เจ้าหญิงอาเมน-รา มีพระชนม์ชีพในช่วงประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์
พระศพได้รับการบรรจุลงในโกศหรือโลงพระศพไม้ที่ประดับตกแต่งอย่างงดงามตระการตา จากนั้นมีการนำไปบรรจุในสุสานหลวงที่ลักซอร์ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ จวบจนในช่วงปลายคริสต์ศักราช 1890 กลุม
มหาเศรษฐี 4 คน ได้มาเยี่ยมชมอุโมงค์บรรจุพระศพที่ลักซอร์ มีการยื่นเสนอข้อตกลงซื้อขายโลงบรรจุพระศพมัมมี่ของเจ้าหญิงอาเมน-รา ที่ประดับตกแต่งอย่างอลังการนี้ เศรษฐีหนุ่มคนหนึ่งในกลุ่มผู้ร่ำรวยถูกรางวัลล็อตเตอรี่ได้จ่ายเงินซื้อโลงพระศพมัมมี่ในราคาหลายพันปอนด์และได้นำกลับมาเก็บไว้ที่โรงแรมที่เขาพักอยู่ สองชั่วโมงต่อมาเขาได้เดินทางออกไปในทะเลทราย และไม่ได้หวนกลับมาอีกเลย ในวันรุ่งขึ้นหนึ่งในสามเศรษฐีที่เหลืออยู่ก็ถูกคนรับใช้ชาวอียิปต์ยิง โดยอ้างว่าเป็นอุบัติเหตุ บาดแผลที่ถูกยิงตรงแขนข้างหนึ่งของเขาเกิดเป็นแผลร้ายแรงจนต้องตัดแขนทิ้ง เศรษฐีหนุ่มคนที่สามถูกธนาคารยึดเงินฝากของเขาไว้หมดเมื่อเดินทางกลับสู่บ้าน เศรษฐีคนสุดท้ายก็ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคร้ายและหมดเนื้อหมดตัว
อย่างไรก็ดี โลงพระศพได้ย้ายมาสู่ประเทศอังกฤษตามคำสั่งซื้อของนักธุรกิจแห่งกรุงลอนดอน โดยที่ระหว่างการขนส่งก็เกิดเหตุประหลาดที่เป็นอุปสรรคตลอดเส้นทาง หลังจากที่มัมมี่มาอยู่ในการครอบครองสมาชิกในครอบครัวของนักธุรกิจนี้สามคนประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนและบ้านก็ถูกไฟไหม้ นักธุรกิจผู้นั้นจึงตัดสินใจบริจาคโลงอาถรรพ์แก่พิพิธภัณฑ์อังกฤษ แต่ขณะที่ย้ายลงจากรถบรรทุกในบริเวณสนามของพิพิธภัณฑ์รถก็พลิกคว่ำแล้วพุ่งเข้าชนผู้คนบริเวณละแวกนั้น พอสิ้นความวุ่นวาย ต่อมาเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์สองคนกำลังขนโลงพระศพขึ้นบันไดนั้น คนหนึ่งเกิดพลาดตกลงมาขาหัก ส่วนอีกคนไม่เป็นอะไร แต่อีกสองวันต่อมาเขากลับเสียชีวิตอย่างไม่ทราบสาเหตุ ครั้นเมื่อพระศพมัมมี่เจ้าหญิงประทับในห้องแสดงอารธรรมอียิปต์ หายนภัยที่แท้จริงก็เริ่มต้นขึ้น
ยามรักษาความปลอดภัยพิพิธภัณฑ์ได้ยินเสียงกระทุ้งโลงอย่างรุนแรง และมีเสียงกุกกักปึงปังยามค่ำคืนโดยไร้สาเหตุ ยามคนหนึ่งได้ตายระหว่างรักษาการณ์ เป็นเหตุให้ยามคนอื่นๆ อยากลาออก แม้กระทั่งพนักงานทำความสะอาดพลอยไม่อยากเข้าใกล้โลงพระศพ
ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มือบอนคนหนึ่งนำผ้าขี้ริ้ววางปิดภาพใบหน้าที่วาดบนโลงอย่างลบหลู่ หลังจากนั้นลูกของผู้เข้าชมอุตริผู้นั้นตายด้วยโรคหัด ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ได้เคลื่อนย้ายพระศพมัมมี่ไปเก็บไว้ที่ห้องใต้ดิน ด้วยความคิดที่ไม่ต้องการให้ทำร้ายใครอีกต่อไปแต่ในอาทิตย์เดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่มีส่วนช่วยเคลื่อนย้ายโลงพระศพก็ล้มป่วยลงด้วยอาการขั้นตรีทูต รวมทั้งผู้ดูแลการเคลื่อนย้ายก็เสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน ก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่านักข่าวหนังสือพิมพ์ที่เคยถ่ายรูปโลงมัมมี่เอาไว้แล้วนำไปล้าง ภาพนั้นมีใบหน้ามัมมี่ที่น่ากลัวปรากฏอยู่บนฝาโลงพระศพ ช่างภาพผู้เคราะห์ร้ายเข้าไปในห้องนอนและยิงตัวตาย ไม่นานจากนั้นทางพิพิธภัณฑ์ได้ขายมัมมี่ให้แก่นักสะสมเอกชน และหลังจากที่เคราะห์ร้ายความตายเกิดขึ้นต่อในครอบครัวรายนี้ ทำให้นักสะสมผู้นั้นนำโลงพระศพไปเก็บไว้ยังห้องใต้หลังคา
ต่อมา มาดาม เฮเลนา บลาวาตสกี ผู้เชี่ยวชาญโด่งดังเรื่องเร้นลับได้มาเยือนอาคารที่เก็บมัมมี่อาถรรพ์ขณะที่เข้าสู่อาคารเฮเลนาเป็นลม จับไข้ตัวสั่นเหมือนโดนผีเข้า จากนั้นจึงค้นหาที่มาของอำนาจชั่วร้ายที่มีพลังรุนแรงอย่างน่ากลัว ในที่สุดเฮเลนาก็มาหยุดอยู่ที่ห้องใต้หลังคาและได้พบกับโรงมัมมี่เจ้าของบ้านขอร้องเธอช่วยขับไล่อำนาจปิศาจมัมมี่ออกไป
ปิศาจนั้นย่อมเป็นปิศาจชั่วนิจนิรันดร์ ไม่มีผู้ใดสามารถจัดการได้ ฉันขอให้คุณรีบกำจัดปิศาจร้ายนี้โดยด่วนทว่าไม่มีพิพิธภัณฑ์ในอังกฤษแห่งไหนยอมรับมัมมี่เลย เนื่องจากข่าวที่แพร่ว่า มีคนตายถึง 20 คนแถมยังประสบเหตุเคราะห์ร้ายและหายนะจากการเก็บรักษาหรือเกี่ยวข้องกับโลงพระศพมัมมี่นี้ตลอดที่ผ่านมา จนเป็นที่เล่าขานกันถึงอำนาจลึกลับนี้เรื่อยมา
ในที่สุดก็มีนักโบราณคดีอเมริกันผู้ไม่เชื่อถือในเรื่องอาถรรพ์ของมัมมี่ ยินดีจ่ายเงินจำนวนมหาศาล เพื่อเคลื่อนย้ายมัมมี่มาที่นครนิวยอร์ก สั่งให้ขนส่งสมบัตินี้มาให้ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1912 โดยเรือโดยสารของบริษัทไวต์สตาร์ ลำใหม่หรูหรา นำเจ้าหญิงอาเมน-รา มาสู่นครนิวยอร์ก
ในราตรีของคืนวันที่ 14 เมษายน ปีนั้นเอง ความหายนะอันน่าสะพรึงกลัวอย่างไม่เคยมีมาก่อนก็ปรากฏขึ้น เจ้าหญิงแห่งอาเมน-รา พาผู้โดยสารอีก 1,500 คน สู่ความตาย ในก้นบึ้งมหาสมุทรแอตแลนติกเรือโดยสารลำนี้มีชื่อว่าเรือไททานิค ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีนั่นเอง