พิพิธภัณฑ์ “ดอกบัวทองสามนิ้ว” โชว์รองเท้าฯกว่า 5,000 คู่ คู่จิ๋วสุด 9 ซม.

บรรยากาศการเยี่ยมชมและสิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ “ดอกบัวทองสามนิ้ว” ในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ที่กลับมาเปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2558 (ภาพ ไชน่า นิวส์)         เอเจนซี--พิพิธภัณฑ์ “ดอกบัวทองสามนิ้ว” ในนครเฉิงตู ได้กลับมาเปิดให้บริการประชาชนเข้าเยี่ยมชมอีกครั้งแล้วโชว์ “รองเท้าดอกบัว” กว่า 5,000 คู่ คู่จิ๋วที่สุด มีความยาวเพียง 9 เซนติเมตร
       
       “ดอกบัวทองสามนิ้ว” เป็นคำเรียกเท้าของสตรีจีนยุคโบราณที่ถูกมัดจนมีขนาดเล็กกว่าปกติ นักวิชาการจีนระบุ ประเพณีการรัดเท้าสตรีจีน มีมาแต่ยุคถังใต้ (ค.ศ.937-975) สืบทอดมานับพันปี จนถึงยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ผู้นำคอมมิวนิสต์ได้กวาดล้างประเพณีเก่าอย่างสิ้นซาก รวมทั้งประเพณีการมัดเท้า
       
       ประเพณีการรัดเท้าสตรีจีน เพื่อให้เท้ามีขนาดเล็ก เรียกว่า “เท้าดอกบัว” เกิดจากค่านิยมความงาม ที่กำหนดคุณลักษณะกุลสตรี-บุตรสาวในครอบครัว ที่จะมีผู้มาสู่ขอออกเรือนมีครอบครัว จะดูเท้าที่มีความยาวไม่เกิน 3 นิ้ว ตามความเชื่อที่ว่า เท้าเล็กของหญิงสาวเป็นสิ่งดีงาม ผู้หญิงที่ดีอยู่ในโอวาทของพ่อ เชื่อฟังสามีหรือลูกชาย อันเป็นกรอบความคิดเก่าแก่ของจีนจากอิทธิพลขงจื่อ
       
       องค์กรและบุคคลหลายกลุ่มได้เก็บรวบรวมข้อมูลการมัดเท้าสตรีจีนโบราณไว้มากมาย พิพิธภัณฑ์เจี้ยนชวน “ดอกบัวทองสามนิ้ว” (建川博物馆民俗系列的“三寸金莲博物馆”) ในนครเฉิงตู มณฑลซื่อชวน หรือเสฉวน ก็จัดเป็นแหล่งข้อมูลใหญ่เกี่ยวกับการมัดเท้าของสตรีจีน ตัวพิพิธภัณฑ์ถูกไฟไหม้เมื่อเดือนก.ค.ปีที่แล้ว(2557) และได้ปิดซ่อมแซม จนสามารถเปิดฯในสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2558
       
       เจ้าของและผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ “ดอกบัวทองสามนิ้ว” คือ พาน เจี้ยนชวน ได้เชิญแม่เฒ่าที่ผ่านประสบการณ์มัดเท้า 4 ท่าน มาร่วมพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ใหม่ ท่านหนึ่งคือ กู่ ฉู่หวา วัย 87 ปี เล่าว่า เมื่ออายุได้ 4-5 ขวบ ก็ถูกบังคับให้มัดเท้า “บางครั้งเจ็บปวดจนทนไม่ไหว ก็แอบแกะทิ้ง และก็จะถูกตี ผู้ใหญ่มักเตือนด้วยเสียงดุว่า เท้าโตไม่มีใครมาสู่ขอ” เพราะเป็นผู้หญิง กู่ ฉูหวา จึงจำต้องมัดเท้าอันแสนเจ็บปวดทรมาน และทำให้ไม่ได้ร่ำเรียนศึกษามากนัก
       
       พิพิธภัณฑ์ “ดอกบัวทองสามนิ้ว” ที่ปรับปรุงใหม่นี้ พื้นอาคารมีความสูง-ต่ำไม่เท่ากัน พาน เจี้ยนชวน อธิบายว่า “การทำพื้นที่ไม่ราบเรียบเสมอกันนี้ มาจากแนวคิดสองระดับ คือ 1) ให้ผู้คนได้สัมผัสความรู้สึกยากลำบากในการเดินของผู้หญิงเท้าเล็กๆ 2) คือแสดงสายธารชะตาชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากคับข้องใจของสตรีจีนตลอดประวัติศาสตร์กว่า 1,000 ปี
       
       พาน เจี้ยนชวน ใช้เวลากว่า 20 ปี เดินทางไปตามที่ต่างๆทั่วประเทศจีน ไปยังมณฑลซันตง ซันซี ไปถึงไต้หวัน และที่อื่นๆ ใช้เงินถึงประมาณหนึ่งล้านหยวน หรือ กว่า 5 ล้านบาท ในการเก็บสะสมรองเท้าดอกบัว 5,000 กว่าคู่ รวมทั้งสิ่งอื่นๆที่เกี่ยวกับการมัดเท้าที่ตกทอดมาจากยุคหมิงถึงจีนยุคใกล้ ได้รองเท้าดอกบัวคู่จิ๋วที่สุด 9 เซนติเมตร.
       
       บรรยากาศการเยี่ยมชมและสิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ “ดอกบัวทองสามนิ้ว” ในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ที่กลับมาเปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2558 (ภาพ โดย ไชน่า นิวส์) 
          
          
          
 
Credit: http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9580000006964
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...