วิธีอ่านสเปคและสเปคขั้นต่ำที่แนะนำสำหรับ Android [ผู้ใช้ทั่วไป] BY droidsans

 

เดี๋ยวนี้จะเลือกซื้อ Android ซักเครื่องไว้เป็นคู่ใจก็ใช่ว่าจะเลือกได้ง่ายๆนะ เพราะมันเยอะเหลือเกินนนนนนน ไม่รู้จะเลือกตัวไหนดี แถมยิ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างงาน Thailand Mobile Expo 2015 ก็ยิ่งลำบากใจกันใหญ่ บูธนู้นก็แจ่มดี บูธนี้ก็สวยดี อีกบูธก็เร้าใจมากมายเยอะแยะไปหมด (หมายถึงมือถือนะ หมายถึงมือถือ)

      แต่เป้าหมายของผู้ใช้ส่วนใหญ่นั้นคล้ายๆกันคือ อยากจะได้เครื่องสเปคดีๆในราคาที่คุ้มค่า (หรือเท่าที่จะจ่ายได้) ดังนั้นผมขอทำหน้าที่อัพเดทว่าในตอนนี้สเปคไหนเหมาะสำหรับเป็นตัวเลือกในการซื้อ Android ซักเครื่องหนึ่ง โดยจะเน้นไปที่เครื่องระดับล่างและระดับกลางเป็นหลักนะครับ เอ้าลุย!!

 

      ผมขอจับ CPU กับ GPU มาพูดรวมกันเลยเพื่อให้รวบรัดและเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น เพราะว่า Android ในปัจจุบันจะใช้ CPU แต่ละรุ่นแตกต่างกันออกไปก็จริง แต่ CPU แต่ละรุ่นนั้นก็จะคู่กับ GPU รุ่นนั้นๆอยู่แล้ว ไม่สามารถสับเปลี่ยนไปมาแบบคอมพิวเตอร์ได้ (ยกเว้น ARA Project ที่สามารถถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้)

ยกตัวอย่างเช่น

MediaTek MT6588 จะมาคู่กับ Mali-450MP4 Qualcomm Snapdragon 600 APQ8064T จะมาคู่กับ Adreno 320 Intel Atom Z2580 จะมาคู่กับ PowerVR SGX544MP2

      สำหรับ GPU ผมจะไม่พูดถึงมากนักนะครับ เพราะ CPU ที่ประสิทธิภาพดีๆมักจะมาคู่กับ GPU ที่ประสิทธิภาพดีๆอยู่แล้ว เพราะถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งดีเกินไปหรือด้อยเกินไปก็จะทำให้ประสิทธิภาพไม่สมดุล

เน้นจำนวน Core เยอะๆดีมั้ย?

      ไม่จำเป็นเสมอไปครับ ต้องเข้าใจก่อนว่า CPU ที่มีหลายๆ Core ก็ถูกแบ่งเป็นหลายๆระดับอีกที ทำให้ Core เยอะๆก็มีทั้งแบบดีและไม่ดีอยู่ ดังนั้นแค่ Quad Core ดีๆบางตัวนั้นแรงกว่า Octa Core หลายๆตัวนะเออ แต่ที่แน่ๆคือ เมื่อทุก Core ทำงานพร้อมๆกัน Core ยิ่งเยอะก็ยิ่งกินไฟเยอะ (แต่ถ้า Core น้อยๆแต่แรงๆก็กินไฟเช่นกัน)

  

แล้วแบบนี้จะรู้ได้ไงว่า CPU ตัวนั้นแรงหรือไม่แรง?

      ถ้าจะบอกวิธีดูแบบละเอียดอาจจะต้องดูไปถึงรหัสของ CPU ตัวนั้นๆ ซึ่งไม่น่าจะเหมาะกับผู้ใช้งานทั่วไปซักเท่าไร ดังนั้นผมแนะนำให้ดูผล Benchmark แบบคร่าวๆแทนดีกว่า ไม่ว่าจะ AnTuTu, PassMark, GeekBench, PCMark หรือ 3DMark

ตารางแสดงผลคะแนน Benchmark ของแอพแต่ละเจ้า

http://www.futuremark.com/hardware/mobileice_storm_unlimited/filter/android http://browser.primatelabs.com/android-benchmarks http://www.androidbenchmark.net/passmark_chart.html
 
Benchmark มันเชื่อถือได้หรอ?
      ไม่ได้ครับ ผลคะแนน Benchmark เป็นการทดสอบเฉพาะด้านเท่านั้น การเอาตัวเลขไม่กี่หลักมาตัดสินเครื่องนั้นๆว่าดีหรือไม่ ก็ไม่เหมาะซักเท่าไร เพราะผลคะแนนที่ได้อาจจะเกินจริง ดังนั้นทางที่ดีควรใช้พิจารณาอย่างคร่าวๆดีกว่า
 
 อย่ายึดติดกับตัวเลขของ Benchmark เหล่านี้ มันชี้วัดได้แค่บางส่วนเท่านั้น
 
 
แล้วนอกจาก Benchmark ล่ะ?
 
      จากที่บอกในตอนแรกว่า CPU ของ Android จะคู่กับ GPU แบบตายตัว แต่เนื่องจาก CPU ที่ใช้บน Android นั้นมีเยอะมาก และ GPU ที่ใช้มีน้อยกว่ามาก ประกอบกับที่บอกว่า CPU แรงๆก็จะคู่กับ GPU ประสิทธิภาพดีๆด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าดูที่ GPU ก็สามารถดูได้คร่าวๆว่าสเปคนั้นโอเคหรือไม่

 

ดูที่ GPU แบบนี้ก็ไม่รู้สิว่า CPU ตัวไหนแรงที่สุด เพราะ CPU หลายๆตัวก็ใช้ GPU เหมือนกัน?

      ใช่ครับ อย่างที่บอกในตอนแรกว่าผู้ใช้ทั่วๆไปให้ดูแบบคร่าวๆก็พอ จึงอยากให้แบ่งแบบง่ายๆจากการดูผล Benchmark และ GPU เพื่อจัดกลุ่มว่า CPU นั้นๆอยู่ในกลุ่ม ต่ำ ปานกลาง หรือว่าสูง ซึ่งวิธีนี้อาจจะไม่ได้ผลดีที่สุด แต่จะช่วยให้สามารถแบ่งระดับประสิทธิภาพแบบเบื้องต้นได้

 

ความเร็วของ CPU ค่าความถี่ (GHz) ยิ่งสูงยิ่งดีใช่หรือไม่?

      ไม่ใช่ครับ เพราะ 2GHz ก็ไม่ได้ทำงานเร็วกว่า 1GHz เป็น 2 เท่าเป๊ะๆใช่มั้ยล่ะ แต่ก็เร็วกว่าพอสมควร เพราะมันขึ้นอยู่กับ CPU แต่ละตัวด้วยว่าจะรีดเร้นประสิทธิภาพออกมาได้ดีแค่ไหน ดังนั้นค่า GHz ที่ใกล้เคียงกันอย่าง CPU 2.3GHz กับ CPU 2.5GHz จะไม่สามารถบอกได้ว่า 2.5GHz นั้นไวกว่า เพราะ CPU 2.3GHz ที่ว่าอาจจะรีดประสิทธิภาพออกมาได้ดีกว่า 2.5GHz ก็เป็นได้

      สำหรับ GPU ในตอนนี้วิ่งกันที่ระดับ MHz

 

CPU ยิ่งแรงยิ่งเล่นได้สมูทลื่นไหลใช่หรือไม่? (@Gimme ขอมาเสริม)

      ไม่ถูกต้องซะทีเดียว การใช้งานจะลื่นหรือไม่ลื่นนั้นขึ้นกับ software เป็นหลัก ในที่นี้รวมถึงตัวรอมและตัวแอพเอง ถ้ารอมที่ทางผู้ผลิตทำมากินทรัพยากรเครื่องแบบสุดๆ CPU จะแรงให้ตายยังไงก็กระตุก เช่นเดียวกับแอพที่เขียนมาแบบไม่ได้มาตรฐาน ใช้งานยังไงก็ไม่ดี และอาจจะโหลดช้า หรือกินแบตเครื่องเสียด้วยซ้ำ

ปล.รอมของผู้ผลิตในที่นี้คือพวกชื่อ UI หรือ OS ที่เราได้เห็นกันบนสเปคนะ เช่น TouchWiz ColorOS FlymeOS Cyanogen MIUI เป็นต้น

 

32-bit vs 64-bit

CPU แบบ 32-bit กับ 64-bit มันต่างกันยังไงนอกจากรองรับ RAM ได้มากกว่า 4GB?

      ถ้าให้อธิบายแบบง่ายๆล่ะก็ ลองนึกถึง CPU ที่บวกเลขได้สูงสุด 32 หลัก กับ 64 หลักดูครับ ซึ่ง 64-bit จะทำงานที่ซับซ้อนได้มากกว่า 32-bit หรือก็คือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง

 

หมายความว่า 64-bit จะทำงานได้ไวกว่า 32-bit น่ะสิ?

      ใช่และไม่ใช่ครับ 

      จากที่สมมติตอนแรก (ตัวแรกคำนวณสูงสุด 32 หลัก และตัวที่สองคำนวณสูงสุด 64 หลัก) ถ้าให้ CPU ทั้งคู่บวกเลข 50 หลัก ทั้งสองตัวก็ยังคงคำนวณหาคำตอบได้เหมือนกัน แต่ตัวแรกคำนวณทีละส่วน แล้วทดเลขในใจเก็บไว้ถึงจะได้ผลลัพธ์ออกมา ส่วนตัวที่สองสามารถคำนวณรวดเดียวได้เลยจึงไวกว่า แต่ถ้าให้ทั้งคู่บวกเลขแค่ 10 หลัก ผลที่ได้ก็คือทั้งคู่มีความเร็วไม่ต่างกัน

      จึงเป็นที่มาของคำตอบว่า "ใช่ และไม่ใช่" ถ้าทำงานที่ซับซ้อนไม่มากและความเร็วเท่ากัน ผลที่ได้ก็คือไม่ต่างกัน แต่ถ้าทำงานซับซ้อนมากๆ 64-bit จะสามารถรองรับการทำงานได้ดีกว่า ผลที่ได้ก็คือไวกว่า~!

 

แล้วทำไมต้องเปลี่ยนมาใช้ 64-bit ล่ะ ในเมื่อทุกวันนี้ 32-bit ก็ยังรองรับได้อยู่?

      วันนี้ไม่เปลี่ยน วันหน้าก็ต้องเปลี่ยนอยู่ดี เพราะ Android นั้นจะทำงานได้ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ กินทรัพยากรณมากขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง 32-bit รองรับได้ไม่ดีพอ ทำให้ต้องเปลี่ยนเป็น 64-bit ถึงตอนนั้นก็คงวุ่นวาย(กว่านี้)น่าดู ดังนั้นเตรียมพร้อมไว้เผื่ออนาคตก็ย่อมดีกว่า

 

พูดมายืดยาว สรุปจะแนะนำ CPU ตัวไหนล่ะ?

      ถ้าจะให้แนะนำเบื้องต้นก็คงจะเป็น CPU ที่เป็น Quad Core ขึ้นไป และเป็นรุ่นที่ประสิทธิภาพดี ส่วนจะรักค่ายไหนชอบเจ้าไหนก็แล้วแต่เลย (ผมรัก Qualcomm เป็นหลัก)

คะแนน Benchmark ขั้นต่ำที่แนะนำ

AnTuTu : 20,000 ขึ้นไป Geekbench : 1,500 ขึ้นไป (สำหรับ Multi-Core Benchmark) 3DMark : 5,000 ขึ้นไป

ส่วน GPU ขั้นต่ำที่แนะนำ

Adreno : Adreno 320 หรือ Adreno 305 ขึ้นไป Mali : Mali-450MP4 หรือ Mali-T604 ขึ้นไป PowerVR : PowerVR SGX544MP2 ขึ้นไป NVIDIA : NVIDIA Tegra 4 ขึ้นไป

 

      Ram ถือว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะบนระบบ Android นั้นเรียกได้ว่าบริโภค RAM ได้เป็นอย่างดีเลยล่ะ ดังนั้นอย่ามองข้ามมันไปเด็ดขาดล่ะ

 

RAM เยอะๆจะทำให้เครื่องลื่นขึ้น และแรงขึ้นใช่มั้ย? 

      ไม่ถูกต้องไปซะทีเดียว เพราะว่าเครื่องที่ RAM ที่เหลือว่าง 1GB กับ RAM ที่เหลือว่าง 2GB (แต่อย่างอื่นเท่ากัน) ทั้งสองเครื่องก็มีความเร็วไม่ได้ต่างกันมากนัก แต่เมื่อใดที่ RAM เริ่มไม่พอ (ซัก 300MB) เครื่องก็จะอืดอย่างเห็นได้ชัด 

 

ทำไม RAM เหลือน้อยๆแล้วทำให้เครื่องอืดได้ล่ะ? 

      ทั้งตัวระบบ Android เอง และแอพที่ทำงานบนนั้นต่างต้องการใช้ Memory จาก RAM (มากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละตัว) แต่เมื่อใดที่ Memory ไม่เพียงพอ ระบบก็จะไปเรียกคืน Memory จากแอพที่ไม่ได้ใช้งาน ณ ตอนนั้น (แต่ยังใช้ Memory อยู่) เพื่อให้แอพที่ใช้งานอยู่สามารถใช้งาน Memory ได้มากขึ้น ถ้าเครื่อง RAM ต่ำๆ และเหลือน้อยก็จะทำให้ระบบคอยเรียกคืน Memory บ่อยๆ ส่งผลให้เครื่องมีอาการอืดเป็นบางช่วงได้

 

แนะนำ RAM อย่างน้อยซักเท่าไรดี?

      ณ ตอนนี้ขอแนะนำเป็น RAM อย่างน้อย 2GB นะครับ เพราะทุกวันนี้ระบบ Android และแอพเริ่มกิน Memory มากขึ้นเรื่อยๆ (ด้วยฟีเจอร์ ลูกเล่น และอัพเดทอื่นๆ) ลำพังแค่ Facebook กับ Line ก็กินจุอยู่แล้ว และถ้าเป็นไปได้ มากกว่า 2GB ก็ดี เพราะในอนาคตมันจะกินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแน่นอน

 

      หรือที่เรียกกันว่า Storage ที่มีไว้สำหรับเก็บข้อมูลต่างๆในเครื่องนั่นเอง

 

ROM อย่างน้อยควรเท่าไรดีล่ะ?

      ผมแนะนำให้เลือกเครื่องที่มี ROM อย่างน้อย 8GB แต่ถ้าได้ 16GB ก็จะดีกว่า

 

ทำไมต้องเลือกซะเยอะล่ะ? ใส่ SD Card แทนก็ได้นี่?

      คำถามนี้เป็นคำถามที่หลายๆคนยังเข้าใจผิดกันอยู่นะครับ เพราะคิดว่าย้ายข้อมูลทั้งหมดลง SD Card ก็ได้ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเลือกเครื่องที่ ROM เยอะๆก็ได้ แล้วค่อยไปซื้อ SD Card แทน

      แต่ระบบ Android นั้นมีข้อมูลหลักที่ไม่สามารถย้ายลง SD Card ได้ นั่นก็คือตัวระบบ Android และแอพที่ที่ติดตั้งลงในเครื่องนั้นเอง (ย้ายได้แค่บางส่วน) ดังนั้นปัญหาหลักจะอยู่ที่ "พื้นที่ลงแอพไม่เพียงพอ" และ "พื้นที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน" 

 

Root เครื่อง แล้วใช้แอพย้ายข้อมูลลง SD Card หรือจะทำให้เครื่องมอง SD Card เป็น Internal Storage ก็ได้นี่?

        ไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะ Root เครื่อง และถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากจะแก้ปัญหาด้วยวิธีแบบนี้ เพราะเหมือนแก้ปัญหาที่ปลายเหตุซะมากกว่า อีกทั้งยังทำให้เครื่องช้า เนื่องจาก SD Card สามารถ Read/Write ข้อมูลได้ช้ากว่า ROM ในเครื่องอยู่แล้ว และวิธีดังกล่าวจะทำให้ SD Card ทำงานบ่อยขึ้นและพังได้ง่ายขึ้น (ลองนึกภาพข้อมูลทั้งหมดอยู่ใน SD Card แล้วมันดันพังขึ้นมาดูสิ)

 

แล้วพวกที่แบ่ง ROM ออกเป็นสองส่วนล่ะ?

      อันนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ใช้หลายๆเคยพลาด เพราะไม่รู้ว่าเครื่องบางรุ่นมีการแบ่งพื้นที่ ROM ออกมาเป็น 2 ส่วนด้วยกัน กลายเป็นว่าพื้นที่ของ Storage ส่วนที่มีไว้ลงแอพจริงๆนั้นกลับเหลือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

      ยกตัวอย่างเครื่องรุ่นหนึ่งที่มี ROM 8 GB แต่ถูกแบ่งออกเป็น Internal Storage และ NAND Flash ซึ่งเหลือ Internal Storage ให้ใช้เพียงแค่ 403MB เท่านั้น ถึงแม้ว่าข้อมูลแอพบางส่วนย้ายไปที่ NAND Flash ได้ก็ตาม แต่ในวันข้างหน้าก็จะไม่เพียงพออยู่ดี

 

ในวันข้างหน้าแอพจะใช้พื้นที่เยอะขึ้น?

      ใช่ครับ ดูง่ายๆก็จาก Facebook หรือ Line นี่แหละ เพราะแอพส่วนใหญ่ยิ่งอัพเดท ยิ่งเพิ่มฟีเจอร์ ยิ่งเพิ่มลูกเล่น ก็ยิ่งกินทรัพยากรเครื่อง รวมไปถึง Storage เช่นกัน ดังนั้นวันนี้อาจจะเพียงพอ แต่วันข้างหน้าก็ไม่ขอ Confirm นะจ๊ะ

      และหลายๆแอพเวลาทำงานก็จะมีการเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดปัญหาแอพบวมตามการใช้งาน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมควรซื้อเผื่อไว้ซักหน่อย เพราะนานๆครั้งจะได้เคลียร์ซักทีหนึ่ง (แต่ถ้ามีน้อยอาจจะได้นั่งเคลียร์ทุกวัน)

[@Gimme ตามมาเสริม] แอพจะยิ่งใช้พื้นที่เยอะขึ้นอีกมากเมื่อมีการอัพเดทไปใช้ Android 5.0 Lollipop เพราะระบบจะเปลี่ยนไปใช้ ART (Android Runtime) - อยากรู้ว่ามันคืออะไรไปอ่านต่อที่ 

 

อยากจะซื้อ SD Card ซักตัวต้องดูอะไรบ้าง?

      ผมจะไม่พูดถึงยี่ห้อมากนัก แต่ถ้ามียี่ห้อในดวงใจอยู่แล้วก็จะช่วยให้เลือกได้ง่ายขึ้น (ของผมเป็น SanDisk) ส่วนความจุตามทุนที่มี โดย Android ทุกตัวรองรับ SD Card ความจุถึง 32GB อยู่แล้ว แต่ถ้าจะซื้อ 64GB หรือ 128GB ต้องเช็คให้ดีก่อนว่าเครื่องรองรับหรือไม่ เพราะหลายๆเครื่องไม่ได้ทำมาให้รองรับเกิน 32GB

      และอีกอย่างที่ควรดูคือความเร็วในการอ่าน/เขียนข้อมูล

 

ความเร็วในการอ่าน/เขียนข้อมูลดูยังไง?

      ความเร็วของ SD Card เบื้องต้นจะแบ่งเป็น Class คือ 2 / 4 / 6 / 8 / 10 โดยที่ Class 10 จะมีความเร็วสูงสุด ดังนั้นทางที่ดีก็ควรซื้อ Class 10 เพราะมันจะเห็นผลต่างกับ Class 4 เป็นอย่างมาก

      สำหรับ Class ของ SD Card ดูได้จากสัญลักษณวงกลมที่มีตัวเลขอยู่ข้างใน

 

UHS มันต่างจาก Class ยังไง? 

      เป็นฟีเจอร์เพิ่มเติมของ SD Card ก็ว่าได้ โดย UHS ย่อมาจาก Ultra High Speed หรือก็คือรองรับการอ่าน/เขียนข้อมูลแบบแรงพิเศษ โดยตอนนี้มีอยู่สองระดับคือ U1 กับ U3 โดยที่ U3 จะมีความเร็วสูงสุด และที่สำคัญคือต้องเช็คด้วยว่าเครื่อง Android ที่ใช้รองรับ UHS หรือไม่ (ไม่งั้นเดี๋ยวจะเสียตังฟรีๆ)

      ถ้า SD Card ที่รองรับ UHS จะมีสัญลักษณ์เป็รูปตัว U ที่มีตัวเลขอยู่ข้างในด้วย

 

       เรื่องกล้องผมคงไม่ต้องอธิบายเนอะ เพราะเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการเลือกซื้อ Android ซักเครื่องเลยล่ะ

 

เครื่องไหนกล้องดีๆต้องถ่ายภาพได้ความละเอียดเยอะๆใช่มั้ย?

      ถ่ายภาพออกมาได้ไฟล์ภาพขนาดใหญ่ๆไม่ได้หมายความว่ากล้องนั้นต้องดีเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเซ็นเซอร์รับแสง และ Software ที่จัดการกับภาพของเครื่องนั้นๆ 

      และที่แน่ๆเลยก็คือความละเอียดของภาพยิ่งเยอะ ขนาดไฟล์ก็ยิ่งใหญ่ขึ้นตาม แต่ภาพจะสวยหรือไม่นั้นไม่เกี่ยวกัน

 

"Software ที่จัดการกับภาพของเครื่อง" หมายถึงแอพแต่งภาพหรือป่าว?

      ไม่ใช่ครับ แต่ก็คล้ายๆกัน เพราะเป็น Software ที่อยู่ในระบบที่จะคอยปรับภาพที่ได้จากกล้องให้ดูสวยงามมากขึ้น แล้วออกมาเป็นภาพถ่ายจากกล้องที่เราใช้งานปกติ

 

แล้วความละเอียดสูงสุดของภาพจากเครื่องนั้นๆควรจะเท่าไรดี?

      จริงๆแค่ 12 ล้านพิกเซลก็เพียงพอแล้วด้วยซ้ำ เพราะเวลาเอาไปใช้งานจริงผู้ใช้ส่วนมากก็จะแชร์ลง IG ลง FB หรือส่งผ่าน Line ซึ่งขนาดภาพและคุณภาพของภาพก็จะถูกลดลงไปด้วย ดังนั้นต่อให้เอาเครื่องที่่ถ่ายภาพได้ความละเอียดเยอะๆ แต่เอามาถ่ายภาพลง Social Network ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่ถ้าเป็นผู้ใช้ที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อนำไปใช้งาน ก็เน้นความละเอียดเยอะๆก็ได้ (แต่แนะนำว่าเซ็นเซอร์รับภาพก็ต้องดีด้วยนะ)

 

Credit: http://www.unigang.com/Article/23515
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...