชิวนั้น เป็นสมัยที่องค์จักรพรรดิเสื่อมถอยด้อยอำนาจลง ด้วยเจ้าครองนครต่าง ๆ พากันสร้างสมทหารเพื่อชิงความเป็นใหญ่ มีการรบราฆ่าฟันกันตลอดยุค เพราะฉะนั้น จึงเป็นยุคที่บ้านเมืองอลวนไปด้วยข้อพิพาทและทำศึกกัน เปิดโอกาสให้ปราชญ์ต่าง ๆ ได้ใช้สติปัญญาอย่างเต็มที่ ในการแสดงความคิดเห็นตามอุดมการณ์ของตน จึงได้กำเนิดเป็นลัทธิต่าง ๆ อย่างกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน
รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง คนส่วนใหญ่อาจเคยได้ยินคำนี้แล้วก็จะรู้เลยว่านี่เป็นคำสอนของซุนวู แต่เป็นเพียงการรวมคำพูดทั้งสองประโยคที่ซุนวูพูดไว้เท่านั้น คือ"การชนะร้อยทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้ แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึ่งถือว่าเป็นวิธีอันวิเศษยิ่ง" กับ"หากรู้เขารู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด ถ้าไม่รู้เขา แต่รู้เพียงตัวเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธนั้นแล"
ซุนวูกล่าวว่า การรบถ้ารู้จักการวางแผนที่ดีมีสิทธิที่จะชนะทุกร้อยครั้งเหมือนสิงโต ถ้าคราวใดที่ไม่สามารถจะล่าเหยื่อได้จะไม่ออกล่าเหยื่อ ในสงคราม เมื่อมีการรู้กำลังของกองทัพของเราเองรู้ความสามารถของแม่ทัพ รู้ความสามารถของกองทหารของฝ่ายเรา โอกาสรบชนะจะมีครึ่งหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่เราเรียนรู้กองกำลังของข้าศึก เรียนรู้ความสามารถของแม่ทัพข้าศึก และรู้ความสามารถของกองทหารของข้าศึก โอกาสรบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งก็ไม่ไปไหนไกล แต่เมื่อใดก็ตามที่ออกรบ แม่ทัพไม่รู้กำลังของตัวเอง ไม่รู้กำลังของกองทหารตัวเอง ไม่ว่าจะออกรบกี่ครั้งก็ต้องแพ้ย่อยยับกลับมาทุกครั้ง ศาสตร์ข้อนี้ได้มีการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจกันอย่างแพร่หลาย ยกตัวอย่าง ทฤษฎี SWOT Analysis
ตีใกล้แสร้งไกล ตีไกลแสร้งใกล้ ซุนวูกล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่จะรุกโจมตีเมืองที่ไกลห่างออกไป จงหลอกล่อให้ข้าศึกรู้ว่าเราจะตีเมืองอื่นที่ใกล้กับเรา หลอกให้ศัตรูคิดว่าเรา
ไม่สามารถไปตีถึงเมืองนั้นได้ เมื่อคราใดที่เราเข้าโจมตี ศัตรูจะไหวตัวไม่ทันทำให้รบชนะได้อย่างง่ายดาย เฉกเช่นเดียวกับโจมตีเมืองที่อยู่ใกล้ แต่หลอกศัตรูว่าเราจะไปตีเมือง
ที่ไกลห่างออกไป
จงสู้รบให้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
ไฟ - เมื่อยามบุก จงบุกให้เหมือนไฟ ให้รุกกระหน่ำให้โหมหนักไปเรื่อยเรื่อยจนทุกอย่างมอดไหม้
ภูเขา - เมื่อยามที่ตั้งรับ จงนิ่งสงบอย่างหุบเขา ไม่ให้ศัตรูจับได้ว่าเราซ่อนตัวอยู่ที่ไหน
ลม - เมื่อยามเคลื่อนทัพ จงเคลื่อนให้เหมือนสายลม รวดเร็วโดยไม่ทิ้งร่องรอย
สิ่งที่ผู้ปกครองไม่พึงทำในการยุทธ ผู้ที่ปกครองห้ามทำผิดกฎ 3 ข้อดังต่อไปนี้ หากไม่ทำตามจะทำให้ประสบกับความพ่ายแพ้ได้สั่งให้รุกขณะไม่ควรรุก หรือสั่งให้ถอยขณะ
เป็นต่อข้าศึก ทำให้กองทัพระส่ำระสายไม่เข้าใจในกิจการของกองทัพ แต่สั่งการตามอำเภอใจ หรือสามัญสำนึกของตน ทำให้เหล่าขุนพลสับสนไม่เข้าใจหลักการผสมผสานการใช้
กำลังทหารเหล่าต่าง ๆ ในการดำเนินกลยุทธ์ แต่เข้าแสดงบทผู้บัญชาการ ทำให้เหล่านายทหารเกิดความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจเมื่อเหล่าทัพต่าง ๆ ตกอยู่ในสภาพลังเล สงสัย
สับสน ไม่แน่ใจ ก็เกิดความระส่ำ ระสายในกองทัพ ศัตรูก็ฉวยโอกาสนี้เข้ากระทำและได้รับชัยชนะ เป็น ต่อฝ่ายเรา
ปัจจัยสู่ชัยชนะ การนำกองทัพสู่ชัยชนะมีปัจจัย 5 ประการ
1. รู้ว่าเมื่อใดควรรบ และไม่ควรรบ
2. รู้จักการออมกำลัง
3. นาย และพลทหารเป็นน้ำหนึ่ง ใจเดียวกัน
4. วางแผนและเตรียมการดี
5. มีขุนพลผู้ที่สามารถ และไม่ถูกแทรกแซงจากผู้ปกครอง
ที่กล่าวมา 5 ประการนี้ผู้ใดรู้จักใช้จะพบกับชัยชนะ
ชีวประวัติ ซุนวู ตามที่ค้นพบว่า บรรพบุรุษมีรกรากอยู่ในประเทศฉี และตระกูลเดิมมิใช่แซ่ ซุน หากแซ่ เถียน (บางแห่งว่า เฉิน) ปู่ทวดของซุนวูมีนามเดิมว่าเถียนอ๋วน สืบสายถึง เถียนอู๋หยู่ ซึ่งเป็นผู้สืบสายโลหิตชั้นที่ ๔ มีบุตร ๒ คน คือ เถียนฉาง และเถียนซู, เถียนซูเป็นเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ของประเทศฉี เนื่องจากมีความชอบในการตีแคว้น จู่ ได้ชัยชนะ พระเจ้าจิ้งกงจึงพระราชทานให้แซ่ซุน และถือศักดินากินเมือง เล่ออาน เถียนซ ูหรือ ซุซู มีบุตรชื่อ ซุนเฝิง เฝิงกำเนิด ซุนวู หรือบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่เรากล่าวถึงนี้
ภายหลังเนื่องด้วย เถียนเปา สี่ตระกูลก่อการจลาจล ซุนวูจึงลี้ภัยการเมืองไปพำนักยังประเทศหวู และได้เข้าทำราชการในประเทศหวูนั้น ด้วยการ ยกย่องและชักนำของ อู่หยวน (โหงวจือซือ) ซุนวูได้น้อมเกล้าถวายตำราพิชัยสงครามซึ่งตนแต่งแก่พระเจ้าเหอหลู พระเจ้าเหอหลูพอพระทัย จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ และได้นำทัพทำการรบกับประเทศ ฉู่, ฉี, จิ้น, ซ่ง และ หลู่ได้ชัยชนะอย่างงดงาม มีกิตติศัพท์เกริกก้องกำจรกำจาย เป็นที่หวั่นเกรงของแคว้นต่าง ๆ ทั่วไป
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ซุนวูมิใช่ “นักละเลงขนมเบื้องด้วยปาก” วาดตัวอักษรให้เห็นทฤษฎีงาม ๆ น่าชมน่าเลื่อมใสเท่านั้น ทั้งทางปฏิบัติก็ได้ปฏิบัติการให้ประจักษ์เป็นสักขีพยานอีกด้วย
เมื่อซุนวูได้รับผลสำเร็จในทางทหารอย่างงดงามแล้ว เขามิได้มัวเมาลุ่มหลงในยศถาบรรดาศักดิ์และลาภสักการนั้น ๆ จนลืมตน เขาเห็นว่าพระเจ้าเหอหลูเป็นกษัตริย์ มีความหวาดระแวงเป็นเจ้าเรือน นั่นเองมีอำนาจทางทหารเช่นนี้ จะรับราชการด้วยดีโดยตลอดรอดฝั่งมิได้ ฉะนั้น จึงถวายบังคมลาออกจากราชการไปบำเพ็ญชีวิตตามป่าเขาลำเนาไพรอย่างสันโดษ
ตำราพิชัยสงครามของซุนวูเป็นหนึ่งในตำรายุทธศาสตร์การทหารเล่มหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยนับได้ว่าเป็นตำราเล่มแรกและเล่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเชิงยุทธศาสตร์ และมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อแนวคิดทางการทหาร กลยุทธทางธุรกิจ และแนวคิดเรื่องอื่นๆ ทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก ซุนวูถือเป็นบุคคลแรกที่ตระหนักในความสำคัญของตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะได้รับผลกระทบทั้งจากเงื่อนไขเชิงรุกในด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และความคิดเชิงรับของฝ่ายคู่แข่งในสภาพแวดล้อมดังกล่าว เขาได้สอนว่า ยุทธศาสตร์ไม่ใช่เพียงการวางแผนกำหนดสิ่งที่จะลงมือทำเท่านั้น แต่ยังต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็วและเหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย
ตำราพิชัยสงครามซุนวู ซึ่งตกทอดมาถึงเดี๋ยวนี้มี 13 บรรพด้วยกัน ได้ประมวลหลักปรัชญาการต่อสู้และทฤษฎีการปกครองไว้อย่างครบครัน หนังสือเล่มนี้เบื้องโบราณสมัยหลัง ๆ ต่อมา แม้ ขงเบ้ง, พระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ ตลอดจนนักการทหารและนักการปกครองอันมีชื่อของจีนอื่น ๆ ก็ได้ถือเป็นตำราเล่าเรียนตลอดมา ชาวโลกก็นิยมว่าเป็นแม่บทของตำราวิชาการทหารซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดเล่มหนึ่ง ถ้อยคำสำนวนเดิมสั้น,รัดกุม,แน่นแฟ้น และเป็นคำยากด้วยเป็นคำโบราณ เท่าที่ทราบกันว่าได้แปลเป็นภาษาต่าง ๆ แล้ว มีภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, เชคโก, เยอรมัน ฯลฯหลายภาษาด้วยกัน
บรรดาหนังสือแนวปรัชญาของจีน จำได้ว่ามีอยู่ไม่กี่เล่มที่ได้รับการยกย่องหรือถือว่าเป็น "คัมภีร์" เช่น คัมภีร์เหลาจื๊อ-ขงจื๊อ และ ตำราพิชัยสงครามของซุนวู ก็เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ถูกยกเป็น "คัมภีร์" เช่นกัน สิ่งที่อยากจะกล่าวถึงคุณความดีของ "ตำราพิชัยสงครามซุนวู" ก็คือภาษาหนังสือของ "ซุนวู" ถูกยกย่องว่าเป็นภาษาหนังสือที่ดีที่สุด มีทั้งความเฉียบคม ดุเดือด เข้มแข็ง เด็ดขาด และลีลาที่สง่างามทางภาษา ซึ่ง โจโฉ ก็กล่าวยกย่องไว้มาก
ประการต่อมา-เนื้อหาซึ่งถือเป็นตำราพิชัยสงครามนั้น มีคุณค่าสูงส่งโดยปราศจากข้อสงสัย แม้ "ขงเบ้ง" ก็ยกย่องและยอมรับนับถือ บรรดาแม่ทัพนายกองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจีนจำนวน 13 คน ได้ทำ "หมายเหตุ" บรรยายหรือขยายความเพื่อให้คนรุ่นต่อมาได้เข้าถึงอย่างลึกซึ้ง หนังสือ "ตำราพิชัยสงครามชุนวู" เล่มนี้ยังได้ถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวาง แม้แต่คำกราบบังคมทูลของขงเบ้งก็อ้างถึงว่า โจโฉมีความสามารถเทียบเท่าซุนวู
เรียบเรียงโดย attiwat
ข้อมูลจาก http://www.stou.ac.th/study/sumrit/2-58(500)/page4-2-58(500).html
http://soft2.me/1112