“ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ตึกรพ.ที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี นอกจากจะขึ้นชื่อในเรื่องการแพทย์แผนไทย และผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่เลื่องชื่อในอันดับต้นๆของเมืองไทยแล้ว ที่นี่ยังโดดเด่นในเรื่องของสถาปัตยกรรมสุดคลาสสิกนาม “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร”
ตึกที่ได้ชื่อว่า(เคย)เป็นโรงพยาบาลที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย
“ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ปราจีนบุรี กับความสวยงามคลาสสิกที่ตั้งเด่นเป็นสง่ามากว่า 100 ปี
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ตั้งอยู่บนถนนปราจีนอนุสรณ์ ต.ท่างาม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี) เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 โดยท่าน“เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)”*** เพื่อใช้เป็นที่ประทับรับเสด็จของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในยามที่เสด็จประพาสมายังปราจีนบุรี เพราะท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม)เห็นว่า เมื่อคราที่ ร.5 เสด็จประพาสปราจีนบุรีในปี 2451 นั้น ไม่มีสถานที่รับเสด็จที่เหมาะสม มีเพียงพลับพลาชั่วคราวที่จัดสร้างขึ้นมาเท่านั้น
ดังนั้นท่านชุ่มจึงสร้างตึกหลังนี้ขึ้นมาเพื่อใช้รับเสด็จ แต่ทว่า ร.5 ไม่มีโอกาสได้ประทับ เนื่องจากพระองค์ท่านพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตเสียก่อนในปี 2453 ต่อมาในปี 2455 ตึกแห่งนี้ได้ถูกใช้เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 6
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)-(ภาพจากหนังสือ "เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม")
หลังจากนั้นตึกหลังนี้ก็ได้ยืนหยัดผ่านกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงต่างๆมามากมาย
กระทั่งในปี 2484 ตึกแห่งนี้ได้รับการจัดตั้งเป็น (ตึกอำนวยการ)“โรงพยาบาลปราจีนบุรี” ก่อนที่ภายหลังอีก 25 ปี ต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น“โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร”
ครั้นเมื่อโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีการสร้างตึกอำนวยการหลังใหม่ขึ้นในปี 2512 ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรก็ค่อยๆลดระดับความสำคัญลง ก่อนที่กรมศิลปากรจะประกาศขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโบราณสถานของชาติในปี 2533 กับสภาพของตึกในยุคนั้นที่ถูกทอดทิ้งจนทรุดโทรม
จากนั้นในปี 2536 สมัยที่นายแพทย์เปรม ชินวันทนานนท์ เป็นผอ.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้มอบหมายให้ เภสัชกรหญิง(ภญ.)“สุภาภรณ์ ปิติพร”(ตำแหน่งในขณะนั้น) จัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์การแพทย์ไทยอภัยภูเบศรขึ้นเพื่อปรับปรุงบูรณะซ่อมแซมตึกเก่าแห่งนี้
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ทำให้เกิด พิพิธภัณฑ์การแพทย์ไทยอภัยภูเบศร
ตอนนั้นภญ.สุภาภรณ์หรือพี่ต้อยได้เข้ามาทำงานที่ รพ.ฯอภัยภูเบศร ได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว และเธอก็รู้สึกผูกพันสนใจในตึกเก่าหลังนี้ จึงได้ทำการสืบค้นตามรอยประวัติของตึกงามหลังนี้ พร้อมกับได้ค่อยๆทำการซ่อมแซมปรับปรุงตึกหลังนี้เรื่อยมา
สำหรับภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ตำแหน่งปัจจุบัน) เธอถือเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญผู้ปิดทองหลังพระให้ตึกฯอภัยภูเบศรกลับมาคืนความงดงามดังเช่นในทุกวันนี้
ภาพตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปี 2536 ก่อนการบูรณะ(ภาพจากหนังสือ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สานปณิธานวิญญาณไท)
แต่ว่ากว่าจะมีวันนี้ได้ก็ถือว่าหนักหนาสาหัสไม่น้อย เพราะในช่วงแรกๆยังมีคนไม่เข้าใจอยู่มาก ซึ่งพี่ต้อยได้เคยเปิดเผยผ่านหนังสือ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม”(น.89) ว่า
...“มาเห็นตึกก็เกิดแรงบันดาลใจว่าน่าจะบูรณะให้คงสภาพเดิมตามประวัติ แต่เป็นเรื่องยากมาก เขียนโครงการส่งไป ขอรับการสนับสนุนหลายแห่งก็ได้รับการปฏิเสธ”...
ทั้งนี้สำหรับโครงการบูรณะซ่อมแซมตึกและจัดทำพิพิธภัณฑ์การแพทย์ไทยนั้น ในสมัยนั้นหากจะให้โครงการสมบูรณ์ทั้งหมดก็ต้องใช้งบประมาณราว 12 ล้านบาท
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรผ่านกาลเวลากว่า 100 ปี มาสู่วันนี้ในฐานะ พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
อย่างไรก็ดีแม้ทางโรงพยาบาลจะถูกปฏิเสธการช่วยเหลือจากการขอสนับสนุนด้านเงินทุนไปจากหลายๆแห่ง แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีในขณะนั้นคือ”นายบรรจง กันตวิรุฒ” ก็ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้อนุมัติงบพัฒนาจังหวัดมาให้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมตึกและทำการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เป็นเงินทั้งสิ้น 2 ล้านบาท
แต่ว่าในการอนุมัติงบครั้งนั้นก็ถูกหลายฝ่ายที่ไม่เข้าใจมองว่า “งบพัฒนาจังหวัดนั้นควรนำไปสร้างแหล่งน้ำสาธารณูปโภคมากกว่าที่จะมาบูรณะตึก แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์คุณค่าของวัฒนธรรมนั้นสร้างคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน” (อ้างอิงจากหนังสือ : ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สานปณิธานวิญญาณไท)
บรรยากาศในพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
มาวันนี้ผลจากความตั้งใจและปณิธานอันแน่วแน่ของภญ.ดร.สุภาภรณ์ และผู้เกี่ยวข้องต่างๆได้ร่วมกันพลิกฟื้นคืนความงาม คืนชีวิตให้กับตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอีกครั้ง
ปัจจุบันตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรดำรงฐานะเป็น “พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร” ภายในมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่และสิ่งน่าสนใจมากมาย โดยได้แบ่งเป็นส่วนจัดแสดงหลักๆ อาทิ ห้องประวัติศาสตร์ ห้องท้องพระโรง ห้องยาไทย ห้องปูมเมืองปราจีนบุรี ห้องประวัติการพัฒนาสมุนไพรอภัยภูเบศร และร้านขายยาไทย เป็นต้น
ส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องราวของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นงานสถาปัตกรรมยุโรปยุคบาโรก(Baroque)ประมาณช่วงคริสตศตวรรษที่ 17 ออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัทโฮวาร์เออร์สกิน เป็นตึกเดี่ยว 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องลอนเล็ก กลางหลังคาสร้างเป็นรูปโดม เหนือยอดโดมมีเครื่องบอกทิศทางรูปไก่ทำด้วยโลหะ ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมา และมีระเบียงดาดฟ้า
ลวดลายปูนปั้นประดับด้านนอกตึก
ภายนอกและภายในอาคารมีลวดลายปูนปั้นฝีมือประณีตบรรจงประดับอยู่ทั่วไป รวมถึงมีการทำช่องลมเป็นแผ่นไม้ฉลุลายอย่างสวยงาม ขณะที่วัสดุส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น กลอนประตู หน้าต่าง กระจกสี กระเบื้องปูพื้น ล้วนสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ
ส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารมีรูปเคารพปูนปั้น(ฝีมือช่างพื้นบ้าน)ปั้นเป็นรูปท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม อภัยวงศ์) ยืนตรงเด่นเป็นสง่าให้ผู้ที่ผ่านไป-มา ได้ทำความเคารพ สักการะ ท่ามกลางต้นปาล์มสูง 2 ต้นที่ขึ้นขนาบข้าง
ลวดลายปูนปั้นประดับอันสวยงาม อ่อนช้อย
ด้วยความงดงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรทำให้ตึกสไตล์ยุโรปโบราณหลังนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2542
อาคารอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2542
ทั้งนี้จากการสืบค้นของภญ.ดร.สุภาภรณ์ พบว่าท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม)ได้นำแบบมาจากบ้านของท่านหรือ“ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ที่ จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา ซึ่งผมได้มีโอกาสร่วมติดตามพี่ต้อยไปร่วมย้อนรอยตึกงามแห่งพระตะบองที่เป็นดังแฝดพี่ของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง ตั้งในพื้นที่ย่านอาคารราชการดั้งเดิม ซึ่งจากข้อมูลประวัติการสร้างตึกหลังนี้ที่เขียนโดยนักวิชาการท้องถิ่นของพระตะบองระบุว่า ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) สร้างตึกหลังนี้ขึ้นในปี 2447(บ้างกว่าปี 2448) โดยว่าจ้างช่างชาวอิตาลีมาเป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง ตึกหลังนี้เคยถูกใช้เป็นศาลากลางของเมืองพระตะบองมาช่วงระยะเวลหนึ่ง แต่เมื่อมีการสร้างศาลากลางหลังใหม่ ตึกหลังนี้ได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมเรื่อยมา
ด้านหน้าของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง
จนกระทั่งเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตรปราสาทในเขตเมืองพระตะบอง พระองค์ท่านได้ไปเสวยพระกระยาหารที่ตึกหลังนี้ ในระหว่างนั้นเกิดฝนตกและรั่วลงมา พระองค์ท่านจึงพระราชทุนทรัพย์ในการบูรณะให้ 1 ล้านบาท อันเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณะให้กลับคืนสู่ความสวยงามดังเดิม
ปัจจุบันตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง เปิดใช้ทำการบางส่วน และในอนาคตมีโครงการที่จะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมืองพระตะบองได้กล่าวว่า
“คงจะต้องไปปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ปราจีนบุรี)ที่เมืองไทย”
เส้นสาย ลวดลายแห่ง ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง หรือที่หลายๆคนเรียกว่าตึกแฝดพี่ของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี มีลักษณะเป็นตึกเดี่ยว 2 ชั้น สไตล์ยุโรปยุคบาโรกมีการตกแต่งอย่างสวยงาม(เช่นเดียวกับตึกที่ปราจีน) ตัวตึกหันหน้าออกถนนและหันรับแดดอุ่นๆในยามเช้า
แต่ทว่า...มันน่ารันทดก็ตรงที่ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม)ไม่เคยมีโอกาสได้ขึ้นไปยืนบนระเบียงรับตะวันยามเช้าที่ตึกแห่งนี้ หรือมีโอกาสได้เข้าพำนักในตึกแห่งนี้เลย เพราะจวนหลังนี้ยังสร้างไม่ทันเสร็จ ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) ผู้เป็นเจ้าของก็ต้องพลัดพรากจากเมืองพระตะบองที่วงศ์ตระกูลตั้งรกรากมากว่า 100 ปี เข้าสู่แผ่นดินสยาม พร้อมกับวีรกรรมแห่งความจงรักภักดีที่ต่อมาท่านได้ถูกยกย่องให้เป็น
“เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม”
ลวดลายรูปช้างที่ประดับอยู่ด้านบนของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง
จงรักภักดี
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เกิดเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2404 จังหวัดพระตะบอง ในรัชกาลที่ 4 เป็นบุตรคนโตของท่านผู้หญิงทิม และเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์(เยีย)ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง โดยต้นตระกูลท่านได้ปกครองเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ที่ช่วงนั้นยังอยู่ใต้การปกครองแห่งสยามประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2337 ในรัชกาลที่ 1 เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5
แต่ในปี พ.ศ.2450 ผลจากการล่าอาณานิคม ทำให้ไทยต้องเสียดินแดน พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ให้กับฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์(ชุ่ม)(ตำแหน่งในขณะนั้น) ที่ได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพาและให้ว่าราชการเมืองพระตะบอง ได้ทูลเกล้าให้ความเห็นว่า “ควรยอมเสียดินแดนส่วนน้อย เพื่อแลกกับเอกราชส่วนใหญ่”
รูปปั้นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ใน พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
โดยท่านชุ่มได้เสียสละยอมให้ยกดินแดนภายใต้การปกครองแก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับการรักษาเมืองจันทบุรีและตราดเอาไว้ เพราะในทางยุทธศาสตร์ เมืองจันท์และตราดอยู่ติดทะเลศัตรูข้าศึกสามารถยกพลจากเข้ามาสู่พระนครเมืองหลวงได้ง่ายกว่า
อย่างไรก็ดีในการยึดครองพระตะบองมาจากสยาม ทางฝรั่งเศสยังต้องการให้เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์(ชุ่ม) รับราชการเป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองพระตะบองต่อ ด้วยมองเห็นว่า ท่านชุ่มยังเป็นที่เคารพของประชาชนและบารมีของสายสกุลอภัยภูเบศรที่ปกครองพระตะบองมานับร้อยปี จะเป็นประโยชน์ต่อการเข้ามาปกครองของฝรั่งเศส
ลวดลายปูนปั้นประดับในอาคารของตึกเจ้าประนาอภัยภูฌบศร ปราจีนบุรี
แต่ด้วยความจงรักภักดีของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์(ชุ่ม)ที่มีต่อชาติ มีต่อแผ่นดินสยาม และมีต่อพระมหากษัตริย์ไทย ท่านชุ่มไม่ยอมไปเป็นข้าแผ่นดินอื่น ท่านได้ยอมทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน ทิ้งบ้านยุโรปหลังใหญ่หรูที่กำลังสร้าง ทิ้งทรัพย์สินจำนวนมาก ยอมสละตำแหน่ง อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ พร้อมชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายในตำแหน่งเจ้าเมืองพระตะบอง พาครอบครัวเดินทาง(ด้วยเท้า)อย่างยากลำบากในฤดูฝนเข้าสู่สยามประเทศ มาเป็นข้าราชการธรรมดา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี
...“ที่สำคัญที่สุดความยิ่งใหญ่ของท่านคือความรักชาติ รักแผ่นดิน ท่านเลือกความลำบากและยอมพลัดจากบ้านเกิดเมืองนอนและยศถาบรรดาศักดิ์ที่มีอำนาจล้นฟ้า ฉากอพยพของท่านที่ฝ่าฝนข้ามน้ำ ข้ามเขาทุกลักทุเลกว่าจะถึงเมืองไทย เป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่าที่คนรุ่นเก่าเล่าให้ฟังได้ไม่รู้เบื่อ”...
นั่นคือส่วนหนึ่งของข้อความที่ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ได้เขียนสดุดีท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) เอาไว้ในคำนิยมของหนังสือ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม” ซึ่งนับจากวันที่เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์(ชุ่ม)เดินทางจากพระตะบองเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในปราจีนนั้นใช้เวลา 1 เดือนเต็มๆ โดยตรงกับวันเข้าพรรษา(กลางเดือน ก.ค.)พอดี
ข้าวของโบราณที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
จากนั้นในปีวันที่ 18 พฤศจิกายน 2450 เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์(ชุ่ม) ได้รับการโปรดเกล้าฯเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” มีศักดินา 10,000 ไร่ และพระราชทานยศเป็นมหาอำมาตย์โท รับระบบในกระทรวงมหาดไทย
ถัดมาในปี 2451 ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม)ได้ที่หน้าที่จัดการรับเสด็จรัชกาลที่ 5 โดยท่านได้นำเสด็จประพาสดงศรีมหาโพธิและพระหน้าที่เป็นควาญช้างพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง ก่อนที่ในปี 2452 ท่านเจ้าคุณชุ่มจะดำเนินการก่อสร้างตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเพื่อใช้เป็นที่ประทับรับเสด็จรัชกาลที่ 5 ตามที่ได้แล้วมาข้างต้น
อีกหนึ่งลวดลายประดับอันสวยงามของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี
ปี 2460 ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม)และผู้สืบเชื้อสายได้รับพระราชทานนามสกุล “อภัยวงศ์” จากนั้นในวันที่ 27 สิงหาคม 2465 ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้ถึงแก่อสัญกรรม สิริรวมอายุ 61 ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพที่วัดแก้วพิจิตร จ.ปราจีนบุรี
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตึกงามแห่งความจงรักภักดี
วันนี้แม้ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม อภัยวงศ์)จะจากไปกว่า 90 ปีแล้ว แต่ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี ที่เป็นดังตัวแทนของท่านยังคงอยู่
โดยปัจจุบันตึกหลังนี้นอกจากจะดำรงฐานะ“พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร” ทำหน้าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ที่สำคัญ ควบคู่ไปกับความเป็นตึก(ใน)โรงพยาบาลที่สวยที่สุดในเมืองไทยแล้ว
ตึกงามหลังนี้ยังแฝงไว้ด้วยจิตวิญญาณ วีรกรรม คุณงามความดี และความจงรักภักดีของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม)อย่างเต็มเปี่ยม
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร วันนี้ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้สำคัญแห่งปราจีนบุรี
............
“บิดาและปู่ได้เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท มาหลายชั่วชั้นบรรพบุรุษแล้ว ไม่ปรารถนาจะย้ายไปเป็นข้ากรุงกัมพูชา ถ้าพระราชทานเมืองพระตะบอง เสียมราฐไปเป็นของกัมพูชาเมื่อใด ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอพยพครอบครัวบุตรหลานและภูมิลำเนา เข้ามารับราชการสนองพระเดช พระคุณอยู่ในกรุงเทพฯ”
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม)
*****************************************
หมายเหตุ :
-***อภัยภูเบศร เป็นตำแหน่งไม่ใช่ชื่อบุคคล
-ข้อมูลบางส่วนในบทความอ้างอิงจากหนังสือ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม” และหนังสือ “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สานปณิธานวิญญาณไท”
-ในเมืองพระตะบองยังมีสิ่งที่เกี่ยวพันกับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม)และตระกูลของท่านอีกหลากหลาย ไมว่าจะเป็น วัดสำโรงในหรือวัดสำโรงคนง วัดปราบปัจจามิตรหรือวัดกระโดน วัดบาหลัด วัดสังแก รวมไปถึงวัดช้างเผือกหรือวัดดำเร็ยซอที่เป็นแม่แบบให้กับวัดแก้วพิจิตรในปราจีนบุรี