ผู้แทนสำนักพระพุทธฯ แจง พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย เป็นปาราชิก ขาดจากความเป็นสงฆ์ ตามลิขิตของสมเด็จพระสังราชฯ จี้เร่งดำเนินการ หลังนิ่งเฉย
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Paisal Puechmongkol เปิดเผยถึงการประชุม ณ รัฐสภา ของคณะกรรมาธิการการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน ว่า ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้เข้าชี้แจงในที่ประชุมว่า ตามลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมีพระลิขิตลงวันที่ 26 เมษายน 2542 นั้น ชี้ชัดว่า พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย นั้นเป็นปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุ เนื่องจากการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา โดยพระเทพญาณมหามุนีนั้น ต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นขณะเป็นพระให้แก่วัด อย่างไรก็ดี มหาเถรสมาคมก็ได้มีมติรับทราบพระลิขิตดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ภายหลังพบว่า กรณีที่พระเทพญาณมหามุนีเป็นปาราชิก และต้องขาดจากความเป็นพระนั้น ไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ โดยพบแต่เพียงว่ามีการดำเนินการในเรื่องมติรับโอนที่ดินของวัดเท่านั้น สำหรับเรื่องนี้ ผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร
ด้านคณะกรรมาธิการการศาสนา ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้จะต้องให้รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ บังคับการให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม และพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช
โดยข้อความทั้งหมดมีดังนี้
คณะกรรมาธิการศาสนา สปช. ชี้ธัมมชโยเป็นปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช จี้ผู้รับผิดชอบดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคม
ในการประชุมคณะกรรมาธิการการศาสนา สปช. ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน ที่รัฐสภาเมื่อวานนี้ ที่ประชุมได้เชิญผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมาชี้แจง ประกอบหลักฐานต่าง ๆ จำนวนมาก ในที่สุดชี้ว่าธัมมชโยเป็นปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องบังคับการให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม
ในเรื่องนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระลิขิตลงวันที่ 26 เมษายน 2542 สองประการ คือ ต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา และ อีกประการหนึ่งคือต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที (5 เมษายน 2542)
พระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ดังกล่าวได้นำเข้าสู่การพิจารณาของมหาเถรสมาคมสองครั้ง และมหาเถรสมาคมมีมติครั้งที่ 191/2542 และครั้งที่ 193/2542 ว่าให้ดำเนินการรับโอนที่ดินเป็นของวัดพระธรรมกาย ส่วนกรณีอื่น ๆ (หมายถึงกรณีต้องปฏิบัติในการเป็นปาราชิก) ให้กรมการศาสนาร่วมกับเจ้าคณะภาค 1 ติดตามเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป และในมติที่ 193/2542 ก็มีมติชัดเจนว่ามหาเถรสมาคมมีมติรับทราบพระดำริที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานมาทั้งหมด และ มหาเถรสมาคมมีมติสนองพระดำริมาโดยตลอด ให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม และส่งเรื่องให้ฝ่ายสังฆการดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคมต่อไป
หลังมหาเถรสมาคมมีมติแล้วได้มีการดำเนินการรับโอนที่ดินเป็นของวัดเรียบร้อย แล้ว แต่มติที่ให้ดำเนินการตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในกรณีที่ธัมมชโยเป็นปาราชิก ซึ่งต้อง พ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ นั้น ยังไม่ได้มีการปฏิบัติจนกระทั่งบัดนี้ ซึ่งในที่ประชุมผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ภาพจาก dmc.tv , เฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol