เรื่องน่ารุ้ สัญลักษณ์บนเหรียญของไทย

เรื่องน่ารู้ สัญลักษณ์บนเหรียญของไทย

 

เพื่อนๆ เคยสังเกตภาพสัญลักษณ์ที่ปรากฎบนเหรียญบาท ไม่ว่าจะเป้นเหรียญ 25 สตางค์ จนถึง 10 บาทนั้น มีภาพอะไรปรากฏอยู่หรือไม่ ถ้าไม่เพื่อนๆ ลองหยิบเหรียญขึ้นมาดูตอนนี้กันก่อนเลยค่ะ หลังจากดูแล้ว เพื่อนๆ ทราบไหมคะว่าสถานที่ที่ปรากฎนั้น คือที่ไหนบ้างและมีประวัติความเป็นมาและความสำคัญอย่างไร ถ้าพร้อมแล้วไปติดตาม เรื่องน่ารู้ สัญลักษณ์บนเหรียญของไทย กันเลยค่ะ

เหรียญไทย

เรื่องน่ารู้ สัญลักษณ์บนเหรียญของไทย

ประวัติความเป็นมาของเหรียญ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีการใช้หอยเบี้ยและพดด้วง ในการชำระเงิน การค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศ มีการใช้เบี้ยทองแดงในต่างประเทศ จึงมีพระราชดำริให้ทำเบี้ยทองแดงจากประเทศอังกฤษมาเป็นตัวอย่าง 3 ชนิด

ในปี จ.ศ.1197 หรือ พ.ศ. 2378 เมื่อทอดพระเนตรแล้วไม่โปรดในลายตรา จึงมิได้นำออกใช้ แต่ก็ทรงพระราชประสงค์ที่จะทำเหรียญรูปกลมแบนอย่างสากล แต่ยังไม่สำเร็จก็เปลี่ยนรัชกาล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) การค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศก็ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายมากขึ้นและได้นำเงินเหรียญของตนมาแลกกับเงินพดด้วงจากรัฐบาลไทยเพื่อนำไปซื้อสินค้าจากราษฎร แต่ด้วยเหตุที่เงินพดด้วงผลิตด้วยมือจึงทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกและการค้าของประเทศเสียประโยชน์ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนรูปเงินตราของไทยจากเงินพดด้วงเป็นเงินเหรียญ

ในปี พ.ศ. 2399 ได้ทดลองทำเหรียญรูปกลมแบนอย่างสากล โดยใช้ค้อนทุบตีโลหะให้เป็นแผ่นแบน แล้วตัดเป็นรูปเหรียญกลม ให้ได้ตามขนาดและน้ำหนัก แล้วใช้แม่ตราตีประทับ (HAND-HAMMERRING METHOD) แต่ผลิตได้ช้าและไม่เรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีการใช้แม่ตราตีประทับกับเงินเหรียญต่างประเทศ เพื่อให้ราษฏรยอมรับ

ในปี พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียที่ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ได้จัดส่งเครื่องทำเหรียญเงินขนาดเล็กเข้ามาถวาย ทำงานด้วยแรงงานคนโดยใช้วิธีแรงอัดแบบ SCREW PRESS METHOD เป็นราชบรรณาการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้จัดทำเหรียญกษาปณ์จากเครื่องจักรขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกกันว่า “เหรียญเงินบรรณาการ”

ในขณะเดียวกันคณะทูตก็ได้สั่งซื้อเครื่องจักรทำเงินชนิดแรงดันไอน้ำ จากบริษัท เทเลอร์ เข้ามาในปลายปี 2401 พระองค์จึงโปรดเกล้าให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง ติดตั้งเครื่องใช้งานได้เมื่อ ปี พ.ศ. 2403 พระราชทานนามว่า “โรงกระสาปณ์สิทธิการ”ในสมัยนี้จึงถือว่ามีการใช้เหรียญกษาปณ์แบบสากลนิยมขึ้นเป็นครั้งแรก

ต่อมาแม้ได้ประกาศให้ใช้เงินตราแบบเหรียญแล้วก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เงินพดด้วงอยู่ เพียงแต่ไม่มีการผลิตเพิ่มเติม ได้ผลิตตามแจ้งที่แจ้งแก่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติเมื่อ ปี พ.ศ. 2438 พบว่ามีเหรียญตรามงกุฎดังกล่าวให้แลกอยู่ 6 ราคา ด้วยกัน คือ ราคา สองบาท หนึ่งบาท สองสลึง หนึ่งสลึง หนึ่งเฟื้อง และ สองไพ แต่ผลิตได้น้อยไม่พอแก่ความต้องการ นอกจากนี้ยังมีเหรียญ หนึ่งตำลึง กึ่งตำลึง และกึ่งเฟื้อง แต่ไม่ได้นำออกใช้ จึงเป็นพระมหากษัตริย์ไทย พระองค์แรกที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูปเงินตราไทย จากที่เคยใช้เงินพดด้วง หรือเงินกลมที่ใช้มาแต่โบราณกาลให้มาใช้เงินเหรียญหรือเงินแบน แบบสากล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงมาตรา เงินตราไทย ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง เป็นระบบโดยใช้หน่วยเป็นบาท และสตางค์ คือ 100 สตางค์ เป็น 1 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2441 อันเป็นมาตราเงินตราไทยมาจนถึงปัจจุบัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระบรมรูปของพระองค์ประทับลงบนเหรียญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ไทยประทับลงบนเหรียญกษาปณ์

เหรียญ หนึ่งบาท

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ เริ่มจากเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกตราพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน ใน พ.ศ. 2493 ผลิตเหรียญราคา 5 บาท ขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2515 ผลิตเหรียญราคา 10 บาท ขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2531 และได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก รวมทั้งมีการพัฒนาจัดทำเหรียญที่ระลึก ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน คือ

1. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน (Circulated coins) เป็นเหรียญกษาปณ์ที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน มี 9 ชนิดราคา คือ 10 บาท, 5 บาท, 2 บาท, 1 บาท, 50 สตางค์, 25 สตางค์, 10 สตางค์, 5 สตางค์ และ 1 สตางค์ แต่ที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมี 6 ชนิดราคา คือ 10 บาท, 5 บาท, 2 บาท, 1 บาท, 50 สตางค์, 25 สตางค์ ส่วนเหรียญชนิดราคา 10 สตางค์, 5 สตางค์ และ1 สตางค์ มีใช้ในทางบัญชีเท่านั้น

2. เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก (Commemorative coins) เป็นเหรียญกษาปณ์ที่ผลิตออกใช้ในวโรกาสและโอกาสที่สำคัญตทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือเหตุการณ์ระหว่างประเทศ โดยจัดทำ 2 ประเภท คือ ขัดเงา และไม่ขัดเงา

ข้อแตกต่างระหว่างเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกก็คือการวางลวดลายด้านหน้าและด้านหลัง โดนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนจะวางลวดลายแบบ American Turning ซึ่งจะต้องพลิกดูลวดลายด้านหลังในแนวดิ่ง สำหรับเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกได้จัดวางลวดลายแบบ European Turning ซึ่งจะต้องพลิกในแนวนอนเพื่อดูลวดลายด้านหลัง

3. เหรียญที่ระลึก (Medal) เป็นเหรียญที่ผลิตขึ้นเนื่องในวโรกาสและโอกาสที่สำคัญต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างจากเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตรงที่จะ ไม่มีราคาหน้าเหรียญ เนื่องจากมิใช่เงินตราจึงไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

เหรียญทำมาจากอะไร

กรมธนารักษ์ระบุว่า ปัจจุบัน มีเหรียญที่มีมูลค่าจริงสูงกว่าราคาหน้าเหรียญอยู่ 3 ชนิด คือ

เหรียญ 25 สตางค์ เป็นเหรียญกษาปณ์สีแดงเรื่อ ใส้ในเป็นเหล็ก 99% ส่วนด้านนอกชุบด้วยทองแดง 1% เส้นผ่านศูนย์กลาง 16 มม. น้ำหนัก 1.9 กรัม มีต้นทุนการผลิตเหรียญละ 50 สตางค์ค่ะ

เหรียญ 50 สตางค์ ผลิตจากโลหะผสมแบบเดียวกัน คือ ใส้ในเป็นเหล็ก 99% ด้านนอกชุบด้วยทองแดง 1% เช่นกัน เส้นผ่าศูนย์กลาง 18 มม. และ มีน้ำหนักถึง 2.4 กรัม ต้นทุนการผลิตเหรียญละ 70 สตางค์ค่ะ

เหรียญ 1 บาท ผลิตจากโลหะผสม มีสีขาว โดยใส้ในเป็นเหล็ก ส่วนด้านนอกชุบด้วยนิกเกิล มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 มม. น้ำหนัก 3 กรัม ต้นทุนการผลิตสูงถึงเหรียญละ 1.80 บาท ค่ะ

ส่วนเหรียญที่มีต้นทุนการผลิตไม่ขาดทุน ซึ่งกรมธนารักษ์ไม่ระบุว่าต้นทุนเหรียญละเท่าไหร่ มีอยู่ 3 ชนิด คือ

- เหรียญ 2 บาท เป็นโลหะสีทอง ซึ่งผลิตจากทองแดงผสมด้วยนิกเกิลและอลูมิเนียม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 21.75 มม. น้ำหนัก 4 กรัมค่ะ

- เหรียญ 5 บาท เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว ผลิตจากโลหะผสมคือ ใส้ในเป็นทองแดง ส่วนด้านนอกเคลือบกด้วยนิกเกิล มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 24 มม. น้ำหนัก 6 กรัมค่ะ

- เหรียญ 10 บาท เป็นเหรียญสีขาวกับสีทอง โดยวงนอกเป็นโลหะผสม คือ ทองแดงกับนิกเกิล วงในผลิตจากทองแดง นิกเกิล และ อะลูมิเนียม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 26 มม. หนัก 8.5 กรัมค่ะ

ความหมายจากสัญญลักษณ์ที่อยู่ในเหรียญกษาปณ์ต่างๆ 

ประกอบด้วยเหรียญ 10 บาท , 5 บาท , 2 บาท , 1 บาท , 50 สตางค์ , 25 สตางค์ , 10 สตางค์ , 5 สตางค์ และ 1สตางค์ ซึ่งลวดลายที่ปรากฏอยู่บนเหรียญนั้นจะเป็นลวดลายที่แสดงถึงสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ มีคำว่า ประเทศไทย เพื่อแสดงถึงสถาบันชาติ และด้านหลังเป็นรูปวัดต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อแสดงถึงสถาบันศาสนา โดยลวดลายวัดบนเหรียญกษาปณ์ชนิดต่างๆ มีดังนี้

เหรียญ 25 สตางค์

เหรียญ 25 สตางค์ – วัดมหาธาตุ

เป็นรูป พระบรมธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและชาวพุทธทั่วไป ตัวเจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำหรือทรงโอคว่ำ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลังกา มีความโดดเด่นอยู่ที่ยอดเจดีย์ซึ่งหุ้มด้วยทองคำแท้ พิธีที่นิยมปฏิบัติกันในช่วงวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชาของทุกปีก็คือ การแห่ผ้าขึ้นธาตุ ซึ่งจัดเป็นงานบุญประจำปีที่มีผู้คนทั่วทุกสารทิศมาร่วมสร้างกุศลกัน โดยมีความเชื่อว่า หากใครได้นำผ้าขึ้นธาตุแล้วนั้น ไม่ว่าจะขอพรเรื่องใดก็จะสำเร็จได้ดังหวัง และความมหัศจรรย์ที่เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ด้วยก็คือ องค์พระบรมธาตุจะไม่มีเงาทอดลงพื้นไม่ว่าแสงอาทิตย์จะส่องกระทบไปทางใด

เหรียญ 50 สตางค์

เหรียญ 50 สตางค์ – พระธาตุดอยสุเทพ

เป็นรูป “พระบรมธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่และดินแดนล้านนาของไทย และถือเป็นหนึ่งในเจ็ดของพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ในแถบภาคเหนือตอนบนและเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีมะแม โดยพระบรมธาตุดอยสุเทพ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ในภายหลังได้มีการบูรณะ และสร้างฉัตรไว้ทั้งสี่มุมของพระบรมธาตุ อันหมายถึงสัญลักษณ์ของความร่มเย็นที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนาที่แผ่ไปในทั้ง 4 ทิศ

เหรียญ 1 บาท

เหรียญ 1 บาท – วัดพระแก้ว

เป็นรูป พระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือพระศรีรัตนเจดีย์ ภายในวัดพระแก้ว ตั้งอยู่บนฐานไพที ทางทิศตะวันตก รูปแบบจำลองมาจากเจดีย์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ณ พระราชวังกรุงศรีอยุธยา มีความสูงประมาณ 40 เมตร ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจากลังกา
เหรียญ 50 สตางค์ เป็นรูป พระบรมธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่และดินแดนล้านนาของไทย และถือเป็นหนึ่งในเจ็ดของพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ในแถบภาคเหนือตอนบนและเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีมะแม พระบรมธาตุดอยสุเทพ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ในภายหลังได้มีการบูรณะ และสร้างฉัตรไว้ทั้งสี่มุมของพระบรมธาตุ อันหมายถึงสัญลักษณ์ของความร่มเย็นที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนาที่แผ่ไปในทั้ง 4 ทิศ

เหรียญ 2 บาท

เหรียญ 2 บาท – ภูเขาทอง

เป็นรูป พระบรมบรรพต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันดีในนาม ภูเขาทอง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่มาแล้วเสร็จลงในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีรูปแบบเป็นพระเจดีย์แบบกลม (ทรงลังกา) บนยอดเขา เพื่อให้เป็นเจดีย์ที่สูงใหญ่ของพระนคร ในภายหลังมีการบูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ.2509 โดยบุกระเบื้องโมเสกสีทองที่องค์พระเจดีย์ พร้อมกับมีการสร้างพระเจดีย์องค์เล็กๆ รายรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ทั้ง 4 ทิศ และภายในพระเจดีย์องค์ใหญ่ยังบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สำหรับงานประเพณีที่สำคัญของวัดสระเกศฯ ก็คือ งานวัดภูเขาทอง ที่จะจัดขึ้นในช่วงวันลอยกระทงของทุกปี โดยจะมีการห่มผ้าแดง งานสมโภชน์องค์พระบรมสารีริกธาตุ และเทศกาลงานวัดในคราวเดียวกัน

เหรียญ 5 บาท

เหรียญ 5 บาท – วัดเบญจมบพิตร

เป็นรูป พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามที่นับว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีเอกลักษณ์ตรงที่ใช้วัสดุแบบตะวันตก มาสร้างสถาปัตยกรรมแบบไทย จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์จากประเทศอิตาลี โดยสร้างเป็นทรงจตุรมุข หลังคาซ้อน 4 ชั้น บริเวณหน้าต่างของพระอุโบสถมีการใช้กระจกและมีการเขียนสีลงบนกระจก ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบไทยอย่างลงตัว ภายในประดิษฐานพระพุทธชินราช (จำลอง) เป็นพระประธาน อยู่ภายใต้รัตนบัลลังก์บรรจุพระสรีรางคารของรัชกาลที่ 5

เหรียญ 10 บาท

เหรียญ 10 บาท – วัดอรุณราชวราราม

เป็นรูป พระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามโดยวัดอรุณฯ เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา สำหรับองค์พระปรางค์นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นแทนพระปรางค์ที่มีอยู่เดิม จนมาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์ และให้มีการจัดงานฉลองขึ้น โดยทรงสถาปนาวัดอรุณฯ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกอันดับหนึ่ง และเสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งแรก

จ่อเปลี่ยนหน้าเหรียญกษาปณ์ใหม่

นอจากนี้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2557 กรมธนารักษ์  กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมธนารักษ์กำลังศึกษาแนวทางการเปลี่ยนซีรีส์ หรือรูปแบบเหรียญทั้ง 9 ชนิด ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อาทิ เหรียญ 25 สตางค์, เหรียญ 50 สตางค์, เหรียญบาท, เหรียญ 2 บาท, เหรียญ 5 บาท และเหรียญ 10 บาท เนื่องจากเหรียญดังกล่าวออกมาใช้เป็นเวลานานแล้ว จึงมีสภาพสึกและเปลี่ยนยุคไปบ้าง ส่วนบางเหรียญก็มีปัญหาต่อการใช้จ่าย เพราะประชาชนบางคนอาจจะแยกรูปลักษณ์ของเหรียญไม่ออก เช่น เหรียญบาทกับเหรียญ 2 บาท

ทั้งนี้ สำหรับการเปลี่ยนซีรีส์เหรียญดังกล่าว ต้องศึกษารูปแบบจากหลายประเทศและยังต้องให้ความร่วมมือกับอังกฤษในการผลิต เหรียญกษาปณ์ เพราะอังกฤษเป็นผู้ผลิตเหรียญกษาปณ์รายใหญ่ให้กว่า 20 ประเทศทั่วโลก

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบหลักการในการร่วมมือกับอังกฤษในการผลิตเหรียญแล้ว โดยเหรียญกษาปณ์ที่เตรียมผลิตใหม่จะต้องมีคุณสมบัติหยิบจับง่าย มีส่วนผสมสารกันเปื้อนสนิม ไม่สกปรกง่าย และรูปแบบต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ส่วนการปลอมแปลงเหรียญกษาปณ์ทำได้ยาก เพราะมีต้นทุนสูงในการทำเพลท ทั้งนี้ เมื่อทำการศึกษารูปแบบและแนวทางการผลิตได้แล้ว ก็เตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบต่อไป

คราวนี้เราก็คงต้องรอดูการเปลี่ยนแปลงของหน้าเหรียญกษาปณ์ใหม่อีกทีนะคะ ว่าจะมีออกมาใหม่หรือไม่และจะออกมาใช้ได้เมื่อไร สัญลักษณ์บนหน้าเหรียญเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน ถ้ามีข้อมูลปุบ ทีนเอ็มไทยจะรีบมาอัพเดทให้เพื่อนๆ ได้ทราบกันแน่นอน แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงใหม่จริงๆ สิ่งที่เราควรทำอย่างแรกเลยก็คือ เก็บสะสมเหรียญแบบเดิมที่มีไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นของหายาก และเป็นของเก่าแก่ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูแน่นอน

ข้อมูลและภาพ pantip, wikipedia, ohozaa, mcot, sator4u

 
Credit: เอ็มไทยวาไรตี้
#เหรียญ
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
23 ม.ค. 58 เวลา 16:55 2,804 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...